
SCG ประกาศวิสัยทัศน์ธุรกิจใหม่ในโอกาสครบรอบ 109 ปีธุรกิจ ยอมรับ “โรงปูน” เป็นสัดส่วนการใช้ถ่านหินใหญ่สุดในไทย มุ่งลดใช้ถ่านหินให้ได้ครึ่งหนึ่งเริ่มต้นปีหน้า พร้อมขานรับนโยบายประเทศ มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิภายในปี 2593
“โรงปูน” สัดส่วนการใช้ถ่านหินใหญ่ที่สุดในไทย
8 ธันวาคม 2564 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) จัดงานแถลงข่าว “SCG ESG Pathway เริ่มด้วยกัน เพื่อเรา เพื่อนโลก” ณ สำนักงานใหญ่ SCG บางซื่อ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการลดใช้ถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์
“โรงปูนใช้ถ่านหินเยอะที่สุด เรามีต้นทุนพลังงานถ่านหินอยู่ราว 40 %” ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การเงินและการลงทุน SCG เผยกับผู้สื่อข่าว
การใช้ “ถ่านหิน” นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกร่วมหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทวีความรุนแรงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ล่าสุด ต้นพฤศจิกายน นานาประเทศได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้ถ่านหินและลงชื่อเลิกสนับสนุนการลงทุนที่ใช้ถ่านหินในต่างประเทศในงานประชุมสหประชาชาติว่าด้วยโลกร้อน (COP26) ณ เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร
ปี 2563 SCG มีรายได้จากการขายธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 171,720 ล้านบาท และมีตลาดทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีก 4 ประเทศได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย
รายงานของ GreenPeace ประเทศไทย เมื่อกันยายน เผยว่าปี 2562 ประเทศไทยนำเข้าถ่านหินในปริมาณ 21.7 ล้านตัน ซึ่งถูกใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์มากที่สุดถึง 61 % ของปริมาณถ่านหินนำเข้า และสัดส่วนการใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับภาคการผลิตไฟฟ้า จาก 23% (ปี 2533) เป็น 39% (ปี 2562)

ประกาศลดใช้ถ่านหินครึ่งหนึ่งเริ่มปี 2565
“เราพยายามจะลดใช้ถ่านหินลงครึ่งหนึ่งและหันมาใช้พลังงานทางเลือกที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ‘ครึ่งหนึ่ง’ นี้ถือว่ารุนแรงมาก เพราะการผลิตยังต้องโตขึ้น เลยต้องใช้นวัตกรรมหลายอย่าง ทั้งปรับขั้นตอนและวัสดุในโรงงานให้ใช้พลังงานทางเลือกต่างๆ” ธรรมศักดิ์ ชี้
เขาเผยว่าบริษัทปูนซีเมนต์ไทยมีเป้าหมายลดใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมผลิตปูนให้ได้ครึ่งหนึ่ง (20%) จากการใช้งานในปัจจุบันเริ่มต้นปี 2565 โดยจะหันมาใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เชื้อเพลิงพลังงานจากขยะ (RDF) Energy Pellet และเริ่มต้นลงทุนพลังงานใหม่ๆ อย่างพลังงานไฮโดรเจน
“เราทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตปูนมานาน เช่น น้ำเสียและการควบคุมมลพิษ แต่วันนี้แค่นั้นไม่พอแล้ว เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว ”
ในงานแถลงข่าวดังกล่าว SCG ยังได้แย้มถึงบริษัทลูกตัวใหม่ชื่อ “Cleanergy” ซึ่งมุ่งมั่นลงทุนพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ ลมและอื่นๆ มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้อย่างต่ำ 500 เมกกะวัตต์ในไทยและต่างประเทศ ภายในปี 2566
“SCG มุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ไม่ใช่เฉพาะมาตรฐานของเราเองเท่านั้น แต่มาตราฐานระดับโลก” ธรรมศักดิ์ย้ำ

รองรับทิศธุรกิจใหม่ “สิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล”
ผู้บริหาร SCG เปิดเผยว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพดูดซับก๊าซเรือนกระจก เช่น พัฒนาเทคโนโลยีและเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ในสิบปีนี้ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2573 (ค.ศ. 2050) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมโลกร้อน COP26
บริษัทมีแผนปลูกต้นไม้ในไทยเพื่อดูดซับคาร์บอนร่วม 3 ล้านไร่ โดยเป็นป่าบก 3 ล้านไร่ ป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ และขยายสู่อาเซียนเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 5 ล้านตันภายในปี 2573 รวมถึงสร้างฝาย 130,000 ฝายเพื่อคืนสมดุลป่า ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอน
“ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันกู้วิกฤตโลกร้อน โดยใช้ ESG กรอบการพัฒนาที่เป็นมาตราฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG เปิดเผย
เขาอธิบายถึงหลักคิด ESG ว่าเป็นกรอบแนวคิดที่ตั้งบนพื้นฐานว่าธุรกิจควรเติบโตควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสามปัจจัย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ตลอดเส้นทางการผลิต บริษัทฯ จึงได้ยกระดับแนวทางการดำเนินธุรกิจเป็น “ESG 4 Plus” ซึ่งไม่เพียงแต่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังคงเดินหน้าธุรกิจรับมือสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจากภาวะโรคระบาดควบคู่ไปกับปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
“วันนี้ SCG ได้ก้าวสู่ปีที่ 109 จึงยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่แนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ 1.มุ่ง Net Zero 2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ และ 4.ย้ำความร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส” รุ่งโรจน์ ประกาศวิสัยทัศน์ธุรกิจปูนซีเมนต์ไทย
หมายเหตุ การรายงานข่าวชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก SCG