บทสนทนาสบาย ๆ ส่งท้ายปี ว่าด้วยประสบการณ์และสีสันความสนุกของกิจกรรมที่เรียกว่า “ดูนก” กับ “ฝ้าย” รงรอง อ่างแก้ว ผู้ที่ทุบสถิตินับนกเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในวันนับนกปี 2564 ด้วยการส่องนก 140 ชนิดใน 1 วัน
ในปีที่โรคระบาดทำให้การเดินทางข้ามน่านฟ้าหยุดนิ่ง สิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ยังคงเดินทางอย่างอิสระคือนก พฤษภาคมและตุลาคมทุกๆ ปี คือ วันนับนกโลก (Global Big Day) ซึ่งผู้คนทั่วโลกที่สนใจใคร่รู้ในสิ่งมีชีวิตชนิดนี้พากันนัดกันออกสำรวจนกใกล้บ้านและส่งข้อมูลเพื่อเก็บสถิติบนฐานข้อมูลออนไลน์ eBird
เสาร์แรกของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “ฝ้าย” รงรอง อ่างแก้ว นักศึกษาสาวปริญญาเอกจากกลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ ออกจากสมุทรปราการ แต่เช้าตรู่เพื่อตามหานกในระบบนิเวศหลากหลายใกล้เมือง เธอพบนก 140 ชนิดในไทยและร่วมเก็บสถิติกับคนทั่วโลกที่พบนกกว่า 7,326 ชนิดในหนึ่งวัน

คุณดูนกประจำไหม
เราดูประจำแหละ เพราะทำวิจัยเกี่ยวกับนกด้วย ต้องเก็บข้อมูลเป็นประจำ แล้วก็เคยเข้าร่วมกิจกรรมดูนกกับสมาคมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand) บ่อยๆ ทั้งวันนับนกโลกตอนพฤษภาคมปีนี้ ที่เพราะโควิด เลยปรับมุมมองจากการเดินทางไปดูนกเป็นชวนคนดูนกในสวนใกล้บ้าน Garden Big Day
ยังมี Campus Big Day นับนกแข่งกันระหว่างมหาวิทยาลัย อันนี้สนุกอีกแบบหนึ่ง เพราะรู้สึกได้แข่งกับเพื่อนๆ ในไทย แต่ว่าแต่ละมหาลัยฯ จะมีความได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน เพราะบางวิทยาเขตอยู่ใกล้ป่าเลย เช่น มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ส่วนมหาลัยเรา มจธ. (พระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน) อยู่แถวป่าชายเลยไม่ค่อยมีนกเยอะไปแข่งเขาได้ แต่ก็ยังคงสนุกดี
แล้ววันนับนกโลกล่ะ
วันนับนกโลก (Global Big Day) เป็นกิจกรรมที่คนสนใจดูนกทั่วโลกมาแข่งขันนับนกกัน จัดมาหลายปีแล้ว ปีหนึ่งมีสองครั้งช่วงพฤษภากับช่วงตุลาคม
เราไปดูนกแล้วใช้แอพพลิเคชั่น E-Bird เก็บข้อมูล ดูว่าเราเจอนกชนิดนั้นกี่ตัว ชนิดนี้กี่ตัว กำหนดขอบเขตเช็กลิสต์หนึ่งคร่าวๆ ในพื้นที่จุไม่เกินจากรัศมี 5-8 กิโลเมตรจากจุดที่เราเริ่มสำรวจ พอย้ายที่ไปก็สร้างเช็กลิสต์ขึ้นใหม่ เราต้องทำข้อมูลตำแหน่งค่อนข้างละเอียด ไม่ใช่แค่เขียนว่าคลอมคลุมทั้งจังหวัด เพราะข้อมูลที่เก็บ นักวิทยาศาสตร์อาจเอาไปใช้วิเคราะห์ต่อในอนาคต
