‘บุก’ เศรษฐกิจคนรากหญ้า กับการลอยแพใต้นโยบาย ‘ของป่า’(กม.อุทยาน)

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

หัวบุก (ภาพ : thainews.prd.go.th)

1.

ช่วงสองสามวันนี้ ผมเดินทางไปที่อำเภอแม่สะเรียงเพื่อติดตามปัญหาเรื่อง “บุก” (หัวบุกเป็นของป่าชนิดหนึ่งคล้ายมัน) เพราะทราบมาว่าปีนี้ไม่มีคนรับซื้อเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา ได้คุยกับพี่สะท้าน ซึ่งเป็นทั้งคนปลูก เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกบุก และเป็นพ่อค้าคนกลางรายย่อยที่ได้รับใบสัมปทานซื้อบุกจากชาวบ้านแล้วส่งไปให้โรงงาน พี่สะท้านเล่าว่า ปีนี้ยังไม่มีโรงงานไม่รับซื้อแม้แต่ที่เดียว ทำให้ชาวบ้านที่เคยขายบุกไม่มีรายได้เหมือนทุกปี 

ผมรู้จักกับพี่สะท้านดี ทุกปีในช่วงขุดบุก ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงสิ้นปี พี่สะท้านและชาวบ้านแถบลุ่มน้ำสาละวินจะซื้อขายบุกกันคึกคักมาก คนที่ขุดจากในป่าจะมีรายได้ตั้งแต่ 300 -1,500 บาท  เฉพาะเงินที่ซื้อขายบุกที่หมุนผ่านพี่สะท้านเฉลี่ยประมาณปีละ 1.5 ล้านบาท 

ช่วงเริ่มต้นขุด จะเป็นบุกที่ขุดจากในป่าก่อน ซึ่งราคายังไม่สูงมากนัก ปีที่แล้วราคาที่โรงงานที่อำเภอแม่สอดเริ่มต้นที่ 18 บาท ชาวบ้านก็จะได้ขายในราคาประมาณ 13-15 บาท แต่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะได้ขายในราคาต่ำกว่า เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการอนุมัติใบสัมปทาน แต่พอล่วงเลยถึงช่วงปลายปี ราคาจะเริ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ 15 บาทขึ้นไปถึง 30 บาท คนที่ปลูกเอาไว้ก็จะทยอยขุดไปขาย 

ศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรม “บุกแม่ฮ่องสอน : สร้างเศรษฐกิจชุมชนรักษาป่า” และร่วมเสวนาในหัวข้อ “แนวทางขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ปลูกบุกเสรี บุกป่ายั่งยืน” กับภาคประชาชน และหน่วยงานราชการ เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการปลูกบุกให้เป็นอาชีพที่มั่นคง และถูกต้องตามกฎหมาย ณ สวนรุกขชาติห้วยชมภู อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ 6 พ.ย. 2563 (ภาพ : thainews.prd.go.th)

2.

ปัญหาสำคัญของการค้าบุกมี 2 ประการ คือ ประการแรก บุกถูกกฎหมายกำหนดให้เป็น “ของป่า” การเก็บหาและค้าจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ซึ่งกระบวนการเกี่ยวกับการอนุญาตมีความซับซ้อน และอาจมีการคอรัปชั่นตั้งแต่หัวยันหาง ข้าราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจ้องเอาผลประโยชน์ที่จะได้ แต่เมื่อมีปัญหาพวกเขาต่างลอยตัวทั้งหมด ไม่ร่วมรับผิดชอบใดๆ ทำให้ธุรกิจบุกในประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาและต่อยอดได้  ประการที่สอง ตลาดซื้อบุกถูกผูกขาดโดยพ่อค้าจากจีนมามากกว่า 5 ปีแล้ว ส่วนใหญ่โรงงานรับซื้อบุกสดและบุกอบแห้งในไทย มีปลายทางเดียวกันคือส่งไปยังประเทศจีนทั้งหมด ดังนั้น เมื่อปีนี้พ่อค้าจากจีนไม่รับซื้อแล้ว ก็ไม่มีตลาดรองรับอีกเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีใครสนใจทำอะไรเลย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบุกในประเทศไทยไม่เติบโตและไม่มีการต่อยอด ทั้งๆ ที่ไทยเป็นแหล่งที่บุกมีคุณภาพมากที่สุด และมีปริมาณมากที่สุดด้วย คือ กฎหมายกำหนดให้บุกเป็นของป่า การขุดหรือซื้อขายเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา กล่าวคือ 

ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตป่าสงวนหรือปลูกในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถูกคุมโดย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งมีข้อห้ามสำคัญคือ “ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดเก็บหาของป่า โดยมีข้อยกเว้นตามมาตรา 15 คือ เมื่อได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งหมายถึงได้รับใบสัมปทานของป่า โดยที่กำหนดนิยามของคำว่า “ของป่า” คือ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ซึ่งบุกเป็นพืชที่เกิดและมีอยู่ในป่า จึงมีสถานะเป็นของป่า

แต่ถ้าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จะห้ามเอาไว้ โดยมีข้อยกเว้นให้ตามมาตรา 65 คือ ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่อยู่โดยรอบบริเวณอุทยานแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งมีข้อสงสัยว่าจะรวมถึงการขุดเพื่อขายเป็นรายได้ด้วยหรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมแม้แต่ที่เดียวให้ยึดถือหรืออ้างอิงได้ 

ภาพ : medthai.com

3.

