เมื่อหนึ่งชีวิต ต้องกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เขาคือหนึ่งในชาวบ้านที่ต้องอพยพจากการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล วันนี้เขาคือหนึ่งในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล 

“ไม่เอา(เขื่อน) แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร” บทสนทนาล่าสุดกับ “คำสุข สีนวน” คุณพ่อชาวกระเหรี่ยงวัย 57 ว่าด้วยการต้องประสบชะตากรรมเป็นผู้ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนจาก “โครงการเขื่อน” เขารู้สึกนึกคิดอะไร อย่างไรบ้าง

พุธิตา ดอกพุฒ พาไปหาคำตอบในตอนแรกของรายงาน 2 ตอน ที่จะฟังเสียงผู้คนบนเส้นทางโครงการผันน้ำยวม เพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ล่าสุดของเมกะโปรเจกต์ 7 หมื่นล้าน ที่รัฐบาลกำลังผลักดันสุดตัว

คำสุข สีนวน เกษตรกรสวนลำไย ชาวกะเหรี่ยงโผล่ง

วันนี้ ที่ปลายอุโมงค์

“ที่มาเนี่ยขอถามนิดนึง จะมาให้ความช่วยเหลือ หรือจะอยู่ฝ่ายตรงข้าม ผมถามจริง ๆ ว่ามาเพราะอะไร?

เจอมาหลายหน่วยงาน มาเป็นรถตู้คันสองคัน มาถ่ายรูปแล้วก็ไป มาทำเพื่อผลประโยชน์อะไรรึเปล่าเราก็ไม่รู้ บางทีเราอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ลุงเนี่ยไม่รู้หนังสือเลย พูดไทยก็ไม่เก่ง 

ครั้งที่แล้วมีทีวีมาสัมภาษณ์ เขาให้ผมแบกจอบเดินไปเดินมา แล้วถ่ายรูปไป บางคนก็ดีใจได้ออกทีวีแล้ว เราเข้าใจว่าเขาจะออกข่าวว่าเราต่อต้าน แต่กลายเป็นว่ากลับกัน รายการบอกว่าไม่มีการต่อต้าน ไม่มีผลกระทบอะไรทั้งนั้น มีแต่ผลดี

ครั้งนี้ผมเลยอยากรู้ว่ามาทำอะไร เพราะผมกลัว ผมไม่รู้ที่มาที่ไป” 

คำสุข สีนวน เกษตรกรสวนลำไย ชาวกระเหรี่ยงโผล่ง วัย 57 ปี เริ่มบทสนทนาด้วยความกังวล ที่ทำกินของเขาและเพื่อนบ้านแม่งูดกว่าร้อยครัวเรือน กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการผันน้ำยวมส่วนปลายอุโมงค์และอ่างเก็บน้ำ 

โครงการ “ผันน้ำยวม” หรือ ชื่อทางการว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” เป็นโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 

“เพื่อเติมน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ เพิ่มพลังงานการผลิตไฟฟ้าให้เขื่อนภูมิพล เฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการผลิตน้ำประปา การประมงในเขื่อนและการท่องเที่ยว

ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารประกอบ อุโมงค์คอนกรีต ความยาว 61 กิโลเมตร เจาะผ่านผืนป่าต้นน้ำรอยต่อ 3 จังหวัด จุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 6 จุด และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

พื้นที่ศึกษาโครงการ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัด” เอกสารโครงการระบุ

ปัจจุบัน รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ (อีไอเอ) ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ขั้นต่อไปคือการพิจารณาของคณะกรรมการนน้ำแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี พร้อมคำถามและข้อถกเถียงโต้แย้งกว้างขวางถึงคุณภาพรายงาน ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลวิชาการ และเหตุผลการเร่งอนุมัติ 

โครงการฯ ถูกตั้งคำถามจากสาธารณะถึงความคุ้มของการลงทุนโครงการระดับ 7 หมื่นล้านครั้งนี้ ที่มาของเงินลงทุนโครงการฯ รวมถึงคำถามสำคัญ โครงการนี้จะสามารถแก้ปัญหาน้ำให้เกษตรกรภาคกลางได้จริงอย่างยั่งยืนตามที่กล่าวอ้างในเอกสารโครงการหรือ และจะตรวจสอบได้อย่างไร

