“เขื่อนกันคลื่นควรเป็นตัวเลือกท้าย รับมือวิกฤตกัดเซาะชายฝั่ง” กรมทะเลเผย

“เขื่อนกันคลื่นควรเป็นทางเลือกสุดท้าย”  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผยสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่ง ระหว่างแถลงเป็นเจ้าภาพงานภูมิภาคยูเอ็น ด้านเครือข่ายภาคใต้ค้านสุดตัว ล่าสุด ศาลสูงสุดสั่งระงับสร้างต่อกรณี #saveหาดม่วงงาม

โสภณ ทองดี แถลงข่าวเปิดตัวประชุมทศวรรษทางทะเลประจำแปซิฟิกตะวันตก (ภาพ: ทส.)

“เขื่อนกันคลื่น” ควรเป็นตัวเลือกสุดท้าย

วันนี้ (18 พ.ย. 2564) โสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่าประเทศไทยประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลประมาณ 90 กิโลเมตร ซึ่งบางพื้นที่ยังจำเป็นต้องสร้างเขื่อนกันคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โครงสร้างแข็งเป็นวิธีท้ายๆ ที่ควรเลือกใช้

“กรมยังยืนยันว่าโครงสร้างแข็งเขื่อนกันคลื่นยังสำคัญสำหรับบางพื้นที่อยู่ แต่เราจะใช้วิธีนี้เป็นวิธีท้ายๆ สุด เพราะโดยหลักใหญ่ของนโยบายชาติแล้ว เราอยากต่อสู้กับธรรมชาติให้น้อยสุด เราต้องปรับตัวอยู่กับธรรมชาติให้ได้” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแย้มวิสัยทัศน์ในงานแถลงข่าวเปิดตัวทศวรรษทางทะเลสากลประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกและพื้นที่ใกล้เคียง ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โสภณอธิบายว่า ได้มีการศึกษาโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นกว่า 70 โครงการ แต่มีไม่เกิน 20 โครงการ (ราว 1 ใน 3) เท่านั้นที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งว่าสำคัญต่อการป้องกันชายฝั่งตามนโยบายชาติและส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบต่อ

“การทำงานของกรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง เราพยายามปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ โดยใช้โครงสร้างอ่อน สำหรับพื้นที่หาดโคลน เราจะไปปักไม้ไผ่ให้โคลนตกตะกอนแล้วปลูกป่าชายเลน สิบปีที่ผ่านมา เราได้พื้นที่กลับมาหลายร้อยไร่” 

ทั้งนี้ โสภณชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลดำเนินการโดยหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการ กรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรธรรมชาติทะเลและชายฝั่ง เมื่อก่อนจึงเกิดปัญหาว่าเป็นการแยกส่วนทำงานและไม่สอดคล้องกัน ทว่าปัจจุบันกรมทรัพฯ ได้รับมติครม.ให้เป็นหน่วยงานกลางประสาน จึงได้มีการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนขึ้น 

ศาลสั่งระงับก่อสร้างต่อ “เขื่อนกันคลื่นม่วงงาม”

ในวันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวล่าสุดจากกรณีหาดม่วงงาม ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการเดินหน้าสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหาดม่วงงามชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิพากษา 

โครงการสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม อยู่ที่ต.ม่วงงาม  อ.สิงหนคร จ.สงขลา ผลักดันโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ริเริ่มเมื่อปีพ.ศ.2559 และกลายเป็นประเด็นร้อนสาธารณะที่ชาวบ้านและคนนอกพื้นที่คัดค้านต่อเนื่องผ่านแฮชแท็ก #saveหาดม่วงงาม

ปัจจุบัน โครงการก่อสร้างระงับไปด้วยคำสั่งชั่วคราวศาล หลังจากเครือข่ายชุมชนได้ยื่นดำเนินการทางกฎหมาย

