องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดตัวเซเลบ “มารีญา พูลเลิศลาภ” ในฐานะฑูตโครงการ Food System พร้อมคลิป 5 นาที รณรงค์เรียกร้องคนไทยให้ความสำคัญกับประเด็นสวัสดิภาพไก่และสัตว์ฟาร์ม
เผยเตรียมยื่นเรียกร้องยักษ์เฟรนไชส์ไก่ทอดข้ามชาติชื่อดัง อย่าง “เคเอฟซี” ในประเทศไทย ให้ประกาศยกระดับสวัสดิภาพไก่ โดยเตรียมยื่น 20,000 ลายชื่อให้เคเอฟซีฯ 25 พ.ย. เรียกร้องบริษัทให้ลงนาม The Better Chicken Commitment

เปิดตัวฑูต “มารีญา” วันนี้
วันนี้ (20 พ.ย. 2564) องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้แถลงเปิดตัว มารีญา พูลเลิศลาภ ในฐานะทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก โครงการ Food System ด้วยเหตุผล “เป็นผู้หญิงเก่งที่ประสบความสำเร็จทั้งในฐานะนางงามและผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ตลอดจนมีจุดยืนที่ชัดเจนในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์สัตว์อย่างต่อเนื่อง”
““ดีใจมากค่ะ ที่ได้รับเกียรติให้เป็นทูตขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ใน โครงการ Food System มารีญาเคยร่วมงานเสวนากับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกในหัวข้อ “ตกลงเราควรจะเลิกกินเนื้อกันใช่ไหม?” จากครั้งนั้นทำให้มารีญาพบว่ามันมีแง่มุมที่น่าสนใจมากในเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สวัสดิภาพของสัตว์ฟาร์ม ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึงกัน
เป้าหมายของโครงการ Food System ค่อนข้างที่จะตรงกับสิ่งที่มารีญาสนับสนุนค่ะ อย่างตอนนี้มารีญาก็เลิกทานเนื้อสัตว์แล้ว ดังนั้น การได้มาร่วมงานกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกครั้งนี้เป็นอะไรที่ดีมากๆ เลยค่ะ”มารีญา กล่าว

รณรงค์ “สวัสดิภาพไก่-สัตว์ฟาร์ม”
“ตั้งใจเปิดประเด็นเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ฟาร์ม อยากให้ทุกคนได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองกัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของเราจริงๆ ค่ะ
ลองนึกดูง่ายๆ นะคะ ว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ที่จะถูกนำมาเป็นอาหาร เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินความจำเป็น สุดท้ายแล้วยาเหล่านั้น ก็อาจจะส่งกระทบมาถึงผู้ที่บริโภคได้ นี่เป็นแค่ตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวนะคะ ที่ทำให้เห็นได้ว่าแท้จริงแล้วเรื่องของสวัสดิภาพของสัตว์ฟาร์มใกล้ตัวของเรามากแค่ไหน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องขั้นตอนการเลี้ยงต่างๆ อีก ซึ่งบางเรื่องอาจจะมองได้ว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ด้วยซ้ำค่ะ และเพราะว่าสวัสดิภาพสัตว์เกี่ยวกับอาหารที่เรารับประทานอย่างแยกจากกันไม่ได้” มารีญาอธิบายประเด็นรณรงค์ที่สื่อสารผ่านคลิปวิดีโอความยาวกว่า 5 นาทีที่เผยแพร่พร้อมการเปิดตัวโครงการรณรงค์ครั้งนี้

เรียกร้อง “โครงสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน”
“คาดหวังให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างระบบอาหารของเราใหม่ ให้มีความเมตตามากขึ้น และเป็นวิถีที่ยั่งยืนขึ้น ทั้งเพื่อชีวิตสัตว์และเพื่อสุขภาพของคน
นอกจากนี้ยังช่วยลดวิกฤติด้านของสุขภาพของมนุษย์จากเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และลดโอกาสในการอุบัติใหม่ของโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ รวมถึงยังสามารถลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วยค่ะ มันอาจถึงเวลาแล้วนะคะ ที่เราจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า สุดท้ายแล้ว…เราแคร์อะไรบ้างบนโลกใบนี้” มารีญากล่าวถึงข้อเรียกร้องหลัก
“สำหรับบทบาทในฐานะทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกนั้น มารีญาจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงร่วมรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Food System
พร้อมกันนี้ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ปล่อยคลิปวีดีโอ ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนภาพความจริงว่าในแต่ละปี สัตว์ฟาร์มกว่าหมื่นล้านตัวต้องทุกข์ทรมานภายใต้การเลี้ยงที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมนำเสนอการบริโภคแบบ Less and Better Meat เป็นหนึ่งในทางออกเพื่อการแก้ปัญหาร่วมกัน” มารีญากล่าว

เตรียมยื่นเคเอฟซีไทย
“มารีญาจะร่วมในกิจกรรม Change for Chickens เพื่อมอบรายชื่อผู้สนับสนุน 20,000 คน ที่ต้องการให้ เคเอฟซี ประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับสวัสดิภาพไก่ ด้วยการลงนามใน The Better Chicken Commitment ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ณ บริเวณพื้นที่หน้าศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า เวลา 10.00 น.
สามารถร่วมชมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มไปพร้อมกับมารีญา และองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และติดตามรับชมวีดีโอฉบับเต็ม ทางช่องทางออนไลน์” องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดเผย
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection (WAP) เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524
WAP มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข, สัตว์ป่า – สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์
การเคลื่อนไหวเรียกร้องครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะคำถามสำคัญที่น่าจับตามอง คือการตอบรับของสังคมไทยในประเด็นสวัสดิการของสัตว์อาหาร ด้วยประเด็นรณรงค์ด้านสิทธิสัตว์นี้เป็นระดับสากลที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย และมองได้หลากหลายมุมมากกว่าการสนับสนุนหรือคัดค้านเท่านั้น