ชะตากรรม หรือถูกกระทำ

รุ่นพ่อแม่อพยพมาตั้งแต่โดนไล่ที่มาจากเขื่อนภูมิพลใช่มั้ยคะ เล่าให้ฟังหน่อย

ใช่ ตอนแรกที่เขามาสำรวจเรื่องเขื่อนลุงยังไม่เกิดเลย ตอนอพยพคือเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว พอจะสร้างเขื่อนเขาก็จัดที่ตรงนี้ให้ ห้าสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2507 ผมกำลังเกิดอยู่ พ่อแม่ก็หนีขึ้นมา

ตอนแรกมีโฉนดที่ดิน มีเอกสารสิทธิ์ เขาก็มาเก็บไป ตรงที่นาเรา แล้วเขาก็ให้มาอยู่ตรงนี้แทน แต่ตายไปหมดแล้วนะ คนรุ่นนั้น เราก็อยู่มาเรื่อย ๆ 

สวนลำไยที่บ้านแม่งูด

ตอนนี้ที่ดินเป็นโฉนดอะไร

ไม่มีโฉนดอะไรเลย เป็นที่ของรัฐ เราไม่ได้เป็นเจ้าของ เป็นที่ของสหกรณ์เช่าของกรมป่าไม้มาอีกที เราไม่ได้เป็นคนเช่า ไม่ได้เสียอะไรเลย

ความสำพันธ์ระหว่างลุงกับพื้นที่นี้ เป็นอย่างไรบ้าง

เราคุ้นเคยกับท่ีนี่ เราไม่ตัดไม้ ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีคนตัดไม้ ไม่มีดอยหัวโล้น ทุกวันนี้ไม่มีงานไหนมาดูแลหรอก เราดูกันเอง ทุกวันนี้เราไม่ตัดไม้ มีแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้ตัดไม้ ไปขาย ถ้ามันมีเห็ด เราก็ไปเซาะเห็ดกิน

อย่างลุงเนี่ยมาที่สวนทุกสัน มาดูแลเอาใจใส่ที่นี่ ถ้าไม่ได้มีเงินของลูกหลานส่งมาเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็หวังว่าหนึ่งปีเราจะได้เงินหนึ่งครั้ง สองแสนก็พอได้แล้ว ปีหน้าอีก สองแสน ก็ดีแล้ว ถ้าเขาโตขึ้นมา ต้นใหญ่ สิบกว่าไร่นี่ก็สี่ห้าแสนแล้วนะ ปีหนึ่งน่ะ ต้นทุนไม่ถึงแสน ปีที่แล้วได้หนึ่งแสน ต้นทุนสามหมื่น เหลือเก็บเจ็ดหมื่น 

ตอนนี้ก็จะมาไล่อีกรอบใช่ไหม

จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะมาไล่นะ ทีแรกเขาว่าจะมาช่วยเหลือ แต่พวกเราว่ามันมีผลกระทบ ที่ดินเราจะเสียหาย เราจะทำกินยังไง เฉพาะลำไยทั้งหมดเนี่ย ถ้ามีต่อไปเราจะได้ทุกปีใช่ไหม แสนสองแสน หนึ่งปีได้หนึ่งครั้ง 

มันไม่คุ้มหรอก ถ้ามันเสียหายทั้งหมดเราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ในชีวิตประจำวัน เราหากินที่ไหนไม่ได้ 

ที่ดินเราจะเอาที่ไหนได้อีก ที่จะแบ่งให้ลูกหลานไม่มีแล้ว 

ที่นี่อยู่กับใครบ้าง

อยู่กันสองคน สามีภรรยา หลานไม่มี แต่ลูกสาวสองคนแต่งงานหมดแล้ว คนหนึ่งสามสิบกว่า อีกคนใกล้จะสามสิบแล้ว

เขารู้เรื่องไหม

เขารู้ แต่เขาไม่สนใจ เพราะเขาไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว เขาไปเป็นพยาบาลที่อมก๋อย อีกคนหนึ่งก็อยู่ที่เชียงใหม่ 

