
ที่ทำกินครึ่งแรกของเขาสูญเสียไปตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เมื่อเขื่อนภูมิพลต้องกักน้ำช่วยบรรเทาทุกข์คนภาคกลาง ส่งผลให้ที่ทำกิน 3 ไร่ของครอบครัวจมใต้อ่าง ครั้นนำ้ลดก็เต็มไปด้วยตะกอนทราย และถูกเวนคืนไปในราคาไร่ละ 5,000
เกือบสิบปีที่ผ่านมา เขาดิ้นรนเลี้ยงครอบครัวให้รอดด้วยที่ทำกินครึ่งที่เหลือ 3 ไร่ กัดฟันเปลี่ยนที่แปลงน้อยเป็นสวนลำไย จนพอจะลืมตาอ้าปากได้ในวันนี้ วันที่เขาเพิ่งได้รับข่าวร้ายอีกครั้ง สวนลำใยของเขากำลังจะต้องกลายเป็นกองดินจากการขุดอุโมงค์ของโครงการ “ผันน้ำยวม”
“ให้ผมสามล้านไปซื้อที่ใหม่ (ก็ไม่คุ้ม) ผมก็ไม่เอา .. เขามองเราเป็นคนส่วนน้อย ไม่สำคัญ อยากถามว่าคนส่วนน้อยไม่ต้องกินข้าวหรือ ไม่มีความรู้สึก ไม่มีหัวใจ ไม่มีความคิดหรือ” เสียงจาก ศักดิ์ชัย แยมู เกษตรกรสวนลำไยวัย 39 เขยชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด เชียงใหม่ และเป็น 1 ใน 29 ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการผันน้ำยวมตามที่ EIA ระบุ
พุธิตา ดอกพุฒ สนทนากับศักดิ์ชัย ในตอนสุดท้ายของรายงาน 2 ตอน เพื่อฟังเสียงผู้คนบนเส้นทางโครงการผันน้ำยวม เพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ล่าสุดของเมกะโปรเจกต์ 7 หมื่นล้าน ที่รัฐบาลกำลังผลักดันสุดตัว
โครงการ “ผันน้ำยวม” หรือ ชื่อทางการว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” เป็นโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน “เพื่อเติมน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ เพิ่มพลังงานการผลิตไฟฟ้าให้เขื่อนภูมิพล เฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการผลิตน้ำประปา การประมงในเขื่อนและการท่องเที่ยว ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารประกอบ อุโมงค์คอนกรีต ความยาว 61 กิโลเมตร เจาะผ่านผืนป่าต้นน้ำรอยต่อ 3 จังหวัด จุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 6 จุด และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พื้นที่ศึกษาโครงการ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัด” เอกสารโครงการระบุ ปัจจุบัน รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ (อีไอเอ) ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ขั้นต่อไปคือการพิจารณาของคณะกรรมการนน้ำแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี พร้อมคำถามและข้อถกเถียงโต้แย้งกว้างขวางถึงคุณภาพรายงาน ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลวิชาการ และเหตุผลการเร่งอนุมัติ โครงการฯ ถูกตั้งคำถามจากสาธารณะถึงความคุ้มของการลงทุนโครงการระดับ 7 หมื่นล้านครั้งนี้ ที่มาของเงินลงทุนโครงการฯ รวมถึงคำถามสำคัญ โครงการนี้จะสามารถแก้ปัญหาน้ำให้เกษตรกรภาคกลางได้จริงอย่างยั่งยืนตามที่กล่าวอ้างในเอกสารโครงการหรือ และจะตรวจสอบได้อย่างไร |

