ปางเอกชนอุ้มไม่ไหว ช้างท่องเที่ยว ‘สุรินทร์-พัทยา’ ส่อต้องออกเดินเร่เพื่อรอด

ควาญเผย ดิ้นทุกทางกลางโควิดมาสองปี ล่าสุดอาจไม่รอด ช้างท่องเที่ยวในสุรินทร์-พัทยาไม่ต่ำ 500 เชือกส่อต้องออกเดินเร่ข้างถนนแลกอาหารภายในสิ้นปี เห็นสัญญาณปางเอกชนไม่ต่อสัญญา สส.สุรินทร์-เพื่อไทยเสนอรัฐยื่นมือช่วยเร่งด่วน ทั้งช้างและควาญ

(ภาพ : พลายโดม)

ช้างท่องเที่ยว“สุรินทร์-พัทยา” กว่า 500 เชือก ส่อต้องออกเดินเร่เพื่อรอด

“เป็นวิกฤตตลอด 2 ปี ที่ควาญช้างท่องเที่ยว ประสบไม่มีงานทำ ถึงแม้ที่ผ่านมามีปางเอกชนอุ้มมาโดยตลอด ตนสังเกตได้ว่าเอกชนเริ่มส่งสัญญาณว่าจะไม่อุ้มอีกปีที่ 3 ควาญช้างไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายค่าเช่า ค่าอาหาร และนำช้างกลับจังหวัดสุรินทร์เชือกละ 1.5 หมื่นบาท กังวลได้ว่าเกิดเหตุการณ์ปล่อยช้างจังหวัดพัทยาจำนวน 100 เชือกเดินเร่” อรพรรณ มาลีหอม ผู้ให้ความช่วยเหลือควาญช้างบนทวิตเตอร์ กล่าวในเวทีเสวนาออนไลน์บน Twitter Space หัวข้อ “ร่วมรับฟัง เร่งร้องรัฐ ปัญหา #ช้างตกงาน และ #วิกฤติช้างไทย” 

เวทีดังกล่าวจัดโดยบัญชีทวิตเตอร์ @rdullsulis เพื่อพูดคุยถึงปัญหาและเสนอข้อเรียกร้องจากตัวแทนควาญช้าง เมื่อวันนี้ 3 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยผู้ร่วมเวทีรวมถึงตัวแทนควาญช้างได้แก่ ควาญฝน ช้างน้องแป้ง (หมู่บ้านชาวเขาพัทยา) ควาญยุ้ยช้างแม่วัลลี (สุรินทร์) ควาญอู๊ด ควาญชราช้างพังแม่คำแก้ว และครอบครัวกิจจุ (สวนกระทิงลาย ชลบุรี) ควาญทอน (สวนช้างทัพไทยพระยาซาฟารี) นักการเมือง ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกเพื่อไทย และคุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์ รวมเวที

“ปรากฏการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ไทยต้องปิดประเทศ อาชีพเกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกระทบหนักปิดกิจการเรียงกันเป็นโดมิโน ‘ช้างท่องเที่ยว’ หนึ่งความชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ปัจจุบันกำลังตกงานด้วยพิษเศรษฐกิจ ควาญช้างปรับตัวครั้งใหญ่ไลฟ์ ‘ขายกล้วยออนไลน์’ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ Facebook Tiktok Youtube และ Twitter เพื่อเลี้ยงช้างให้อยู่รอดประทังชีวิตรายวัน” หนึ่งในผู้อภิปรายกล่าว

“ไม่อยากเห็นภาพนี้ซึ่งมันอีกแค่ 2 เดือนแล้วมันจะหมดปี ถ้าหมดปี ปุ๊บปางส่งสัญญาณมาว่าฉันไม่รับ แบกไม่ไหวแล้ว ช้างร้อยกว่าเชือกพัทยา ต้องหาทางไป แล้วเขาทำยังไง เป็นเรื่องซีเรียสใกล้ประชันชิดอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือตรงนี้ 

พ่อควาญแม่ควาญรู้ตัวว่าไลฟ์ป้อนผลไม้ให้ช้าง ได้ไม่นานหรอก เศรษฐกิจด้วยค่าใช้จ่ายตรงนี้มันเยอะ ค่าอาหารน้องอีกค่าใช้จ่ายในครอบครัว มันต้องแบก ไม่มีทางเลือก คือเขาทำงานแน่ๆ 
สุรินทร์ตอนนี้ช้าง 1000 เชือกเขาจะเอายังไง เพราะค่าใช้จ่ายมันสูงมากเพราะว่าวิกฤตอาหาร ณ ตอนนี้ช้างที่สุรินทร์ต้องมาซื้อหญ้าที่โคราชแล้ว ขณะปลูกหญ้าเองยังไม่พอให้ช้างกินเลย ซึ่งมั่นใจว่า ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปสุรินทร์ก็ต้องเร่เหมือนกันมันน่าเป็นห่วงมากเพราะว่าถ้าเกิดเร่จริงระดับ 5 ร้อยเชือกแน่ๆ เพราะว่าสุรินทร์เป็นพันตัว ไหนจะพัทยา อีก” อรพรรณ กล่าว

