ต่อเวลาอีกวัน ประชุมโลกร้อนยังหาข้อสรุปไม่ได้ งัดข้อเรื่องกติกา “ถ่านหิน-เงิน-ซื้อขายคาร์บอน” ส่องที่ทางเมืองไทยในการโต้เถียงที่ “อาจจบลงอย่างไร้ความหมาย” และอุณหภูมิโลกพุ่ง 2.7 องศา

การประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสองสัปดาห์ ณ เมืองกลาสโกลว์ สหราชณาจักร ขยายเวลาต่อจากกำหนดการเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เนื่องจากยังหาข้อสรุปไม่ได้เกี่ยวกับข้อตกลงปารีสที่เป็น “กติกา” ร่วมกันระหว่างนานาประเทศเพื่อชะลอไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงมากกว่านี้
ประเด็นที่ถกเถียงกันไม่ตก คือ รายละเอียดของข้อตกลงปารีสที่รู้จักในชื่อเอกสาร “Cover Decision” ซึ่งระบุถึงการเลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน การจ่ายเงินสนับสนุนประเทศที่เดือดร้อนหนัก รวมถึง กลไกซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ที่หลายประเทศเรียกร้องว่าต้องระบุให้ชัดเจนและหนักแน่นเพื่อไม่เปิดช่องให้ “บิดพลิ้ว”และไม่ได้แก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง
“เคส หลานอายุหนึ่งขวบผมจะอายุ 31 ในปี 2050 ถ้าเราล้มเหลว เขาจะต้องสู้กับคนอื่นเพื่อแย่งชิงน้ำและอาหาร เพราะฉะนั้นการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาคือเพื่อไม่ให้ลูกหลานของเราต้องอยู่ในโลกข้างหน้าที่อยู่ไม่ได้” ตัวแทนสหภาพยุโรป Frans Timmermans เปิดรูปหลานชายในมือถือระหว่างนำเสนอต่อที่ประชุมผู้แทนนานาประเทศ “ผมอยากให้ลูกหลานคนอื่นมีชีวิตที่ดีเหมือนกัน นี้ไม่ใช่การเมือง นี้มันเป็นเรื่องส่วนตัว”
ประชุมโลกร้อนครั้งนี้ นานาประเทศมีเป้าหมายร่วมกัน คือ รักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าหากแต่ละประเทศไม่ขยับเป้าหมายลดโลกร้อนให้มากขึ้นจากที่แถลงไว้ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.4-2.7 องศาเซลเซียส
“อุณหภูมิโลก 1.5 องศา สำหรับพวกเราที่แอฟริกา มันคือ 3 องศา เราร้องไห้เวลาที่ฝนไม่ตก 1.5 ไม่ใช่แค่สถิติ แต่เรื่องความเป็นตายสำหรับพวกเรา” ผู้แทนประเทศเคนย่ากล่าว “มันไม่ยุติธรรม ประเทศผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ต้องรับผิดชอบมากกว่า”
สอดคล้องกับอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากสภาพภูมิอากาศผันผวนและยืนยันว่าประเทศที่ปล่อยมลพิษขนาดใหญ่ต้องรับผิดชอบ “จ่ายหนี้” ชดเชยให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยมลพิษปริมาณน้อย ผู้แทนตูวาลู ประเทศหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่ “กำลังจม” เพราะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงกล่าวทั้งน้ำตาว่าการคุยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นไม่นำไปสู่ทางออกและขอให้ที่ประชุมทำข้อตกลงที่จริงจังกว่านี้
“จีนเห็นด้วยกับที่ [ตัวแทนประเทศได้รับผลกระทบ] กล่าวมา เราตระหนักถึงความสำคัญว่าร่างข้อตกลงควรจะสะท้อนในทุกด้าน ทั้งการปรับตัว การบรรเทาโลกร้อน และการเงิน เราจะไม่พิจารณาแต่วิทยาศาสตร์ แต่ต้องพิจารณาถึงกฎเกณฑ์ด้วย” ผู้แทนจีนกล่าว พลางย้ำถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสที่ตกลงกันเมื่อปี 2015
ประเด็นหนึ่งที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ การปรับกำหนดเวลาส่งแผนลดโลกร้อน (NDCs) ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศส่งรายงานสถานการณ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป้าหมายลดการปล่อยให้สหประชาชาติทุก 5 ปี ทว่าหลายประเทศมองว่าเป็นช่องว่างใหญ่ไป และขอปรับให้เร็วขึ้น หวังให้หลายประเทศที่แผนลดก๊าซเรือนกระจกยังไม่สอดคล้องกับการรักษาอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาจะกลับไปทบทวนแล้วส่งกลับมาใหม่อีกครั้ง ขณะที่บางประเทศแย้งว่าจะการปรับเวลาจะผิดจากข้อตกลงปารีส
ประเด็นที่ยังเป็นเรื่องถกเถียงนั้น สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
- การใช้ถ่านหิน “เรียกร้องให้สมาชิกเร่งปลดระวางถ่านหินและการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล” นับเป็นครั้งแรกของข้อตกลงโลกร้อนที่ระบุถึงถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยตรงเป็นลายลักษณ์อักษร ทว่ามีข้อสังเกตว่ายังเปิดให้ทยอยลดตามความสมัครใจของแต่ละประเทศ
ในประชุมครั้งนี้ 23 ประเทศได้ประกาศเป้าหมายลดใช้ถ่านหิน ทั้งนี้ไทยไม่ได้เข้าร่วมปฏิญญาดังกล่าว รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า ไทยยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะและของเอกชนขนาดเล็กอยู่ ดังนั้นจะต้องหาแผนพลังงานทดแทนให้พร้อมก่อนร่วมลงนามที่จะเป็นข้อผูกมัดและต้องผ่านพิจารณาครม.
