
คนนาบอนสาบานจะปกป้องบ้านเกิดจากโรงไฟฟ้าขยะด้วยชีวิต พวกเขาเป็นหนึ่งในชุมชนหลายแห่งที่เสี่ยงมะเร็ง แลกกับการลดขยะและโลกร้อนในนามของ “พลังงานสะอาด”
เส้นผมสีดำของสุธี หอมเดช ค่อยๆ ร่วงหล่นทีละเส้น ก่อนผู้ประกอบพิธีจะนำไปรวมกับเส้นผมคนนาบอนคนอื่นๆ ที่ร่วม “โกนผมเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด” แม้จะเป็นชายรุ่นใหญ่ที่จับโทรโข่งกล่าวปราศรัยถึงสาเหตุที่มาปักหลักริมถนนในเมืองหลวงนานนับสัปดาห์ ดวงตาสุธีเป็นสีแดงก่ำ
หลังจากโกนเสร็จ ผู้ประกอบพิธีคุกเข่าลงนำเส้นผมมาสวดมนต์ตามประเพณีทางพุทธศาสนา และพาทุกคนกล่าว “สาบาน” กับบรรพบุรุษว่าจะปกป้องบ้านเกิดที่กำลังเผชิญความเปลี่ยงแปลงขนานใหญ่
ภาพนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเกิดขึ้นในวัด ทว่ากลับเกิดขึ้นหน้าสำนักงานหลักธนาคารเจ้าใหญ่กลางกรุงฯ ซึ่งร่วมลงทุนโครงการ “โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด” ขนาด 21.5 เมกะวัตต์สองโรง ซึ่งกำลังเริ่มต้นก่อสร้างติดรั้วบ้านสุธี กับอีก 14 ครอบครัว
คนต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช มีอาชีพทำนาและสวนยาง อาศัยน้ำจากคลองที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ก่อนจะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำตาปี ตำบลที่มีผู้คนราวแปดพันคนแห่งนี้ยังรายล้อมด้วยหุบเขาทุกทิศ ทั้งเขาหลวง เขาแก้ว และเขาตาว จึงมีลักษณะเป็นแอ่งที่ลมพัดลงจากหุบเขาพัดวนในบริเวณ
ในสภาวะปกติ สภาพแวดล้อมแบบนี้เป็นเสมือนของขวัญ ถึงกับมีคำกล่าวหยอกเอินกันว่า “นาบอน นอนสบาย” ทว่าข่าวคราวการมาถึงของโรงไฟฟ้าที่แปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้ภูมิศาสตร์แบบนี้กลายเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นว่าจะยิ่งเก็บกักมลพิษทางอากาศและน้ำ ขังคนนาบอนให้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษ

คำมั่นกลาสโกว์ ตัวเร่งผุด “พลังงานขยะ” ทั่วไทย?
โครงการ “โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน” คือโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไม้สับ ทะลายปาล์ม และเปลือกไม้ ซึ่งจะช่วย “ใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด” และสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่นด้วยรับซื้อเศษเหลือจากผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse-Derived Fuel)
ทว่าเครือข่ายนาบอนตั้งข้อสังเกต “ส่วนใหญ่โครงการจะประชาสัมพันธ์แต่ด้านชีวมวลว่ารับซื้อจากผลผลิตเกษตรเหลือจากชุมชน ส่วนเรื่องขยะไม่ค่อยพูดถึงนะ เราไปศึกษาเอกสารเอง” พวกเขาพบว่าโรงไฟฟ้าจะใช้ขยะผลิตไฟฟ้ากว่า 20% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยเป็นขยะส่งจากหนองคาย ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวพันกิโลเมตร
พลังงานไฟฟ้าขยะไม่ได้มีแค่ที่นาบอนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นแพร่หลายทั่วประเทศอย่างเงียบๆ มิถุนายน ปีนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เผยว่า มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่สร้างเสร็จและจ่ายไฟเข้าระบบไฟฟ้าแล้วถึง 44 โครงการ ในจำนวนนี้ ไม่นับอีกหลายโครงการที่กำลังก่อสร้าง