บุกเป็นพืชพื้นถิ่นของแถบตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี เติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น หรือป่าเบญจพรรณ สำหรับพื้นที่สูงที่อากาศหนาวจะโตช้ากว่าและไม่หนาแน่น ลักษณะเป็นพืชล้มลุก ขึ้นอยู่ในที่ร่มตามใต้ต้นไม้ โดยต้นจะงอกและโตในช่วงฤดูฝน เมื่อสิ้นฤดูฝนต้นก็จะตายและเน่าหมด แต่หัวจะอยู่ในดินตลอด เมื่อถึงฤดูฝนของปีถัดไปก็จะงอกขึ้นมาเหมือนเดิม   

บุกสามารถใช้แปรรูปทำอาหารได้หลากหลาย ทำให้ตลาดมีความต้องการใช้ปริมาณมาก ดังนั้นในแต่ละปีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก จึงมีรายได้จากการขุดบุกขายจำนวนมาก ที่สำคัญคือ ขณะนี้ทุกหน่วยงานยอมรับแล้วว่า การขุดบุกไม่มีผลเป็นการทำลายป่า ในทางตรงกันข้ามจะช่วยทำให้ชาวบ้านหันมาดูแลรักษาป่า เพราะพื้นที่ที่มีบุกหนาแน่นชาวบ้านจะไม่ยอมให้ใครไปบุกรุกแผ้วถาง และเมื่อถูกฤดูแล้ง ชาวบ้านจะป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าในพื้นที่เหล่านั้น เพื่อที่ชาวบ้านจะได้ไปขุดบุกเมื่อถึงเวลา 

พี่สะท้านเล่าวา คนที่อยู่ในวงการค้าบุกประมาณการว่า เฉพาะในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีปริมาณผลผลิตบุกจากป่าประมาณ 5 ล้านกิโลกรัมต่อปี และยังมีบุกที่ชาวบ้านปลูกอีกประมาณ 2 ล้านกิโลกรัมต่อปี รวมกันทั้งหมด จะมีปริมาณผลผลิตบุกสดประมาณ 7 ล้านกิโลกรัมต่อปี 

มูลค่าของบุกสด คำนวณจากราคาที่โรงงานรับซื้อที่อยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 15 – 30 บาท ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 23 บาท จากทั้งหมด 7 ล้านกิโลกรัม จะมีมูลค่าเท่ากับ 161 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมถึงจังหวดอื่นๆ และมูลค่าที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) อื่นๆ 

แม้กฎหมายจะกำหนดให้คนสามารถขออนุญาตเก็บหาให้ถูกต้องได้ และระเบียบการอนุญาตก็ดูเหมือนชัดเจน แต่ในทางปฏิบัตินั้น กระบวนการถูกทำให้มีความยุ่งยากและซับซ้อน ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งมีการเรียกรับผลประโยชน์ในหลายขั้นตอน ทำให้บางครั้งบุกจะถูกซื้อขายแบบผิดกฎหมายมากกว่า โดยมีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ หรืออาจจะพูดได้ว่า กระบวนการขออนุญาตถูกทำให้มีความยุ่งยากและซับซ้อน เพื่อบีบให้พ่อค้าคนกลางและโรงงานหลบเลี่ยงกฎหมาย แต่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ ซึ่งคนที่เสียประโยชน์คือ ชาวบ้านคนปลูกและขุดบุกป่าที่ถูกกดราคา และรัฐที่ไม่สามารถเก็บเงินค่าภาคหลวงได้

ช่วงห้าหกปีให้หลังมานี้ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้นำมาปลูกในที่ดินทำกิน แต่เนื่องจากที่ดินทำกินของชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงถูกตีความว่าแม้เป็นบุกที่ปลูกในที่ดินของตนเอง ก็มีสถานะเป็นของป่า การซื้อขายจะต้องทำตามระบบสัมปทานของป่า

เมื่อปี พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติสำหรับชาวบ้านที่ปลูกบุก คือ เข้าโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ และจดทะเบียนกับกรมป่าไม้ โดยลงทะเบียนผ่าน Application ของกรมป่าไม้ แล้วให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแปลงปลูก เมื่อถึงเวลาขุดก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจอีกอีกครั้ง แล้วเจ้าหน้าที่จะออกใบอนุญาตให้โดยไม่ต้องผ่านระบบสัมปทาน ทุกอย่างทำได้ง่ายๆ แต่ในทางปฏิบัตินั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีการทำจริง ทำให้ชาวบ้านที่ปลูกก็จำเป็นต้องขายให้พ่อค้าที่ได้รับสัมปทานแบบบุกป่าอยู่ดี