สามไร่แรก เสียไปตอน “น้ำท่วมใหญ่ปี 54”
เป็นคนที่ไหน
ผมไม่ได้เกิดที่นี่ เกิดที่สบเมย แต่มาแต่งงานที่นี่ ผมเป็นคนสองพื้นที่ เหมือนกับว่าหนีเสือแล้วมาปะกับจระเข้ยังไงยังงั้น
ทำมาหากินที่นี่มานานแค่ไหน
ตรงนี้เมื่อแต่ก่อนปลูกถั่วนะครับ เพิ่งมาปลูกลำไยได้ 3 ปี ปีนี้เพิ่องได้ผลผลิตปีแรก แต่มีที่ตรงนี้นานแล้วครับ ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ตั้งแต่เรายังไม่เกิด
สวนผมเมื่อก่อนมีอยู่ 6 ไร่ เป็นของกรมชลประทานไปแล้วครึ่งหนึ่ง หลังจากน้ำจากเขื่อนขึ้น ปี 54 ตอนนี้เหลือ 3 ไร่ ตั้งแต่นั้นมาน้ำมันจะท่วมถึงตรงแนวต้นไผ่นี่เลยครับ ลงไปก็เป็นน้ำท่วมหมดเลย เมื่อเดือนกันยาที่แล้วนี่เลยครับ ผมยังถ่ายภาพไว้อยู่เลย
ตอนนั้นหน่วยงานรับผิดชอบอย่างไรบ้าง
รอบที่ 3 ไร่ที่หายไป ทีแรกเขาบอกว่าจะชดเชยให้ แต่ไม่ได้บอกว่าเท่าไหร่ สุดท้ายโอนเข้าบัญชี 15,000 ตกไร่ละ 5,000 ทุกคนได้เท่านี้กันหมด
ที่เรายอมเวนคืนให้ เพราะถ้าไม่คืนยังไงก็ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นแล้ว มันเป็นทรายหมดเลย
ห้วยแม่งูดยามน้ำหลาก บริเวณริมห้วยที่เคยเป็นแปลงเกษตรกรรม ตะกอนทราย ผลกระทบจากน้ำท่วม หลักเขตน้ำท่วมถึง ป้ายบอกเขตที่ดินที่ถูกเวนคืน
ปีหนึ่งมีรายได้จากการทำสวนเท่าไร
มันได้มาก็ใช้ไปครับ เราคำนวณเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ที่เราบอกได้คือ สามารถจะเลี้ยงครอบครัวโดยที่ไม่ต้องเดือดร้อนครับ พอกินพอใช้ ไม่ได้เดือนร้อนอะไร ไม่ได้เดือดร้อนถึงขนาดต้องโหยหา ต้องไปดิ้นรน
อยู่กันแบบบ้าน ๆ เพราะอาหารการกินต่าง ๆ เราก็สามารถไปหาในป่าได้เยอะแยะครับ มันไม่มีวันหมดหรอกครับ ในป่า
เราอยู่กับป่าแล้วเราดูแลป่ากันอย่างไร
ทุกวันนี้เราพยายามเซฟให้มันเสียป่าน้อยที่สุดครับ ถ้าไม่มีป่าเราก็ไม่มีที่กิน ที่เราอยู่ได้กันทุกวันนี้ก็เพราะป่า ก็จะเห็นว่าป่าเรายังมีความอุดมสมบูรณ์นะครับ ไม่มีเขาหัวโล้น แล้วจะตัดแค่ไม้ที่เราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จริง ๆ ตัดมาแล้วเราก็จะใช้ให้คุ้มที่สุด
คนที่อยู่ในห้องแอร์มันไม่รู้หรอกครับ เห็นออกคำสั่งปลูกป่าตรงนั้นตรงนี้ มาปลูกไม่รู้กี่ร้อยครั้งแล้ว เขาเกณฑ์เราไปช่วยปลูกด้วยนะครับ ชื่อโครงการสวยหรูมาก ใช้งบไปไม่รู้กี่แสนกี่พันล้านแล้ว มีหน่วยงานมาปลูกเยอะ แต่ไม่มีเกิดสักต้น มีแต่ต้นไม้เก่า ๆ เดิม ๆ ที่เราอนุรักษ์ไว้