เทคโนโลยีนี้กลายเป็นที่นิยมหลังจากปี 2557 รัฐบาลไทยประกาศให้ขยะพลาสติกเป็นวาระแห่งชาติ และระบุว่าการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าเป็นวิธีหนึ่งที่จัดเข้าประเภทการจัดการขยะที่ “เหมาะสม” เพราะปีหนึ่งคนไทยผลิตขยะกว่า 25.37 ล้านตัน ดังนั้นโครงการนี้จึงช่วยจำกัดขยะ 7.2 ล้านตัน หรือเกือบหนึ่งในสาม
โครงการแนวนี้ถูกนำเสนอว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” เพราะไม่เพียงช่วยจัดการปัญหาขยะเท่านั้น ยังช่วยแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากขยะฝังกลบเป็นต้นตอปล่อยก๊าซมีเทนสำคัญถึง 8.9% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งสังคมเริ่มตระหนักมากขึ้นว่าร้ายต่อโลกไม่แพ้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ยิ่งไปกว่านั้น การเผาขยะเป็นพลังงานยังได้พลังงานไฟฟ้าทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่นๆ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือที่รู้จักว่า “PDP 2018” ซึ่งอยู่ในขั้นตอนร่างเพื่อกำหนดทิศทางพลังงานไทยช่วงยี่สิบปีนี้ ได้จัดพลังงานขยะให้เข้าข่าย “พลังงานหมุนเวียน” ทยอยเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น โดยมีกำหนดกำลังการผลิตที่ 400 เมกะวัตต์
พลังงานขยะเป็นเสมือนจิ๊กซอตัวเล็กในภาพใหญ่การพัฒนาสังคมปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำระยะยาว ในการประชุมวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ เมืองกลาสโกลว์ ประเทศอังกฤษ ไทยประกาศจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 50% เพื่อถึงภาวะเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจกในปีค.ศ. 2065
กระนั้นแม้จะดูเหมือนเป็นชิ้นส่วนขนาดจิ๋ว ทว่าโครงการแนวนี้ได้รับการส่งเสริมจากนโยบายรัฐรูปแบบต่างๆ โดยมีลักษณะเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชน-รัฐบาล ซึ่งรัฐช่วยสนับสนุนอัตราซื้อขายค่าไฟ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 ปี นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ละเว้นโครงการโรงไฟฟ้าขยะเป็นกรณีพิเศษ ทั้งสร้างโรงงานได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายผังเหมือง รวมถึงกำหนดให้โรงที่กำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ไม่ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)
ไม่คุ้มแลก “ลดโลกร้อน”
ไม่เพียงแต่คนนาบอนเท่านั้นที่อดกังวลไม่ได้กับเพื่อนบ้านรายใหม่ ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา หลายชุมชนทั่วทุกภาคออกมาคัดค้าน เพราะคำว่า “โรงไฟฟ้าขยะ” นั้นหมายความว่าจะต้องเผาพลาสติก เศษแก้ว และกระดาษ ซึ่งเสี่ยงปล่อยสารเคมี
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นสูง กระบวนการเผานี้ยากจะเลี่ยงไม่ให้เกิดมลพิษ ผลพลอยได้ที่ไม่อยากได้ คือ เถ้าที่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็งอย่างไดออกซิน รวมถึงสารโลหะหนักที่อันตรายต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและสะสม
“แม้แต่เนเธอร์แลนด์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและผู้สนับสนุนมักจะยกมาเป็นตัวอย่าง ยังเจอมลพิษตกค้างในดิน เทคโนโลยีนี้มีปัญหาในตัวเองและยังไม่นับเรื่องการกำกับและบำรุงรักษา ซึ่งเราไม่คิดว่าหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นไทยจะพร้อมทำ” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวอย่างจริงจัง
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH: Ecological Alert and Recovery – Thailand) ติดตามเรื่องโรงไฟฟ้าขยะในไทยมานานร่วม 20 ปี พบว่าโรงไฟฟ้าขยะเป็นแนวคิดที่มีการศึกษามานาน แต่ช่วงสิบปีมานี้ ทวีจำนวนขึ้น จนหลายชุมชนพากันตื่นตัวออกมาคัดค้านหนัก
“เสียสละส่วนน้อยเพื่อส่วนมาก” ความคิดนี้อาจผุดขึ้นมาในบทสนทนาเรื่องพลังงานขยะ ทว่าความเสี่ยงทั้งหมดนั้นอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ “คุ้มจะแลก” เพราะพลังงานขยะอาจไม่ได้ช่วยลดโลกร้อน
“โรงไฟฟ้าขยะไม่ใช่ทางออกสำหรับปัญหาโลกร้อน เพราะอย่างไรก็ตาม ขยะพลาสติกก็คือเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นการเผาขยะจึงสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”
เธอย้ำว่า การเผาขยะอาจยิ่งซ้ำเติมโลกร้อนหนักขึ้น เนื่องจากระบบแยกขยะในไทยยังไม่ดีพอ ทำให้มีขยะเปียกปะปน เป็นเหตุให้เตาเผาขยะมักพังและต้องกองขยะหมักหมมจนเกิดก๊าซมีเทน นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอื่นเพื่อลดมีเทนอย่างการดักจับก๊าซที่บ่อขยะเพื่อแปรสภาพเป็นก๊าซหุงต้ม เห็นได้จากโมเดลที่ประสบความสำเร็จที่อ.จอมทอง ซึ่งเป็นแหล่งรวมขยะมูลฝอยใหญ่สุดจากเชียงใหม่
“ทั่วโลกกำลังหันมาจัดการขยะโดย ‘ลดการเผา เน้นการคัดแยก’ เพื่อให้ขยะซึ่งเป็นทรัพยากรที่ยังมีประโยชน์นั้นกลับไปหมุนเวียนใช้ใหม่ให้เหลือกำจัดปลายทางน้อยที่สุด ไทยเองก็ควรตระหนักจุดนี้”

คลื่นความซับซ้อนข้ามทวีป
ความซับซ้อนทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นโจทย์สำหรับเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน มูลนิธิบูรณะนิเวศเป็นหนึ่งในกว่าแปดร้อยองค์กรสิ่งแวดล้อมจาก 90 ประเทศ รวมตัวเป็นเครือข่ายคัดค้านเตาเผาขยะและส่งเสริมทางเลือก “ไกอา” ซึ่งล้อกับคำว่าพระแม่ธรณี (GAIA: Global Alliance for Incinerators Alternatives)
ทวีปเอเชียแปซิฟิกเป็นทวีปที่มีการเผาขยะเป็นพลังงานสูงสุดในโลก โดยมีมากถึง 1,120 แห่ง เวียดนามมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในโลกในกรุงฮานอย ขณะที่เพื่อนบ้านทางตอนใต้อย่างฟิลิปปินส์ มีโรงไฟฟ้าขยะเกิดใหม่หลายสิบแห่งทั่วหมู่เกาะ จนหลายชุมชนรวมตัวฟ้องศาลว่าเป็นการละเมิดสิทธิในอากาศสะอาดและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ
การคัดค้านนี้อาจเป็นเพียงแค่คลื่นลูกเล็ก เมื่อเทียบกับกระแสการส่งเสริมการแปรสภาพขยะเป็นพลังงานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ได้ออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในไทยและอาเซียน ซึ่งรวมถึงพลังงานขยะ
“เหตุผลที่ธนาคารระหว่างประเทศยังสนับสนุนเทคโนโลยีแบบนี้ เพราะว่าต้องการหาตลาดระบายเทคโนโลยีเก่าที่ประเทศพัฒนาไม่ต้องการแล้ว” เพ็ญโฉม วิเคราะห์
สองปีก่อน สหภาพยุโรปได้ตัดพลังงานขยะออกจากรายชื่อกิจกรรมพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับ ออสเตรเลียที่ลบออกจากนโยบายพลังงาน
การประชุมโลกร้อนสากลครั้งล่าสุดนี้ GAIA ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกลุ่มทุนธุรกิจพลาสติกกับการออกนโยบายโลกร้อน โดยบริษัทที่ผลิตขยะพลาสติกมากที่สุดโลกอย่าง Uniliver กลับเป็นผู้สนับสนุนการจัดงานประชุมโลกร้อน
