ส่องเสียงประชาชนบนถนน COP26

การประชุมโลกร้อน COP26 นั้นไม่ได้มีเพียงการเจรจาบนโต๊ะประชุม หากยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนทั่วโลกมาร่วมพูดคุยและส่งเสียงเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2021) เป็นวันแห่งการปฏิบัติเพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศสากล (Global Day of Action for Climate Justice) สำนักข่าว The Guardian รายงานว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เมืองกลาสโกลว์หลักหมื่นคนและคาดอาจมีถึง 100,000 คนในวันนี้

วันนี้ยังนับได้ว่าผ่านไป “ครึ่งแรก” ของการเจรจายาวสองสัปดาห์เพื่อกระจายความรับผิดชอบให้กับประเทศต่างๆ ร่วมรักษาอุณหภูมิโลก ทว่านักกิจกรรมโลกร้อนหลายคนมองว่า คำประกาศเป้าลดโลกร้อนอาจจะกลับลำได้ในช่วงการเจรจาอาทิตย์สอง 

หลายคนยังมองว่าเป็นการประชุมโลกร้อนที่ “ปิดกั้นการมีส่วนร่วม” จากประชาชนที่สุดในรอบยี่สิบหกปี เพราะแม้หลายคนจะตั้งใจจะเดินทางมาร่วมเรียกร้องที่สหราชอาณาจักร แต่ยังมีอีกหลายคนจากประเทศซีกโลกใต้กำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าร่วมได้เพราะเข้าไม่ถึงวัคซีน

ส่องบรรยากาศกิจกรรมบนท้องถนนรอบการประชุมโลกร้อนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร 

ขอบคุณภาพจาก COPCOLLAB26 เครือข่ายสื่อเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ สามารถชมไลฟ์สดกิจกรรมคู่ขนาน COP26 บนท้องถนนออนไลน์ทาง COP26.TV

บรรยากาศชุมนุมบนท้องถนนเมืองกลาสโกลว์ ซึ่งมีกิจกรรมคู่ขนานการประชุมทางการตลอดสัปดาห์ (ภาพ: William Gibson) 

เกรต้า ธันเบิร์ก นักกิจกรรมสวีเดนวัยสิบแปดที่จุดประกายกระแสโลกร้อน เธอมองว่าประชุมรอบนี้ มีแต่ผู้นำมาพูด “บลา บลา บลา” คำสัญญากลวงเปล่า (ภาพ: Oliver Kornblihtt)
การชุมนุมวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กรุงโซล เกาหลีใต้ (ภาพ: Medianinja) 
หุ่นผู้นำประเทศ “ผู้ก่อการร้ายทางสภาพภูมิอากาศ” (ภาพ: Ana Pessoa)
ผู้ชุมนุมชูตุ๊กตาอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump ซึ่งปฏิเสธว่าโลกร้อนเป็นฝีมือมนุษย์และพาสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกอนุสัญญาโลกร้อน ปีนี้ สหรัฐได้กลับเข้ามาร่วมอย่างเป็นทางการ (ภาพ: William Gibson)
Jon Bonifácio นักกิจกรรมโลกร้อนฟิลิปปินส์ขึ้นเวทีพูดร่วมกับเยาวชนจากหลายทวีป ฟิลลิปปินส์นับเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากพายุและอากาศผันผวนมากที่สุด (ภาพ: Oliver Kornblihtt)
การชุมนุมจัดโดยหลายแนวรวม ทั้งกลุ่มที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงและแนวร่วม เช่น BlackLivesMatter กลุ่มเกษตรและชนพื้นเมือง และกลุ่มสิทธิสตรี Feminist Assembly ที่พูดถึงบทบาทของคนหลากหลายในวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (ภาพ: Anna Passao)
กิจกรรมฉายภาพผู้ไม่สามารถเข้าร่วม COP26 ได้ งานประชุมครั้งนี้ถูกมองว่า “ปิดกั้นการมีส่วนร่วมมากที่สุด”  (ภาพ: Agisilaos Koulouris)

“อย่าทิ้งขยะในทะเลหรือบนดิน!” หลังนักกิจกรรมเยาวชน เกรต้า ธันเบิร์ก เริ่มต้นนั่งประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดนเมื่อปี 2018 เยาวชนกลายเป็นแรงสำคัญเรียกร้องให้ผู้นำลงมือทำเพื่ออนาคตโลก (ภาพ: Agisilaos Koulouris)
การประชุมCOP26 มีจุดประสงค์เพื่อหาข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในแปดสิบปีนี้ (ภาพ: NaimaFenderl)