เมื่อยังไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหาหรือกระทั่งเสนอทางออก กับวิกฤตโขงผันผวนจนนำมาซึ่งสายน้ำโขงที่ใสและเต็มไปด้วยสาหร่ายน้ำจืด (ไกหรือเทา) ในระดับที่พวกเขาเรียกว่า “รุนแรง”
คนลุ่มโขงตัดสินใจพึ่งตัวเอง หาทางรับมือลำพังด้วยการพยายามใช้ประโยชน์จากไกปริมาณมหาศาลด้วย 3 วิธี “นำมาทำอาหาร ทำปุ๋ย และส่งให้นักวิจัยช่วยหาทางแปรรูปอาหาร”

ไกระบาด “หนักสุด” ตั้งแต่โขงผันผวน
21 มกราคม 2565 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงในหลายพื้นที่อีสานออกสำรวจสถานการณ์ “ไก” สาหร่ายน้ำจืดระบาดหนัก โดยตั้งข้อสังเกตว่าเนื่องจากปีนี้ แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำน้อยและใส ทำให้แสงแดดส่องถึงพื้น เกิดไกจำนวนมากและมาเร็วผิดฤดู อีกทั้งเมื่อระดับน้ำขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งพัดไปทำให้เครื่องมือประมงเสียหาย
เครือข่ายได้เก็บตัวอย่างไกจากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา พบไกระบาดเป็นผืนกว้างตั้งแต่บริเวณต.ปากชม จ.เลย จนถึงอีสานตอนล่างอย่างต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ซึ่งบางจุดพบไกสดสีเขียวอ่อน ขณะที่บางพื้นที่เป็นไกแก่แล้วซึ่งไม่สามารถบริโภคได้ เช่น บริเวณหาดดอนแม่น้ำโขง ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
“ปีนี้มาไวและจำนวนมาก” อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานเผยความรู้สึกกังวล “หนักสุดตั้งแต่โขงเริ่มผันผวน”


ไกผันผวนไม่สอดคล้องข้างขึ้น-ข้างแรม?
ทีมสำรวจที่หนองหวาย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ได้สอบถามผู้สูงอายุในพื้นที่ จันทร์ ดีบุดชา บอกว่าไกจะขึ้นหรือเจริญเติบโตได้ดีในช่วงวันเดือนข้างขึ้น ในเดือนข้างแรมจะไม่เกิดหรือเจริญเติบโตช้า
ปรากฏการณ์ไกระบาดแม่น้ำโขงปีนี้เริ่มเป็นข่าวตั้งแต่ช่วง 19 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงข้างแรม
ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับของปราชญ์ประมงหญิง สอน จำปาดอก กรรมการกลุ่มฮักน้ำโขงจ.อุบลราชธานี ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ขณะที่ทำการสำรวจไกบริเวณน้ำโขงที่ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้เครือข่ายตั้งใจจะนำตาข่ายดักและสังเกตการเจริญเติบโตของไกในแม่น้ำโขงอีกรอบว่าสัมพันธ์กับช่วงเวลาข้างขึ้น ข้างแรม และช่วงเวลาในแต่ละวันอย่างไร

“กิน-ทำปุ๋ย-แปรรูปอาหาร” 3 แนวทางอยู่ร่วมไกผันผวน
แม้จะกินได้และมีขายตามท้องตลาด แต่คนอีสานไม่นิยมกินไกและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เครือข่ายแม่น้ำโขงฯ จึงได้สำรวจวิธีการใช้ประโยชน์ไกในรูปแบบต่างๆ
กุศล พุทธทองศรี ต.ปากชม อ.ปากชม จ.เลย ทดลองใช้ไกทำปุ๋ยช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยผสมกับแกลบ รำข้าว เศษผลไม้ ขี้วัวขี้เป็ดขี้ไก่ หมักประมาณเดือนครึ่ง ใส่สวนยางพารา ลองกอง ส้มโอ มะขามหวาน มะเหมี่ยว มะพร้าว และนาข้าว จากการสังเกตพบว่าใช้ได้ผลดี เพิ่มความชื้น ความสมบูรณ์ได้มาก
นอกจากนี้ เครือข่ายยังจัดส่งตัวอย่างไกให้นักวิจัยเพื่อศึกษาสายพันธุ์และศักยภาพแปรรูปเป็นอาหาร
“เราจะสำรวจไกว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้างและศึกษาวิธีการแปรรูปเพื่อหาทางใช้ประโยชน์ เช่น สามารถแปรรูปเป็นอาหารคนได้หรือไม่ มีรสชาติประมาณไหน หรือถ้าไม่เหมาะบริโภคอาจทำเป็นอาหารสัตว์” ดร.พิสิฐ ภูมิคง หัวหน้ากลุ่มวิชาการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด อธิบาย
“ตั้งแต่แม่น้ำโขงผันผวน ไกระบาดมาสองปีแล้วและคงจะเกิดขึ้นอีก ผมคิดว่าถึงเวลาหาวิธีการใช้มันให้เกิดสูงสุดประโยชน์”