Rocket Media Lab เผยปี 2564 คนกรุงเทพฯ สูด PM 2.5 เท่ากับบุหรี่ 1,261 มวน ลดลง 9 มวนจากปีก่อนหน้า พบมกราคม อากาศ “แย่สุด” เท่ากับบุหรี่ 170 มวน
เท่ากับบุหรี่ 1,261 มวน ลดลง 9 มวนจากปีก่อน
17 มกราคม 2565 Rocket Media Lab เปิดเผยผลเก็บข้อมูลสถิติฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ พบว่าตลอดทั้งปี 2564 มีวันคุณภาพอากาศดี 90 วันและมีวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูงจนเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,261.05 มวน
ข้อมูลดังกล่าวประมวลจากสถิติค่าฝุ่น PM2.5 จากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ประกอบกับงานวิจัยเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นกับการสูบบุหรี่โดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งพบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน
Rocket Media Lab ยังพบว่า ในปีที่ผ่านมา คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) มากถึง 12 วัน ระดับสีส้ม (มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ) 61 วัน ระดับสีเหลือง (มีคุณภาพปานกลาง) 202 วัน และระดับสีเขียว (อากาศมีคุณภาพดี) 90 วัน โดยอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 ที่สอดคล้องกับเกณฑ์สากลจากข้อเสนอของกรีนพีซ
“เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อาจจะพูดได้ว่าปี 2564 อากาศดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะพบว่าลดลง 9 มวนที่จำนวน 1,270.07 มวน”

มกราคม อากาศ “แย่สุด” เท่ากับบุหรี่ 170 มวน
ข้อมูลพบว่าเดือนที่กรุงเทพฯ อากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดระหว่างปี 2563-2564 คือ เดือนมกราคม ซึ่งพบว่าเป็นเดือนที่มีวันที่ค่าฝุ่นสูงที่สุดถึง 187 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดีเลย เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่จำนวน 170.95 มวน
เดือนที่หนักรองลงมา พบว่าไม่มีวันที่อากาศในเกณฑ์สีเขียวเช่นกัน ได้แก่ กุมภาพันธ์ (163.68 มวน) และธันวาคม (148.86 มวน)
ปี 2564 สำหรับเดือนที่มีวันอากาศดีที่สุดถึง 22 วันคือ กรกฎาคม (64.86 มวน) รองลงมาคือกันยายน และมิถุนายน
สาเหตุฝุ่นกระจุกกรุงเทพฯ เมือง “ฝาชีครอบ”
ผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นชี้ว่าสาเหตุของปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ เป็นเพราะต้นกำเนิดมลพิษและลักษณะเมืองที่ลมนิ่งอากาศถ่ายเทไม่ดี
“แนวโน้มฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล น่าจะหนักสูงสุดเดือน ม.ค.2565 เพราะมีการเผาภาคเกษตรแถบภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยเฉพาะการเผานาข้าว เผาอ้อย ตามดาวเทียมวัดค่าความร้อนกระจุกตัวในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา…กระแสลมก็นำพาฝุ่นพิษมา แล้วมาเจอโรงงานอุตสาหกรรมกับรถบรรทุกน้ำมันดีเซลยูโร 3” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยกับไทยรัฐ
“พื้นที่กรุงเทพฯ ถูกล้อมรอบตึกสูง ในฤดูหนาวมักมี ‘ปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ’ ลมนิ่งอากาศถ่ายเทไม่ดี มีพื้นที่สีเขียวน้อยไม่มีตัวช่วยดูดซับมลพิษ กลายเป็นแหล่งสะสมกักเก็บฝุ่น PM 2.5 อย่างดี”
สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งให้ความคิดเห็นว่ารูปแบบผังเมืองยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเอื้อหรือปิดกั้นทิศทางลม ซึ่งเป็นสิ่งที่ออกแบบได้ในแต่ละเขต
“เช่น ถ้าเราบอกว่าจะจัดการโดยการปลูกต้นไม้ อาจจะปลูกต้นไม้บางโซนรอบลาดกระบังหรือเปล่า เพื่อเป็นแนวกั้นไม่ให้อากาศเสียมันไหลเข้ามา หรืออย่างในต่างประเทศเขาย้ายแหล่งกำเนิดอากาศเสียที่มันอยู่ต้นลมออกไปเลย เราอาจจะต้องศึกษาและวางแผนให้เชื่อมโยงกันทั้งเมือง และเชื่อมโยงยังเรื่องอื่นๆ การแก้ปัญหาด้วยการฉีดน้ำมันอาจจะไม่ช่วยอะไร”
ไทยแก้ปัญหาฝุ่นเพียงพอแล้ว?
Rocket Media Lab ได้รวบรวมความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในไทย พบว่ารัฐบาลไทยมีแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในด้านต่างๆ โดยคณะรัฐมนตรี มีมติให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติและเมื่อพิจารณาแผนปฏิบัติราชการรายปี 2564 ของกรมควบคุมมลพิษจะพบว่าในเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง มีการใช้งบประมาณ 20,992 ล้านบาท
ขณะที่กรุงเทพมหานคร ปี 2563 สำนักสิ่งแวดล้อม ได้รับงบประมาณในด้านการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและเสียง 66,538,352 บาท
อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขทางข้อกำหนดและกฎหมายที่สาธารณะกำลังดันให้ปลดล็อกการแก้ไขปัญหาฝุ่นให้ก้าวหน้ามากขึ้น ล่าสุด นักสิ่งแวดล้อมยังได้ยื่นเรื่องถึงหน่วยงานรัฐไทยให้ปรับเกณฑ์วัดค่ามาตราฐานคุณภาพอากาศให้ใกล้เคียงระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด
“มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการกำหนดค่าของไทยนั้นนอกจากจะไม่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแล้ว ยังเป็นการกำหนดค่าที่สูงกว่าในหลายๆ ประเทศ ทำให้แม้ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงแต่การให้ความหมายถึงระดับคุณภาพอากาศยังไม่ถือว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ”
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำหนดว่าค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าแนวทางของ WHO ที่ 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรถึงสามเท่า
ข้อเสนออีกอย่าง คือ การมีกฎหมายที่ดูแลเรื่องคุณภาพอากาศโดยเฉพาะ 21 มกราคม นี้ จะมีการเสนอร่างกฎหมายอากาศสะอาดต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นฉบับที่ประชาชน 24,000 รายเข้าชื่อสนับสนุน ขณะที่ร่างกฎหมายอีกฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ทางเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ …. )