ประยุทธ์นำทีมเจรจาโลกร้อนที่อังกฤษเริ่มวันอาทิตย์นี้ รมว.ทส.แถลงยืนยันเตรียมประกาศไทยบรรลุเป้า เป็นกลางทางคาร์บอนใน 44 ปี เชื่อเป็นเป้า “ทำได้จริง” และพร้อมรับแรงกดดันในการประชุม เตรียมเจรจารับการสนับสนุนเงินทุน-เทคโนโลยีกับต่างชาติ

ครั้งแรกต่อเวทีโลก เตรียมประกาศเป็นกลางทางคาร์บอนใน 44 ปี
อีกเพียง 5 วันจะถึงงานประชุมโลกร้อนสหประชาชาติครั้งสำคัญ ซึ่งประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำทีมผู้แทนไทยเข้าร่วมเจรจากับนานาประเทศ วันนี้ (27 ตุลาคม 2021) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แถลงข่าวยืนยันว่าไทยพร้อมเข้าเวทีเจรจาพร้อมเป้าหมายจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงจนกระทั่งถึงภาวะเป็นกลาง (Carbon Neutrality) ใน 44 ปี หรือปี ค.ศ.2065
การประชุมโลกร้อน “COP26” จะจัดระหว่าง 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน ณ เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร นับเป็นนัดสำคัญที่ทั่วโลกจับตามองเพราะนานาประเทศจะมาทบทวนเป้าหมายลดโลกร้อนในช่วง 10 ปีข้างหน้าร่วมกันเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้
งานประชุมนี้ยังเป็นเวทีการเมืองสำคัญที่ผู้นำประเทศประกาศยุทธศาสตร์ลดโลกร้อน ปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ไทยจะประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อเวทีโลก โดยปัจจุบัน ไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 350 ล้านตันและจะถึงจุดปล่อยก๊าซสูงสุดในปีค.ศ.2030 ก่อนจะทยอยลดการปล่อยก๊าซกับเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรื่อยๆ จนถึงจุดดุลที่สามารถปล่อย-ดูดซับได้เสมอกันในปี ค.ศ.2065
“นายกจะเดินทางไปกลาสโกลว์ด้วยตนเอง แสดงให้เห็นว่านายกฯ เห็นความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน เราจะไปประกาศให้ชาวโลกทราบว่าเราทำอะไรได้แล้วและจะทำอะไรอีกบ้าง” วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.เปิดเผย โดยนายกฯ จะร่วมประชุมวันที่ 1-2 พฤศจิกายน
ที่ผ่านมาไทยได้ทำสำเร็จ “เกินเป้า” ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 17% ตามเป้าหมายปีค.ศ.2020 จากที่ตั้งไว้ 7% และทยอยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแทนการใช้ถ่านหิน
รมต.วราวุธย้ำว่าการทส.มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานงาน แต่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องลดในทุกภาคส่วน ทั้งพลังงาน อุตสาหกรรม คมนาคม รวมถึงภาคเกษตรกรรมที่ยังมีก๊าซ “มีเทน” อีกหนึ่งก๊าซเรือนกระจกที่เป็นเรื่องท้าทาย
ในประชุมครั้งนี้ ไทยยังจะประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) ซึ่งในอาเซียนยังมีแค่สามประเทศที่ประกาศ เป็นการ “ยืนยันว่าเราจะทำจริง ไม่ได้พูดลอยๆ” ตามคำแถลงของรมว.ทส.

44 ปีช้าไปไหม?
เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2065 เป็นที่ตั้งคำถามว่าช้าไปไหมสำหรับวิกฤตโลกร้อน ขณะที่หลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายทำให้ได้ในปี 2050 เช่น มาเลเซีย
ขณะที่เส้นทางสู่เป้าหมายดังกล่าวเป็นที่วิจารณ์ว่า “ไม่เพียงพอ” กลุ่มติดตามนโยบายโลกร้อนอิสระ Climate Action Tracker จัดให้เมืองไทยมีสถานะ “ไม่เพียงพออย่างรุนแรง” เหตุผลหนึ่งคือไทยได้คงเป้าหมายลดปล่อยก๊าซด้วยอัตราความเร็วและปริมาณเท่าเดิมนับตั้งแต่ความตกลงปารีสเมื่อหกปีก่อน อยู่ที่ 20-25% จากการผลิตเดิม ภายในปีค.ศ.2030
รมว.ทส.ชี้แจงว่าเป้าหมายนี้มีความเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน
“เป้าปี 2065 นี้เป็นสถานการณ์เลวร้ายสุด ในประชุมโลกร้อนรอบนี้เราอาจจะได้รับการกดดันพอสมควรให้ปรับให้เร็วขึ้น ทางสำนักงานแผนและนโยบายสิ่งแวดล้อมกำลังเตรียมตัวว่าถ้าถูกกดดันจริงๆ ไทยจะเจรจาอะไรบ้าง”
“ผมไม่อยากไปสร้างภาระให้รัฐบาลและคนรุ่นหลัง ผมจะประกาศ 2050 ก็ได้ แต่ว่าการลดปล่อยก๊าซจะกระทบหลายภาคส่วน และในอนาคตก็จะเป็นคนอื่นในตำแหน่งแล้ว”
วราวุธย้ำว่าไทยพร้อมจะปรับเป้าหมายลดโลกร้อนตามสถานการณ์อนาคตที่เปลี่ยนไป เช่น ศักยภาพดูดซับก๊าซของภาคป่าไม้ไทยที่จะเพิ่มจำนวนให้ได้ 55% ของพื้นที่ประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ เทคโนโลยีและงบลงทุน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซตัวสำคัญ
เงินทุน-เทคโนโลยี ไทยเตรียมเจรจากับต่างชาติ
ไทยจัดได้ว่าเป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นปริมาณน้อยกว่า 1% ของโลก และเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่เปราะบางต่อผลกระทบสภาพภูมิอากาศที่สุด
วาระน่าจับตาของประชุมนี้คือการเจรจาระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนา เรื่องการสนับสนุนเงินและเทคโนโลยี โดยประเทศพัฒนาแล้วจะส่งเงินเข้ากองทุนภูมิอากาศสีเขียวปีละ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ซึ่งเมื่อต้นตุลาคม ไทยได้รับอนุมัติเงิน 525 ล้านบาท เพื่อทำโครงการบริหารจัดการน้ำภาคเกษตรลุ่มน้ำยมและน่านเพื่อรับมือโลกร้อน
นอกจากนั้นการเจรจากับเวทีร่วม วราวุธเผยว่าไทยเตรียมเจรจาแบบทวิภาคีกับสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสหรัฐฯ เรื่องการสนับสนุนเทคโนโลยี
นอกจากด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องน่าจับตา วราวุธเผยว่าในปี 2023 สหภาพยุโรปที่เป็นตลาดนำเข้าสินค้าสำคัญจากไทยจะเริ่มทดลองเก็บภาษีสินค้าโดยคำนึงถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิต เป็นเรื่องที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเหล็กกล้าและภาคเกษตรจะต้องเตรียมปรับตัว โดยภาครัฐพร้อมสนับสนุน
“หลังจบประชุมโลกร้อนวันที่ 12 โลกจะเข้าสู่อีกโลกหนึ่ง ไทยจะต้องเข้าเกียร์เต็มที่” รมต.วราวุธกล่าว
[การรายงานข่าวชิ้นนี้และ COP26 ได้รับการสนับสนุนจาก Climate Tracker]