เผยสัญญาที่รับปากจะตรวจสอบ ศอ.บต. ทบทวนโดรงการอุตสาหกรรมจะนะ “ไม่มีการดำเนินการใด ๆ “ สิ่งที่ได้ คือ “การผลักดันผังม่วงรออุตสาหกรรม และเดินหน้า EIA/EHIA 4 โครงการ TPIPP ในพื้นที่เนียน ๆ”
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นตัดสินใจส่ง “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ไครียะห์ ระหมันยะ กลับมาทวงสัญญารัฐบาลหน้าทำเนียบ เป็นสัญญาณแรก จากจะนะ ถึงรัฐบาลประยุทธ์

ลูกสาวแห่งทะเลจะนะทวงสัญญารัฐบาล
“ตามที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 – 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ไว้กับรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move ซึ่งได้ยอมรับข้อเสนอของเครือข่ายฯ ที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
โดยตั้งคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตามการแก้ไขปัญหากรณีโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ร่วมด้วย
พร้อมกับให้ยุติการดำเนินการใดๆในโครงการนี้เอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 16,700 ไร่ รวมทั้งการยุติการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA,EHIA) ทั้ง 4 โครงการ ของบริษัท TPIPP. และ IRPC.
และรัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยมีหลักการประเมินโดยต้องตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนการของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อวางกรอบการศึกษาการเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบวนการทำงานให้ดำเนินการประเมินศักยภาพทรัพยากร และพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรของท้องถิ่น และในการศึกษานี้ต้องไม่มี ศอ.บต. เป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการจัดทำ
แต่บัดนี้เวลาผ่านไป 1 ปี รัฐบาลไม่มีการดำเนินการใดๆเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
แต่กลับให้มีการเดินหน้าจัดทำกระบวนการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนสีผังเมืองจากพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นสำหรับประกอบอุตสาหกรรม สำหรับนิคมอุตสาหกรรมกว่า 16,700 ไร่ และมีการเดินหน้าจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA,EHIA) ทั้ง 4 โครงการ ของบริษัท TPIPP ซึ่งผิดเงื่อนไขข้อตกลงที่ได้มีการลงนามกันไว้
นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ จึงมาทวงสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับประชาชน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล” เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นประกาศค่ำวันนี้ (24 พ.ย. 2564)
คำสัญญา 2563
15 ธันวาคม พ.ศ.2563 ครม.มีมติตัดสินให้รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ภายหลังจากผู้ชุมนุมกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” ซึ่งได้ปักหลักคัดค้านโครงการฯ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลากว่า 6 วัน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการทั้งกระบวนการ รวมถึงให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ของ จ.สงขลา หรือ SEA
ผลสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับข้อตกลงบางส่วนของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่ตกลงเมื่อวันที่ 14 ร่วมกับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนเจรจาหาข้อยุติแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการจะนะ ซี่งได้เข้ามาพูดคุย โดยกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลมีมติยกเลิกมติครม.เกี่ยวข้องกับการเดินหน้าโครงการจะนะทุกฉบับ ทั้งการแก้ไขผังเมือง และศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA และ EHIA) และจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยมีหลักประเมินบนฐานทรัพยากรของพื้นที่ คำนึงถึงศักยภาพของระบบนิเวศ การเติบโตของท้องถิ่น โดยทุนภายนอกให้เป็นปัจจัยส่งเสริมต่อยอดศักยภาพของพื้นที่
นอกจากนี้ กลุ่มยังเรียกร้องให้มีคณะกรรมการศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจเลือกพัฒนาจ.สงขลาให้เหมาะสม โดยมาสัดส่วนจากประชาชน นักวิชาการภาคประชาชน และต้องไม่มีศอ.บต.เป็นผู้มีส่วนดำเนินการ ทั้งนี้ ตัวแทนรัฐได้ให้คำตอบว่าจะศึกษาและทำงานในประเด็นดังกล่าวต่อไป