(ภาพ : แสงดาว Story)

ดิ้น “ไลฟ์ผลไม้” ยังไร้แววรอด

วิมลวรรณ แสนดี ควาญช้างน้องแป้ง หมู่บ้านชาวเขาพัทยา เปิดเผย สามเดือนที่ผ่านมา ไม่มีงานทำเพราะว่างานร้านอาหารพัทยาส่วนมากปิดตัวลง และพนักงานออกยังไม่มีทีท่ากลับทำงานอีกครั้ง เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดต้องเข้าหาระบบออนไลน์ “ไลฟ์ผลไม้” โดยเริ่มจากที่เฟซบุ๊ก แต่ก็โดนปิดไปเพราะว่าละเมิดชุมชนกฎเฟซบุ๊ก ซึ่งตนไม่ถนัด 

“ก็คือด้วยความที่เราไม่รู้ไลฟ์เพื่อแบบหลับหูหลับตาไลฟ์ให้รอดไปทุกวัน มีพ่อๆแม่ๆเข้ามาช่วย แกก็ช่วยๆทุกวันจนแม่ควาญไม่กล้าจะเปิดไลฟ์ ขอบคุณแม่ FC ที่ช่วยเหลือ ขอบคุณที่ช่วยแม่ควาญ เพราะว่าตลอด 2 3 เดือนไลฟ์มานี้ก็ให้กำลังใจทุกวันว่าต้องสู้ เราไม่มีทางเลือกจริงๆ คิดไม่ออกว่าจะไปทางไหน ก็มีทางเดียวที่รอดทำๆอยู่ก็คือไลฟ์ผลไม้

หนูก็ไม่อยากเร่แล้วค่ะ ก็สุดๆหนี้สองปีกับการไม่ได้ใช้หนี้ พักหนี้มา 2 ปี เต็มเพดาน ไหนจะระยะสั้นระยะยาวของธกส.สหกรณ์คือตอนนี้หนูเอาทุกทาง ประคองเราขอแค่ให้ได้แค่ที่อยู่ อาหารให้น้องกิน  2 ปีแล้วหนูไม่อยากเร่ ถ้าไม่ไหวจริงก็ต้องสู้รอให้เขามายึดที่ยึดนาไม่ได้ หนี้เต็มเพดานแล้ว ไม่มีทางเลือกจริงๆเราก็ต้องต่อสู้ชีวิตใช่ไหมพี่ ” ควาญฝน กล่าว

ควาญช้างน้องแป้ง จังหวัดพัทยา ยังอธิบายอีกว่า ปางช้างเอกชน ตอนนี้ หนูมองว่าที่จะได้ไปต่อก็คือน้อย ตอนนี้คือควาญช้างเหมือนต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เพราะว่าการที่จะช้างได้เข้าระบบปางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม ยากมาก ความช่วยเหลือที่ตนต้องการเร่งด่วนนั้นคือ การเยียวยา และสถานที่พักพิง จนกว่าวันที่ตนสามารถทำงานได้ หารายได้ 

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ (ภาพ : Matichon)

“5 ข้อเสนอ บทบาทรัฐเร่งด่วน” รองโฆษก.เพื่อไทย

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนทำงานในส่วนของเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนคนเลี้ยงช้าง ซึ่งน่าเห็นใจมากๆ เหมือนไม่มีทางออกเลย 

“ประเด็นช้างไลฟ์ออกมาขายอาหารว่าเป็นช้างเร่หรือเปล่า ช้างไลฟ์ไม่ใช่ช้างเร่อย่างแน่นอน กฎหมายช้างห้ามเร่ช้าง เพื่อความปลอดภัยควาญและช้าง และคนอื่น การที่มาไลฟ์ขายผลไม้ขายอาหาร ไม่ได้เรื่องความปลอดภัยใดๆ ถ้ายังอดอยากกันแบบนี้ ไลฟ์ขายของไม่ได้ แล้วออกมาเร่ ขายของไม่สนถูกผิด อันนี้น่ากังวลกว่า อันนี้เป็นเรื่องที่รัฐควรจะให้ความร่วมมือดูแลโดยด่วน 

ทำไมควาญข้างไม่ปรับตัว เขาอยู่กับช้าง อยู่ 1 ต่อ 1 บอกให้ทำอาชีพอื่นเขาทำไม่ได้ เขาไปข้างนอกแล้วช้างออกไปทำลายข้าวของจะทำอย่างไร