ด้านเครือข่ายนาบอน ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่เดินสายค้านโครงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเขาปักหลักค้างคืนหน้าสำนักงานหลักธนาคารไทยพาณิชย์ (Siam Commercial Bank) ด้วยเหตุผลว่าเป็นผู้ถือหุ้น 30% ของโครงการ
Plastic Waste Marker Index ระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดอันดับเป็นที่ 24 ในโลกในฐานะสถาบันการเงินที่สนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มทุนด้านพลาสติก
ผ่านมาสี่เดือน หลังจากยื่นหนังสือคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้านาบอนเมื่อกรกฎาคม เครือข่ายนาบอนเผยว่ายังไม่มีการตอบรับจากธนาคาร


“ราคาที่ต้องจ่าย” ก้าวต่อไปที่ต้องคิด
ปัญหาสิ่งแวดล้อมวันนี้กลายเป็นเรื่องซับซ้อน เมื่อถูกนำมาตีมูลค่าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ
สิ่งที่คืบหน้าสุดในเส้นทางรับมือโลกร้อนจากงานประชุมครั้งนี้ คือ กลไกซื้อขายคาร์บอน ซึ่งประเทศผู้ก่อมลพิษสามารถตกลงซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon credit) ได้กับประเทศที่มีโควต้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ ด้วยมีศักยภาพกำจัดก๊าซมาก เช่น พื้นที่ป่าไม้ และอาจรวมถึง “พลังงานขยะ”
ปัจจุบัน ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่า พลังงานขยะจะนำไปคำนวณในกลไกคาร์บอนหรือไม่ และจะมีสถานะเป็น “พลังงานสะอาด” ที่ช่วยชดเชยคาร์บอนหรือ “พลังงานฟอสซิล” ที่เป็นตัวการโลกร้อน
“เราเรียกร้องให้การเผาขยะต้องนำไปคิดในกลไกตลาดคาร์บอน เพราะพลังงานขยะเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อสภาพภูมิอากาศพวกเรา และต้องยกเลิกการสนับสนุนเงินโครงการแนวนี้ทั้งหมด” Yobel Novian Putra เจ้าหน้าที่ชาวอินโดนีเซียประจำ GAIA เอเชียแปซิฟิก ย้ำ
ด้านหน่วยงานพลังงานไทย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เผยกับ Greennews ว่า หน่วยงานไทยยังไม่ได้หารือกันเรื่องกติกาซื้อขายคาร์บอนเครดิต แต่คาดว่าพลังงานไฟฟ้าจากขยะอาจนับเข้าข่ายชดเชยคาร์บอนเครดิตได้ เพราะกลไกโลกร้อนก่อนๆ อย่าง Clean Development Mechanism ก็นับพลังงานขยะด้วยเช่นกัน
ขณะที่ราคาของธุรกิจพลังงานขยะสูงขึ้น แต่ต้นทุนผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจถูกประเมินต่ำ? กลไกที่ใกล้เคียงที่สุดอย่างการชดเชยเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage) นั้นไม่ได้รวมถึงผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ผลักดันในนามของการ “ลดโลกร้อน”
สิ่งที่จะคุ้มครองผู้ที่อยู่สถานการณ์คล้ายชาวนาบอนจึงเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่วิจารณ์ว่าอาจไม่เพียงพอ
“เหตุผลที่หลายคนคัดค้านคงเป็นเพราะปัญหาโรงขยะในอดีตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีอยู่จริงและกลายเป็นภาพฝังใจคนไทย เทคโนโลยีวันนี้ดีขึ้นเยอะ โรงไฟฟ้าขยะเป็นความจำเป็นในระยะเฉพาะหน้าเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” บัณฑูร อธิบาย
เขาย้ำว่า หน่วยงานกำกับกิจการพลังงานจะกำกับผลกระทบตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทางตามที่กฎหมายกำหนด
“ถ้าเราไม่เผาและจัดการขยะให้ถูกต้อง ปล่อยให้หมักหมมเป็นก๊าซเรือนกระจก ผมว่าอย่างนั้นยิ่งซ้ำเติมโลกร้อนกว่าเดิม”
[การรายงานข่าวชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Climate Tracker]