“ได้พูด-ได้รับฟัง แต่ไม่ชัดไปไงต่อ” เวทีเขื่อนสานะคามที่เชียงคาน

สทนช.จัดเวที ‘PNPCA ที่ไม่เรียก PNPCA’ ที่เชียงคาน ให้ข้อมูลโครงการ อัพเดตสถานการณ์ ยัน “ไทยไม่เคยรับรายงานการศึกษาโครงการเขื่อนสานะคามของลาว”

ด้านเครือข่ายคนเชียงคาน-คนลุ่มโขง 8 จังหวัดที่เข้าร่วมเวที แถลง “ดีใจที่เปิดเวที แต่สทนช.ต้องแถลงจุดยืนทางการอย่างชัดเจน เกรงจะเป็นแค่เกมซื้อเวลา ที่สุดก็ยอมให้สร้าง-ซื้อขายไฟ แบบเขื่อนอื่นบนลำโขงก่อนหน้า” ขณะ คสข. แถลง 3 ข้อ “หยุดเขื่อน รัฐบาลต้องจริงใจ จับตาทุนเขื่อนไทย”

แม้เวทีจะได้รับความสนใจแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง แต่จบกว่าสี่ชั่วโมงของการแลกเปลี่ยน ยังคงไม่มีความชัดเจนต่อการดำเนิน “โครงการเขื่อนสานะคาม” การดำเนินการ PNPCA  และท่าทีไทยอย่างเป็นทางการต่อโครงการนี้

(ภาพ : สทนช.)

สทนช. : ไทยไม่เคยรับรายงาน PNPCA เขื่อนสานะคาม

วันนี้ (17 ธ.ค. 2564) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดเวทีร่วมกับชาวบ้านลุ่มโขงกรณี “เขื่อนสานะคาม” ขึ้นที่เชียงคาน แต่ยืนยันว่าไม่เรียกว่า PNPCA กระบวนการตามกลไกคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) พร้อมถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยใช้ชื่อเวทีว่า “ล้อมวงริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม” (ชมย้อนหลัง)

โดย สทนช. เปิดเวทีด้วยการยืนยันท่าทีไทยต่อกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคามของสปป.ลาว ว่า “เราไม่เคยรับรายงานการศึกษา (ตามกระบวนการ PNPCA) และไม่เห็นด้วยกับการตั้งกำหนดแล้วเสร็จการพิจารณาภายใน 19 ม.ค. 2565

“สทนช.ในฐานะตัวแทนประเทศไทยในคณะกรรมการแม่น้ำโขงตั้งแต่เริ่มกระบวนการมา เรายังไม่เคยเห็นด้วยกับข้อมูลที่เขาส่งให้เราเลย 

ตั้งแต่ 9 ก.ย. 62 การประชุมคณะกรรมการครั้งแรก เราก็ไม่รับข้อมูลที่ส่งมา เพราะว่าผลกระทบไม่มีเลย JCWC ในวันที่ 30 ก.ค.63 คณะทำงานคุยกันบอกว่าส่งมาเบื้องต้นรับไม่ได้ พอไปถึงคณะกรรมการ 1 ต.ค.63 ก็เป็นกรรมการร่วมที่เรียกว่า JC เราก็บอกไปเลยว่า ไปทำมาเพิ่มก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน พอมีการประชุมระดับสูง ระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของ 4 ประเทศมาคุยกัน 26 พ.ย.63 ประเทศไทยเน้นย้ำว่าต้องดูเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนให้ดี

15 ม.ค.64 เขาก็ไปทำฉบับใหม่มา เรียกว่าฉบับที่ 2 เข้าคณะทำงานก่อน เราบอกไม่รับ ไปทำมาใหม่ ก.พ.64 เขาส่งมาใหม่ บอกไม่เรียกฉบับ 3 แต่ขอเรียกฉบับ 2.1 คือทำเพิ่มมาอีกนิดหนึ่ง แล้วจากนั้นมีประชุมคณะกรรมการร่วม ฉบับ 2.1 ก็ไม่ไหว ผลกระทบอะไรไยังไม่ชัดเจนเลย ไม่ไหวไปทำมาใหม่ให้เราไหว 

ช่วงกลางปี 64 เราก็มีการประชุมกัน MRCS เลขาของสี่ประเทศก็พยายามช่วย เขากก็ไปศึกษาเพิ่มเติมมา ไปศึกษารวดเร็ว 2 เดือน Rapid Assessment ก็ไปจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศระดับนานาชาติมาศึกษา เสร็จ มาปรึกษา 4 ประเทศ ไทยก็ไม่ขัดข้อง แต่ไม่รับปากว่าผลจะเป็นอย่างไร ต้องดูผลการศึกษา เน้นต้องดูผลกระทบต่อประเทศไทยตรงเชียงคานให้ชัด เพราะเราใกล้เขื่อนมันต้องชัด 

