จี้รัฐปลดล็อคมลพิษอากาศ “ปรับมาตรฐาน PM2.5-ออกกฏหมายอากาศสะอาด”

(ภาพ: WEVO สื่ออาสา)

สภาลมหายใจภาคเหนือ ชี้มาตรฐานไทยปัจจุบันอนุญาตให้มี PM2.5 ในอากาศมากกว่าสากล 5 เท่า วิเคราะห์ รัฐไม่ยอมขยับปรับมาตรฐานเพราะกลัวต้องรับผิดชอบ ด้านเครือข่ายประชาชนหลายกลุ่มจ่อยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ รวบรวม26,500 ชื่อยื่นสภาออก “กฎหมายอากาศสะอาด”

ไทยอนุญาตให้ PM2.5 สูงกว่าสากล 5 เท่า

22 มกราคม 2565 เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ 8 จังหวัดรวมตัวกันแก้ไขปัญหาฝุ่น “สภาลมหายใจภาคเหนือ” กล่าวแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทันที เนื่องจากมาตราฐานที่ไทยใช้อยู่ขณะนี้ห่างจากมาตราฐานต่างประเทศและที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำถึง 5 เท่า

ปัจจุบันไทยกำหนดมาตราฐานเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 สะสมรายปีไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตราฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรเกินเพื่อเลี่ยงผลกระทบทางสุขภาพที่ 5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

สำหรับการตรวจวัดฝุ่นรายวันนั้น ไทยกำหนดว่าสภาพอากาศที่มีฝุ่นไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. นั้นจัดเข้าข่าย “อากาศดีมาก” ขณะที่ WHO กำหนดให้ไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ห่างกับไทยราว 3 เท่า

ปี 2564 ค่าฝุ่น PM2.5 ในแม่ฮ่องสอนนั้นสูงถึง 329 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ขณะที่กรุงเทพฯ พบวันที่ฝุ่นหนักสุดถึง 187 ไมโครกรัม/ลบ.ม. 

“เราสังเกตว่าฟ้ามืดครึ้มด้วยฝุ่น แต่ตัวเลขค่าฝุ่นก็ยังไม่เกินมาตราฐานและรู้สึกเหมือนว่ายังใช้ชีวิตได้ตามปกติ” บัณรส บัวคลี่ ตัวแทนสภาฯ ชี้แจง “มาตราฐานนั้นมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ทำให้ประชาชนรู้สึกกระตือรือร้น ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพและหาวิธีดูแลตัวเอง” 

“ดูตัวอย่างจากอดีตได้ สามปีก่อนไทยยังไม่ใช้ค่า PM2.5 บอกคุณภาพอากาศ มีแต่ PM10 ที่เป็นฝุ่นชนาดใหญ่กว่า พอมีการใช้ PM2.5 สังคมไทยตื่นตัวเรื่องฝุ่นอย่างชัดเจน”

สาเหตุรัฐไทยไม่กล้าปรับค่ามาตราฐาน?

สภาลมหายใจภาคเหนือเปิดเผยว่าประเทศไทยกำหนดให้ปัญหามลพิษฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติและมีแผนเตรียมประกาศค่ามาตราฐานใหม่แล้วตั้งแต่มกราคม 2564 โดยจะกำหนดให้ค่าฝุ่นรายปีไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม.และรายวันไม่เกิน 37 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้

“มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศของประเทศไทย ได้บังคับใช้เป็นเวลานานกว่า 10 ปี” กรมควบคุมมลพิษระบุในร่างฯ 

“มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ทั้งที่มีความพยายามปรับมาตราฐานจากหลายภาคส่วน แต่ไทยยังใช้ค่าเดิมจนประชาชนหลายจังหวัดพากันยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ บัณรสวิเคราะห์ว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะจะส่งผลต่อมาตราฐานปล่อยมลพิษในภาคส่วนอุตสาหกรรมและคมนาคมด้วย เช่น การผลิตและท่อปล่องควันไอเสีย 

“รัฐบาลจะต้องทำงานหนักขึ้นและต้องเข้มงวดกับการปล่อยมลพิษมากขึ้น เราเอะใจว่านี้เป็นเหตุผลเลยไม่อยากทำรึเปล่า” บัณรสตั้งคำถาม

ด้าน วิทยา ครองทรัพย์ เผยว่า

“เมื่อมีมาตราฐานใหม่ย่อมตามมาด้วยมาตราการใหม่ในการแก้ปัญหาฝุ่น อยากให้รัฐให้ความสำคัญ”

จ่อยื่นฟ้องรัฐ-ยื่นสภา 26,500 ชื่อขอ “กฎหมายอากาศสะอาด”

นอกจากการยะระดับค่ามาตราฐานแล้ว ประชาชนหลายกลุ่มเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนตามกฎหมาย อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่จะรับรองสิทธิที่จะอาศัยในอากาศสะอาดและเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงปัญหาฝุ่นอย่างเป็นรูปธรรม 

21 มกราคม เครือข่ายอากาศสะอาดได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 26,500 เสนอร่างพระราชบัญญัติกํากับดูแลการ จัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …หรือที่รู้จักในชื่อเล่น “กฎหมายอากาศสะอาด” เข้ารัฐสภาเพื่อพิจารณาประกอบร่างกฎหมายคล้ายคลึงกันเพื่อรับรองเป็นกฎหมาย

ร่างดังกล่าวระบุให้สิทธิหายใจอากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึง รวมถึงส่งเสริมให้มีหน่วยงานเฉพาะและกลไกจูงใจทางเศรษฐศาสตร์กระตุ้นให้ลดการปล่อยมลพิษ

ทั้งนี้กลางปี 2564 ร่างดังกล่าวได้เสนอเข้ารัฐสภาและถูกปฎิเสธการรับรองแล้วครั้งหนึ่ง

“เราต้องช่วยกันสร้างการเคลื่อนไหว ให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นได้จริง” เครือข่ายอากาศสะอาดระบุ “เพื่อไม่ให้ใครมา ‘ปัดตก’ ร่างกฎหมายที่มุ่งคุ้มครอง ‘สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด’ และ ‘สิทธิในชีวิต’ ของเราอย่างเป็นระบบครบวงจร”