ปีนี้ กิจกรรมจัดวันที่ 8 พฤษภาคม กับ 9 ตุลาคม สาเหตุที่เขาเลือกจัดสองช่วงเดือนนี้เพราะจะได้กระจายความน่าจะเป็นที่คนทุกประเทศจะแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม เพราะเราต้องเข้าใจว่านกมีวงจรชีวิตขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าจัดแค่ช่วงกลางฤดูหนาวเท่านั้น นกจะอพยพจากซีกโลกเหนือมาทางซีกโลกใต้หมดแล้ว คนในเขตร้อนอย่างไทยก็จะได้เปรียบเจอนกมากกว่า เหตุผลที่เขาเลือกช่วงนี้เป็นช่วงที่นกกำลังมีการเคลื่อนย้ายพอดี เกือบทุกประเทศทั่วโลกจะมีโอกาสเจอนกในระดับสูงเฉลี่ยๆ กันไป
วันนั้นในประเทศเรามีรายงานนกทั้งหมด 465 ชนิดที่สังเกตในวันนั้น ได้อันดับที่ 20 ของโลก จาก 188 ประเทศ ในเอเชีย ไทยเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย ถือว่ามีคนเข้าร่วมเยอะพอสมควร
ได้ยินว่าคุณนับนกในวันที่ 9 ตุลาปีนี้เป็นที่หนึ่งของไทย ทุบสถิติด้วยนก 140 ชนิดใน 1 วัน
จริงๆ วันนั้นไม่ได้ตั้งใจว่าจะได้ที่หนึ่งของการแข่งกิจกรรมนี้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าคนจะเล่นเยอะหรือเปล่า แต่ไปเล่นเพื่อความสนุกสนานและเป็นกิจกรรมของโลกด้วย อยากให้มีรายงานนกจากประเทศไทยไปเยอะๆ
เราไปดูกับพี่ป่าน (วิชญนันท์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ) วันนั้นพวกเราเจอนกทั้งหมด 140 ชนิด แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นนกที่หายากมากหรือเป็นรายงานพิเศษอะไรเลย ส่วนใหญ่เป็นนกที่เจอได้ทั่วไป แต่เราเน้นกระจายไปดูนกหลายถิ่นอาศัย เช่น ป่า ทุ่งหญ้า ชายเลน ทำให้เรามีโอกาสเจอได้หลายชนิด
เราอยู่สมุทรปราการ เราเลยเลือกจุดที่ไม่ได้ไกลบ้านมากเลยออกจากบ้านตี 5 ไปอ่างเก็บน้ำบางพระ ชลบุรี เพื่อดูนกทุ่งรอบๆ อ่างเก็บน้ำ เจอพวกนกกระปูด เสร็จแล้วขับย้อนกลับมา กะไปแวะดูนกป่าที่เขาเขียว แต่ฝนตกหนัก เดินไม่ได้ เจอแค่นกสองตัว คือ กางเขนดง ซึ่งเจอง่ายมากตามขอบชายป่าและนกหัวขวานสี่นิ้วหลังทองที่บังเอิญบินผ่านพอดี เลยย้ายไปอ่างเก็บน้ำหนองค้อที่เป็นระบบนิเวศทุ่ง จริงๆ ไม่เคยไป แต่ดูใน google map และเทียบกับรายชื่อนกที่มีคนเคยส่งข้อมูลไว้ว่าอ๋อ เราน่าจะเจอตัวประมาณนี้
แล้วเราก็เริ่มขับไล่มาทางข้างในสมุทรปราการมากขึ้น แล้วไปคลองตำหรุ เจอนกชายเลน ชายเลนบึง ชายเลนน้ำจืด หรือนกกาบบัว แล้วไปบางปูต่อละกัน จะได้มีนกนางนวล สรุปว่าดูทั้งวัน ถึงบ้านประมาณทุ่มสองทุ่ม