ถ้าโครงการเกิดขึ้นจริง จะเกิดอะไรกับเราบ้าง

สวนจะไปหมดเลย แต่บ้านจะยังอยู่ เขาไม่ได้บอกให้เราอพยพไปไหนนะ แต่ตรงห้วยเนี่ย เขาว่าจะเจาะเป็นคลองลงไป เท่านั้น จริงเท็จยังไงไม่รู้ แต่เขาว่าจะเจาะเป็นคลอง ดอยทั้งหมดจะเจาะยังไง เราก็คิดอยู่

ห้วยแม่งูด บริเวณที่จะเป็นปลายอุโมงค์

“ผู้ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อน”

โครงการนี้ได้ยินครั้งแรกตอนไหน

ตั้งแต่ตอนอายุสิบกว่า ได้ยินว่าเขาจะเอาน้ำสาละวินมา ตอนสมัยพ่อของลุงยังมีชีวิตอยู่นะ เขามานอนที่นี่เลย แล้วก็เก็บดินไปตรวจทุกวัน ๆ เราก็สงสัยว่าจะเอามาได้ยังไง ถามว่ามาเมื่อไหร่เขาบอกว่าไม่รู้ ต้องใช้เงินเยอะ 

สองสามปีก่อนก็มีมาสำรวจอีก เขาก็มาดูว่าเป็นที่ดินของใคร เขาจะเอาน้ำสาละวินมาที่นี่ จะเป็นที่ท่องเที่ยว เราจะมีรายได้เสริม เขาเรียกเราไปตอบคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มีค่าเสียเวลาให้คนละร้อยสองร้อย เราก็ดีใจ บางทีก็มีให้ยกมือถ่ายรูป เราก็ตอบไปว่าเห็นด้วย ๆ แล้วเขาก็ส่งข้อมูลไป  

ตอนนั้นได้ยินว่าเขาจะเอาน้ำสาละวินมาให้ตอนหน้าแล้ง เราก็ดีใจว่าเราจะได้ใช้น้ำ ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่าเราไม่ได้ใช้ เขาจะเอาน้ำมาเสริมเขื่อน เพื่อปั่นไฟฟ้า มันไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย แล้วที่ดินของเราก็จะเสียหายจากอุโมงค์ ที่เขาจะถม 

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ รู้มาจากใคร

จากพ่อหลวง พ่อหลวงไปประชุม ทีแรกรู้ข่าวว่า อบต. มาเล่าว่าจะมีทุนจากจีนมาด้วย ที่จะเอาน้ำสาละวินมาเนี่ย ก็รู้แค่นั้น รู้จากพ่อหลวงเนี่ยแหละ เป็นคนสื่อให้พวกเรา อย่างวันนี้ก็เป็นคนบอกว่านักข่าวจะมา ให้มา ลุงก็เลยมา

เริ่มรู้ตอนไหนว่าโครงการจะทำลายที่เรา เราจะเสียอย่างเดียว เราจะไม่ได้อะไรเลย

ปีสองปีนี้แหละ รู้จากพ่อหลวง ถ้าพ่อหลวงไม่บอกเราไม่รู้นะ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาบอกอะไรเลย ไม่มีใครมาพูดอะไรเลย เวลาลุงขึ้นมาสวนก็เห็นแต่รถตู้มา ที่เขามาถ่ายนั่นแหละ บอกว่าเป็นเขื่อนบ้าง อะไรบ้าง  บอกว่าทำงานที่เขื่อนภูมิพล มาทำงาน มาถ่ายรูป เก็บข้อมูล ว่าน้ำจะขึ้นเท่าไร ๆ มาแค่นั้นแหละ แล้วเขาก็กลับไป ไม่ได้มาคุยอะไรกับเรา บางครั้งเขามาก็ไม่ถามอะไร ถ้าไม่ถามพ่อก็ไม่ยุ่ง ไปดูเขาเฉย ๆ ก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่ปีสองปีมานี้เพิ่งรู้ว่าเขาจะมาทำโครงการนี้ จะเสียหาย

ถ้ามาเขาก็ถ่าย ๆ แล้วก็กลับไป นึกว่าจะมาสำรวจเขื่อนภูมิพล เวลาน้ำขึ้นจะท่วมที่นี่ เราก็ว่า เขื่อนภูมิพล เราไม่ยุ่ง เขามาทำงานของเขา

