รอถึงปีหน้า เลื่อนพิพากษาคดีวิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ทนายจี้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ศาลอุทธรณ์เลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีทหารวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส ทนายชี้การสอบสวนบกพร่องไม่เหมือนคดีผู้กำกับโจ้และกระบวนการศาลไม่คำนึงถึงประชาชน องค์กรสิทธิฯ ย้ำ “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือไม่มีความยุติธรรม”

(ภาพ: Protection International)

วานนี้ (26 ต.ค. 2564) รัษฎา มนูรัษฎา และ ปรีดา นาคผิว ทนายความของครอบครัว ชัยภูมิ ป่าแส พร้อมตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปศาลแพ่ง เพื่อรับฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก ต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ล่าสุดศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำพิพากษาและเลื่อนนัดไปวันที่ 26 ม.ค. 2565

ชัยภูมิ ป่าแส คือ นักกิจกรรมเยาวชนลาหู่ที่เสียชีวิตด้วยข้อหาค้ายาเสพติดที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2560  ซึ่งครอบครัวเชื่อใจว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐจึงได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกองทัพบก 

อัยการไม่ทำหน้าที่อย่างคดีผู้กำกับโจ้?

ทนายรัษฎาเผยว่า ได้ยื่นอุทธรณ์เพราะไม่เห็นด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ (26 ต.ค. 2563) และให้กองทัพบกไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย เพราะเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงชัยภูมิ ถึงแก่ความตายเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัวโดยชอบ

ทั้งนี้พยานวัตถุสำคัญ ที่จะพิสูจน์ว่าชัยภูมิมีมีดและมีระเบิดสังหารจะขว้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องป้องกันตัว คือภาพจากกล้องวงจรปิดในความควบคุมของกองทัพบก ซึ่งยังไม่เคยถูกเปิดเผยแม้จะผ่านมาหลายปี ทนายจึงตั้งคำถามว่าทำไมพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนถึงไม่สามารถใช้ภาพกล้องวงจรปิดมาเป็นวัตถุพยานในคดีได้อย่างคดีผู้กำกับโจ้

“ในคดีไต่สวนการตายพนักงานอัยการเมื่อทำสำนวนสอบสวน ต้องรู้เลยว่าคดีนี้ที่ชัยภูมิ ถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือถูกยิงตายมีหลักฐานอะไรที่ควรแสวงหา และจะทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานสอบสวน ต้องไปที่จอมิเตอร์เลย ต้องเก็บหลักฐานตั้งแต่ต้น แต่นี่ปล่อยให้กองทัพบกเก็บรักษาหลักฐาน พอมาปรากฏภายหลังก็คือไม่มีพยานหลักฐานสู่การสอบสวน 

แต่คดีของผู้กำกับโจ้เราจะเห็นว่าพนักงานอัยการร่วมกันทำคดีกับพนักงานสอบสวน จึงทำให้พยานวัตถุสำคัญเข้าสู่สำนวน ดังนั้น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือการปฏิรูปองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ควรจะนำมาพิจารณาเช่นกัน โดยเฉพาะที่พูดถึงการปฏิรูปตำรวจ และต้องทำเรื่องการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนด้วย” รัษฎากล่าว

จากเชียงดาวถึงกรุงเทพฯ ศาลนัดมาเพียงรับทราบว่า “เลื่อนคดี”

ด้านทนายปรีดา มีความคิดเห็นต่อการเลื่อนอ่านคำพิพากษาว่า ศาลได้นัดฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยมาฟังคำสั่งเพียงแจ้งว่าให้เลื่อนคดีไปเป็นมกราคมปีหน้า (2565) เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความลำบากต่อประชาชน โดยไม่คุ้มค่ากับการเสียเวลา ถ้าแม่ของชัยภูมิมาจากเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แค่มาฟังว่าคดีเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปในปีหน้านั้นจะรู้สึกอย่างไร 

“ศาลหรือผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ว่ามาเปิดผนึกคำสั่งของศาลอุทธรณ์วันนี้เลย ศาลแพ่งได้รับคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนมาหกวันแล้ว ว่าศาลอุทธรณ์สั่งให้เลื่อนคดีไป เพราะยังทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ วิธีแก้ง่ายๆ คือให้เจ้าหน้าที่ศาลแพ่งโทรไปแจ้งทนายความคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า ศาลยังไม่มีคำพิพากษาลงมา ขอให้ไปนัดวันที่ 26 ม.ค. ทีเดียวเลยก็จะง่ายและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเสียเวลา

กระบวนการการทำงานของศาลยุติธรรมต้องปรับปรุงแก้ไขให้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากกว่านี้ ต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้งไม่ไช่เอาศาลเป็นตัวตั้ง 

ภายหลังนี้จะมีการยื่นหนังสือในระบบของศาลอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งว่า ขอให้ทบทวนและปรับปรุงรูปแบบการนัดหมายแบบนี้ด้วยเพราะจะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และไม่เป็นภาระกับประชาชนมากเกินจำเป็น” ปรีดาระบุ 

ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ดูแลนายชัยภูมิ กล่าวว่า ยังหวังว่าจะได้ความยุติธรรมกับระบบกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา แต่ละครั้งก็เหมือนถูกกลั่นแกล้ง เราอยู่กองผักปิ้งแต่นัดให้ไปกรุงเทพ ถ้าเราไปแล้วก็คงเพียงรับทราบว่าถูกเลื่อนนัด

“แม่นาปอยก็บอกกับตนว่าแม่เดินทางไกลไม่ไหวแล้วเพราะแก่แล้ว ยังดีที่เราไม่ได้ลงไปครั้งนี้ เพราะไปก็ต้องเสียค่ารถค่ารา เสียเวลาและความเหนื่อย เพราะเราหลายชีวิต อยากให้พิจารณาให้เสร็จสักที อยากให้มีความชัดเจนถ้าจะเลื่อนนัดก็ควรแจ้งหรือบอกครอบครัวก่อน” 

(ภาพ: Protection International)

“ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือไม่มีความยุติธรรม” องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุ

“ความยุติธรรมมันไม่ควรที่จะได้มาด้วยความลำบากขนาดนี้ สรรพสิ่งบนโลกมันตั้งอยู่บนความจริง ถ้าเรามีใจที่อยากจะให้ความยุติรรมจริงๆ ก็ไม่ควรจะทำให้มันยุ่งยากขนาดนี้สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อย อันนี้มันก็ยากเกินไปสำหรับพวกเราที่จะต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรรม มันรู้สึกว่าเป็นหนทางที่ยากเกินกว่าที่มันจะเป็น  แต่พวกเราก็จะไม่ยอมแพ้แม่นาปอยบอกว่าจะสู้จนถึงขั้นตอนสุดท้าย” ไมตรีกล่าว

ส่วนด้านครอบครัว นาปอย แม่ชัยภูมิ เผยว่ารู้สึกเสียใจมาก ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ครั้งไหนๆ ครอบครัวของเราก็เจอแต่เรื่องผิดหวังตลอด เราอยากจะชนะมากในคดีนี้ เพราะเชื่อว่าลูกไม่มีความผิด ไม่มีวันลืมชัยภูมิ คิดถึงตลอด ถึงแม้มันจะเป็นไปไม่ได้ แต่เราก็อยากย้อนเวลากลับไปให้ลูกอยู่กับครอบครัวไปนานๆ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับลูกของเรา ทุกวันนี้เรายังฝันเห็นลูกของเราอยู่เลย

ปรานม สมวงศ์ โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “ทำให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่า ‘ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือไม่มีความยุติธรรม’ (Justice delayed is justice denied.) แต่กรณีนี้ยังดีที่ยังได้รับความสนใจจากสาธารณะ เพราะเข้าใจว่าผู้คนในสังคมก็มีการติดตามคดีมาโดยตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิอาจจะเกิดใครก็ได้”