TPIPP โยนให้รัฐตัดสินใจประเด็น SEA จะนะ ด้านนักวิชาการชี้ “SEA จำเป็นต้องทำ-ไม่ใช่เรื่องใหม่” วิเคราะห์ “รัฐไม่อยากทำเพราะวางหมากทุกอย่างไว้หมดแล้ว” เสนอสภาพัฒน์เป็นเจ้าภาพทำ SEA ปลดล็อกความขัดแย้งจะนะ

TPIPP โยนรัฐตัดสินใจ SEA จะนะ
วันนี้ (13 ธันวาคม 2564) เวลา 9.00-12.30 น.เริ่มต้นวันแรกเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ต่อร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA-EHIA) โครงการ “จะนะ เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หนึ่งในประเด็นที่ถูกถามถึงมากที่สุด คือ ข้อเรียกร้องจัดทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเรียกร้อง
SEA เป็นข้อเรียกร้องหลักที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเซ็น MOU กับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ เวลานั้น เมื่อธันวาคม 2563 ทว่าจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการ ปีนี้ กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นจึงได้ปักหลักชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพื่อทวงถามถึงข้อตกลงดังกล่าว ปัจจุบัน เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
นราดล ตันจารุพันธ์ ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าวว่ากระบวนการทำ SEA เป็นอำนาจตัดสินใจของรัฐ ซึ่งบริษัทพร้อมจะปรับตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนดลงมา
“กระบวนการ EIA-EHIA เป็นการดำเนินการศึกษาในรูปของโครงการ แต่รายงาน SEA เป็นภาพรวมการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งต้องดำเนินการโดยภาครัฐ ขณะนี้ทางภาครัฐเองยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร หากทางรัฐมีนโยบายให้ทำการศึกษา SEA ทางเราจะต้องดำเนินการตามนโยบายที่ทางรัฐกำหนดลงมา”
ทั้งนี้ ตัวแทน TPIPP ย้ำว่า ต้องการรับฟังความเห็นชาวจะนะและประชาชนที่สนใจให้รอบด้านมากที่สุด ทั้งเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุน โดยเวทีรับฟังความเห็นออนไลน์วันนี้เป็นเพียงหนึ่งโอกาสในกระบวนการรับฟังความเห็นทั้งหมด
นักวิชาการย้ำ SEA จำเป็นต้องทำ
ในเวทีรับฟัง นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ย้ำถึงความสำคัญของการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ว่าจะเป็นการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ในภาพกว้าง ซึ่งมองรอบด้านมากกว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบรายโครงการอย่าง EIA-EHIA ที่ทำอยู่วันนี้
วันที่ 13-23 ธ.ค.บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีกำหนดจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ต่อร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4 โครงการได้แก่
1.ท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือน้ำลึกทีพีไอสงขลา (EHIA)
2.ท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปทีพีไอสงขลา (EHIA)
3.โรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลา (EIA)
4.สวนอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 1 (EIA)
สอดคล้องกับเสียงจากนักวิชาการอีกหลายคนจากเสวนา “ถอดรหัส SEA จะนะ คืออะไร ทำไม (รัฐ) ไม่เลือก ?” เมื่อ 12 ธ.ค. ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้ว่าหลายคนมักจะสับสนระหว่าง SEA กับ EIA-EHIA ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อทำ EIA แล้วจะไม่ต้องทำ SEA ในความเป็นจริงแล้วสองกระบวนการนี้ไม่เหมือนกัน
“SEA เป็นเครื่องมือและวิธีคิดที่จะสำรวจทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่อย่างรอบด้านและครบมิติ ว่าเรามีความเหมาะสมและรับผลกระทบในแต่ละด้านอย่างไร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน บางคนคิดว่าถ้าจะต้องทำ SEA จะทำให้การพัฒนาไปช้า แต่ต้องระวังจะเกิดกรณี ‘ไปเร็วและยิ่งช้า’ (Go fast to go slow) การทำ SEA จะกลับกันเป็น ‘ไปช้าเพื่อไปเร็ว’ (Go slow to go fast) เพราะคนได้ร่วมคิดและตัดสินใจ”
เขาย้ำว่าจริงๆ SEA ไม่ใช่เรื่องยาก อาจเริ่มจากทบทวนศึกษาว่า จะนะมีศักยภาพและทุนด้านทรัพยากร เศรษฐกิจ และมนุษย์ อย่างไรบ้าง และนำมาดูทางเลือกต่างๆ เช่น ทางเลือกด้านเกษตร ด้านการท่องเที่ยวแบบปลอดภัยด้านสุขภาพและคาร์บอนต่ำ รวมถึงทางเลือกด้านอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่างให้คำนึง เช่น เป็นประเภทอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและนิคม โดยอาจเป็นแบบผสมผสานทั้งเกษตรและนิคม