การไม่มีงานทำ ผมตั้งคำถามรัฐเหมือนกันเราต้องอยู่กับโควิด เขาสามารถควบคุมสถานการณ์ แล้ว ถ้าเปิดสถานพื้นที่ได้ไม่ต้องกังวล  การจ้างงาน ปล่อยให้ทุกอาชีพตกงาน และเลือกให้เยียวยา จ่ายเป็นรายหัว แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้ารัฐบาลที่ดีต้องมีลักษณะการจ้างงาน อันนี้ต่างหากไม่เป็นภาระสังคมโดยรอบ เอาเงินกระตุ้นเยียวยาไปให้ถึงภาคธุรกิจ อันนั้นเป็นกลไกที่เขาสามารถดูแลกันเอง เขาต้องออกมาสู้รบปรบมืออันนี้คือภาครวมของปัญหาที่ผมจะชี้” ชนินทร์ กล่าวถึงสภาพปัญหา

รองโฆษกพรรคเพื่อไทย  ได้เสนอ 5 ข้อเสนอทางแก้กรณีคนเลี้ยงช้าง ดังนี้

“1. ต้องเยียวยาทันที ตอนนั้นที่ขอไปอาจจะขอ 5 พัน 6 เดือน เหลือเวลาแค่ 6 เดือน มันขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว ดูแล้วเยียวยาให้เขาได้เลย ลดปัญหาในระยะสั้นได้ 

2. ต้องหาที่ให้ช้างอยู่ เขาไม่ควรจะอยู่ตรงไหน สนับสนุนปางช้าง ให้เขาเก็บช้างได้แทนที่จะปล่อยช้างย้ายไปมา ซึ่งการกลับบ้านก็ไม่รู้ว่ากลับไปจะทำอย่างไรด้วยซ้ำ 

3. เรื่องอาหารถ้ารัฐสามารถดูแล เราต้องสั่งเกษตร จากชัยภูมิ  มันเป็นสิ่งที่รัฐต้องมาแทรกแซงเข้ามาทำ ทุกวันที่ผ่านมา สับปะรดเหลือ รัฐเองต้องเข้ามาตอบโจทย์เกษตรกรและคนเลี้ยงช้าง โดยใช้ราคาถูก ถ้ารัฐสามารถจ่ายได้ทั้งหมดเข้าถึงผลผลิต เป็นกลไกเยียวยาอย่างหนึ่ง

4. เรื่องที่ดิน ทรัพยากรที่ดินคนว่างงาน ถ้าเขาสามารถจ้างรัฐมาปลูกหญ้าปลูกผลผลิตการเกษตรให้เขามา แมชชิ่งเข้าด้วยกัน ใช้ที่ดินของรัฐเองไม่มีค่าเช่ามาซัปพอร์ตเป็นอาหารให้กับช้าง ถ้ารัฐเลือกจะดูแลเห็นใจ มันมีทางออกของมันอยู่

5. การท่องเที่ยว สุรินทร์ จะมีงานช้าง พ.ย. เป็นโอกาสสุดท้ายเป็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เร่งฉีดวัคซีน เปิดประเทศได้ สนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว” ชนินทร์ กล่าว

(ภาพ : คุณากร ปรีชาชนะชัย (เจียง))

“ควาญ อีกล็อกที่ต้องปลด เพื่อช่วยช้าง” สส.สุรินทร์

คุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์ อธิบายว่า ปัญหาคือควาญช้างไม่มีรายได้ หลังจากโควิดมาช่วงเดือนมีนาคม มีกลุ่มคนเลี้ยงช้างเจอปัญหาช้างตกงานปี 63 ได้นำไปหารือประธานคณะกรรมาธิการ และยื่นกระทู้ถึงรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่องของให้สิทธิ์ช้างตกงาน

“ทางสุรินทร์เป็นโครงการแต่ละที่ ซึ่งช้างเหล่านี้มีเงินเดือนอยู่แล้ว 10000 บาท กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ก็อยู่ตามปางช้างต่างๆ ตอนนี้ก็เจอสภาวะนั้นอยู่ ช้างก็ทยอยกลับพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เท่าที่เช็คข้อมูล 280 เชือกเคยคุยกับรมว.ทรัพยากรฯ เอาช้างเข้าร่วมโครงการคชอาณาจักร มีพื้นที่ป่า 3 พันไร่เต็มที่ได้ 50 เชือก ดูเม็ดเงินที่จะไปให้อุดหนุนเข้าร่วมโครงการ 280 เชือกซึ่งไม่พออยู่แล้ว 

ควาญช้างได้เข้าร่วมจังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่ดูแลในเรื่องของช้าง หาพื้นที่ดำเนินการ ตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนรักษ์ช้าง บ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำลังหาพื้นที่ 50 ไร่ เพื่อหาเงินงบประมาณมาให้ช้าง อันนี้น่าจะเป็นงบประมาณยั่งยืนกว่าแต่ตรงนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน และการแก้ไขปัญหาระยะยาว

ภาครัฐเบื้องต้นควรจะเยียวยา ให้กลุ่มคนเลี้ยงช้าง ซึ่งจำนวนไม่ได้มากมายเลย และต้องปรับตัว ซึ่งสภาวะโควิดไม่แน่นอน หากปางช้างเอกชนไม่ต่อสัญญากับเขาปัญหาคือช้างเร่ร่อนก็สามารถทำผิดก็ทำได้เลย” คุณากร กล่าว