“อิหยังวะ ตัวเลขนี้มันมาได้ไง” ปฏิกิริยาจากธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทยกับวนัน เพิ่มพิบูลย์ Climate Watch Thailand ต่อคำแถลงลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ของนายกในเวทีประชุมผู้นำโลกร้อนนานาชาติ

“ขอพูดภาษาชาวบ้าน คือ อีหยังวะ รัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงเลขลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ตอนแถลงข่าวที่ไทย แต่พอถึงกลาสโกลว์เลขนี้ก็โผล่มา” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เผยในไลฟ์สด “เที่ยงวันทันCOP26” ที่ GreenNews จัดเพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจาโลกร้อนที่สหราชอาณาจักร
ธาราเล่าว่าในฐานะเป็นคนที่ติดตามประเด็นบทบาทของไทยกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมายาวนาน รู้สึก “แปลกใจ” กับคำแถลงใหม่ยาว 2 นาที โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวานในการประชุมผู้นำระดับสูงที่ผู้นำนานาประเทศแถลงจุดยืนและคำประกาศเกี่ยวกับภารกิจลดโลกร้อน
ผู้นำรัฐบาลไทยเผยว่า ไทยจะยกระดับเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเป้าหมายของชาติในการลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs) ที่ไทยตั้งไว้ คือ จากการลดปล่อยก๊าซ 20% (และ 25% หากได้รับการสนับสนุนจากอนุสัญญาโลกร้อน) ในช่วงสิบปีนี้ ไทยจะยกระดับเป็น 40% จากการผลิตเดิมในปีค.ศ.2005
ผอ.กรีนพีซตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เคยมีการพูดถึงเลข 40% มาก่อน เมื่อรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดแถลงข่าวสัปดาห์ที่แล้วก็ไม่ได้พูดถึง นอกจากนั้นแผนลดโลกร้อนที่ไทยส่งให้สหประชาชาติเป็นลายลักษณ์อักษรยังไม่เคยระบุถึง
เช่นเดียวกับข้อสังเกตจาก วนัน เพิ่มพิบูลย์ Climate Watch Thailand ที่เข้าร่วมประชุม COP อย่างสม่ำเสมอ ว่านายกได้ยกตัวอย่างว่าไทยประสบความสำเร็จในการลดโลกร้อนในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ไทยเคยตั้งเป้าว่าลดปล่อยก๊าซ 7% แต่ทำได้ถึง 17% ในปี 2019 ปริมาณมากกว่าเดิมสองเท่าและเร็วกว่าที่กำหนดไว้หนึ่งปี
“เราได้ยินหน่วยงานพูดว่าไทยทำได้เยอะมานานแล้ว แต่ทำไมถึงไม่เปลี่ยนตัวเลขในเอกสารส่งสหประชาชาติ แต่มาพูดวันนี้”
GreenNews ได้ตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับแผนลดก๊าซเรือนกระจกที่ไทยส่งให้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยโลกร้อน (UNFCCC) ได้แก่ เอกสารเป้าหมายของชาติในการลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs) ซึ่งไทยส่งฉบับแก้ไขล่าสุดเมื่อ 26 ตุลาคม 2020 , รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 3 (BUR 3) 25 ธันวาคม 2020 และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) เอกสารใหม่ที่ไทยส่งเมื่อ 30 ตุลาคม 2021 และเปิดตัวว่าเป็นกลไกลดโลกร้อนใหม่ในงานประชุม COP รอบนี้ พบว่าไม่มีเอกสารตัวไหนระบุถึงตัวเลขลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40%
ไทยจะลดปล่อยก๊าซด้วยวิธีไหน? เป็นคำถามที่สองนักกิจกรรมโลกร้อนไทยแสดงความกังวล วนัน ชี้ว่าแผนไทยระบุไว้ว่า จะลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ในภาคพลังงานและคมนาคม แต่เลขใหม่กลับยังไม่มีความชัดเจนและอาจมาจาก “ภาคป่าไม้” ซึ่งไทยมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนป่าไม้ หวังให้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกและใช้ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตกับต่างชาติ
ไทยตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้สัดส่วน 55% ของพื้นที่ประเทศไทย ตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติและยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ 20 ปี อีกหนึ่งตัวเลขใหม่ที่ปรับจากแผนเพิ่มพื้นที่ป่า 40%
สมัชชาคนจน กลุ่มทำงานเรื่องสิทธิที่ดินในไทย เผยว่านโยบายเพิ่มพื้นที่เพื่อตอบโจทย์เรื่องโลกร้อนทำให้เกิดกรณีไล่รื้อชุมชนจากที่ดินใกล้ป่าหลายแห่ง

วนัน ย้ำว่า ภาคป่าไม้เป็นส่วนสำคัญที่ต้องจับตาในการประชุมโลกร้อนสองอาทิตย์นี้ เพราะกลไกซื้อขายคาร์บอนผ่านภาคป่าไม้ต่างๆ ระดับสากลจะมีอิทธิพลต่อทิศทางของนโยบายป่าไม้ต่อไป ซึ่งอาจเป็นการพัฒนาแบบ “ความหวังปลอม” เนื่องจากแทนที่ประเทศจะให้ความสำคัญกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่กลับเน้นศักยภาพดูดซับก๊าซแทน
อีกทั้งยังเป็นทิศทางการพัฒนาที่นำทรัพยากรธรรมชาติไปตีมูลค่าในตลาด ให้น้ำหนักกับภาคเอกชนมากกว่าประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางอย่างเกษตรกร เห็นจากที่นายกกล่าวในการแถลงช่วงท้ายถึงรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) ซึ่งไทยกำลังผลักดันและจะนำไปปรับใช้ในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมปีหน้า
“ไทยอาจกำลังทำตัวเหมือนบราซิล” ผู้อำนวยการกรีนพีซ ตั้งข้อสังเกตถึงอีกหนึ่งประเทศที่เขารู้สึกแปลกใจกับคำแถลงเมื่อวาน เพราะประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50% ซึ่งรวมถึงการใช้ผืนป่าใหญ่อะเมซอนดูดซับก๊าซ เหมือนกับ “ขายป่าให้ภาคธุรกิจ”
ล่าสุด ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวจากทางการไทย
“ขอท้าให้สำนักงานแผนและนโยบายสิ่งแวดล้อมดึงแผนลดโลกร้อนที่ส่งสหประชาชาติไปแล้วกลับมาแก้ไขเป็นเลข 40% ให้ชัดเจน” สองนักกิจรรมโลกร้อนท้า
นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าประชุมผู้นำระดับสูงโลกร้อนต่อในวันนี้และมีกำหนดกลับไทยเย็นวันที่ 3 พฤศจิกายน ขณะที่รมต.สิ่งแวดล้อมและคณะผู้เชี่ยวชาญจะดำเนินการเจรจาต่อ
“COP26” การประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดระหว่าง 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน ณ เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร นับเป็นนัดสำคัญที่ทั่วโลกจับตามองเพราะ 197 สมาชิก จะมาทบทวนเป้าหมายลดโลกร้อนในช่วง 10 ปีข้างหน้าร่วมกันเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้ |
[การรายงานข่าวชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Climate Tracker]