- การเงิน ประเทศร่ำรวยมีกำหนดส่งเงินเข้ากองทุนสภาพภูมิอากาศ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 3 ล้านล้านบาท) เพื่อชดเชยให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบเพื่อใช้บรรเทาและปรับตัว ทว่าเงินก้อนนี้ยังส่งไม่ครบตามกำหนดในปี 2020 และประเมินว่าจะส่งให้ครบได้ในปี 2025 ทว่าหลายประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ส่งเงินให้ครบภายในปี 2023 และเพิ่มปริมาณขึ้นสองเท่า
ปีนี้ ไทยได้รับอนุมัติเงิน 525 ล้านบาท เพื่อทำโครงการบริหารจัดการน้ำภาคเกษตรลุ่มน้ำยมและน่านเพื่อรับมือโลกร้อน นับเป็นครั้งแรกที่ไทยรับเงินสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าว
- การซื้อ-ขายคาร์บอน กลไกการตลาดที่มีเพื่อกระตุ้นการลดก๊าซเรือนกระจก โดยผู้ก่อมลพิษสามารถชดเชยผ่านการ “ซื้อ” เครดิตจากประเทศที่ปล่อยมลพิษน้อยหรือมีพื้นที่ป่าที่มีศักยภาพดูดซับก๊าซ ทำให้มีเครดิตเหลือ “ขาย”
ในประเด็นนี้ มีข้อถกเถียงในรายละเอียดหลายประการที่อาจทำให้ไม่สะท้อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง เช่น นับปริมาณก๊าซซ้ำซ้อนหลายภาคส่วน นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวหลายคนยังเรียกร้องให้ระบุถึง “สิทธิมนุษยชน” และ “สิทธิชนพื้นเมือง” ในเอกสารข้อนี้
ล่าสุด ผู้แทนไทยได้เปิดตัว Thailand Carbon Neutral Network (TCNN) ที่กลาสโกลว์ เครือข่ายรวมองค์กรกว่า 122 สมาชิกในไทยเพื่อสนับสนุนการประเมินปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย พัฒนาศักยภาพซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตและตั้งเป้าลด “ตามสมัครใจ” ซึ่งมีกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของไทย เช่น ปตท. เครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.)
อย่างไรก็ตาม กลไกซื้อขาย-คาร์บอนนี้เป็นที่ตั้งคำถามจากนักกิจกรรมว่าจะเบี่ยงเบนไม่ให้ธุรกิจพยายามปรับการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง และเร่งให้มีการขยายพื้นที่ป่า นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งคนกับป่า ซึ่งเป็นปัญหายาวนานในไทย
การประชุม COP26 มีกำหนดดำเนินต่อในวันเสาร์ เวลา 12.00 เวลาท้องถิ่น (19.00 น.ประเทศไทย) โดยร่างเอกสารข้อตกลงปารีสที่เป็นประเด็นถกเถียงฉบับล่าสุดจะเผยแพร่สู่สาธารณะ ก่อนหน้า 2 ชั่วโมง
“COP26” การประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดระหว่าง 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน ณ เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศว่าไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกช่วงสิบปีนี้ให้ได้ 40% และบรรลุสภาวะเป็นกลางทางคาร์บอนในค.ศ.2050 หากมีการสนับสนุนจากต่างประเทศ |
[การรายงานข่าวชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Climate Tracker]