มีบางตัวที่ไม่ได้เจอง่ายๆ โผล่มาเซอไพรต์บ้าง เช่น นกโกงกางหัวโต ซึ่งตัวนี้ในบางพื้นที่ยังเจอได้ง่าย แต่ในแถวกทม.หรือสมุทรปราการแทบจะไม่เหลือแล้ว แต่ตอนนั้นเราเจอที่คลองตำหรุ ชลบุรี แล้วบางตัวเป็นนกที่หายากแหละ แต่มีรายงานในพื้นที่อยู่แล้วเช่น นกนางนวลหางดำ เจอที่บางปู หรือตัวที่ไม่คาดว่าจะเจอแล้วก็บินผ่าน เช่น เหยี่ยวอพยพ อย่างเหยี่ยวเพเรกรินตัวนี้

อีกตัวนึงที่รู้สึกประทับใจอาจจะเป็นนกจาบคาคอสีฟ้า ช่วงนี้เป็นช่วงที่มันอพยพผ่านพอดี ปกติไม่ได้เจอบ่อยมาก ความวิเศษอีกอย่างหนึ่งของวันที่ 9 ตุลาคม คือ ตรงกับวันนกอพยพโลก (World Migratory Bird Day) เป็นช่วงเวลานกที่ไม่ใช่นกประจำถิ่นผ่านเข้ามาไทยพอดี

ดูนกก็คล้ายกับเล่น Pokemon Go
ใช่เลย
เป็นกิจกรรมของผู้ชายรึเปล่า
ตอนนี้สัดส่วนผู้ชายเยอะกว่าผู้หญิงอยู่ แต่ผู้หญิงก็ไปได้ มีเพื่อนๆ เป็นแก๊งหลายคน
นก 140 ชนิดใน 1 วัน คุณเซอร์ไพรส์ไหม
ก็ไม่ได้ขนาดนั้น คิดว่าถ้าใครอยากจะตั้งใจและวางแผนนับจริงๆ วันหนึ่งอาจได้ 250 ชนิดเลย สมมุติเลือกไปเพชรบุรี จะได้เจอนกที่ปากทะเล นกชายเลน แล้วก็เข้าป่าไปดูนกในแก่งกระจาน
จุดที่เซอร์ไพรส์คือบรรยากาศกิจกรรมปีนี้ มันตื่นเต้นมากกว่าครั้งอื่นๆ เพราะสมาคมดูนกมีอัพเดทลำดับแข่งขันแบบเรียลไทม์ แล้วมีชื่อเราโผล่ขึ้นไปเป็นที่หนึ่งประเทศไทย ตอนนั้นก็แบบ อ้าว เขามีรายงาน real-time ด้วยหรอ ใกล้จะจบวันแล้ว งั้นเดี๋ยวเราไปอีกหน่อยแล้วกัน สนุกดี
ความตื่นเต้นอีกอย่างของปีนี้คือคนไทยดูเยอะขึ้นมาก สถิติตุลาปีก่อน (2563) ไทยนับนกได้ 298 สปีชีส์ ปีนี้มีข้อมูลส่งตั้ง 465 สปีชีส์
พอคนดูมากขึ้น มันก็สนุกขึ้น อย่างจังหวัดตากก็รวมทีมจริงจังนะ ส่งตัวแทนไปคนละพื้นที่ คนนี้อยู่ป่า อีกคนไปดูอีกโซน เพื่อให้ได้สถิติจังหวัดเยอะๆ ต่างประเทศจะมีจริงจังมากเลย มีคนดูตั้งแต่เที่ยงคืนปุ๊ป ก็เริ่มออกไปเก็บนกตั้งแต่นอนอยู่ เช่น ในอเมริกาไปส่องไฟดูตามจุดนอนของนกชายเลนแล้วเอาเวลาตอนกลางวันไปดูนกป่าที่หาตัวยากๆ

ทำไมประเทศอื่นมีสถิตินับนกเยอะ
จริงๆ แล้วประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากอยู่แล้ว ในแง่ความหลากหลายเราไม่ได้น้อยหน้าขนาดนั้นหรือไม่มีอะไรเลย แต่น่าจะเป็นเพราะความตระหนักรู้ของคนเรื่องนกยังไม่ค่อยมากหรือเห็นความสำคัญของการเป็นวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (citizen-science) ว่าเรามีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ได้อย่างไร