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 52 การศึกษายังไม่เสร็จสิ้น MRC ก็เสนออยากตั้งเป้าให้สำเร็จ 19 ม.ค.65 วันนั้นไทยบอกว่าที่เสนอมาจะตั้งเป้าหมายร่วมกันก็ได้ แต่ทุกอย่าง ผลการศึกษาเพิ่มเติมต้องเรียบร้อยทั้งหมด 

เราต้องเอาข้อมูลที่ดีมาให้คนของเรารับทราบความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เราต้องรู้คนของเราจะได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยหรือความเห็นเพิ่มเติมตั้งแต่ก่อสร้าง การบริหารจัดการเมื่อก่อสร้างเสร็จ เราจะได้บอกได้อย่างชัดเจน ให้เขาตกลงว่าจะทำตามข้อเสนอที่เราเรียกร้องถึงจะไปต่อได้

ปัจจุบันเหตุการณ์นี้ยังไม่ได้เกิด เพราะว่าเรายังไม่ได้ข้อมูลที่เราต้องการ ชัดเจนฝ่ายไทยแจ้งที่ประชุมชัดเจน เรื่องแรก 19 ม.ค.65 คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น ไม่น่าจะเสร็จกระบวนการของเดิม ปรับมาใหม่ดูแล้วน่าจะยังไม่พอ 19 ม.ค.ไม่เห็นด้วย อันนี้คือปัจจุบันที่สุด ณ วันนี้

สทนช.ได้เสนอในคณะกรรมการแม่น้ำโขงประเทศไทย ก็มีการหารือกันในคณะกรรมการ คือเราเห็นว่าคนในพื้นที่ หหรือคนที่อาจได้รับผลกกระทบ คนที่ฝ่ายเทคนิคเห็นว่าอาจได้รับผลกระทบ ต้องรับรู้ข้อมูลว่าเกิดเขื่อนขึ้นแล้ว เบื้องต้นจะกระทบอะไรอย่างไรไได้บ้าง MRC ไทยอยากให้เรารู้เรื่องนี้ก่อน ส่วนจะ PNPCA 4 ประเทศอย่างไร อันนี้ต้องเดินด้วยท่าทีที่เป็นปัจจุบันนี้ คือตอนนี้ยัง ถ้าไม่ได้อะไรมาก็ยัง แต่ตอนนี้ท่านเลขาบอกว่าต้องมาคุยกับพวกเราก่อนให้เข้าใจตรงกันว่าเกิดอะไรขึ้น” ผู้แทน สทนช. กล่าว

(ภาพ : สทนช.)

เครือข่ายคนลุ่มโขงแถลง “สนทช.ต้องแสดงจุดยืนปกป้องแม่น้ำโขง”

เช้าวันเดียวกัน 10 องค์กรเครือข่ายคนลุ่มโขงและคนทำงานแม่น้ำโขงได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เนื้อหาดังนี้

“สืบเนื่องจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติได้ จะจัดเวที “ล้อมวงริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม” วันที่ 17 มกราคม 2564 ที่หอประชุมโรงเรียนเชียงคาน เวลา 8.30 -14.30 น. โดยระบุว่าไม่ใช่กระบวนการจัดการ ตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedure for Notification, Prior Consultation, and Agreement)ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 แต่อย่างใดนั้น  

ในฐานะที่พวกเราภาคประชาชน องค์กรประชาสังคม นักสิ่งแวดล้อมและนักกฎหมาย ได้ติดตามกระบวนการจัดการรับฟังความเห็นตามกระบวนการดังกล่าวของสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย นับตั้งแต่ปี 2554เป็นต้นมา 

กรณีเขื่อนไซยะบุรี (2554) เขื่อนดอนสะโฮง(2557) เขื่อนปากแบง(2560) เขื่อนปากลาย(2561) เขื่อนหลวงพระบาง (2562) และเขื่อนสานะคาม(2563) โดยกระบวนการดังกล่าวจะมีระยะเวลาสิ้นสุดในระยะเวลา 6 เดือน และต้องมีฉันทามติก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการสรุปความเห็นของคณะกรรมการร่วมทั้ง 4 ประเทศ หรือเรียกว่า Join Committee หากคณะกรรมการมีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องเข้าสู่กระบวนการการตัดสินใจของคณะมนตรีแม่น้ำโขง

เดิมการจัดกระบวนการ PNPCA เป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำ ฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย นับตั้งแต่ครั้งแรกในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ปี 2554 ภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง และมีข้อเสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ครบถ้วนในภาษาไทย และปรับปรุงรูปแบบการจัด รวมถึงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลด้วยตนเองในเวที ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้นทั้งตามกระบวนการและตามข้อเสนอแนะ 

