GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

1.
บ้านผมอยู่บนภูเขา ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางราว 900 เมตร จึงไม่เสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมขังเหมือนพื้นราบภาคกลางและอีสานอย่างที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ อันที่จริงช่วงนี้บรรยากาศที่นี่เริ่มจะเปลี่ยนสู่ฤดูหนาวอันยาวนาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตุลาคมถึงมีนาคม แต่ผมก็ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านเฟซบุ๊กและข่าวตามสื่อออนไลน์ตลอด ช่วงห้าหกวันมานี้หลายพื้นที่เผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมอย่างหนัก มิหนำซ้ำกรมอุตุฯ ยังออกมาเตือนให้เตรียมรับมือ เพราะจะมีฝนตกหนักและอาจเกิดน้ำท่วมอีก
แต่ในระหว่างที่ผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมกำลังเครียด ลุงตู่ของเราก็ลงพื้นที่ไปเยี่ยมและถามว่าสบายดีไหม ทั้งยังแนะไอเดียแก๋ไก๋ให้สวดมนต์ไล่พายุ เท่านั้นแหละประชาชนที่เคยเบือนหน้าหนีแกก็นึกอยากเจอขึ้นมาทันที หลายพื้นที่จึงมีคนแห่ไปแจกกล้วยต้อนรับเพียบเลย
เมื่อเห็นสภาพน้ำท่วมไกลสุดลูกหูลูกตาแล้วรู้ชวนให้สึกสะเทือนใจ หลายพื้นที่ทำให้บ้านเรือน ที่ไร่ที่นา ร้านค้า ข้าวของได้รับความเสียหาย คงทำให้พวกเขาหลายคนที่เดือดร้อนจากวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว ยังต้องถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากน้ำท่วมอีก
ผมติดตามข่าวน้ำท่วมภาคกลางไป ทำให้อดนึกคิดย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์ช่วงหลังน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2554 ไม่ได้ และผมก็รู้สึกกังวลใจปัญหาสะท้อนกลับที่อาจจะเกิดกับคนชนบท คนที่อยู่บนพื้นที่สูง ที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในเขตป่าไม่น้อย โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยที่ถือครองที่ดินทำกินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งหลังน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 คดีที่ชาวบ้านถูกฟ้อง ซึ่งบางคดีผมก็มีโอกาสเป็นทนายให้ ถูกศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกโดยอ้างปัญหาน้ำท่วม
2.
บ่อยครั้งที่ผู้มีอำนาจมักจะใช้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ มาเป็นข้ออ้างในการออกกฎหมายหรือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไปจำกัดสิทธิหรือให้โทษแก่ชาวบ้านที่เขาไม่รู้เรื่องและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติของคนชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยครั้งที่สำคัญ เช่น
เมื่อปี พ.ศ. 2531 เกิดปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มภาคใต้ สร้างความเสียหายอย่างมาก ทำให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดปิดป่าทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งการออกกฎหมายแบบนี้ในแง่ดีคือ ไม่มีการสัมปทานตัดไม้ทั้งประเทศ แต่ปัญหาคือเกิดปลูกกระแสอนุรักษ์ป่าแบบเขียวจัด ทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับชาวบ้านที่ใช้ที่ดินทำกิน ใช้ไม้และเก็บหาของป่าอย่างเคร่งครัด
เมื่อปี พ.ศ. 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่ภาคกลางถึงกรุงเทพฯ สร้างความเสียหายให้แก่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ และศูนย์กลางการบริหารประเทศ ทำให้หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ตื่นตัวและใช้อำนาจกับชาวบ้านอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะศาลที่ลงโทษจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้หนักขึ้น ดังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีหนึ่ง ที่ลงโทษจำคุกชาวบ้านโดยให้เหตุผลว่า
“ไม้สักเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญและเป็นสมบัติที่ที่ล้ำค่าของชาติ ควรที่ประชาชนจะต้องร่วมกันหวงแหน บำรุงรักษาให้อุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน มิใช่เป็นของส่วนตัวของผู้ใด
อีกทั้งไม้สักเป็นไม้หวงห้ามที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง วิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยงที่จะนำไม้จากป่ามาสะสมไว้เพื่อปลูกสร้างบ้าน เป็นเพียงการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น
ประกอบกับการกระทำของจำเลยเป็นการส่งเสริมให้มีการทำลายสภาพป่าให้เสื่อมโทรมลง มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมต่อพื้นที่ป่า อันเป็นต้นเหตุของความแห้งแล้งและภัยพิบัติจากน้ำป่าไหลหลาก”

3.
ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลาง ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำมากเกินไปอย่างเดียว แต่มีสาเหตุหลักๆ มาจากการขาดการวางแผนรับมืออย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการออกแบบผังเมืองและมีการก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำมากเกินไป ซึ่งกรณีนี้มีนักวิชาการชี้แจงแสดงเหตุผลอย่างชัดเจนแล้ว หากแต่ในทางนโยบายนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีการพยายามแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอทางวิชาการแต่อย่างใด
เมื่อสังคมตื่นตัวขึ้นมาครั้งหนึ่ง ผู้มีอำนาจก็วิ่งวุ่น ทำอย่างโน้นอย่างนี้เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าเขาได้ทำอะไรแล้ว แต่แล้วสักพักทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในที่ดีขึ้น
ผมคิดว่า การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้อย่างเข้มงวด และลงโทษชาวบ้านอย่างหนัก โดยเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคกลางได้นั้น มีส่วนถูกต้องเพียงน้อยนิด เพราะปัญหาน้ำท่วมภาคกลางมีสาเหตุพื้นฐานมาจากโครงสร้างอำนาจที่ทั้งไม่มีเป็นธรรม และไม่เอื้อให้สามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักวิชาการจริง ๆ
สำหรับการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงแบบแผ้วถางทำทุกปีนั้น ในบางกรณีก็ต้องยอมรับว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่การจะไปกล่าวโทษชาวบ้านเพียงอย่างเดียวนั้นก็ไม่ถูก เพราะปัญหานี้มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับปัญหาอีกหลายประเด็นเป็นลูกโซ่ เช่น เกี่ยวโยงกับเรื่องฐานะและโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้อยโอกาสการศึกษา ขาดการอุดหนุนที่มีประสิทธิภาพจากรัฐ วัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จึงต้องวางแผนทำอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือ ต้องไม่ไปเอื้อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่กดทับคนบางกลุ่ม
4.
ผมคิดว่าคนภาคกลางอยู่กับปัญหาน้ำท่วมมานาน และทุกคนอยากเห็นรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างชาญฉลาด ซึ่งผมเชื่อว่าปัญหานี้ย่อมมีวิธีการแก้ไขได้ แต่เราก็ไม่เคยเห็น ส่วนใหญ่เวลารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจนำเสนอแผนหรือโครงการ ก็มักถูกโต้แย้งหรือคัดค้านเสมอทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จะทำแบบไฟไหม้ฟางเพื่อเอาใจชนชั้นกลาง และเรียกคะแนนนิยมทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมานั้น ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏชัดว่าในท้ายที่สุดแล้วจะนำความเดือดร้อนมาสู่คนชายขอบ โดยเฉพาะคนยากจนในชนบท และกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง แต่กลับไม่ส่งผลตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ
ตั้งแต่หลังเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา มีการจับกุมดำเนินคดี และจำคุกชาวบ้านเนื่องจากทำกินในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือนำไม้มาใช้สร้างบ้านอยู่อาศัยไปจำนวนมาก แต่กลับพบว่าผืนป่าของประเทศไทยก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น และปัญหาน้ำท่วมภาคกลางของประเทศไทยก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
สังคมไทยต้องมาถกเถียงแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคกลางอย่างจริงจัง และเป็นไปตามหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจไปบีบบังคับเอาจากคนชายขอบ เพื่อปลอบใจคนภาคกลางว่าเขาได้ทำอะไรบางอย่างแล้ว … แล้วปีหน้าก็เตรียมรับน้ำท่วมอีก