เครือข่าย #NOCPTPP จัดกิจกรรมเรียกร้องรัฐบาล “ยุติถาวร CPTPP เป็นของขวัญปีใหม่คนไทย” จี้ประยุทธ์ หยุดครม.พิจารณา CPTPP 14 ธ.ค. ย้ำสวนทิศการพัฒนายั่งยืนโลก พร้อมเตือนคนไทย จับตาที่ประชุมสภาฯ วาระสิ่งแวดล้อมระดับบิ๊กก่อนสิ้นปี

เครือข่ายจี้ประยุทธ์ CPTPP สวนทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
วันนี้ (2 ธันวาคม 2564) เครือข่าย #NOCPTPP จาก 35 องค์กรพร้อมด้วยผู้สนับสนุนราวสี่แสนคน จัดกิจกรรมให้ความรู้และแถลงคัดค้านไทยเข้าร่วมภาคีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ณ สวนชีววิถี-สวนผันคนเมือง จ.นนทบุรี
ภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการให้ความรู้ถึงผลของการเข้าร่วมภาคีหุ้นส่วนฯ เริ่มด้วยแจกซองเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งเมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์จะมาพร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ แสดงให้เห็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วม CPTPP เช่น การรวมศูนย์บริษัทเอกชนที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์และปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์เกษตรโดยคนท้องถิ่น เช่น เมื่อปี 2558 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดเพื่อการค้าซึ่งราคาถูกกว่าบริษัทสี่เท่า แต่โดนตั้งข้อหาละเมิดสิทธิทางเมล็ดพันธุ์ แม้จะยังมี CPTPP ในวันนั้น
ท้ายกิจกรรม เครือข่ายได้แถลงจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีข้อกังวลว่าจะสวนทางการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 4 ด้าน ใจความดังนี้
1.การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารหลายอย่าง เช่น สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพพันธุ์พืชและอาหาร และมีการศึกษาว่าเกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาสูง 2-6 เท่า
2.ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งไทยยังไม่มีระบบจัดการที่รัดกุมพอ จนเกิดปัญหาขยะพิษ ขัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 12 ที่ต้องการให้มีการกำจัดขยะอันตราย ขยะติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง
3.เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ขัดกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 10 ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ
4.จะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้น เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปัจจุบัน ขัดกับ SDG 3 ที่มุ่งเพิ่มความสามารถเข้าถึงวัคซีนและยารักษาโรค
“เครือข่าย #NoCPTPP ในฐานะตัวแทนกว่า 400,000 เสียงจากประชาชน ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุติการพิจารณานำ CPTPP เข้ามติคณะรัฐมนตรี และยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันทีเพื่อเป็นของขวัญส่งท้ายปีให้กับประชาชน”
เผยรองนายกฯ “ดอน” ขอนัดคุยเครือข่ายคัดค้าน
ประเด็นเข้าร่วม CPTPP นี้ มีรายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีกำหนดนัดหารือกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย) เพื่อส่งเรื่องต่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 14 ธ.ค. พิจารณายื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงต่อไป
ทั้งนี้ เครือข่ายคัดค้านเรียกร้องให้ไม่มีการประชุมครม.พิจารณาเรื่องนี้ และยังเผยว่าดอน ปรมัตวินัย ได้ส่งหนังสือประทับ “ด่วนที่สุด” ถึงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ขอข้าพบและพูดคุยกับตัวแทน วันที่ 20 ธ.ค.10.00-12.00 น. โดยเครือข่ายได้พิจารณาแล้วว่ายินดีเข้าพบที่มูลนิธิชีววิถี พร้อมยื่นคำขาด
“ต้องรับปากว่าคำพูดของเราจะถูกนำไปพิจารณาอย่างมีความหมาย และก่อนหน้านั้นจะไม่มีการประชุมครม.พิจารณาวาระนี้” ตัวแทนเครือข่ายประกาศ
เครือข่าย 35 องค์กรประกอบด้วเกษตรกรรมสี่ภาค กลุ่มศึกษายา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และเครือข่าย People Go Network
ทั้งนี้ เพจ FTA Watch เผยว่ามีตำรวจนอกและในเครื่องแบบจำนวนหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมคัดค้าน CPTPP วันนี้
จับตาหลากวาระใหญ่สิ่งแวดล้อมในสภาส่งท้ายปี
เดือนธันวาคมนี้ มีความเคลื่อนไหวในสภาหลายกรณีที่เป็นจับตาในประเด็นที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต โดยสัปดาห์นี้ มีสองความเคลื่อนไหวที่มีกำหนดพิจารณาในที่ประชุมครม.แต่เลื่อนไป เนื่องจากการประชุมล่าช้า
1.ร่าง พ.ร.บ.เสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ โดยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดย ร่างนี้เคยเข้าชื่อเสนอโดยประชาชน 13,409 คน และมีกำหนดเดิมวันที่ 1 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรนัดพิจารณา
ทั้งนี้ ทาง iLaw ระบุว่าอาจจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งในวันที่ 8 ธ.ค. นี้
“เรามีมาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างกฎหมายผังเมือง ซึ่งมีไว้เพื่อจัดโซนว่า ตรงไหนคือพื้นที่ชุมชน ตรงไหนคือพื้นที่อุตสาหกรรม ตรงไหนคือพื้นที่เกษตร แต่คสช. ต้องการทำอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังนั้นจึงออกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2559 ให้ยกเลิกการใช้ผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ระบุในเสวนา “รวมพลังประชาชน-รื้อมรดกคสช.”
เธอเผยว่ายังมีอีกหลายคำสั่งที่ลดทอนมาตรการป้องป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน รวมถึงสิทธิในที่ดิน เช่น คำสั่งคสช. ที่ 4/2559 ยกเว้นผังเมืองทั่วประเทศไทยเพื่อเอื้อต่ออุตสาหกรรมขยะและโรงไฟฟ้า ทำให้มีโรงไฟฟ้าขยะผุดขึ้นใกล้ชุมชนทั่วไทย
2.การเดินหน้าโครงการขุดคลองไทย เดิมมีการบรรจุวาระรายงานผลการศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ในสภาวันที่ 2 ธ.ค. 2564
ข้อมูลล่าสุดระบุว่าคลองไทยผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีความยาว 135 กม. มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เป็นช่องทางสัญจรทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก
“ตอนแรกผมคิดว่าจะพูดถึงรายงาน กมธ.ในวันนี้แต่พอไปดูวาระแล้วยังถูกเลื่อนออกไป ผมเลยคิดว่าค่อยคุยกันในจังหวะที่ใกล้การพิจารณาน่าจะดีกว่า” ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายกลุ่มติดตามการพัฒนาภาคใต้ โพสเฟซบุ๊กถึงสาเหตุที่เลื่อนการแสดงความเห็นเรื่องนี้ช่วง 13.00 น.วันที่ 2 นี้เพื่อให้สอดคล้องกับการเสนอเรื่องเข้าสภา
“นั่งอ่านรายงานของ กมธ.คลองไทยและระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ได้แต่สั่นหัว ประเทศไทยเป็นแบบนี้มานาน คือ ไม่เห็นหัวประชาชน” ประสิทธิ์ชัย สะท้อน