แม้ว่าทางสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ จะพูดเสมอว่า ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจจะให้เดินหน้าหรือยุติโครงการนั้น ๆ  โดยเฉพาะกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ผู้พัฒนาโครงการและเจ้าของโครงการระบุว่า ได้ผ่านกระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือตามข้อตกลงของคณะกรรมการแม่น้ำโขงตามระยะเวลา 6 เดือน  จึงทำให้เกิดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้พัฒนาโครงการและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจนสำเร็จ  เช่นเดียวกับเขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง ที่กระบวนการดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้ว 

โดยกรณีเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก ในประเทศไทยมีการจัดเวทีทั้งหมด 4 ครั้ง ในภาคอีสานและกรมทรัพยากรน้ำ 1 ครั้ง  เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนก็ไม่มีฉันทามติแต่อย่างใด และไม่มีกระบวนการพิจารณาในระดับคณะมนตรีแม่น้ำโขงตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงความร่วมมือแม่น้ำโขง ปี 2538 พวกเราจึงเห็นร่วมกันว่า “กระบวนการ PNPCA เป็นเพียงใบอนุญาตให้นักลงทุนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก”

ดังนั้นการจัดเวที “ล้อมวงริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม” ที่เปลี่ยนจากเวทีให้ข้อมูลสู่เวทีเสวนา จึงยิ่งสะท้อนความไม่เข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของสทนช. ในฐานะสำนักงานเลขาที่แท้จริง  กระบวนการจัดเวที PNPCA ที่ผ่านมาของทุกเขื่อนนั้น มีเพียงแค่ 1 เวทีที่ใช้คำว่า “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” คือกรณีเขื่อนไซยะบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2554 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นก็มีการใช้คำว่า “เวทีให้ข้อมูล” อีก 2 ครั้ง และเวทีสรุปที่กรมทรัพยากรน้ำ 1 ครั้ง เมื่อครบวาระ 6 เดือนแล้ว กระบวนการดังกล่าวก็จบลง 

เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง ปากลาย และหลวงพระบาง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการจัดเวทีแบบ “เวทีให้ข้อมูล” เช่นเดียว และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนไปแล้ว ข้อท้วงติงจากภาคประชาชนในทุกเวทีกลับไม่ได้รับการรับฟังแต่อย่างใด ๆ  

กรณีเขื่อนสานะคาม  นับเป็นเขื่อนแห่งที่ 6 ประกาศเริ่มต้นกระบวนการ PNPCA เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 และคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง (Joint Committee) ได้มีมติกำหนดวันสิ้นสุดกระบวนการ PNPCA  อย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 19 มกราคม 2565 

ดังนั้นการจัดเวทีล้อมวงคนริมโขงครั้งนี้ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยิ่งกลายเป็นกระบวนการที่ถอยหลัง ไม่เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งต้องยึดหลักการรับฟังความเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548

ดังที่ทราบดีว่า เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักนั้นมีบริษัทพลังงานเอกชนยักษ์ใหญ่ของไทยจับจองการลงทุนและผลักดันให้ไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าหลัก โดยเฉพาะเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง และสานะคาม รวมถึงเขื่อนภูงอย ที่คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการ PNPCA ต่อไป 

การประกาศราคารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงและปากลายล่าสุดของคณะกรรมการกำกับกิจการนโยบายพลังงาน(5พ.ย.64) เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นกว่า 50 % มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่งที่ต้องหยุดทำการผลิตไฟฟ้าเนื่องจากไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ยังได้รับเงินจากรัฐตามสัญญาซื้อขายผูกขาดระยะยาว รวมถึงการประกาศปรับขึ้นราคาค่าไฟในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งกลายเป็นภาระหนักของผู้บริโภคไทยต่อเนื่องยาวนาน  

ขณะที่ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง จากกรณีเขื่อนไซยะบุรีก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและยังไร้กลไกในการเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ก่อผลกระทบ การผลักดันการสร้างเขื่อนแห่งใหม่มากขึ้นนั้น ยิ่งจะทำให้ซ้ำเติมให้ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตชุมชนต้องพังทลายและเสียหายอย่างร้ายแรงมากไปกว่านี้ โดยที่ไม่มีใครรับผิดชอบ

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ต้องแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องระบบนิเวศแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำโขงของประเทศไทยนับล้านคน เพราะผลกระทบจากเขื่อนสานะคามจะส่งผลร้ายแรงอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศและประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคมที่พึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นหลัก รวมถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างไทยและลาวในแม่น้ำโขงอีกด้วย ไม่ใช่เพียงการจัดเวทีให้ข้อมูลเพื่อรอให้ครบตามกำหนดเวลา โดยไม่ยึดถือหลักเกณฑ์ระเบียบ กฎหมายใด ๆ ของประเทศไทย” 

แถลงการณ์ลงชื่อ กลุ่มรักษ์เชียงของ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง  มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มฮักเชียงคาน เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กลุ่มฮักน้ำเลย สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายชุมชนคนฮักน้อง จ.อุบลราชธานี

(ภาพ : คสข.)

