จากห้องประชุมสู่การชุมนุม ถามหาสังคมทางเลือกของการประชุมสภาพภูมิอากาศ

ขบวนประท้วงกลุ่ม Extinction Rebellion (ภาพ: กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม)

เวลาของโลกกำลังนับถอยหลัง ความอดทนของผู้คนก็เช่นกัน เราต่างลุ้นกับการประชุมวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 #COP26 ว่าผู้นำประเทศจะตกลงอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันพอจะให้ความหวังว่าโลกยังดีขึ้นได้ 

แต่งาน COP ไม่ได้เป็นแค่วาระโลกที่ผู้มีอำนาจมาต่อรองกันในห้องประชุมเท่านั้น หากยังเกิดในการชุมนุมบนท้องถนน ป้ายประท้วง และเสียงตะโกน ของประชาชนมากหน้าหลายตาที่มารวมตัวกัน

พื้นที่ถกเถียงเรื่องโลกร้อนของประชาชนหน้าตาเป็นอย่างไร เราจะมีสังคมทางเลือกของการพูดคุยเรื่องสภาพภูมิอากาศได้ไหม?

GreenNews ชวนคุยและชวนคิดกับ “เอิร์น” กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม คนไทยที่เข้าร่วมประท้วง COP ครั้งที่ 25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เธอเป็น 1 ในฝูงชนนับ 500,000  คนบนท้องถนนที่ฝันถึงทางออกเรื่องโลกร้อนข้างนอกห้องประชุม

ได้ยินว่าเคยมีประสบการณ์ไปร่วมชุมนุมหน้าที่ประชุม COP เล่าให้ฟังหน่อย

เราเคยเข้าร่วมชุมนุมที่จัดช่วงประชุมโลกร้อน COP25 ที่มาดริด ประเทศสเปน เมื่อปี 2019 ตอนนั้นเป็นหน้าหนาว ช่วงธันวาคม เราเรียนป.โทเรื่องนิเวศวิทยาการเมืองอยู่ที่เมืองบาร์เซโลนาและอยู่ในแก๊งเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมพอดี ทีนี้ด้วยความที่เป็นเครือข่ายของนักกิจกรรมและบาร์เซโลนาเป็นเมืองรวมตัวนักเคลื่อนไหว พอสเปนเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม COP ครั้งที่ 25 ปีนั้นพอดี เพื่อนๆ เลยชวนกันไปร่วมชุมนุมและกิจกรรมทางเลือกอื่นๆ ที่จัดช่วงนั้น

The Guardian ประเมินว่า COP25 มีคนร่วมประท้วงถึง 500,000 คน มีกิจกรรมที่ประชาชนจัดคู่ขนานไม่ต่ำกว่า 370 กิจกรรม งาน COP รอบนั้นเป็นครั้งก่อนโควิดระบาด แต่เป็นงานน่าผิดหวังเพราะเรื่องสำคัญหลายๆ อย่างที่ประเทศต่างๆ มาตกลงร่วมกันเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกกลับตกลงไม่สำเร็จจนต่อมาคุยใน COP26 รอบปีนี้ 

ฟังดูน่าสนใจ “นิเวศวิทยาการเมือง” คืออะไร

ชื่อหลักสูตรคือ “Political Ecology, Degrowth, and Environmental Justice” สรุปง่ายๆ คือเป็นหลักสูตรที่เรียนเรื่องการเมืองสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจทางเลือก และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม 

เป็นการเรียนทฤษฎีการเมืองที่ประยุกต์กับกรณีศึกษาในแต่ละพื้นที่ การเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งทางปฏิบัติและทฤษฎี และ “ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม” ซึ่งคำๆ นี้ เราศึกษาทั้งในแง่ความยุติธรรมระหว่างเชื้อชาติและชนชั้น เช่นว่าทำไมคนผิวขาวถึงมักจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าคนกลุ่มอื่น รวมถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ

เราเลือกเรียนเรื่องนี้เพราะตอนอยู่มหาวิทยาลัย อยู่ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ได้เดินทางไปที่ต่างๆ ที่มีประเด็นปัญหา เรื่องที่เราเจอซ้ำๆ คือความขัดแย้งระหว่างคนกับรัฐหรือทุน เช่น ในกรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก เราก็ได้รู้ว่ามีคนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน แต่พอประกาศเขตฯ แล้วเขาก็ถูกจำกัดพื้นที่ไม่ให้ขยายไปไหน ซึ่งมันขัดแย้งกับความรู้สึกทั่วไปของเราว่าคนมีสิทธิ์ที่จะย้ายไปที่ไหนก็ได้ ไม่นับว่าการขอขึ้นเบียนมรดกโลกกับห้วยขาแข้งก็ขึ้นแค่เพียงเรื่องธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้สนใจมิติเรื่องวัฒนธรรม

เรื่องไร่ข้าวโพดที่ตากซึ่งถางป่าต้นน้ำในภาคเหนือ จนเกิดปัญหาเขาหัวโล้นและฝุ่นควัน แต่รากของปัญหานี้มาจากปัจจัยเรื่องทุน พอตามเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะๆ ก็จะเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดอื่น ที่คนกรุงฯ มักใช้วาทกรรมคนต่างจังหวัดทำลายป่า 

วิชาที่เราประทับใจมากที่สุดคือตอนเรียนเรื่อง “Care” กับ “Commons” เพราะตอนนั้นเป็นแนวคิดที่ใหม่สำหรับเรามากๆ เราเคยเข้าใจ “Commons” คำๆ นี้ว่าคือการเป็นเจ้าของร่วมกันหลายๆ คน แต่มันไม่ได้เน้นเรื่อง “ความเป็นเจ้าของ” แต่เน้นเรื่อง “การบริหารจัดการร่วมกัน” มากกว่า ซึ่งก็คือการแบ่งปันและเวียนเปลี่ยนอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรนั่นเอง 

มันเปิดจินตนาการใหม่ของเรากับโลกใบนี้ เรามักเข้าใจว่าการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องมองเป็นกายภาพผ่านวิทยาศาสตร์ ต้องเรียนชีววิทยา ภูมิศาสตร์ หรือเคมี แต่จริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมมันมีปัจจัยทางสังคมการเมืองวัฒนธรรมอย่างอื่นด้วย  

ในทางหนึ่งการเรียนนี้ทำให้เราเชื่อมโยงกับโลกใบนี้มากขึ้นทั้งในมิติพลังงานและจิตวิญญาณ ผ่านการเรียนเรื่องความผิดพลาดของวิทยาศาสตร์ และความพยายามในการเข้าใจอารมณ์และความเชื่อของคนหลากหลายกลุ่ม

ดูเป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีพูดถึงในวงวิชาการไทยมากนัก นี้เป็นเหตุผลรึเปล่าที่คุณเลือกไปเรียนที่ต่างประเทศ

เหตุผลที่เลือกไปเรียนประเทศอื่น เพราะบรรยากาศเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ต่อให้จะเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยไทยพอจะมีสอนอยู่บ้างก็ตาม ในห้องเรียนมีเพื่อนร่วมห้องหลายคนที่เป็นนักเคลื่อนไหว มีคนที่ทำแคมเปญ “Shell must Fall!” เรียกร้องให้บริษัทน้ำมัน Shell สัญชาติเนเธอร์แลนด์เลิกทำธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล มีเพื่อนร่วมห้องที่ทำงานเรื่องผู้อพยพลี้ภัยในกรีซ และมีเพื่อนอิตาลีที่เคลื่อนไหวเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ “Fridays for Future”  พอนักเรียนมาจากหลากหลายที่ก็เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สนุก จนเรารู้สึกว่าเรื่องการเมืองและมิติที่เรียนมันไม่ใช่แค่เรื่องในตำรา แต่มันคือเรื่องความสัมพันธ์ของคน สังคม กับโลกใบนี้ 

เข้าร่วมชุมนุม COP นี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนไหม

ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน แต่ตัววิชาเรียนเองก็ไม่ได้ขัดอะไรนะ ทุกคนก็รู้ว่ามีงาน COP และจะไปกัน ขอเลื่อนส่งงานได้ด้วย ฮ่าๆ

สิ่งน่าประทับใจคือ เมืองบาร์เซโลนาที่เราอยู่ก็สนับสนุนให้ประชาชนไปร่วมงาน COP (บาร์เซโลนาห่างกับมาดริดประมาณ 6 ชั่วโมง)  เราได้นั่งรถทัวร์ฟรีจากเทศบาลเมืองบาร์เซโลนา (Ajuntament de Barcelona) ไปมาดริด เขาจัดรถบัสให้จริงจังมาก ทุกคนก็ต้องลงชื่อกันก่อนไป เมืองเขาค่อนข้างสนับสนุนเรื่องอะไรแบบนี้ แม้แต่ช่วงโควิดก็ให้รวมตัวชุมนุมได้ เช่น ช่วง #BlackLivesMatter ที่จอร์จ ฟลอยด์เสียชีวิต เราก็ชุมนุมได้

หลายคนเข้าใจว่า COP เป็นการประชุมของผู้นำประเทศอย่างเดียว เข้าใจถูกไหม 

ต้องเข้าใจว่างาน COP ทางการของสหประชาชาติ เปิดให้มี “ผู้เข้าฟัง” หลากหลายอยู่บ้าง เช่น คนทำงานเพื่อสังคม นักวิชาการ ฯลฯ นั้นเป็นเรื่องดี แต่ผู้ตัดสินใจสุดท้ายก็เป็น “ผู้นำ” อยู่ดี ผู้นำจากรัฐบาลหรือธุรกิจที่ไม่มีวันเผชิญหน้ากับผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกับสิ่งที่คนแนวหน้าต้องเจอ

เราคิดว่าตรงนี้เป็นการท้าทายความคิดเรื่อง “ผู้นำ” ของเรามากเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบกับ “ทุกคน”​ ทว่าสุดท้ายแล้วชะตากรรมของผู้ประสบภัยพิบัติกลับต้องรอผู้นำเหล่านี้และงานเอกสารระหว่างประเทศและในประเทศเอง

ตอนที่เราไปร่วมกิจกรรมที่มาดริด เราไม่ได้ไปเข้าร่วม COP ของทางการเลย เพราะถึงแม้เขาจะเปิดให้เข้าร่วม แต่ขั้นตอนยุ่งยาก เช่น ต้องส่งชื่อล่วงหน้า มีเข็มติดประจำตัว เหมือนงานประชุมใหญ่ทั่วๆ ไป ภาพของ COP ทางการที่เราจำได้ มีแต่ตอนที่เพื่อนๆ เราไปทำปฏิบัติการ (Actions) แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าตึก COP จนถูกตำรวจนำตัวออกไป 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การประท้วงไม่ได้มีแค่เรื่องตึงเครียด ในบางมุมก็มีความสนุก เช่น ดนตรี ศิลปะ และการเต้นด้วย

งาน COP ฉบับประชาชนเป็นยังไงบ้าง

ตั้งแต่อยู่ไทย งานประชุม COP เป็นงานที่เราติดตามและตื่นเต้นกับมันอยู่ตลอด รู้สึกว่าเป็นงานที่รวมสารบบเรื่องสิ่งแวดล้อม พอได้ไปร่วมเองแล้วให้ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง

เราไปถึงประมาณเย็นวันศุกร์ (วันที่ห้าของงานประชุม COP สองสัปดาห์) วันนั้นมีเดินขบวนประท้วงหลายบล็อก เราตื่นเต้นมากเพราะว่าคนเป็นแสนมาจากทุกที่ มีบล็อกหลากหลายเรื่องทั้งเฟมินิสท์ เควียร์ อนาคิสท์ (อณาธิปไตย) ฯลฯ ขบวนประท้วงแบ่งตามกลุ่ม องค์กร หรือความสนใจทางการเมือง 

ในขบวนประท้วง เราเข้าร่วมกับเพื่อนในแถวของกลุ่ม “Degrowth” เป็นการเคลื่อนไหวในยุโรปว่าด้วยการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่ลดการผลิต แทนที่จะเน้นว่า GDP ต้องเติบโตและการมีชีวิตที่ดี ตัวอย่างของแนวคิดนี้ คือ การจะบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้นั้นไม่ใช่ปลูกป่าเพิ่มอย่างเดียว แต่ต้องไปลดการผลิตและใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าด้วย 