มาทีก็เที่ยวถาง ๆ ๆ จะปลูกต้นหนึ่งก็ต้องถางต้นที่มีอยู่ไปสี่ห้าต้น ปลูกน้ำไม่รด ไม่เอาใจใส่ มันก็ตายสิครับ ผมเห็นมาเยอะแล้วครับ ที่ว่าโครงการปลูกป่ากี่สิบกี่ร้อยไร่ ไม่เคยเห็นเกิดป่าสักโครงการ
การที่จะเอาต้นไม้ไปปลูกมันไม่เป็นประโยชน์หรอกครับ เพราะว่าต้นที่เราเอาไปเพาะ ความแข็งแรง ความต้านทานต่อสภาพอากาศ กับฟ้าดิน มันสู้ธรรมชาติไม่ได้ครับ มันไม่เหมือนกันครับ
แต่เราอยู่นี่เราไม่ได้ปลูก ไม้มันปลูกของมันเองได้ มันก็เป็นไปตามธรรมชาติของมัน มีลูกตกลงมามันก็เกิดเองได้ ถ้าเราไม่ไปทำลายมันมันก็เป็นป่าที่สมบูรณ์ได้ครับ
ชาวบ้านที่อยู่ตามตะเข็บป่า ตามตีนดอย ไม่ต้องให้เขาไปปลูกป่าหรอกครับ ให้ความรู้เขาดีกว่า ให้วิธีการรักษาดูแลป่าดีกว่า มันจะดีกว่าเอาไม้ในเมืองไปให้เขาปลูก

สามไร่ที่เหลือ กำลังจะเสียไปเพราะโครงการ “ผันน้ำยวม”
เรารู้จักโครงการนี้ได้อย่างไร
ผมได้ข่าวแว่ว ๆ มานานแล้ว ตั้งแต่ผมเด็กๆ แล้วครับ ผมไม่เห็นภาพว่ามันเป็นยังไง ผมเลยไม่สนใจครับ มาสนใจก็ตอนมาอยู่ที่นี่ครับ
เวลามาสำรวจทำ EIA หรือมาสอบถามข้อมูลต่าง ๆ มันไม่มี มาแต่ละครั้งก็มาเหมือนเป็นการโปรโมทโครงการมากกว่าที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกกับชาวบ้านผู้ที่จะได้รับผลกระทบ คือมันมองไม่เห็นภาพครับ ข้อเสียที่จะได้รับจากโครงการนี้เราไม่ได้เห็นเลย
ตำแหน่งต่าง ๆ ที่กองดิน ที่กองวัสดุ มาครั้งแรกผมยังไม่รู้เลยครับ มาครั้งที่สองบอกว่าผ่านแล้ว ชาวบ้านไม่ได้คัดค้าน ชาวบ้านยินยอม
แล้วเรารู้เรื่องผลกระทบได้อย่างไร
ก็ศึกษาเอาเองครับ จากโทรศัพท์บ้าง จากเพื่อนฝูงบ้าง เพราะว่าเพื่อนผมหลายคนก็ทำงานเป็น NGO อยู่ที่สบเมยครับ
แล้วเขาช่วยอะไรเราบ้างไหม
ไม่ได้ช่วยอะไร เขาแค่ช่วยแนะนำครับ แล้วบางทีมีงานเสวนาต่าง ๆ ก็มี VDO Call พูดคุยกันบ้าง
ถ้าโครงการมาที่ตรงนี้จะเป็นอย่างไร
ตรงนี้เป็นที่เก็บวัสดุ กองดินครับ อยู่ฝั่งตรงข้ามเนี่ยแหละ แถวนี้ทั้งหมดเลย ถ้าโครงการมา 3 ไร่ที่เหลือจะไม่เป็นสวนแบบนี้แล้วนะครับ สองฝั่งของห้วยแม่งูดจะเป็นกองดินทั้งหมด (ได้ยินว่าเขา) จะทำเป็นสนามหญ้านะครับ
ตอนที่เขามาโปรโมท เขาบอกว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ค้าขาย เขาจะส่งเสริมอาชีพ ผมอยากรู้ว่าจะส่งเสริมอาชีพอะไรครับ ในเมื่อเราจะไม่มีที่ทำกินแล้ว จะเอาที่ ๆ ไหนมาทำอาชีพ


นอกจากเสียที่ทำกินแล้ว คนที่นี่จะต้องเสียอะไรอีกบ้าง
เราอยู่ที่นี่ เราพึ่งป่านะครับ ป่าที่เราเห็นกันอยู่นี่ มีทุกอย่างนะครับ หน้าแล้งก็จะมีพวกผักหวาน หน้าฝนก็จะมีพวกหน่อ เห็ด แล้วก็รวมถึงสัตว์ป่าก็มีบ้างครับ ยาสมุนไพรต่าง ๆ ก็มีเยอะครับ
