‘ไม่นำ CPTPP เข้าครม.จนกว่าความขัดแย้งคลาย’ รองนายกรับปาก FTA Watch

ผลคุยนัดแรกระหว่างรองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัยกับเครือข่ายคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP นำโดย FTA Watch รมต.ดอนรับปาก “ไม่นำเข้าครม. จนกว่าจะคลายความขัดแย้ง” แต่ยันยังต้องเร่งรัด เพราะถ้าช้าจะไม่เป็นประโยชน์ ด้าน FTA Watch ประกาศจับตาใกล้ชิด

(ภาพ: Tanaphol Ongarttrakul/GreenPeace)

ครั้งแรก รองนายกคุยเครือข่ายค้าน #CPTPP

วันนี้ (20 ธันวาคม 2564) เวลา 10.00-12.00 น. ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือกับกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) ซึ่งคัดค้านการที่ไทยเข้าร่วมหุ้นส่วน CPTPP ณ สวนชีววิถี จ.นนทบุรี 

สืบเนื่องจากปลายเดือนพฤศจิกายน  ทาง FTA Watch เผยว่าได้รับจดหมาย “ด่วนที่สุด”​ จากทางรมต.เพื่อนัดพบคุยประเด็นดังกล่าว ซึ่งหลังจาก CPTPP กลายเป็นกระแสแพร่หลายในสาธารณะมากกว่าสองปี ครั้งนี้นับเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างภาครัฐที่บริหารจัดการเรื่องเข้าร่วมภาคีหุ้นส่วนกับเครือข่ายประชาชน-องค์กรที่คัดค้านการเข้าร่วม

ทั้งนี้ ประเด็น CPTPP เดิมมีกำหนดพิจารณาในคณะรัฐมนตรี วันที่ 14 ธันวาคม แต่กนศ.ได้เลื่อนวาระดังกล่าวไปก่อน

“การพบปะครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกหรือครั้งสุดท้าย แต่จะนำไปสู่การร่วมมืออีกหลายด้านที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งชีววิถีและ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติและวาระสำคัญในการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพปีหน้า” ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เผยผลเจรจาวันนี้

ทาง นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทน FTA Watch มองว่า “การพบกันครั้งนี้เป็นประโยชน์ ทางเครือข่ายกับทางรองนายกฯ ได้รู้จักกัน ได้เห็นว่าใครคิดอะไรแบบไหน แลกเปลี่ยนข้อมูลที่สองฝ่ายมี และมีจุดที่น่าตกใจว่าข้อมูลที่เรามีต่างกันมาก เช่น เรื่อง UPOV1991 เรื่องเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเรามองระดับผลกระทบต่างกัน”

(ภาพ: Tanaphol Ongarttrakul/GreenPeace)

หยุดเข้าครม.แต่ยังคงต้องเร่งรัด

“รองนายกให้ความมั่นใจกับพวกเราว่าจะไม่นำเรื่องนี้เข้าครม.จนกว่าจะได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลจนลดความกังวลและความขัดแย้ง” นิมิตร์ชี้ผลสำคัญจากการพูดคุย 

ตัวแทนรัฐ เผยว่าจะเอาข้อมูลเดิมที่มีการศึกษาถึงผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP มาศึกษาต่อและปรับให้ชัดเจนจากฝ่ายต่างๆ แต่ทั้งนี้ต้องดำเนินการในกรอบเวลาที่เหมาะสม 

“ไม่สามารถจะไปเรื่อยๆ ยื้อๆ ได้ ภาครัฐจะพยายามเร่งรัดเรื่องนี้ ไม่ให้ล่าช้าเกินไป เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามามากกว่าการเจรจา 11 ประเทศ ได้ยินว่ามีอีกหลายประเทศสนใจด้วย ถ้าเราช้า จะไม่เป็นประโยชน์” 

“สุดท้าย ถ้าเสียงตอบรับจากฝ่ายต่างๆ ดี ก็จะจรรโลงให้เราสามารถไปได้ในห้วงเวลาที่สมควรและเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ” ดอนกล่าว

(ภาพ: Tanaphol Ongarttrakul/GreenPeace)

FTA Watch เผยยังคงจับตาใกล้ชิด

นิมิตร์ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม การพูดคุยกันวันนี้ รัฐต้องห้ามนำไปอ้างว่าได้คุยกับประชาสังคมและประชาชนแล้วและจะนำไทยเข้าร่วม CPTPP เลย

นอกจากนี้ ยังเสนอว่า การคุยต่อเนื่องควรใช้กลไกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่เคยศึกษาเรื่องนี้และมีอยู่แล้ว เพื่อให้ไม่ต้องเริ่มศึกษาใหม่จากศูนย์และมีองค์ประกอบที่รอบด้านจากหลายฝ่าย มากกว่าการเผชิญหน้าระหว่างภาครัฐกับประชาสังคมโดยตรง

“การนำเรื่องเข้าคณะกรรมการและสภาก็เสี่ยง เพราะรัฐบาลคุมเสี่ยงข้างมากของสภาได้อยู่แล้ว สามารถให้มีการยกมือหนุนไทยเข้า CPTPP ได้ง่ายๆ แต่เราเชื่อว่าควรใช้เวทีนี้หารือ การพูดคุยในที่แจ้งในระบบประชาธิปไตยด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง น่าจะเป็นประโยชน์”

FTA Watch และเครือข่ายได้ติดตามความเคลื่อนไหว CPTPP ต่อเนื่อง 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้ไม่รับประเด็นการแสดงความจำนงเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP เข้าเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และเมื่อต้นเดือน เครือข่าย #NOCPTPP ยังได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ 

เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี 12 ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมภาคีเพื่อเอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจให้แก่กัน เช่น เพิ่มโอกาสส่งออกและดึงดูดนักลงทุนจากประเทศเครือข่าย ทว่าโครงการนี้ถูกตั้งคำถามว่าอาจทำให้ประเทศไทยต้องแก้กฎหมายหลายประการที่กระทบคนในประเทศ เช่น กฎหมายจดทะเบียนเมล็ดพันธุ์และนำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้ว