คสข. แถลง 3 ข้อ “หยุดเขื่อน รัฐบาลต้องจริงใจ จับตาทุนเขื่อนไทย”

ช่วงบ่าย สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาและการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่ไฟฟ้าสำรองของประเทศล้นเหลือ เนื้อหาดังนี้

“วันที่ 17 ธันวาคม 2564 ณ หอประชุมโรงเรียนเชียงคาน อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดเวทีเสวนา”ล้อมวงคนริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม”  ในเวทีดังกล่าว มีการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ด้านประมง    และด้านเศรษฐกิจและสังคม และเปิดกระบวนการให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเข้าร่วมและแสดงความคิดเห็นนั้น ในนามเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 7 จังหวัดภาคอีสาน(คสข.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงมากกว่า 10 ปีเราขอแสดงจุดยืนว่า

  1. พวกเราขอคัดค้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงไม่ว่าจะเป็นเขื่อนใดๆเนื่องจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมาทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ต่อสภาพแวดล้อมอย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 300 กิโลเมตร  ดังนั้นเขื่อนสานะคามห่างเพียง 1.5 กิโลเมตรจึงจะส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  2. การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อกรณีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงมีความไม่ชัดเจน แม้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)จะได้พยายามยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา รวม 7 ข้อต่อมา นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา มีบัญชาให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศประสานความร่วมมือกับคสข.และหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็น มหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงเกษตรฯ  เพื่อแก้ไขปัญหา และมีเพียงกระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น ที่จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนพัฒนาด้านการเกษตร ประมง ซึ่งเป็นแผนปี 2566-70 ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม คสข.พบว่าไม่มีหน่วยงานใดที่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่แสดงถึงผลกระทบเพื่อใช้ในการวางแผน รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่จ้างสถาบันวิชาการบางสถาบันในการทำรายงานวิจัยเพื่อติดตามผลกระทบเรื่องนี้ และผลการวิจัยก็ยังไม่ยอมชี้ชัดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากการสร้างเขื่อนและอ้างว่าเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ขาดการศึกษาที่ชัดเจนว่าเขื่อนเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างไรและที่สำคัญขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทุกหมู่เหล่า
  3. คสข.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้เลิกดำเนินการลักษณะ “ลูบหน้าปะจมูก” เราพบว่าการลงทุนของไทยในต่างแดนมีจำนวนมากในการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงลำน้ำสาขาไม่ว่าจะเป็นเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนหลวงพระบางที่กำลังก่อสร้าง เราขอตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าพลังงานไฟฟ้าสำรองของประเทศเหลือเฟือแต่ทำไมไทยถึงรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีก  รัฐบาลไทยเอื้อทุนไทยในการลงทุนทั้งในมิติการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง การรับซื้อไฟฟ้าโดยไม่สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชนหรือไม่ โดยบริษัทช.การช่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี กรณีเขื่อนหลวงพระบาง บริษัทอิตาเลียนไทยกรณีเขื่อนบ้านกุ่มบริษัทซีพี กรณีเขื่อนภูงอย ที่กำลังจ่อเข้าเวที PNPCA

คสข.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำประเทศ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยชี้แจงต่อประชาชนลุ่มน้ำโขงตอบประชาชนทั้งประเทศว่าเหตุใดไฟฟ้าล้นเหลือทำไมยังต้องรับซื้อไฟจากเขื่อนน้ำโขง 

ทำไมยังต้องเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องการสร้างเขื่อน การรับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้า  เหมือนกับเป็นการรับรองการสร้างเขื่อน ไม่มีคนซื้อ ก็ไม่คนผลิตเพื่อขาย รัฐบาลต้องหยุดเอื้อบริษัทเอกชนไทยและไม่ควรมีส่วนทำลายแม่น้ำโขงอีกต่อไป

 เราขอเรียกร้องให้รัฐไทยดำเนินการแก้ในปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วอย่างแล้วอย่างเป็นรูปธรรม ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เราขอเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงไม่ว่าจะเขื่อนใดใดเพราะไม่มีความจำเป็น” แถลงการณ์ ระบุ