และส่วนมากเราก็เป็นเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ทุกวันนี้วัวมันก็หากินอยู่แถว ๆ ริมน้ำ ถ้าสมมติว่า 3 เดือน กรกฎา สิงหา กันยา มีการผันน้ำมา เราไม่ต้องการหรอกครับ ลำห้วยแม่งูด ทุกวันนี้น้ำก็ไหลมาเยอะอยู่แล้ว มันมีแต่สร้างความเสียหายครับ เราไม่ได้ประโยชน์หรอกครับ มีแต่คนใต้เขื่อนที่จะได้รับประโยชน์ คนเหนือเขื่อนมีแต่เสียกับเสีย
ถ้ามีน้ำเก็บเต็มความจุของอ่าง ถึงตรงที่เขาปักป้ายไว้ บ้านนาคอเรือจะเหมือนอยู่ในหลุม เข้าออกลำบาก ไม่สามารถสัญจรได้ มันจะมีทางเลี่ยงอยู่บนดอย ถ้าปกติไปอำเภอฮอด ใช้เวลา 15 นาที เลี่ยงขึ้นดอยเนี่ยชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง อันนี้ประสบการณ์จากตอนน้ำท่วมปี 54 นะครับ
ข้อกังวลอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการขนส่ง โครงการใหญ่ขนาดนี้ เครื่องไม้เครื่องมือมันก็ต้องใหญ่พอสมควร และมันก็ต้องเยอะพอสมควร ผมไม่รู้ว่าถนนเก่าที่เคยมีอยู่ ที่เข้ามาในหมู่บ้าน สองข้างทางจะต้องรื้อบ้านออกอีกกี่หลัง ถ้าไม่รื้อรถก็มาไม่ได้ ถ้าจะตัดถนนใหม่ขึ้นไปบนดอย ทรัพยากรป่าไม้ ที่เป็นแหล่งหากิน แหล่งอาหารของชาวบ้านก็จะหดหายไป
ไหนจะเรื่องฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศจากการเจาะอุโมงค์อีก เราไม่รู้ว่าในดินมันมีแร่อะไรบ้าง เกิดมันปลิวขึ้นมาแล้วเราสูดดมเข้าไป ชาวบ้านจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจรึเปล่า
อย่างน้ำใต้ดินเราใช้กันเป็นประจำ ก็ไม่รู้จะมีสารปนเปื้อนไปรึเปล่า เพราะเราไม่รู้เลยครับว่าในการก่อสร้าง ในการเจาะ ไม่รู้เลยว่าเขาจะเอาอะไรเข้าไปบ้าง
มีใครพูดเรื่องชดเชยอะไรบ้างไหม
มีพูดบ้าง แต่ไม่ชัดเจนครับ เขาบอกว่ารัฐจะชดเชยให้ตามความเหมาะสม ตามกฎตามระเบียบของมัน แต่คำว่ากฎระเบียบน่ะ ผมไม่รู้ว่าระเบียบมันระเบียบยังไง เพราะว่าที่มันไม่มีโฉนดที่ดินน่ะ ถ้าตามระเบียบคือแค่ไร่ละร้อยสองร้อย เราก็คงต้องจำยอม ถ้าสมมติมันมาถึงวันนั้น
ผมถามไว้หมดแหละครับ ว่าจะชดเชย ชดใช้ยังไง ชดใช้เท่าไหร่ กลับไม่มีอะไรเป็นหลักประกันสักอย่าง
การชดเชย หรือการเวนคืนที่ดิน ชาวบ้านของเราเองนี่ ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการเงินนะครับ เงินเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน ต้องการ อยากได้
เงินแสนเงินล้าน ชาวบ้านอยู่บ้านนอกบ้านนาอย่างผมก็ถือว่าเยอะ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าหายากนะครับ แค่ขายลำไย อย่างสวนนี้ ปีหนึ่งถ้าราคากิโลละ 20-30 ก็ได้ถึง 2-3 แสนแล้วครับ
