TPIPP ประกาศ “พร้อมยุติโครงการ หากชาวจะนะไม่ต้องการ”

ร้อนฉ่า วันแรกเวทีรับฟังความคิดเห็น “โครงการจะนะ” เสียงค้าน-ขอให้ยกเลิกเวที-โครงการ ลั่นห้องประชุมออนไลน์ หมอสุภัทรขอความชัดเจน นับ-ไม่นับ ว่าเป็นวันแรกของเวทีรับฟังตามกฏหมาย? TPIPP ประกาศ “พร้อมยุติโครงการฯ หากประชาชนต้องการ” 

เสียงค้านลั่นห้องซูม ยกเลิกเวที-โครงการ

วันนี้ (12 ธันวาคม 2564) เวลา 9.00 เริ่มต้นวันแรกเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ต่อร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการ “จะนะ เมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยช่วงเช้า เป็นการรับฟังความคิดเห็นผ่านโปรแกรมประชุม Zoom ออนไลน์ต่อโครงการ “ท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือน้ำลึกทีพีไอสงขลา” (EHIA) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่โครงการย่อยที่จะจัดรับฟังความคิดเห็นในสัปดาห์นี้ (13-23 ธ.ค.)

ภายในงานรับฟังความคิดเห็น นักศึกษาและชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นขอให้ชะลอการจัดเวทีฟังความคิดเห็นก่อนจนกว่าสถานการณ์โควิดและความขัดแย้งจะดีขึ้น พร้อมกับคัดค้านโครงการจะนะ

“ผมในนามตัวแทนองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ อยากให้ยกเลิกโครงการนี้ ภาคใต้ไม่ได้ขาดแคลนนิคมอุตสาหกรรม โครงการจะทำลายทรัพยากรธรมชาติและวิถีประมงท้องถิ่น และทำให้คนในพื้นที่ทะเลาะกันเอง” ตัวแทนนักศึกษากล่าว

ขณะที่ พงศภัค วัฒิปุญญะ ชาวบ้านสงขลา ย้ำว่าบริษัทควรทำตามหลักธรรมาภิบาล พร้อมเสนอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นไปก่อน เพราะเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จัดออนไลน์ ทำให้มีผู้เข้าร่วมเพียง 160 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่บริษัทผู้จัดทำเวที เนื่องจากหลายคนเข้าไม่ถึง และจะยิ่งกระตุ้นความรู้สึกของผู้ชุมนุม 

“บริษัทฯ รับฟังความเห็นและน้อมรับข้อเสนอแนะเรื่องกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเราพยายามทำตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางสผ. เราขอย้ำว่าไม่ได้มีช่องทางรับฟังความเห็นนี้ช่องทางเดียว ที่ปรึกษามีแผนลงพื้นที่ แต่ต้องดูสถานการณ์โควิดและเรียนตามตรงว่าต้องรอดู  ‘ความชัดเจนของนโยบายรัฐ’ ว่าต้องทำ SEA หรือเลื่อนไปก่อนหรือไม่” นวรัตน์ เกี้ยวมาศ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม UAE อธิบาย

สไลด์ประกอบการรับฟังความคิดเห็นโครงการจะนะ

นับ-ไม่นับ เวทีรับฟังฯ ตามกฎหมาย ?

ศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูไนเต็ดแอนนาลิสต์ แอนด์เอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์จำกัด (UAE) บริษัทที่ปรึกษาที่ทำกระบวนการ EIA-EHIA ชี้แจงว่า ก่อนหน้าเวทีวันนี้ ได้มีการเข้าไปแนะนำโครงการจะนะในพื้นที่กับทั้งเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่และหน่วยงานท้องถิ่นแล้ว ช่วงสิงหาคม – ธันวาคม 2563 

พร้อมย้ำว่า เวทีรับฟังความเห็นวันนี้เป็นเพียงขั้นตอน “กำหนดกรอบการศึกษา” เท่านั้น ก่อนจะไปสู่ขั้นลงพื้นที่และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยประชาชนผู้เกี่ยวข้องสามารถส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อขอบเขตการศึกษาแนวทางการประเมินผลกระทบ ภายใน 7 มกราคม 2565

