วันแรกเวทีเจรจาโลกร้อน COP26 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเปิดตัวข้อมูลใหม่ ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้วยอัตราเร็วสองเท่าจากยี่สิบปีก่อน
ผลประชุมกลุ่มประเทศยักษ์อุตสาหกรรมโลก G-20 ประกาศเป้าลดโลกร้อนระดับอ่อน ด้านประธานผู้จัด COP26 เผย “ยังมีหวัง”
ยืนยันความวิกฤต-เร่งด่วนภาวะโลกร้อน
31 ตุลาคม 2021 วันแรกของการประชุมโลกร้อนครั้งสำคัญ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดตัวรายงานเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศโลกช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมาของปีนี้ เปิดเผยว่า ระดับน้ำทะเลปีนี้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในบันทึก โดยเพิ่มขึ้น 4.4 มิลลิเมตร/ปี เนื่องจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งและเกลเชอร์ที่เร็วขึ้น
WMO ได้เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงปีค.ศ.1990 และพบว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยโลกทยอยเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ โดยเพิ่มในอัตรา 2.1 มิลลิเมตร/ปี ระหว่างปี 1993-2002 และไต่ขึ้น 4.4 มิลลิเมตร/ปี ในช่วงยี่สิบปีนี้

แม้ว่าปีนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะร้อนน้อยกว่าปีก่อนหน้าเพราะมีสภาวะลานิญา ทำให้เกิดฝนมาก โดยเฉพาะแถบเอเชียแปซิฟิก ช่วงเจ็ดปีมานี้ อุณหภูมิโลกยังร้อนสูงสุดกว่าช่วงสิบปีก่อนอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ อุณหภูมิสูงขึ้น 1.09 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
“อุณหภูมิผันผวนเป็นวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งมีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์” ศาสตราจารย์ Petteri Taalas เลขาธิการ WMO กล่าว
รายงานนี้เปิดตัวในช่วงเย็นของการประชุมโลกร้อน COP26 วันแรก ณ เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งทั่วโลกจะตกลงหาแนวทางปฏิบัติร่วมกันเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในแปดสิบปีนี้ ซึ่งการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่าความพยายามปัจจุบันนั้นไม่พอและจะพาโลกแตะอุณหภูมิสูงถึง 2.7 องศา
กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองในที่ราบชายฝั่งซึ่งเสี่ยงจมน้ำมากที่สุดในโลก ซึ่งวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในงานแถลงข่าวก่อนหน้าเดินทางไปร่วม COP26 ว่า ปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มจะ “เป็นปัญหาในอีก 30-40 ปี”

G-20 ประกาศเป้าหมายลดโลกร้อน “ระดับอ่อน”
ในวันแรก ยังมีการประชุมของ G-20 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 80% ในโลก เช่น จีนและสหรัฐฯ สำนักข่าว AP รายงานว่า G-20 ประกาศเป้าหมายใน “ระดับอ่อน” เรื่องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการเลิกใช้ถ่านหิน
สำนักข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้สรุปไว้เพียงคร่าวๆ ว่าจะพยายามถึงจุดเป็นกลางทางคาร์บอน (ปริมาณการปล่อยและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หักลบกันพอดี) “ช่วงกลางศตวรรษนี้” ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ระบุชัดเจนและอาจปฏิบัติไม่ได้จริง
สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ด้านจีน รัสเซีย และซาอุดิระเบียกล่าวว่าทำให้ได้ในปี 2060 ขณะที่ไทยตั้งเป้าไว้ที่ปี 2065 ซึ่งประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเข้าร่วมประชุมผู้นำระดับสูงและจะนำเสนอในที่ประชุมผู้นำระดับสูงวันนี้ (1 พ.ย.) ช่วง 19.45 น.เป็นต้นไป (เวลาไทย)
G-20 ยังประกาศจะเลิกสนับสนุนการลงทุนใช้เชื้อเพลิงถ่านหินใน “ต่างประเทศ” ให้ได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ตั้งคำถามว่าเป้าหมายดังกล่าวเลี่ยงที่จะลดการใช้ถ่านหิน “ภายในประเทศ” ซึ่งคิดเป็นปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสมาชิก G-20

“ยังมีหวัง” เสียงจากเจ้าภาพ COP26
อย่างไรก็ตาม การประชุมโลกร้อนนานาชาติครั้งนี้อาจยังมีหวังและนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ปฏิบัติได้จริง จุดประสงค์ของประชุมสองอาทิตย์นี้คือ แต่ละประเทศประกาศยกระดับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตกลงกันสำเร็จเรื่องจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนารับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
Alok Sharma ประธานจัดงานเผยในงานแถลงข่าวว่า “เห็นแนวโน้มที่ดี” จากการประชุม G-20 และฝากความหวังไว้กับการประชุมผู้นำระดับสูงวันที่ 1-2 พฤศจิกายนนี้
ในวันเปิดตัวการประชุม นิวซีแลนด์ได้ชิงประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50% ในปี 2030
ทางฝั่งไทยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% จากการผลิตเดิม (25% หากได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ) ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมกับที่ตั้งไว้เมื่อหกปีก่อน
ด้านการเคลื่อนไหวนอกห้องประชุม ประชาชนจากหลายประเทศได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์และจัดกิจกรรมบนท้องถนนเพื่อสภาพภูมิอากาศ รวมถึง เกรต้า ธันเบิร์ก นักกิจกรรมสวีเดนวัยสิบแปดที่จุดประกายกระแสเยาวชนเมื่อสามปีก่อน ได้เดินทางมาร่วม COP26 เช่นกัน