จากสวนสามไร่ของผม ถ้าให้ 3 ล้านไปซื้อที่ใหม่ ให้ผมผมเอาไหม ผมปฏิเสธตรงนี้เลยว่า ผมไม่เอา
เงินชดเชยนี่ ผมพูดตามตรงนะครับ ได้เงินมาใช้ 3-4 วันมันก็หมดแล้วครับ เงินสดๆ 3 ล้าน ซื้อรถซักคันหนึ่ง สร้างบ้านสักหลัง ซื้อที่ผืนหนึ่งมันก็หมดแล้ว มันจะเหลืออะไร
ผมไม่ได้ขี้อวดขี้คุยนะ ถึงแม้ผมจะเป็นชาวสวนธรรมดา ๆ 10-20 ปีข้างหน้า ผมก็ต้องได้มากกว่า 3 ล้านอยู่แล้ว เพราะมันคือสวน มันคือที่ของเรา มันไม่ไปไหน ลูกหลานของเราจะสืบทอดต่อไป มันจะได้เงินมากกว่า 3 ล้าน เราจะได้ทำมาหากินไปเรื่อย ๆ 20 30 40 ปี ถ้าไม่มีที่ดิน มีแต่บ้านหลังเดียว เราอยู่ในบ้านเราไม่มีที่ทำมาหากิน เราจะอยู่กันยังไง
แล้วเขาจะจัดสรรที่ใหม่ให้ไหม
ไม่มี เราไม่สามารถที่จะไปเรียกร้องได้เลยว่าเราอยากได้ไร่ละเท่านี้ ๆ เพราะว่าที่มันไม่มีโฉนด
ถ้าสมมติเขาจะจัดที่ใหม่ให้ ต้องคำนึงด้วยว่าจะจัดให้ที่ไหน มันเหมือนที่เก่าไหม สมมติว่าไปจัดให้ ที่ฮอด แล้วเราจะไปยังไง แล้วมันจะเหมือนที่บ้านเราไหม

เขาเรียกมันว่า “การมีส่วนร่วมโครงการ”
มีโอกาสไหนที่ได้แลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ต่อหน้าไหม
ไม่มีครับ ตั้งแต่สองสามปีที่เขาสำรวจมานี่ ไม่มีหน่วยงานไหนที่เขามา มาก็มาแต่ให้เวลาแต่ครั้งชั่วโมง สิบยี่สิบนาที
ตอนกรมชลฯ มา ผมก็ถาม แต่เขาก็บอก “ผมตอบไม่ได้ ๆ ผมตอบได้แค่นี้” จะใครถาม ผู้ใหญ่บ้านถาม ก็ตอบแบบนี้ แค่คำนี้ เหมือนลุงป้อมเลย “ไม่รู้ ๆ ๆ ” “ไม่ทราบ” แล้วแบบนี้เราจะคุยกับใครได้ล่ะครับ
โครงการใหญ่ๆ แบบนี้ก่อนที่จะมาก็น่าจะจัดเวทีหลาย ๆ ครั้งนะครับ น่าจะจัดเวทีให้ชาวบ้าน อย่างแม่งูดหมู่บ้านเดียว ก็มีร้อยกว่าหลังคาเรือน ถามคนแค่ 10-20 คน ผมว่ามันไม่ใช่ มันไม่สมน้ำสมเนื้อ โครงการตั้งเจ็ดหมื่นกว่าล้าน ความเสียหายมันไม่ใช่ 10-20 ไร่
เขาใช้งบประมาณมหาศาล ความคุ้มค่าของโครงการนี้ สำหรับผมเองผมว่ามันไม่คุ้มค่าเลย ค่าไฟปีหนึ่งตก สองพันกว่าล้านแล้ว แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าไฟครับ สูบน้ำแค่สามเดือน พวกเราก็ไม่ได้ใช้ ได้ใช้แต่ท้ายเขื่อน ไม่รู้คนที่อยู่ท้ายเขื่อนจะได้ใช้น้ำฟรี หรือเปล่าไม่รู้ จากเดิมทุกวันนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาคิดค่าน้ำจากเขื่อนภูมิพลยังไง ถ้าโครงการนี้มา น้ำมันเยอะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทุกอย่างมันก็จะเพิ่มขึ้น
ผมไม่สบายใจ และผมไม่มั่นใจในโครงการนี้เลยแม้แต่นิดเดียว รู้สึกว่าโครงการนี้มาแบบลับ ๆ มาไม่ได้มาแบบเปิดเผย เหมือนขโมยครับ ตอนนี้โครงการผ่านกรรมาธิการแล้ว ผมยังงงอยู่ถึงทุกวันนี้ครับ ไม่รู้ว่าเขาทำงานกันยังไง
มาเหมือนขโมย ?