วันนั้นเราเห็นความรุนแรงและการสลายการชุมนุมจากตำรวจกับบล็อกอนาคิสม์ (อณาธิปไตย) วันนั้นตำรวจใช้ความรุนแรงกับบล็อกนี้ทั้งๆ ที่บล็อกอื่นปล่อยผ่านหมดเลย เราว่านั่นก็เป็นอคติอย่างหนึ่งของตำรวจและรัฐว่ากลุ่มนี้จะต้องใช้รุนแรง

กิจกรรมจัดทั้งหมด 8 วัน ตั้งแต่ 6-13 ธันวาคม มีกิจกรรมหลายรูปแบบและประเด็น ทั้งการชุมนุม เสวนา งานศิลปะ คู่ขนานกับเวทีทางการกันไปเลย ชื่อทางการคือ “Cumbre Social por el Clima” (Social Climate Summit : SCS) จัดที่มหาวิทยาลัย Universidad Complutense de Madrid ทุกวันหลังจากกิจกรรมจบ ช่วงค่ำทุกคนก็จะมารวมที่เต๊นท์ใหญ่ แล้วก็มีการฟังและพูดคุยถึงแต่ละวัน รวมทั้งอัพเดทสถานการณ์ COP 

“เราคือ COP ที่แท้จริง” (We are the real COP.) เป็นประโยคที่ได้ยินในงานและฝังใจเรา เราว่าสิ่งที่โดดเด่นมากของ COP ที่จัดโดย “คนกันเอง” คือ จะเปิดไมค์ให้คนธรรมดาพูดและมีช่องให้แสดงความคิดเห็นได้ตลอด 

สิ่งที่เรารู้สึกเลยคือคนที่นั่นพูดภาษาเดียวกัน ไม่ใช่ภาษาทางการหรือภาษาธุรกิจเพียวๆ โดยไม่มีชีวิตคนอยู่ในนั้น จริงๆ แล้ว การประชุม COP ขอแค่ให้มีพื้นที่แสดงออก ให้การรับสารเป็นไปสองทาง ไม่ใช่ทางเดียวอย่างที่เป็นอยู่  คนคงรู้สึกว่าดีแค่ไหน 

ป้าย Degrowth มีรูปหอยทากเป็นสัญลักษณ์ แสดงถึงการพัฒนาสังคมที่ไม่ต้องเน้นความเร็วเสมอ แต่มีจังหวะที่เหมาะสม (ภาพ: กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม)
กลุ่มตีกลองให้จังหวะในการประท้วงมีหลายกลุ่ม เช่น Rhythms of Resistance (RoRs)  (ภาพ: กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม)

ถ้าเทียบกับในไทย มีอะไรคล้ายกันไหม

ยังไม่เห็นเท่าไรนะ ภาพที่ชัดที่สุดคงเป็น Mob Fest แก๊งดาวดิน หรืองานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน (MAEW) มั้ง เราว่าสังคมไทยมีความเคารพ “ความเก๋า” “สถาบัน” อยู่เยอะมาก เรื่องงานเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมที่เรามักจะเห็นได้บ่อยๆ คือ งานเสวนาวิชาการ ที่เชิญชวน “ผู้เชี่ยวชาญ” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ผู้มีอำนาจ” มาพูดแล้วคนอื่นก็ได้แต่ฟัง เป็นการรับสารทางเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงคนอีกคนว่าเป็นผู้ถืออำนาจนั้นเหมือนกัน 

ความรู้เดียวที่ได้รับการรับรองและรับฟังคือความรู้ของนักวิชาการ แต่คนเดินดินคนทั่วไปก็มีความรู้ของเขา มากกว่านั้นคือเขามีความรู้สึกจากการประสบเองด้วย ประเด็นนี้ในสังคมไทยคงค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนไป หันมาฟังเสียงคนธรรมดามากขึ้น

ประทับใจอะไรสุด?

