
งานวิจัยใหม่เผยการประชุมแบบจัดในสถานที่เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก เสนอยุทธศาสตร์ใหม่รับมือโลกร้อน จัดประชุมออนไลน์และแบบผสมผสาน ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ 94%
ประชุมวิถีเดิม ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10% ทั่วโลก
การประชุมออนไลน์อาจจะไม่ได้ช่วยป้องกันโรคระบาดอย่างเดียว แต่อาจช่วยลดโลกร้อน งานวิจัยใหม่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Nature Communications เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา เปิดเผยว่าทุกๆ ปีก่อนหน้าโควิดนั้น อุตสาหกรรมการประชุมระดับโลกมีส่วนสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ต่ำกว่า 10% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก โดยผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งอาจมีส่วนทิ้งรอยเท้าคาร์บอนได้สูงถึง 3,000 กิโลกรัมเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (kg CO2 equivalent)
“การประชุมแบบเดิมปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นขนาดเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งปีของสหรัฐอเมริกา” รายงานระบุ
ก่อนหน้าโควิด การประชุมและเสวนานั้นเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มีทิศทางเติบโตขึ้นเรื่อยๆ งานศึกษาโดย Oxford Economics พบว่าปี 2560 การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมีสถิติผู้เข้าร่วมถึง 1.5 พันล้านรายจาก 180 ประเทศและคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีอัตราเติบโตที่ 11.2% ในสิบปีนี้
งานวิจัยดังกล่าว จัดทำโดยอาจารย์ด้านวิศวกรรมเชิงระบบและผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินรอยเท้าคาร์บอนทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด Life Cycle Assessment ซึ่งเป็นการประเมินรอยเท้าคาร์บอนที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการผลิตของการจัดประชุมรูปแบบต่างๆ ทั้งการประชุมรูปแบบจัดในสถานที่ การประชุมออนไลน์ และการประชุมผสมผสมสองแบบ เพื่อประเมินและเปรียบเทียบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ประชุมออนไลน์ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ 94%
งานวิจัยพบว่าเมื่อเปรียบรูปแบบการประชุมจากจัดในสถานที่เป็นการประชุมออนไลน์ช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนได้ถึง 94% และการใช้พลังงาน 90%.
ตัวการปล่อยก๊าซฯ นั้นคือการผลิตอาหารเพื่อให้บริการในที่ประชุม ความต้องการใช้ไฟฟ้า และการเดินทางทางอากาศเพื่อเข้าร่วมเสวนา แม้ว่าการประชุมออนไลน์จะยังต้องใช้พลังงานในระดับครัวเรือน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดประชุมแบบห้องประชุมแล้วนับว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ามาก
“เราเชื่อว่าการปรับรูปแบบเสวนาเป็นออนไลน์ทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งจะช่วยตัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโลกได้จำนวนมาก” Fengqi You อาจารย์วิศวกรรมจากมหาวิทลัย Cornell University หนึ่งในทีมวิจัย เผยกับสำนักข่าว Mongabay
ประชุมแบบผสมผสาน ยุทธศาสตร์ใหม่รับมือโลกร้อน
แม้ว่าการประชุมออนไลน์จะเป็นที่นิยมอย่างก้าวกระโดดตลอดช่วงสองปีนี้ที่ทุกคนต้องรับมือโรคระบาด ทว่าหลายๆ คนรวมถึงงานวิจัยมากมายชี้ให้เห็นถึงข้อเสียของการประชุมออนไลน์ว่าลดโอกาสปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วม และยังทำให้รู้สึกล้าจากการใช้เครื่องมือออนไลน์
อย่างไรก็ตาม โพลจากวารสารวิทยาศาสตร์ Nature พบว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 900 รายเห็นด้วยว่าการประชุมหลังยุคโควิดควรจะจัดเป็นรูปแบบออนไลน์ต่อ โดยเหตุผลหลักคือเปิดให้เข้าถึงกับผู้คนหลากหลาย และเหตุผลรองลงมาคือช่วยลดต้นทุนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
“ถ้าเราจัดประชุมแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์กับในสถานที่จะช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนและการใช้พลังงานได้ถึง 2 ใน 3 และยังเปิดให้ผู้คนเข้าร่วมในสถานที่จริงได้ 50% โดยผู้จัดประชุมสามารถจัดประชุมโดยคำนึงถึงตำแหน่งสถานที่จัดงานซึ่งเปิดให้ผู้เข้าร่วมเดินทางในระยะใกล้ และให้บริการอาหารที่ลดการบริโภคเนื้อ” งานวิจัยเสนอ
“โลกหลังโควิด การประชุมออนไลน์และผสมผสมอาจเป็นยุทธศาสตร์ลดโลกร้อนที่ทำได้จริง”