ปีที่แล้ว (2563) เดือนมีนา มาโดยที่ไม่มีใครรู้ ลักแอบมาหรือเปล่าไม่รู้ มาในสวนผม ผมเห็นนะแต่ผมไม่ได้ไปคุยด้วย ผมอยู่คนเดียว พ่อหลวงยังไม่รู้เลยครับ มากันเป็นสิบกว่าคันรถ
ผมยอมรับนะครับ ตามความเป็นจริง EIA ชุดแรก ผมค่อยข้างที่จะเห็นด้วย เพราะว่าตอนมาครั้งแรก กรมชลฯ เขาไม่ได้อธิบายอะไรเลย หนังสือ เอกสารอะไรไม่มีเลย ผมก็นึกว่าเป็นสิ่งดี ผมก็เลยขีด ๆ ๆ ให้ พอมาฉบับที่ 2-3 ผมเปลี่ยนเลย เพราะผมเริ่มรู้แล้ว ผมเสิร์ชจากโทรศัพท์ดู
เล่าตอนที่โครงการมาสำรวจครั้งแรกให้ฟังได้ไหม
เป็นทีมสำรวจจากม.นเรศวรครับ เขามาพูดในเชิงว่าชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด จะไม่มีข้อเสีย เขาจะดูแลเป็นอย่างดี ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมแล้วชาวบ้านจะได้มีน้ำใช้ที่เพียงพอกว่าเดิม คือเรายังไม่ได้พูดเลยว่าเราต้องการน้ำ
แล้วมาแจกเอกสารให้คนละชุด ๆ เป็นแบบสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เหมือนเซ็นให้ม.นเรศวรได้เป็นคนทำการศึกษา เลยขีดไปว่าเห็นด้วย ๆ เพราะตอนนั้นผมยังไม่รู้ที่มาที่ไป ผลดีผลเสีย
ตอนออกประตูก็เซ็นชื่อ รับซอง แล้วก็ข้าวกล่องหนึ่งกล่อง มีหมูอยู่นิดเดียว กล่องละกี่บาทไม่รู้ แต่ในบิลเขาลงกล่องละร้อยรึเปล่าไม่รู้นะ (หัวเราะ)
คนที่ไปร่วม ฟังไทยออกเป็นสัดส่วนประมาณเท่าไร
ส่วนใหญ่ชาวบ้านก็พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้นะ คนเฒ่าคนแก่ ประมาณ 30 ครับ อีก 70 ฟังไทยไม่ออก แต่ถ้าพูดคำเมืองก็จะรู้เรื่อง
เริ่มรู้ความจริงตอนไหน
หลังจากนั้นไม่กี่วันครับ ก่อนจะกลับเขาแจกเป็นเล่มโครงการครับ เราก็เอามาอ่าน ๆ เลยรู้ว่ามันไม่ใช่แล้ว
ในเล่มเป็นภาษาไทย ?