SEA ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะระบุในแผนประเทศ
บัณฑูร อธิบายว่า SEA ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศไทยได้กำหนดให้ศึกษาแล้วถึง 5 ระดับ ได้แก่
1.แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12
2.แผนนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
3.แผนปฏิรูปประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
4.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังไม่ผ่าน
5.คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบ SEA ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน
“กล่าวว่าเราไม่ควรต้องมาทะเลาะหรือเรียกร้องเรื่องนี้เลย” ตัวแทนหน่วยงานกำกับพลังงานย้ำ ชี้ว่าไทยไม่ได้ขาดแคลนคนที่เข้าใจเรื่อง SEA เห็นไ้ด้จากมีถึง 28 โครงการทำ SEA ในไทย
“ผมเชื่อว่าคนภาคใต้ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ต้องการร่วมคิดและออกแบบอนาคตในกระบวนการตัดสินใจด้วย เพื่อลดความขัดแย้งและไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
“รัฐไม่อยากทำ เพราะวางแผนไว้หมดแล้ว” นักวิชาการวิเคราะห์
ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการอิสระด้านพลังงานวิเคราะห์สาเหตุที่แม้การทำ SEA จะนะ จะดูคุ้มค่า แต่ทำไมรัฐบาลถึงไม่เลือกทำ
“ผมคิดว่ามีสองประเด็น คือ 1.กรอบเวลา อยากจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างตัวเลขการลงทุน บางรัฐบาลมองว่าการทำ SEA จะทำให้เดินหน้าโครงการช้าลง
2.อำนาจการตัดสินใจ รัฐบาลอยากตัดสินใจเลย โดยคิดว่ามีข้อมูลครบถ้วนแล้ว และไม่คิดว่าต้องพิจารณามุมยุทธศาสตร์อีก ราวกับว่าทุกอย่างได้เตรียมไว้หมดแล้วในแง่ที่ดินและผู้ลงทุน”
ศุภกิจ ย้ำว่าการพัฒนาอาจมีทางเลือกในรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เช่น หากต้องการพัฒนา “เกษตรกรรม” อาจจะเป็นการพัฒนาโรงงานการเกษตรที่มีอายุโครงการ 25 ปีหรือการเกษตรแบบกระจายสู่ครัวเรือนย่อย ซึ่งมีนัยยะต่อชีวิตต่างกัน รวมถึงการพัฒนาพลังงานแสดงอาทิตย์กำลังผลิต 800 เมกกะวัตต์ที่โครงการจะนะระบุถึง การพัฒนาในนิคมกับบนหลังคาชาวบ้านก็ต่างกัน
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TDRI) เสริมว่าผลการศึกษาความเป็นไปได้ของศอบต.ปัจจุบันเกี่ยวกับโครงการจะนะยังเน้นหนักด้านเอกชน ว่าจะได้ผลตอบแทนการลงทุน 15-18% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน
แต่ผลประโยชน์และต้นทุนของสังคมนั้นกลับพูดถึงน้อยมาก ในเอกสาร 26 หน้ามีระบุแค่หน้าเดียว ว่าให้เกิดการจ้างงาน 1 แสนตำแหน่ง ซึ่งตนคิดว่าไม่จริง เพราะอุตสาหกรรมในจะนะ เช่น ผลิตหัวรถจักร กังหันลม เป็นอุตหนักที่ใช้ทุนเข้มข้น เทียบกับแรงงานคน จะไม่เกิดการจ้างงานถึงหนึ่งแสนตำแหน่งอย่างที่พูดและถ้าลองเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่เป็นที่รู้จัก ยังไม่มีการจ้างงานถึงหนึ่งแสนตำแหน่ง
“เป็นคำถามทางเศรษฐศาสตร์ว่าโครงการจะนะได้คุ้มค่าหรือเปล่า เรายังเห็นไม่ชัดว่าประเทศได้ประโยชน์อย่างไร เห็นแต่เอกชนได้ประโยชน์อะไร”
ชี้สภาพัฒน์เหมาะสมที่สุด เป็นเจ้าภาพ
วงเสวนาลงความเห็นร่วมกันว่า การทำ SEA จะเป็นคลี่คลายความขัดแย้งจะนะ ด้วยหัวใจคือการเสนอข้อมูลใหม่บนหลักวิชาการ มากกว่าแค่ประชาชนมาค้านหรือสนับสนุนโครงการพัฒนาอย่างเดียว
“หน่วยงานอย่างสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) น่าจะเหมาะเป็นเจ้าภาพ เพราะการทำ SEA ต้องมองหลายมิติและเป็นหน่วยงานที่ชาวบ้านยังไม่มีความข้องใจ” ศุภกิจ เสนอ
เช่นเดียวกับ บัณฑูรจากกกพ.เขาชี้ว่านี้เป็นโอกาสดีที่ไทยจะนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว ( BCG) ซึ่งกำลังผลักดันในระดับยุทธศาสตร์มาผนวกกับโครงการจะนะ แถมยังเป็นโอกาสพัฒนาระบบและองค์ความรู้ด้าน SEA ซึ่งที่ผ่านมามีทำบ้างแล้ว แต่ยังมีช่องโหว่ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ซึ่งผลจากการคัดค้านของชุมชน นำไปสู่การศึกษา SEA ซึ่ น่าจะได้ผลสรุปมกราคมปีหน้า
“ผมชวนให้ใช้กรณีจะนะนี้มันสร้างการเรียนรู้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างหน่วยงานต่างๆ ไปเลย เป็นโอกาสพัฒนากฎหมาย SEA ที่ทำอยู่ด้วยพร้อมกัน”
19.00 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแถลงข่าว ประกาศปักหลักบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาลฯ รอการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อรับข้อเสนอทำ SEA