แม้จะปลูกในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ก็ยังมีปัญหาอยู่ดี แม้บุกที่ปลูกอยู่ในพื้นที่นั้นจะไม่เป็นของป่า แต่เมื่อขนออกจากที่ดิน เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจตรวจยึดไว้เพื่อรอตรวจสอบ พ่อค้าก็จะต้องไปดำเนินการตามระเบียบกฎหมายเพื่อขอคืน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นจะต้องใช้เวลานานจนเน่าเสีย ทำให้พ่อค้าได้รับความเสียหาย ดังนั้น ในทางปฏิบัติการซื้อขายก็จะต้องเข้าระบบสัมปทานอยู่นั่นเอง

ปัจจุบันมีแหล่งรับซื้อบุกสด 2 จุดใหญ่ จุดแรก คือ จังหวัดลำพูน และจุดที่สอง คือ ที่อำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งทั้งสองแห่งมีปลายทางเดียวกันคือส่งออกไปยังประเทศจีน โดยพ่อค้าจากจีนเริ่มเข้ามารับซื้อบุกสดในไทยนานกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นราคาที่พ่อค้าคนกลางมาซื้อจากชาวบ้านจะต่ำมาก อยู่ระหว่าง 3 – 6 บาท แต่ในปี พ.ศ. 2559 ราคาได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว หลังจากนั้นมาราคาบุกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีที่แล้วราคารับซื้อที่หน้าโกดังที่อำเภอแม่สอดเริ่มต้น 18 บาท และขึ้นสูงสุดถึง30 บาท 

ปีนี้ โกดังที่เคยรับซื้อบุกสดทุกที่ยังไม่เปิดรับซื้อ ซึ่งพี่สะท้านเล่าว่า คนจากวงในของโกดังอ้างว่า ประเทศจีนปิดด่าน ทำให้ไม่สามารถนำบุกเข้าประเทศจีนได้ เนื่องจากปัญหาโควิดระบาด จึงต้องรออย่างไม่มีกำหนด แต่เหตุผลนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นความจริง ทางการของไทยเองก็ไม่เคยให้ข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งพี่สะท้านเล่าว่า ตอนนี้พ่อค้ารายย่อยในไทย ยังไม่ปักใจเชื่อ และคาดเดาว่ามีความเป็นไปได้ที่นายทุนจีนกำลังสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การกดราคาให้ต่ำลง 

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ในขณะที่ธุรกิจบุกหยุดชะงักโดยหาสาเหตุไม่ได้นี้ ฝ่ายราชการไทยกลับเงียบโดยไม่มีใครออกมาทำอะไร ซึ่งหากปีนี้ชาวบ้านไม่ได้ขุดบุกจะทำให้คนขาดรายได้รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 160 ล้านบาท

ภาพ : hrdi.or.th

4.

หากรัฐแก้ไขกฎหมาย ทำให้การปลูกและการค้าบุกถูกกฎหมาย ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายป่าไม้ และปรับปรุงระบบการให้สัมปทานให้มีลักษณะเป็นการอำนวยความสะดวก จะทำให้ธุรกิจบุกเติบโตกลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้มหาศาลให้แก่ประชาชนและรัฐ 

หากผู้ประกอบการสามารถซื้อขายและแปรรูปบุกได้อย่างเสรี จะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เกี่ยวกับบุก และห่วงโซ่อุปทานจะขยายไปอย่างกว้างขวาง อันจะเป็นการสร้างงาน สร้างร้ายได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะมีมูลค่ามหาศาล 

โดยเฉพาะ หากกฎหมายอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการบุกที่อยู่ในป่าได้ จะทำให้ชาวบ้านหันมาดูแลรักษาป่า เพราะพื้นที่ป่าจะเป็นแหล่งความมั่นคงในชีวิตของคน ยิ่งขยายพื้นที่เหล่านี้ได้มากเท่าไหร่ พื้นที่ป่าของประเทศก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

แต่ความจริง (ที่เราไม่ชอบแต่ก็ต้องอยู่กับมัน) คือ ความคลุมเครือของกฎหมายและระบบธุรกิจที่เป็นอยู่ เอื้อให้ผู้มีอำนาจที่จะคอรัปชั่นมีช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ แต่หากมีปัญหาพวกเขาก็จะลอยตัวออกทันที พวกเขาจึงยินดีมากกว่า หากปล่อยให้ทุกอย่างยังคลุมเครือต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยควรตระหนักเอาไว้คือ ประชาชนและประเทศชาติจะสูญเสียโอกาส