“หาดม่วงงามเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐผลักดันโครงการกำแพงกันคลื่นโดยไม่จำเป็น เราพบว่าการกัดเซาะหาดม่วงงามเป็นแค่การกัดเซาะชั่วคราวเพราะมรสุม หาดมีการกัดเซาะและทับถมสลับกันจนพื้นที่เพิ่มถึง 1.6 เมตร” อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for Life บอกกับ GreenNews  

ชาวบ้านในพื้นที่ เครือข่าย อาจารย์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของหาดอย่างต่อเนื่องและพบว่า การสร้างโครงสร้างแข็งบนหาดนี้จะยิ่งทำลายระบบนิเวศมากกว่า ยืนยันการศึกษาจากเทศบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งว่า หาดม่วงงามเจอการกัดเซาะระดับไม่รุนแรง

“เราต้องแยกให้ออกว่าการกัดเซาะชายฝั่งมีสองแบบ คือ แบบ ‘ชั่วคราว’ ที่ทะเลกัดเซาะและทับถมเป็นวงกร กับ ‘ชั่วโคตร’ ที่กระทบชุมชมริมฝั่งจนต้องหาทางแก้เร่งด่วน” อภิศักดิ์ย้ำ “เราไม่ควรใช้โครงสร้างแข็งแก้ปัญหา แต่มาตรการแบบอ่อนและชั่วคราวอย่าง การเติมทราย ปักไม้ หรือกำหนดแนวถอยร่น”

เครือข่ายประชาชนภาคใต้ยื่นหนังสือถึงครม.สัญจร (ภาพ: เครือข่ายประชาชนภาคใต้)

ยื่นครม.สัญจร กระบี่

หาดม่วงงามอาจไม่ใช่หาดเดียวในไทยที่เผชิญโจทย์เรื่องกำแพงกันคลื่น

15 พ.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนภาคใต้รวมถึง สภาประชาชนภาคใต้ และเครือข่ายประชาชนภาคใต้ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน ได้ยื่นหนังสือถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่กระบี่ 

เนื้อหาระบุว่า จากสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งทะเลทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง เหตุหลักมาจากการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทรายด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ไม่คำนึงถึงระบบธรรมชาติของทะเล พร้อมเรียกร้องให้เปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านตนเอง

“จากข้อมูลที่มีการรวบรวมมาพบว่า ตั้งแต่ปี 2556 – 2562 หลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA มีโครงการกำแพงกันคลื่นเสนอสร้างทั้งหมด 74 โครงการ ระยะทางรวม 34 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง งบประมาณรวม 6,900 ล้านบาท” 

เตรียมถกในเวทีภูมิภาคยูเอ็น

“ทางออกระยะยาว คือ ต้องบังคับให้การสร้างกำแพงกันคลื่นต้องผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตอนนี้กำแพงกันคลื่นมันระบาดไปทั่วเพราะเกิดง่าย ข้อมูลไม่ถูกกลั่นกรองและชาวบ้านไม่รู้ข้อมูล” อภิศักดิ์ เน้น  

ปี 2556 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยกเลิกเงื่อนไขทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการประเภทดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าทำให้การก่อสร้างล่าช้าและแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งไม่ทันการณ์

“การกัดเซาะชายฝั่งกับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน” เป็นหนึ่งในประเด็นเสวนาในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล จัดโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย โดยเปิดให้สาธารณะเข้าร่วม 1-3 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวทศวรรษทางทะเลแห่งสหประชาชาติ (UN Ocean Decade) ปีค.ศ.2021-2030 ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเลให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีจำกัด โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเปิดตัวออนไลน์ประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกและพื้นที่ใกล้เคียงช่วงปลายปีนี้

“ทศวรรษทางทะเลตั้งอยู่บนความคิดว่า ‘วิทยาศาสตร์ที่เราต้องรู้ เพื่อมหาสมุทรที่เราต้องการ” อธิบดีกรมทรัพยาทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว