ชี้ ‘คดีฟ้องเลขาฯไบโอไทย’ เข้าข่าย ‘ฟ้องปิดปาก’ Enlaw เสนอแก้กม.เอาผิดคนฟ้อง

จับตา 15 ธ.ค. คำสั่งศาลอาญา “ฟ้อง-ไม่ฟ้อง” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการไบโอไทย สืบเนื่องจากการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล “แบน 3 เคมีเกษตรอันตราย” ทนาย-เครือข่ายฯ ชี้เข้าข่าย “ฟ้องปิดปาก” (SLAPP) ด้าน Enlaw เสนอแก้กฏหมายเพื่อปกป้องนักสิทธิ-เอาผิดคนฟ้องไม่สุจริต

เข้าข่ายฟ้องปิดปาก สาธารณะเสียประโยชน์

“การฟ้องดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก” เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ชี้แจงผ่านเพจเครือข่าย ถึงคดีการฟ้องเลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

“1. ผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอตอยู่ระหว่างการฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ยกเลิกการแบน การที่นักวิชาการและประชาชนที่พูดถึงผลกระทบและปัญหาของพาราควอตที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จะทำให้พวกเขามีโอกาสนำพาราควอตกลับมาจำหน่ายได้อีก

2. พวกเขากลัวว่ากลุ่มสนับสนุนการแบนสารเคมีที่มีพิษภัยร้ายแรง ซึ่งมีไบโอไทยและไทยแพนเป็นผู้ประสานงาน จะเสนอให้มีการแบนสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงอื่นอีก 

3. แต่หนึ่งในเรื่องที่เขากลัวที่สุด คือการเปิดเผยความจริงว่าสมาคม หน่วยงาน และบุคคลในหน่วยงานทางวิชาการ หรือหน่วยงานรัฐ หรือในคณะกรรมการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย จำนวนหนึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบริษัทผลิตและจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ” Thai-PAN อธิบาย

จับตา 15 ธ.ค. “ฟ้อง-ไม่ฟ้อง”

1 พฤศจิกายน 2564 วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) พร้อมทีมทนายความสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และภาคีเครือข่ายเดินทางเข้ารับฟังการไต่สวนมูลฟ้องคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการออกมาเคลื่อนไหวแบน 3 สารเคมีเกษตรในประเทศไทย ล่าสุดศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้จำกัดการใช้สารเคมีดังกล่าวทั้ง 3 ชนิดแล้ว โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติให้มีการยกเลิกพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จรรยา มณีโชติ ในฐานะนายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย (โจทก์) ได้แจ้งความไว้ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเด็น 3 สารเป็นที่ถกเถียงถึงความพร้อม-ไม่พร้อมยกเลิกใช้ในไทย

“วิฑูรย์ ถูกกล่าวหาว่าผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถึง 2 มาตรา คือ มาตรา 14 และ มาตรา 16 จากการโพสต์เนื้อหาในเพจ BIOTHAI โดยนำภาพและข้อความ (ซึ่งได้เบลอชื่อของผู้ฟ้องคดีแล้ว) ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะมาขีดฆ่า พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า ความเป็นอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นไม่ได้มีเพียงการระบุสีของฉลากว่ามีความเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute Toxicity) เท่านั้น แต่ความเป็นอันตรายยังมีความเป็นพิษเรื้อรัง (Chronic Toxicity) เช่น การก่อมะเร็ง มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และผลกระทบต่อระบบประสาท เป็นต้น 

และถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามมาตรา 326 และ 328 จากให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ว่า กลุ่มที่คัดค้านการแบนบางองค์กรเกี่ยวข้องกับบริษัทสารเคมี โดยเขาได้ให้ข้อมูลว่ามี ‘สมาคมวิชาการซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่ราชการ’ (ไม่ได้ระบุชื่อสมาคมฯ) ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจากบริษัทสารเคมี มีอดีตนายกสมาคมทำงานในบริษัทขายพาราควอต  มีกรรมการบริหารบางส่วนมาจากบริษัทเอกชน” เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เผย

ทนายยื่นคำร้อง “ฟ้องโดยไม่สุจริต”

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความมีความคิดเห็นว่า ในทางกฎหมายถ้าฟ้องคดีหมิ่นประมาทแล้วไม่ควรฟ้องตามมาตรา 14 (1) ตามพรบ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ในมาตรา 16 ของ พรบ.คอมพิวเตอร์เป็นความผิดที่จะใช้กับภาพ การตัดต่อภาพบุคคลเหมือนนำภาพดาราตัดต่อให้ความเสียหายกับดาราคนนั้นคือวัตถุประสงค์ของมาตรา 16 แต่กลับมาฟ้องในคดีนี้ด้วย แต่กรณีนี้เป็นภาพข้อความที่กากบาทเอาไว้เท่านั้นเอง

“สุดท้ายแล้ว ศาลจะรับฟ้องก็รับฟ้องได้ตามมาตรา 326 และ 328 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญาคือ ใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะข้อความที่พูดว่า สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งนั้นมีอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร 

การเอาข้อมูลในที่ประชุมมาพูดในทางสาธารณะก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ควรจะต้องมีใครถูกฟ้องคดีเพื่อยับยั้งการพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ

เราจึงยื่นคำร้องตามมาตรา 161/1 ว่าเป็นการแกล้งฟ้องโดยไม่สุจริต แต่กฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากก็ยังมีข้อจำกัดคือ แนวคำสั่งศาลที่ยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันว่าศาลจะพิจารณาคำร้องนี้อย่างไร ถ้ามีข้อเท็จจริงปรากฏชัดศาลสามารถพิจาณาได้เลย โดยที่ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่บางกรณีที่มีเอกสารพยานหลักฐานในคดีเยอะ ศาลอาจจะอยากดูพยานหลักฐานในคดีก่อน ยังไม่สั่งรับฟ้อง” ทนายจันทร์จิรากล่าว

ทนายมองว่าการฟ้องคดีวิฑูรย์ครั้งนี้เข้าข่ายการฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) หมายถึงการฟ้องคดีโดยผู้มีอำนาจ ต่อบุคคลหรือองค์กรที่วิพากย์วิจารณ์ถึงประเด็นสำคัญต่อสาธารณชน เพื่อหยุดการวิจารณ์ในประเด็นสาธารณะ ด้วยการทำให้กลัว ทำให้สูญเสียทรัพยากร 

เสนอแก้กฎหมาย Anti-SLAPP เอาผิดคนฟ้องโดยไม่สุจริต

“ถึงแม้ว่าตอนนี้กฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากได้ถูกแก้ไขบางส่วนแล้ว อย่างในคดีนี้ที่เอกชนสามารถฟ้องร้องเอกชนว่าเป็นการแกล้งฟ้องโดยไม่สุจริตเพื่อมีผลเป็นการยับยั้งการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในมาตรา 161/1 แต่ในกรณีที่ประชาชนเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลไม่มีกฎหมายนี้รับรอง เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถยื่นคำร้องตามมาตรานี้ได้ ส่วนตัวมองว่าในอนาคตจะมีความคืบหน้า เพราะภาคประชาชนเสนอไปว่าควรจะใช้บังคับกับคดีที่รัฐฟ้องประชาชนด้วย” จันทร์จิรากล่าว

ด้าน สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้ความเห็นว่า การที่คุณวิฑูรย์ถูกฟ้อง เป็นการคุกคามคนที่ลุกขึ้นมาพูดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองเกษตรกร ให้ข้อมูลกับสังคมเพื่อประชาชนรู้ความจริงเพื่อให้เขาได้มีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย ซึ่งเจตจำนงในการฟ้อง มันน่าจะเป็นประเด็นการฟ้องเพื่อที่จะให้คุณวิฑูรย์และมูลนิธิไบโอไทยหยุดพูดในเรื่องนี้ มากกว่าที่จะเป็นการฟ้องคดีหมิ่นประมาท ในการที่เขาจะเกิดความเสียหายตามเหตุของคดีหมิ่นประมาททั่วไป 

“กระบวนการยุติธรรมไทย ถึงเวลาแล้วที่จะมีกระบวนการในการกลั่นกรองการฟ้องประเด็นพวกนี้  และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ใช้กระบวนการกฎหมายที่แกล้งฟ้องเพื่อปิดปากซึ่งไม่ใช่แค่คุณวิฑูรย์กรณีเดียว แต่เราคิดถึงชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องตัวเอง ทั้งในเรื่องความปลอดภัยจากมลพิษ จากอุตสาหกรรม หรือการตรวจสอบรัฐและบริษัทเอกชนต่างๆ 

สังคมควรที่จะได้เรียนรู้ รวมทั้งระบบยุติธรรมในประเทศนี้ด้วย ใครก็ตามที่พูดความจริง ใครก็ตามที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ควรที่จะมีโอกาสได้พูดในเรื่องพวกนี้อย่างเต็มที่ไม่ควรเป็นความผิดใดๆ เลย และสังคมควรที่จะส่งเสริมให้เขาได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่” สุภาภรณ์กล่าว