นาบอนจะปฏิวัติระบบทำ EIA ไทย? จับตาผลเจรจาเย็นนี้

เครือข่ายนาบอนค้านโรงไฟฟ้าแสดงเชิงสัญลักษณ์หน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ภาพ: วาระปกป้องแผ่นดินใต้)

นายกโยนกลับหน่วยงานปฏิบัติ สผ.-กกพ.แก้ปัญหาโรงไฟฟ้านาบอน เครือข่ายฯ ไม่พอใจ เสนอปฏิวัติระบบทำ EIA ผ่านไป 7 วัน ตระเวน 7 หน่วยงาน ยังไร้การตอบรับรูปธรรม

13.00 วันนี้ (22 ธันวาคม 2564) นับเป็นวันที่ 7 ที่เครือข่ายนาบอนปักหลักชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้ากลางชุมชนโดย วันนี้ เครือข่ายราว 30 คนได้ย้ายจากการปักหลักหน้าตลาดหลักทรัพย์ไปทำเนียบรัฐบาล บริเวณแยกชมัยมรุเชษฐ์ 

คำสั่งนายกโยนกลับสผ.-กกพ.

เรียง สีแก้ว ผู้ประสานงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่เครือข่ายเรียกร้อง โดยมีคำสั่งสามข้อ ดังนี้

1.ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปเยียวยาผู้ประสบภัย 13 ครัวเรือนเป็นเบื้องต้น

2.ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รับข้อเสนอเครือข่ายไปพิจารณา ทบทวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)

3.ให้กกพ.รับข้อเสนอของเครือข่ายเพื่อพิจารณาเรื่องการให้ใบประกอบการอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้เครือข่ายคาดว่าจะได้รับเอกสารลงนามนายกอย่างเป็นทางการช่วง 18.00 เย็นวันนี้

เครือข่ายเสนอปฏิวัติระบบทำ EIA

เครือข่ายนาบอนเผยว่า ไม่พอใจกับคำสั่งดังกล่าว เพราะเน้นให้หน่วยงานรัฐใช้ดุลยพินิจเป็นหลัก พร้อมเรียกร้องให้ทั้งกกพ.และสผ.มีแนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขที่ชัดเจน

15.00 ตัวแทนมีกำหนดเข้าเจรจากับสผ.โดยเสนอ 3 แนวทางปฏิวัติระบบการทำ EIA ไทย

1.สผ.ต้องทำการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อหาคำตอบเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่ก่อน โดยคณะกรรมการที่เป็นกลางที่ยอมรับร่วมกันไม่ใช่ดำเนินการโดย สผ.

2.ถ้าผลของ SEA ออกมาว่าพื้นที่ไม่เหมาะสมก็จะต้องยุติการดำเนินการใดๆ ในกรณีพื้นที่นาบอน

3.ถ้าผลของ SEA ออกมาว่าพื้นที่เหมาะสม ให้ดำเนินการทำ EIA โดยคนกลางไม่ใช่บริษัทเจ้าของโครงการมาจ้างบริษัทอีไอเอทำแบบเดิม

“ทำไมจึงบอกว่า สผ.ต้องหยุดใช้กระบวนการ EIA ? เพราะ EIA นั้นเป็นกลไกที่รับใช้กลุ่มทุน 1) คนจ้างทำ EIA  คือ คนอยากทำโครงการ ฉะนั้นผู้รับจ้างจึงต้องทำทุกอย่างให้ผ่าน ไม่ต้องสนใจว่าถูกหรือผิด 2) การอนุมัติรายงาน EIA  คือ ให้บริษัทปรับรายงานกี่ครั้งก็ได้จนผ่าน ฉะนั้น EIA จึงผ่านได้ทุกฉบับ” ประสิทธิชัย หนูนวล นักกิจกรรมภาคใต้ที่ติดตามโครงการนาบอนและโครงการพัฒนาภาคใต้อื่นๆ ตั้งข้อสังเกต

“วาระสำคัญของนาบอนคือปฏิบัติการปฏิวัติ สผ.และกระบวนการทำรายงานอีไอเอ ให้นาบอนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงกติกาที่กลุ่มทุนใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมมาตลอดเวลา”

7 วัน 7 หน่วยงาน ยังไร้การตอบรับรูปธรรม

วันนี้นับเป็นวันที่ 7 ที่เครือข่ายนาบอนตระเวนยื่นหนังสือค้านโครงการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถประมวลการเคลื่อนไหวได้ดังนี้

15 -16 ธ.ค. เริ่มต้นชุมนุม ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

17  ธ.ค.ย้ายไปสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อยื่นหนังสือให้ทบทวนการถือหุ้นส่วนลงทุน และยื่นหนังสือกับสผ.และกกพ.

18 ธ.ค.ปักหลักหน้า ​UN องค์การสหประชาติ

20 ธ.ค.ย้ายไปปักหลักบริเวณหน้าตลาดหลักทรัพย์

21 ธ.ค.ตัวแทนตลาดหลักทรัพย์รับเรื่องจะนำไปพิจารณา ขณะที่พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการและถือหุ้นบริษัทพลังงานซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ช่วงเย็นเครือข่ายย้ายไปปักหลักที่ทำเนียบ

22 ธ.ค. รอคำสั่งอย่างเป็นทางการจากนายกและตัวแทนเจรจากับสผ.เรื่องการทำ EIA