เราเข้าฟังหลายกิจกรรม เช่น สตรีนิเวศนิยม (Ecofeminism) การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม (Just Transition) แต่ที่ติดอยู่ในใจเรามากที่สุดคือ หัวข้อ “ถ่ายทอดความโศกเศร้าเรื่องสภาพภูมิอากาศ” เป็นเวิร์คช็อปเจาะเรื่อง “เลิกเหยียดในการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม” จัดโดย Sustaining All Life  

เวิร์คช็อปเริ่มต้นด้วย การฟังเชิงลึก (Deep Listening) ที่ยึดหลักการไม่พูดแทรก ไม่ต้องให้คำแนะนำ และเก็บเป็นความลับ โจทย์ของเวิร์คช็อปคือฟังยังไงให้ได้ยิน “การกดขี่” เพราะการกดขี่มักบดบังเราจากการได้ยินเสียงอื่น ตลอดกิจกรรม ทุก 10 นาที จะมีช่วงเวลา 1 นาทีเปิดให้สำหรับความเงียบช่วงเวลา 1 นาทีที่เงียบงันเป็นโมงยามของความรู้สึกที่เอ่อล้น ผ่านการเล่าประสบการณ์ของแต่ละคน 

กิจกรรมมีคนหลายเชื้อชาติมาร่วมกัน ระหว่างที่เราร่วมกิจกรรม ผู้จัดจะใช้ล่ามแปลภาษาที่พูดต่อจากคนพูดตลอด โดยไม่ใช่ล่ามแปลทับเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อไม่ให้ภาษาต้นทางหายไปจากพื้นที่ ตรงนี้เราว่าสำคัญมาก เพราะมีภาษากี่ภาษาแล้วที่ถูกภาษาอังกฤษแปลทับโดยไม่มีการอ้างอิงถึงภาษาต้นทาง 

ทำไมภาษาถึงสำคัญต่อการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม

ภาษาสำคัญแน่นอน เพราะมันสะท้อนว่าใครเป็นผู้มีอำนาจและใครเป็นผู้ถูกดขี่ ภาษาอังกฤษที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นภาษาที่มีสถานะเหนือกว่าภาษาท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาปกาเกอะญอ ฯลฯ

มันไม่ต่างกับการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมมุมอื่นๆ ที่ซุกซ่อนความไม่เท่าเทียม เราจะเห็นว่า ทำไมนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมระดับโลกบางคนถึงดังมากกว่าคนอื่น

ทำไมเกรต้าถึงดัง นั้นเพราะเกรต้าเป็นคนขาว? ทั้งๆ ที่มีนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมมากมายทั้งใน ชิลี แอฟริกา ฯลฯ แต่คนที่ดังกลับเป็นเกรต้า คนที่เหลือหายไปจากหน้าสื่อกระแสหลัก ไม่นับว่าก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุสื่อลบภาพนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมผิวสีคนอื่นออกอีกต่างหาก ให้ในภาพเหลือแค่เกรต้า

ถ้าทุกคนร่วมเรียกร้องเรื่องโลกร้อน การเป็นคนชาติไหนสำคัญด้วยหรือ

เราเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอาจจะเลือกพาคนบางกลุ่มใหัร่วมติดตามได้ แต่ยังมีคนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราต้องคอยถามตัวเองอยู่เสมอ ว่าเรากำลังได้ยินเสียงของใคร แล้วเสียงไหนที่เราควรได้ยิน

วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกับคนส่วนใหญ่ ทั้งคนจนหรือคนผิวสี ผลกระทบเหล่านี้โยงกับการเหยียดเชื้อชาติ เกิดจากความเหลื่อมล้ำและส่งต่อความเหลื่อมล้ำ รากของมันคือแนวคิดเชื้อชาตินิยม เกิด “โครงการพัฒนา” หลายโครงการในนามของการอนุรักษ์ เช่น เขื่อนพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าขยะ นำโดยคนบางกลุ่มเพื่อทำลายชีวิตของพวกเรา  ทำไม “ชาติชนพื้นเมือง” (indigenous nation) ซึ่งไม่ได้หมายถึงชาติพันธุ์กลุ่มไหน แต่หมายถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตเชื่อมโยงกับผืนดินและสิ่งรอบตัว คนเหล่านี้กลับไม่ได้เป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม

“หญิงคนขาวถามฉันว่า ‘ความเชื่อมโยงของฉันกับพระแม่ธรณี (Mother Earth) คืออะไร’ เพราะเธอไม่รู้ว่าฉันอยู่อย่างไร เราไม่เคยมีโอกาสได้คิดถึงมันเพราะเรามัวแต่คิดว่า ‘พรุ่งนี้จะกินอะไร’ เราไม่มีโอกาสสร้างอิทธิพลอย่างที่คนขาวมี เราไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจเพื่อชุมชนของเรา”