ประเทศใกล้บ้านเราอย่างสิงคโปร์ เขานับนกและส่งข้อมูลผ่าน e-bird เยอะกว่าเรามากๆ ทั้งที่ประเทศเขาก็เล็กกว่าเรา
ถ้ามีรายงานเยอะจากทั่วทุกที่ ข้อมูลของประเทศเรามันเข้มแข็งขึ้นแล้วก็สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ในเชิงจริงจังกว่านี้ได้ เช่น ดูการเปลี่ยนแปลงของประชากรได้ ดูทิศทางการอพยพ การเลือกใช้พื้นที่ของนกตัวนั้นๆ และออกแบบวิธีการอนุรักษ์ที่เหมาะสม
จริงๆ แล้วนก 140 ชนิด เราเก็บข้อมูลจากนอกพื้นที่อนุรักษ์หมดเลย นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ก็มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเช่นกัน แต่มักจะโดนละเลย เช่น นกทุ่งซึ่งเราทำงานวิจัย
เล่าเรื่องงานวิจัยเรื่องนกให้ฟังหน่อย
เราเรียนเกี่ยวกับนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ (Conservation Ecology Program) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จริงๆ ไม่ได้มีแค่นกอย่างเดียว มีทั้งสัตว์ป่าทุกชนิด แล้วแต่ว่าใครจะสนใจด้านไหน เราสนใจเรื่อง “นกทุ่ง” หรือที่เรียกว่า Open-country birds ซึ่งหมายรวมถึงนกที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งเกษตรกรรม นาข้าว ทุ่งหญ้าและพื้นที่รกร้างต่าง ๆ
เราเก็บข้อมูลประชากร การกระจายพันธุ์ในปัจจุบัน รูปแบบการเลือกใช้พื้นที่ของนกแต่ละชนิด ความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและรูปแบบการทำนา เช่น การทำนาปี-นาปรัง รวมถึงประเมินภัยคุกคามอื่นๆ ที่มีในพื้นที่ เช่น การใช้ตาข่ายดักนก เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการจัดการพื้นที่ ประเมินว่าพื้นที่โซนไหนเป็นพื้นที่ที่ควรให้ความสำคัญในการอนุรักษ์เป็นพิเศษ
ประเทศไทยเรามีการศึกษาด้านนี้น้อยมาก แค่การอนุรักษ์นกก็มีน้อยแล้ว ยิ่งนกทุ่งยิ่งน้อยไปอีก เพราะส่วนใหญ่ การศึกษานกมักอยู่ในป่าอย่างเดียว เช่น นกเงือก รัฐไทยมักใช้คำเรียกพื้นที่ทุ่งเป็น “ทุ่งรกร้างว่างเปล่า” สังคมพืชข้างขอบคันนาจริงๆ แล้วก็เป็นที่อยู่นกหลากหลายชนิด เราก็ไม่มีแม้แต่คำศัพท์เฉพาะให้เรียก เรียกแต่เป็น “วัชพืช” พอเป็นวัชพืชก็ต้องกำจัด พอสุดท้ายแล้ว ถิ่นอาศัยของนกในสังคมวันนี้เลยหายไปมาก
นกจำนวนน้อยลงเป็นเรื่องที่จัดการได้ หรือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ?
