อนาคตปตท.ในท่อก๊าซยาดานายังไม่ชัด หลังผู้ร่วมทุนฝรั่งเศสถอนตัวเหตุรัฐประหารเมียนมาร์

(ภาพ: TotalEnergies)

ปตท.ประกาศ “พิจารณา” ทิศทางโครงการท่อส่งก๊าซเมียนมาร์ หลังบริษัทน้ำมันฝรั่งเศส TotalsEnergies ถอนตัวด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชน พร้อมระบุทำตามความคาดหวังสากลให้ “ตัดท่อน้ำเลี้ยง” ไม่ได้เพราะปตท.ในฐานะผู้ซื้อก๊าซจ่ายเงินตรงเข้ากระเป๋ารัฐบาลทหารเมียนมาร์

ปตท. แถลง “กำลังพิจารณาทางออก”

21 มกราคม 2565 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ. หรือ PTTEP) เผยว่าอยู่ระหว่างพิจารณาทิศทางการลงทุนในกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาร์ถัดจากนี้ หลังจากบริษัทผู้ร่วมลงทุนและดำเนินการสัญชาติฝรั่งเศส TotalEnergies ประกาศถอนตัวจากโครงการท่อส่งก๊าซยาดานาและบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC)  ในวันเดียวกัน

“ปตท.สผ.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการในเรื่องนี้ โดยจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยและเมียนมาร์เป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประชาชนทั้งสองประเทศ” แถลงข่าว ระบุ 

“เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากโครงการยาดานาเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในภาคตะวันตกของประเทศไทยและในเมียนมาร์”

สืบเนื่องจาก บ.น้ำมันยักษ์ใหญ่ฝรั่งเศส TotalEnergies ประกาศถอนตัวจากโครงการและสิ้นสุดการดำเนินการในอีก 6 เดือน โดยระบุถึงสถานการณ์การเมืองเมียนมาร์ในด้านสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่เลวร้ายลงตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 

ตั้งแต่รัฐประหาร ธุรกิจน้ำมันหลายเจ้าได้พากันถอนการลงทุน ล่าสุด Chevron ที่ถือหุ้นส่วนโครงการยาดานาจากสหรัฐฯ ประกาศว่าจะถอนตัวเช่นกัน

โครงการยาดานาประกอบด้วยผู้ลงทุน 4 ราย ได้แก่ TotalEnergies (31.24%) Unocal-Chevron (28.26%) และ PTTEP (25.5%) และบริษัทรัฐวิสาหกิจเมียนมาร์ MOGE  (15%) ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหารเผด็จการกองทัพเมียนมาร์

โครงการยาดานาผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเมาะตะมะราว 6 พันล้านลูกบาศก์เมตร/ปี โดย 70% ส่งขายให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ในประเทศไทย และอีก 30% ส่งให้บริษัทรัฐวิสาหกิจเมียนมาร์ MOGE (Myanmar Oil and Gas Enterprise) เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในกรุงย่างกุ้ง 

สัดส่วนการลงทุน 3 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาร์ (ภาพ: GreenNews)

ถอนทุนแล้ว แต่ยังมีเงินค่าซื้อก๊าซกับรัฐบาลเมียนมาร์

TotalEnergies ระบุในแถลงข่าวการถอนตัวครั้งนี้ว่า

“ถึงแม้จะปฏิบัติ (ถอนตัวจากการลงทุน) แล้ว TotalEnergies ไม่สามารถทำตามความคาดหวังจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ได้ (ผู้ถือหุ้น สากลและภาคประชาสังคมเมียนมาร์) ซึ่งเรียกร้องให้ระงับการส่งเงินไปรัฐบาลเมียนมาร์ผ่านบริษัทรัฐวิสาหกิจ MOGE จากโครงการผลิตแก๊สยาดานา ในความเป็นจริงแล้ว ข้อเรียกร้องนี้ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับ TotalEnergies เนื่องจากการจ่ายเงินขายก๊าซทำโดยตรงโดยบริษัทไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ซื้อก๊าซนำเข้า”

ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้เรียกร้องให้บ.น้ำมันถอนตัวจากการลงทุน เนื่องจากรายได้จากโครงการส่วนหนึ่งจะเข้าสู่บริษัทวิสาหกิจที่คณะรัฐประหารเมียนมาร์ดูแลอยู่ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นทุนทรัพย์ละเมิดสิทธิมนุยชน

พฤษภาคม 2564 ในไทย คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกส่งถึง ปตท. และ ปตท.สผ.เรียกร้องให้ระงับการส่งรายได้จนกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะกลับสู่ระบบการปกครอง ทั้งนี้ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากบริษัท

ข้อมูลคณะทำงานระบุว่า ในปี 2017 – 2018 ปตท.จ่ายเงินกว่า 615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (19,242 ล้านบาท) กับบริษัท MOGE (Myanmar Oil and Gas Enterprise) 

ประชาสังคมเรียกร้องนักลงทุนอื่นขยับตาม

องค์กรความยุติธรรมเพื่อเมียนมา (Justice for Myanmar) ตอบรับการตัดสินใจถอนตัวของบ.ฝรั่งเศสครั้งนี้ 

“เป็นอีกก้าวหนึ่งในการตัดการส่งเงินให้คณะรัฐประหารที่ผิดหมาย TotalEnergies ได้ตอบรับเสียงเรียกร้องจากชาวเมียนมาร์ เครือข่ายประชาสังคมท้องถิ่นและสากลเพื่อระงับน้ำเลี้ยงสู่อาชญกรรัฐประหาร”

องค์กรฯ เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เดินหน้าคว่ำบาตรการซื้อขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อตัดรายได้จากโครงการอื่นๆ 

นอกจากเยดานาแล้ว เมียนมาร์ยังเป็นแหล่งผลิตก๊าซสำคัญผ่านโครงการสองโครงการหลัก ได้แก่ ซอว์ติก้าและเยตากุน ซึ่งตลอดการก่อสร้างและดำเนินการผลิตหลายปีที่ผ่านมา เป็นที่วิพากษณ์วิจารณ์ว่าสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และเกิดกรณีรัฐบาลทหารยุคก่อนคุมการทำงานตลอดท่อส่งก๊าซและทำร้าย-ข่มขืนคนในพื้นที่

“บริษัทอื่นในภาคส่วนเดียวกัน รวมถึง POSCO International, PTTEP, Petronas, ONGC, GAIL, KOGAS, ENEOS และ Mitsubishi ควรจะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดการจ่ายเงินให้คณะรัฐประหารทันที”

ล่าสุด Assistance Association for Political Prisoners รายงานว่า เมียนมาร์มียอดผู้เสียชีวิตหลังรัฐประหาร 1,488 ราย