– ชนพื้นเมืองจากละตินอเมริกาคนหนึ่ง

ปัญหาคือความจริง COP25 จะต้องจัดที่ชิลี แต่เพราะสถานการณ์การเมืองไม่สงบเลยมาจัดที่สเปนแทน ทั้งที่หากจัดที่ชิลี COP ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ได้จัดในละตินอเมริกา

ถ้าเราดูประวัติศาสตร์การจัด COP ก็คงสงสัยว่าทำไมถึงได้จัดแต่ที่ประเทศ “ซีกโลกเหนือ” (Global North) ทั้งสามปีที่ผ่านมา โปแลนด์ สเปน และสก๊อตแลนด์ นี่ก็เป็นความไม่เป็นธรรมด้านหนึ่งของ COP ทั้งๆ ที่ประเทศ “ซีกโลกใต้” (Global South) เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีโครงการสกัด เช่น ถลุงแร่ โรงงาน ฯลฯ เยอะมาก แต่ปรากฏว่าผู้ได้รับผลกระทบและประเทศที่ได้รับผลกระทบต้องเสียค่าใช้จ่ายและทรัพยากรเพื่อเดินทางมาเข้าร่วมเยอะกว่า

เราเริ่มดูแลวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน ต้องดูแลเชื้อชาตินิยมและการกดขี่อื่นๆ ด้วย

ผู้หญิงจากหลากหลายพื้นเพมาแลกเปลี่ยนกันในกิจกรรมคู่ขนาน COP26 ที่กลาสโกลว์ จัดโดยกลุ่ม Feminist Assembly (ภาพ: Oliver Kornblihtt)
เต๊นท์ทำกิจกรรมทุกช่วงเย็น (ภาพ: กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม)

เมืองไทยมี “การเหยียด” ในการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า

เราว่ามีนะ เราตั้งคำถามถึง “คนขาว”​ หรือคนซีกโลกเหนือ แต่ความเป็นคนขาวมันอาจไม่ได้แปลว่าคนขาวในฐานะเชื้อชาติอย่างเดียว แต่คือคนที่ได้ประโยชน์จากการกดขี่คนอื่นผ่านสิทธิประโยชน์และอำนาจที่ตัวเอง ทั้งเรื่องพื้นที่ ภาษาความรู้ เพศ ชนชั้น วัย เพราะฉะนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมในไทยเองก็มีภาวะ “คนขาว” ที่กดทับคนอื่น

พื้นที่ – ในเมืองก็จะเสียงดังกว่า เป็นที่สนใจของสื่อและกระแสสังคม เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อมเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อความยั่งยืน ตัวเลือกการบริโภค แฟชั่น แต่พอเป็นเรื่องนอกเมือง เช่น มลภาวะ เหมือง เขื่อน ฯลฯ ก็ไม่ได้เป็นที่จับตาขนาดนั้น ซึ่งเรื่องพวกนั้นมันคือความเป็นความตายของหลายชีวิตเลยนะ 

ภาษา – ทั้งที่นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมบางคนทำงานตรงประเด็นกว่าอีกคนหนึ่ง แต่เพราะเขาไม่รู้ภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่ภาษาไทย ทำให้เขาถูกปิดโอกาสจะแสดงความเห็นต่อวงกว้างหรือสื่อ ได้ยินว่างาน COP บางงาน อยากให้ตัวแทนกะเหรี่ยงคนนี้ไปร่วมแลกเปลี่ยน ก็ไปไม่ได้เพราะมีทุนสนับสนุนที่นั่งเดียว ไม่พอสำหรับล่าม การเคลื่อนไหวต่างๆ จึงเป็นไปในรูปแบบของผู้ที่ใช้ภาษาได้คล่องแคล่วเท่านั้น ด้านความรู้ คนที่เป็นอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญก็ส่งเสียงได้ดังกว่าความรู้ท้องถิ่น 