คิดว่ามาดูเรื่องเขื่อน ปีสองปีที่ผ่านมาถึงเพิ่งเริ่มสนใจ เพราะรู้แล้วว่ามันเป็นโครงการอื่น 

มีคนมาคุยเรื่องค่าชดเชยไหม

ไม่มีเลย สำหรับลุงไม่มีเลย ชดเชยยังไง จะชดเชยหรือเปล่า ไม่มีใครพูด ชดเชยเท่าไหร่ ไร่ละเท่าไหร่ๆ เขาบอกพ่อหลวงไหม ไม่รู้ แต่ไม่มีใครมาบอกเราเลย

พรุ่งนี้ ที่ปลายอุโมงค์

ตอนที่รู้เรื่อง รู้สึกโกรธไหม

ไม่โกรธ แต่ว่าเราต่อต้านได้แค่นี้แหละ ถ้ามาจริงๆ เราจะทำยังไง เราไม่มีอะไรจะสู้ โครงการใหญ่ ของรัฐด้วย ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งนั้น ถ้ามาจริงๆ เราค้านไม่ได้หรอก ปล่อยเลยตามเลย เพราะเราจะอยู่ที่นี่ ตายที่นี่แหละ ทุกวันนี้เราก็คิดว่าถ้ามานี่ ที่ดินเราจะเสียหายเราจะทำยังไง 

คนโน้นคนนี้ก็ว่า เอ๊ะ จะมาทำได้ไหม ลุงว่าทำได้ ก็เขามีทั้งเงิน มีทั้งอำนาจ เขามีเครื่องมือ บางคนก็เล่าว่าไม่ใช่ประเทศไทยลงทุนนะ จากจีนเขาจะมาลงทุน เขาพูดแบบนี้

คิดอย่างไรกับกระบวนการแบบนี้ ที่หน่วยงานเข้ามาแล้วก็ไม่แจ้งอะไร เราต้องมาหาข้อมูลกันเอง

มันก็เสียใจนะ ทำไมเขาไม่บอกอะไร เขาหลอกเรารึเปล่า มันเสียใจนิด ๆ แต่ถ้าเขาจะมาทำจริง ๆ เราก็สู้อะไรไม่ได้ ปล่อยเลยตามเลย 

แล้วถ้ายังไงเขาก็จะทำให้ได้ อยากให้กระบวนการมันเป็นอย่างไร

ถ้ามาจริง ๆ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลพวกเรา มาชี้แจงให้ถูกต้องว่าจะมาชดเชยยังไง ถ้าสร้างแล้วจะมาดูแลยังไง จะมาปรับปรุงยังไง ที่เขาบอกว่าจะถมดินเป็นดอยหัวโล้น แล้วเอาต้นไม้มาปลูกป่าแทน มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

ถ้าโครงการผ่านจะทำอย่างไร

ไม่ทำอะไร จะอยู่แบบนี้แหละ อยู่ที่บ้านเนี่ยแหละ เราไม่รู้จะต้องไปสู้ที่ไหน หรือจะหนีไปที่ไหน เราจะอยู่ที่นี่เกิดที่นี่ ตายที่นี่ ถ้ามาจริง ๆ ก็แล้วแต่ดวง ดวงใครดวงมัน

มีองค์กรไหนมาให้ความช่วยเหลือบ้างไหม 

ไม่มีเลย แต่เดือนที่แล้วมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากับนักศึกษา เขาก็มาสองสามครั้ง ที่อบต. บางทีก็เขามาหมู่บ้านพานักศึกษามาถ่ายรูป มาคุย เอาข้อมูลโครงการมาให้ดู แล้วเขาก็มาดูพื้นที่

อยากฝากอะไรถึงคนที่เกี่ยวข้อง หรือคนที่มีอำนาจจัดการดูแลโครงการนี้

อยากฝากว่าหยุดทำเสีย อย่าทำ เพราะว่ามันจะเสียหายกับพวกเรา ให้เขาเห็นใจพวกเราบ้าง เราไม่มีเงิน เราไม่มีทางต่อสู้ ให้เขา ให้ท่านนายกเห็นใจพวกเราบ้าง อย่าให้นึกถึงแต่ผลประโยชน์ของเขา