“ถามว่าศึกษาแล้วเห็นชอบหรือดำเนินการโครงการได้ไหม ไม่ใช่นะคะ เราเป็นเพียงที่ปรึกษานำข้อเป็นจริงจากประชาชนและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ นำเสนอให้ผู้ชำนาญการ สผ.พิจารณาต่อ” ศุภรัตน์ ชี้แจง

“หลังจากนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นรอบ 2 ช่วงพฤษภาคม – กันยายน 2565 แล้วจึงจัดทำร่างโครงการ และจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในช่วงธันวาคม 2565 เพื่อยื่นให้คณะกรรมการชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา”

เวทีดังกล่าวเป็นที่ตั้งคำถามว่าจะนับเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดทำ EIA-EHIA “ค.1” ที่สผ.กำหนดหรือไม่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ตั้งข้อสังเกต พร้อมย้ำว่าเวทีนี้จัดออนไลน์ ทำให้ชาวบ้านหลายคนเข้าไม่ถึง สังเกตว่ามีผู้เข้าร่วมราว 160 คนเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้ยังรวมถึงตัวแทนบริษัท

ทางบริษัทฯ UAE ชี้ว่าเนื่องจากภาวะโรคระบาด สผ.จึงเปิดมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นหลากรูปแบบ รวมถึงเวทีออนไลน์ ขณะที่ทางตัวแทน TPIPP ยอมรับข้อเสนอของนายแพทย์สุภัทรว่าเวทีนี้อาจเป็น “เวทีระดมความเห็น” เท่านั้น โดยไม่ได้นับเป็นหนึ่งในขั้นตอนตามกฎหมาย 

จะนะรักษ์ถิ่นเคลื่อนจากยูเอ็นไปทำเนียบ (ภาพ: LOVER)
เจ้าหน้าที่เตรียมรับจะนะรักษ์ถิ่นบริเวณทำเนียบ (ภาพ: LOVER)

ผู้บริหาร TPIPP แจง “พร้อมยุติ หากประชาชนต้องการ” 

หลังจากบริษัทที่ปรึกษาชี้แจ้งถึงหลักการและแนวทางประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้เปิดเวทีให้ซักถามและแสดงความเห็นร่วมสองชั่วโมง ซึ่งเสียงส่วนมากแสดงความคิดเห็นคัดค้านการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ในช่วงท้ายการประชุม นราดล ตันจารุพันธ์ ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ TPIPP ได้ชี้แจงว่า

“บริษัทยินดีจะยุติโครงการ ไม่ใช่แค่ EIA-EHIA แต่ยกเลิกการดำเนินโครงการ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เราอยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนให้ครบถ้วนทุกด้าน บริษัทจะได้มีข้อมูลครบถ้วนไปพิจารณาว่าเราควรจะเดินหน้าโครงการต่อไหม ถ้าเสียงออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับรูปแบบที่บริษัทเสนอ บริษัทยืนยันว่าพร้อมจะยุติโครงการและหาทางเลือกอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกับชุมชน”

พร้อมย้ำว่า ความคิดเห็นดังกล่าวนี้เป็นเสียงสะท้อนจากทาง “ผู้ใหญ่ของบริษัท” เช่น ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ใหญ่ยังได้รับทราบถึงความคิดเห็นทั้งหมดในที่ประชุมครั้งนี้และติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา

“เราเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นและสอบถามให้มากที่สุด ทั้งผู้สนับสนุนและเห็นต่าง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นซึ่งชุมนุมอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็อยู่ในแผนรับฟังความคิดเห็นทำ EHIA อยู่เช่นกัน” ตัวแทน TPIPP ย้ำ

ด้านการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นซึ่งปักหลักชุมนุมครบรอบสัปดาห์ ประกาศวันที่ 13 นี้เป็นนัดสำคัญ โดย14.00 น. ผู้ชุมนุมราว 400-500 คนได้เคลื่อนจากหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ไปทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมรับอยู่บริเวณแยกมัฆวาน