เพศ – เราว่าเยอะมาก พื้นที่ที่คนมีโอกาสใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นที่ชายเป็นใหญ่ครอบงำ เช่น อุทยานแห่งชาติถูกมองว่าเป็น “การผจญภัย” เพื่อเชื่อมโยงกับธรรมชาติก็เป็นพื้นที่ที่เป็นของผู้ชายเป็นหลัก เช่น ผู้ชายกางเต๊นท์คนเดียวได้ แต่ผู้หญิงกางเต๊นท์คนเดียวก็จะน่าหวาดหวั่น หลายคนชอบอ้างเรื่องความปลอดภัย ซึ่งมันก็คือการเหยียดเพศที่อ้างความกรุณา (Benevolent Sexism) ยังไม่นับว่าเราได้ยินเรื่องขององค์กรอนุรักษ์บางแห่งที่ไม่รับพนักงานหญิงเข้าทำงานเพราะพื้นที่ธรรมชาติต้องเข้าไปนั้นถูกมองว่า “อันตรายสำหรับผู้หญิง” แต่พื้นที่อันตรายตรงนี้มันอันตรายในเชิงไหน เพราะชายเป็นใหญ่รึเปล่า?

ชนชั้น –  การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ลดการใช้พลาสติกหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หลายครั้งผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็ราคาแพงโดยที่ชนชั้นอื่นอาจจะเอื้อมไม่ถึง หรืออยากให้ใช้รถไฟฟ้าแทนรถส่วนตัวหรือรถเมล์ เรามองว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทุกชนชั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ มันก็ไม่ได้แก้อะไรอยู่ดี 

วัย – เป็นเรื่องความอาวุโส ถ้าคุณอายุสูงกว่าและมีคอนเนคชัน คุณมีพื้นที่ในการแสดงความเห็นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คนรุ่นใหม่ลงมือทำอะไรบางอย่าง จะถูกมองว่าเป็น “พื้นที่ทดลองและจุดประกาย” เท่านั้น ทั้งที่คนรุ่นนี้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากกว่าทั้งในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เช่น คำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เราอายุ 25 เราสัมผัสได้ว่ามันไม่ใช่ อย่างทะเลก็ไม่ได้มีปลาเหมือนแต่ก่อนด้วยซ้ำ หรือการที่ต้องเจอฝุ่น PM2.5 ครึ่งปี

ช่วงสามสี่ปีนี้ คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสภาพภูมิอากาศเยอะมาก อย่าง Friday For Future ทำให้เรามีหวังไหม

มีหวังระดับหนึ่ง ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราหวังว่ามันจะเป็นสังคมที่อุ้มชูคนขึ้น หากวิกฤตสภาพอากาศจะรุนแรงขึ้น จนต้องโยกย้ายถิ่นฐาน ปัจจัยการดำรงชีวิตคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการถือครองกรรมสิทธิ์และการเงินแล้ว 

ม็อบเยาวชนที่พูดเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศในไทยโดยตรงอาจไม่เห็นชัด แต่ม็อบประชาธิปไตยหรือประเด็นอื่นๆ ของคนรุ่นใหม่ (และรุ่นเก่า) ก็พูดเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งดีมากเลยนะในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ อย่างทันท่วงทีมากกว่าการรวมศูนย์

เหมือนกับว่าคนไทยไม่ค่อยตื่นตัวเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ?

ไม่สามารถพูดแทนคนไทยได้ แต่จากที่เราประเมินตอนนี้เสียงที่ปกครองเราคือเสียงอนุรักษ์นิยม 

ประเทศต้องมีประชาธิปไตยที่คนทุกกลุ่มสามารถส่งเสียงได้ เราจะได้พูดเรื่องประชาธิปไตยสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะในเรื่องสิ่งแวดล้อมเอง หลายกรณีก็เคลื่อนไหวไปด้วยกรอบคิดของอนุรักษ์นิยม ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่กรอบคิดที่โอบอุ้มชีวิต

“เราจะจมในน้ำตาของโลก” (ภาพ: กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม)

นอกจาก COP แล้ว คนทั่วไปจะมีส่วนร่วมกำหนดชะตาสภาพภูมิอากาศได้ทางไหนบ้าง

ประชาชนต้องคุยกันเอง เชื่อมั่นในคนกันเอง และรู้ไว้ว่าระบบรัฐและนายทุนมันไม่เป็นธรรม เรารู้สึกว่าสิ่งที่ประชาชนและรัฐกับทุนเดิมพันนั้นต่างกัน ประชาชนเดิมพันด้วยชีวิต แต่รัฐกับทุนเดิมพันด้วยผลกำไรและประโยชน์ ซึ่งคนธรรมดาไม่ได้อยู่ในเกมนั้นเลย 