เป็นภาษาไทยครับ
แบบนี้ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ได้อ่าน หรือได้รู้ใช่ไหม
ใช่ครับ จะมีเฉพาะคนที่อ่านออกเขียนได้ครับ คนที่อ่านไม่ออกก็ไม่รู้เลยว่าในนั้นมีอะไร
นี่แหละครับคือข้อเสียของเรา คนที่เขาไม่รู้ภาษาไทยเวลาเขามาทำแบบสอบถามก็ถามมาตอบไป แต่ไม่รู้ว่าคนที่ทำเขาจะขีดตรงไหนยังไง ขีดว่าเห็นด้วยทั้งหมดรึเปล่าเราก็ไม่รู้ เป็นข้อกังวลตรงนี้แหละครับ
ถ้าสมมติว่าให้ผมเป็นคนทำอันนี้โอเคอยู่ ถ้าอันไหนที่มันไม่ดีเราก็ตอบไปตรง ๆ ว่ามันไม่ดี แต่ถ้าไปสัมภาษณ์คนอื่นนะครับ ผมไม่รู้ คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เจ้าหน้าที่ ๆ ทำแบบสำรวจน่ะ ผมไม่รู้ว่าปลายปากกาจะเป็นยังงไงนะครับ ที่ EIA มันผ่าน ผมว่าเพราะตรงนี้แหละครับ
ตอนนี้ทั้งหมู่บ้านรู้ทุกคนหรือยัง
ตอนนี้รู้แล้วครับ แต่ก็เหมือนทุกอย่างมันจะสายไปแล้วรึเปล่ายังไม่รู้

“เจ็บใจ น้อยใจ ที่เขาทำเหมือนไม่เห็นเราเป็นคน”
คิดว่าทำไมเขาต้องมาแบบแอบ ๆ
ถ้าไม่แอบก็ไม่ผ่านไงครับ กลัวชาวบ้านต่อต้านไงครับ ชาวบ้านต่อต้านอยู่แล้วครับ แต่จากนี้ไปถ้าเป็นพวกกรมชลฯ นี่ ไม่ให้เข้าหมู่บ้านแล้วครับ ตอนนี้ทำป้ายอยู่ ยังไม่เสร็จ แต่น้อง ๆ นักข่าวสื่อมวลชน ถ้ามาด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความเต็มใจก็ขออนุญาตคณะกรรมการหมู่บ้านได้ ถ้ามาโดยพละการ เกิดอะไรขึ้นไม่มีใครรับผิดชอบนะครับ
รู้สึกยังไงกับกระบวนการแบบนี้ ที่แอบมา
มันมีความรู้สึกเจ็บใจ ตรงที่ว่ามาโดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ถึงผลกระทบ คือมาก็มาอธิบายแต่สิ่งดี ๆ แล้วก็ให้ชาวบ้านหลับหูหลับตาเซ็นเอา มันไม่ใช่ครับ มันไม่ตรงกับโครงการจริง ๆ
เวลาที่เขาอ้างว่าเขาจะเอาน้ำไปให้คนภาคกลาง คนส่วนใหญ่ คนทำเกษตร คิดเห็นอย่างไร
คำพูดเหล่านี้ เขามองว่าคนส่วนน้อยไม่ได้สำคัญเท่าคนส่วนใหญ่ ผมเลยอยากจะถามว่า คนส่วนน้อยเขาต้องเลี้ยงชีพไหม เขาไม่ได้กินแกลบกินดินกินทรายครับ เขาต้องกินข้าว เขามีหัวใจ มีความคิด มีความรู้สึก
ถ้าชั่งน้ำหนัก ชั่งกิโลกัน เราก็แพ้เขาอยู่แล้วแหละ แพ้เขาอยู่ดี ทุกวันนี้รู้สึกว่าเดียวดายครับ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือ เดือนที่แล้วก็รู้สึกว่าจะมีหลายหน่วยงานอยู่ ที่เริ่มให้ความสนใจ พยายามจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือให้ความรู้ อย่างอาจารย์จากมช. ก็มาสร้างความเข้าใจ
โครงการนี้ที่จริงถ้าเขาบริสุทธิ์ใจจริง ถ้าเขามาแบบเปิดเผย พวกเราไม่ได้โกรธแค้นอะไรนะครับ
เท่าที่เคยเห็นมา โครงการต่าง ๆ ที่มันใหญ่ ๆ การทำ EIA มันจะรอบคอบ ครอบคลุมได้มากกว่านี้เป็นร้อย ๆ เท่า นั่นแค่โครงการขนาดเล็ก ๆ ธรรมดานะครับ แต่โครงการนี้ผมมองว่าเป็นระดับโลก โครงการใหญ่ขนาดนี้ มันเป็นโครงการแบบมหึมาจริง ๆ ครับ แล้วกระบวนการทุกอย่างมันไม่โปร่งใส คืออยากจะได้อย่างเดียว เงิน 7 หมื่นล้านใคร ๆ ก็อยากได้ มันผลประโยชน์มหาศาล
มันน่าน้อยใจครับ มันน้อยใจที่ว่า เราก็เป็นคน มีจิตใจ มีความรู้สึก เขาทำแบบนี้ก็เหมือนเหยียบย่ำเรา ไม่เห็นเราเป็นคน มองเราแค่เศษหินเศษดินครับ