จัดการได้สิ เพราะภัยคุกคามหลักของนกคือการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไป ถ้ามีการจัดการที่เหมาะสม ก็สามารถรักษาถิ่นอาศัยของพวกมันได้
วันนี้ พอพูดถึงเขตอนุรักษ์นก เรามักจะนึกถึง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด หรือทะเลน้อย ต้องเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่เท่านั้นมันถึงจะได้รับการยอมรับเป็นพื้นที่อนุรักษ์สำคัญ จริงๆ แล้วประเทศไทยควรส่งเสริมพื้นที่อนุรักษ์เอกชน
ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว คือ ทุ่งน้ำคำที่เชียงแสน เชียงใหม่ของชมรมอนุรักษ์นกล้านนาที่หมอหม่องเป็นประธาน เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ดีมาก เป็นทุ่ง มีนกทุ่งเยอะแยะ รวมถึงนกสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม
นอกจากนั้น ควรมีการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลดผลกระทบต่อนก เช่น การวางตาข่ายดักนกที่เป็นศัตรูพืชนั้นไม่ได้ดักเฉพาะนกที่กินพืช แต่รวมถึงนกตัวอื่นที่ให้บริการทางนิเวศด้วย เช่น นกกินแมลงที่ช่วยกำจัดศัตรูพืช หรือนกที่มีสถานภาพใกล้ศูนย์พันธุ์อย่างยิ่งในระดับโลก เช่น นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง มีรายงานการติดตาข่าย ถ้ามีการศึกษาที่จริงจัง ทางภาครัฐอาจช่วยหาทางออกให้ชาวนากับนกอยู่ร่วมกันได้
เรื่องนกเหมือนจะเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนมากกว่าที่คิดนะ
ใช่ ทุกคนมีส่วนเห็นความสำคัญ ช่วยส่งข้อมูลศึกษา โดยไม่ต้องจำกัดแค่วันนับดูนกโลกได้ แอพพลิเคชั่นมีหลายอัน ทั้ง INaturalist และ E-bird ซึ่งมีภาษาไทยด้วย เราคิดว่าบ้านเราหันมาสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองกันเยอะขึ้นมาก อยากให้ทุกคนใช้กันเยอะๆ ขึ้นโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลที่เราทำไปจะผิดถูก
สรุปแล้ว ดูนกมีเคล็ดลับอะไรไหม
หลายคนกังวลว่า “เราจะทำได้หรอ” เรื่องการระบุชนิดนก (identify) เขาก็มีกลุ่มในเฟซบุ๊คให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันจำแนกชนิดให้ได้ หรือเวลาส่งข้อมูลใน e-bird มันก็จะมีตัวช่วยกรองข้อมูลอยู่แล้ว เช่น อัพภาพและข้อมูลนกเงือกชนหินในสมุทรปราการ จะขึ้นว่าสถานะ “หายาก” ขึ้นมาเมื่อเทียบกับฐานข้อมูลเดิมให้เราประเมินว่า เฮ้ย มันจะเป็นไปได้หรอ คุณเห็นจริงหรอ แล้วเราก็จะเริ่มเอ๊ะ
ยังมีความคิดว่ากิจกรรมดูนกเข้าถึงยากหรือต้องใช้อุปกรณ์แพงมากหรือเปล่า จริงๆ แล้วมีกล้องสองตาตัวเดียวก็ดูได้แล้ว ซึ่งราคาพันสองพันก็มีขาย ไม่ต้องซื้อเลนส์เป็นแสน ส่วนตัวเราก็ไม่มีเหมือนกัน ค่อยๆ ขยับขยายไป (หัวเราะ)
ที่สำคัญ บางคนอาจจะคิดว่าดูนก ฉันต้องไปในป่า จริงๆ แล้วดูนกดูที่ไหนก็ได้ รอบบ้านเรา เริ่มจากนกกางเขนบ้านและนกเขา พอดูรอบบ้านแล้วอาจจะขยายต่อไปสวนสาธารณะ แล้วค่อยไปป่า อยากให้เริ่มสบายๆ แล้วค่อยๆ ขยับขยายไป