แม้แต่องค์กรสากลอย่างองค์การสหประชาชาติ (UN) เองสุดท้ายก็ให้อภิสิทธิ์แก่คนขาวหรือชาติมหาอำนาจเข้าร่วมการประชุมที่จะรองรับการตัดสินใจใหญ่ๆ ต่างๆ 

เพราะฉะนั้นเราสิ่งที่ทำได้คือต้องมองเห็นให้เห็นว่าใครอยู่เบื้องหลังเกมเหล่านี้ อย่าไปทำตามเขาเสียหมด อย่างเช่น กรณีรัฐไทยที่ออกนโยบายทวงคืนผืนป่าจากประชาชนเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นนโยบายเผด็จการสิ่งแวดล้อม (Ecofascism) ประชาชนก็ต้องรู้และคุยกันว่ามันไม่ใช่ทางออกที่ควร

COP26 ปีนี้จะเข้าร่วมรึเปล่า

ไม่

ทำไมล่ะ

ไม่ได้อยู่ที่จัดงาน (เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร) และไม่ได้อยากเข้าร่วมออนไลน์ด้วย เราไม่ได้อยากฟังภาคธุรกิจและภาครัฐพูดถึงตัวเลขลอยๆ ลมๆ แล้งๆ โดยไม่ได้ยึดโยงกับชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ “พัฒนา”

เราไม่คาดหวังอะไรกับ COP รอบนี้ อย่างกรณีเจฟ เบซอสขึ้นพูด หรือบิลล์ เกตส์ ออกหนังสือเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คนพวกนี้เหมือนจะกำลังพยายามทำอะไรอยู่ แต่ที่จริงคนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของผู้ถลุงทรัพยากร และหากจะวัดกันด้วยรอยเท่าคาร์บอน แน่นอนว่ารอยเท้าคาร์บอนของกลุ่มทุนย่อมมากกว่าคนทั่วไป

ปีนี้ ยังขึ้นชื่อว่าทางการจัดงาน COP ที่กีดกันที่สุดเคยมีมา เพราะคนจากประเทศซีกโลกใต้หลายคนเข้าไม่ถึงวัคซีนและห้องประชุมยังจำกัดจำนวนคนสังเกตการณ์ เกรต้าพูดว่า “นี้ไม่ใช่งานประชุมสภาพภูมิอากาศแล้ว แต่เป็นเทศกาลฟอกเขียวของประเทศซีกโลกเหนือ งานฉลองสองสัปดาห์ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปเหมือนเดิม และบลา บลา บลา”

เราตามอ่านแค่ข้อวิจารณ์จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เราชอบ เช่น ปฏิบัติการวิกฤตสภาพภูมิอากาศของชนพื้นเมือง (The Indigenous Climate Action) หรือกลุ่มเสียงฝ่ายซ้าย (Left Voice หรือ Jacobin) 

ไหนๆ ก็คุยเรื่องนี้แล้ว มาลองส่งเสียงถึงรัฐบาลไทย อยากให้ไทยทำอะไรเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศบ้าง

อยากให้มีแผนรับมือและกองทุนการรับมือภัยพิบัติและสภาพภูมิอากาศ ตามรายงานวิทยาศาสตร์ที่ออกมาเตือนเรื่องผลกระทบโลกร้อนต่างๆ และจากประสบการณ์ของเราเอง เช่น สังเกตว่าฝนตกหนักติดต่อกัน น้ำท่วม พายุเข้า ฝุ่นควัน ถ้าเราจะรักษาชีวิตมันควรมีการซ้อมรับมือภัยพิบัติต่างๆ ได้แล้ว

แล้วถ้าส่งเสียงถึงคนไทย

ฝากความเชื่อมั่นในตัวเองและผองเพื่อน ฝากประท้วงเคลื่อนไหวแสดงออก เราถูกรัฐทำให้เชื่องแต่เราต้องเชื่อมโยงกันผ่านการ “เป็นผู้ถูกกดขี่” เหมือนกัน