#GreenOpinion : อารียา ติวะสุระเดช*

* อารียา ติวะสุระเดช : นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ผู้กำลังสนใจเรื่องปฏิบัติการการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในเมืองเป็นพิเศษ
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2564 ในวงอภิปรายออนไลน์ “โควิด-19 กระทบชุมชนเกษตรและสังคมชาวนาอย่างไร” ผ่าน Facebook LIVE ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน 2021 (Mekong-ASEAN Environmental Week) หรืองาน MAEW ภายใต้ธีม “ออกแบบอาเซียนใหม่: เสียงประชาชนในโลกวิกฤต” ระหว่างวันที่ 24-30 กันยายน 2564
ผู้ร่วมอภิปรายเป็นตัวแทนจากองค์กรที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยจากประเทศไทย กัมพูชา มาเลเซียและอินโอนีเซีย ที่มาอัพเดตสถานการณ์ผลกระทบจากช่วงโควิด-19 แต่สิ่งที่ผู้ร่วมอภิปรายทั้งหมดเห็นร่วมกันคือ วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ต่อระบบอาหาร เป็นตัวสะท้อนข้อจำกัดของระบบอาหารเชิงเดี่ยวที่บรรษัทเอกชน (corporate) พยายามจะผูกขาด เป็นระบบที่ไม่สามารถปรับตัวและยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือกับสถานการณ์วิกฤต
จึงกลายเป็นคำถามต่อว่า วิกฤตที่จะเกิดขึ้นอย่างโควิด-19 และวิกฤตที่จะรุนแรงขึ้นอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบอาหารที่เรามีอยู่ตอนนี้จะรับมือได้ไหม ข้อเสนอที่เกิดขึ้นคือ ส่งเสริมให้มีแหล่งอาหารที่หลากหลายด้วยการเคารพและรองรับสิทธิของชาวนา ชนเผ่าพื้นเมืองและผู้หญิงในการดูแลระบบนิเวศและอาหารท้องถิ่น ในส่วนของการสร้างระบบอาหารที่เป็นธรรม จำเป็นต้องทบทวนให้มีระบบแบบกระจายและลดห่วงโซ่อาหารให้สั้นลงผ่านการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

วิกฤตอาหารในช่วงโควิดคือภาพระเบิดของปัญหาที่คาราคาซังของระบบอาหารที่มีความผูกขาดมากขึ้น
โสเจียต เฮง (Socheat Heng) จาก สภาประชาชนรากหญ้า กัมพูชา (Cambodian Grassroots People’s Assembly) เปิดประเด็นด้วยสถานการณ์ภาพรวมว่า สถานการณ์ของเกษตรกรรายย่อยที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงในเรื่องที่ดินจากนโยบายสัมปทานที่ดินที่ทำให้บรรษัทขนาดใหญ่เป็นเจ้าของสัมปทานที่ดิน ในขณะที่เกษตรกรสูญเสียที่ดิน การเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ให้เป็นกรรมสิทธิบรรษัทเอกชน และการพึ่งพาปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชและเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ขึ้น อันเป็นผลพวงจากการเปิดการค้าเสรีของประเทศกัมพูชา ตามแนวคิดทุนนิยมเสรีนิยม การลงนามทวิภาคีและพหุภาคี และการมุ่งผลิตเพื่อส่งออกตามแนวทางของเกษตรพันธะสัญญา ดังนั้น เดิมทีที่เกษตรกรเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ แต่ปัจจุบัน บรรษัทเอกชนเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ ตลาด และความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแทน
และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 มาถึง เกษตรกรที่พึ่งการขายเป็นหลักสูญเสียรายได้ และกระทบต่อหนี้สิน ค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำหรือค่าอาหาร รวมทั้งการศึกษาของลูกหลาน ส่งผลให้เกิดภาวะเครียด กังวลต่อการแพร่เชื้อ หนี้สิน ซึ่งมีมาก่อนหน้าโควิด แต่ช่วงโควิดมันยิ่งซ้ำเติมกว่าเดิม เกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมสิน micro finance และเกิดหนี้นอกระบบที่ซับซ้อนกว่าเดิมและจ่ายคืนยากกว่าเดิม
ราเซลลา มาลินดา(Rassela Malinda) จาก องค์กร Pusaka Bentala Rakyat ประเทศอินโดนีเซีย เสริมเรื่อวิกฤตอาหารต่อด้วยมุมมองจากชนเผ่าพืนเมืองปาปัวและผู้หญิง โดยฉายให้เห็นถึงวิถีการดำรงอยู่คู่กับป่าและธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บของป่าหรือล่าสัตว์ที่ทำให้ชนพื้นเมืองปาปัวมีตัวเลือกที่หลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการที่สมบูรณ์ เช่นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่มีทั้งสาคู กล้วย มัน ที่กินคู่กับปลาและไก่ ความรู้ในการแปรรูปสาคู พืชเฉพาะถิ่นของป่าปาปัว ถูกพัฒนามาจนถึงปัจจุบันที่ชนพื้นเมืองสามารถเข้าถึงตลาดเฉพาะ และปลูกเสริมร่วมกับป่าและต้นไม้อื่น ๆ ซึ่งความรู้เหล่านี้และแรงงานที่สำคัญในการดูแลป่าและอาหารคือผู้หญิงปาปัว
แต่การคุกคามของวัฒนธรรมอาหารของอินโดนีเซียที่ผ่านมา ที่มาพร้อมกับ Act of Free Choice 1969 นโยบายการสร้างชาติและหลอมละลายวัฒนธรรมให้เป็นอินโดนีเซียหนึ่งเดียว ส่งเสริมการกินข้าวเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตหลักและการเปิดป่าได้เบียดขับให้พืชอื่น ๆ ในป่าที่เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตและสารอาหารอื่น ๆ หายไป รวมทั้งความรู้และสิทธิของผู้หญิงในการปกป้องแหล่งอาหารและวิถึชีวิตที่พัวพันกับป่าถูกสั่นคลอน และเกิดเป็นวัฒนธรรมอาหารเชิงเดี่ยวมากขึ้นแทน
ในเชิงเศรษฐกิจ อินโดนีเซียมีโครงการ Merauke Integrated Food and Energy Estate (MIFEE) ที่เปลี่ยนพื้นที่ป่าในนาของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการทำเกษตรแปลงใหญ่เช่น ปาล์น้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ แต่คนท้องถิ่นต่อต้านเพราะมองว่าโครงการนี้เป็นการแย่งยึดที่ดินมากกว่า และถูกขับเคลื่อนโดยบรรษัทข้ามชาติเป็นหลัก แถมกระบวนการการได้มาซึ่งฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้บอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ (Free, Prior and Informed Consent – FPIC) ยังถูกถกเถียงถึงความเป็นธรรมและได้ก่อผลกระทบที่ยังค้างคาในพื้นที่

การปรับตัวของเกษตรกรและคนในเมืองที่กลับบ้านไปไร่นาในสถานการณ์โควิด
นูร์ ฟัตรี อามีร์ มูฮัมหมัด (Nur Fitri Amir Muhamad) จาก ฟอรั่มความมั่นคงด้านอาหาร ประเทศมาเลเซีย (Forum on Food Security, Malaysia) เห็นด้วยกับโสเจียต เฮง ว่าสถานการณ์การผูกขาดระบบอาหารและทรัพยากรในกัมพูชามีลักษณะคล้ายกับสถานการณ์ของเกษตรกรราย่อยในที่อื่น ๆ ทั่วโลก ระบบอาหารในปัจจุบันบอบบาง (fragile) กว่าเดิมมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดแบบนี้
นูร์ ฟัตรี อามีร์ มูฮัมหมัดมองว่าความมั่นคงทางอาหารมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ การมีอยู่ของอาหารที่เพียงพอ (availability) การเข้าถึงอาหาร (accessibility) และความสามารถในการซื้อหาอาหาร (affordability) ในช่วงตอนต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19มาเลเซีย มีเคสผู้ติดเชื้อโควิดเยอะมากตั้งแต่แรก จึงมีวิธีการจัดการที่เข้มงวดมากเช่นกัน คือไม่ให้ใครออกจากบ้านเลย ยกเว้นแต่เหตุการณ์จำเป็น แล้วค่อยผ่อนปรนลงเป็นให้ออกไปไม่เกินรัศมี 10 กิโลเมตร
ในขณะเดียวกันเกษตรกรยังคงต้องผลิตอาหารไปเรื่อย ๆ ทำให้การมีอยู่ของอาหารที่เพียงพอไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการเข้าถึงอาหาร (accessibility) และความสามารถในการซื้อหาอาหาร (affordability) การปิดถนนที่เยอะมาก ทำให้ผลผลิตไม่สามารถส่งออกไปให้ผู้บริโภค อาหารกลายเป็นขยะของผู้ค้าส่ง (wholesaler) แม้ว่าจะมีคำถามว่าทำไมไม่นำอาหารเหล่านี้ไปบริจาค แต่ค่าขนส่งไปบริจาคก็แพงกว่าที่จะเลือกทิ้ง ในทางผู้บริโภคเอง หลาย ๆ คนก็ตกงาน โดนให้ออกจากโรงงานหรือบริษัท ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการซื้อหาอาหาร
แม้ว่าเกษตรกรอาจจะไม่มีปัญหาด้านการผลิตอาหารในตอนแรก แต่ตอนนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับมา ปัญหาใหม่คือปัจจัยการผลิตแพงขึ้น โดยเฉพาะค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าอุปกรณ์เครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น 50% เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่ค่าอาหารก็แพงขึ้น การงดส่งออกก็ส่งผลต่อเกษตรกรเช่นกัน
ในประเทศไทย อุบล อยู่หว้า จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก นำเสนอตัวเลขการสำรวจในพื้นที่อีสาน และพบว่าจาก 904 หลังคาเรือน มีคนกลับไปกว่า 600 คน เดิมทีทำงานรับจ้าง ขับแทกซี่ นวดแผนโบราณ ขายรถผลไม้ หลายคนตกงาน ไม่มีลูกค้า เมืองปิด ทั้งติดและไม่ติดเชื้อ ชุมชนเลยต้องจัดการกับผู้ติดเชื้อ อสม. ผู้ใหญ่บ้านและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต้องทำงานหนัก แต่ชาวบ้านบอกว่า คนบ้านเรา ให้กลับมาตายที่บ้านเรา ไม่มีใครอยากติดเชื้อ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องดูแลรักษากัน ทำให้เห็นว่า หมู่บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับหลาย ๆ คน การจากบ้านไปก็คือการไปเพื่อความอยู่รอดของคนที่อยู่ แต่บ้านคือเรือนตาย จึงขอกลับไปตายที่บ้านดีกว่า
งานสำรวจของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าโดยรวม คนที่เลือกกลับบ้านไม่กังวลเรื่องอาหาร ไม่เดือนร้อนเรื่องการกินอยู่ พวกเขายังสามารถหาอาหารหรือผลิตอาหารได้ ซึ่งสะท้อนระบบอาหารท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตมากกว่า แต่สิ่งที่คนเหล่านี้กังวลคือรายได้ โดยเฉพาะหนี้สิน ถ้าไม่มีรายได้เลย เขาจะกังวลกับอนาคต เขายังรอโอกาสกลับไปทำงาน เพื่อมีรายได้ เขาอธิบายว่า มันไม่ง่ายที่จะสร้างงานหารายได้ 100 บาทที่หมู่บ้าน เขารอโอกาสอยู่ โดยรวมมี 10% ที่พยายามอยู่บ้าน อาจจะมีคนที่มีทุน ประกอบอาชีพอิสระที่ยังพอพยายามทำงานที่บ้านได้

จินตนาการและทางเลือกอื่น ๆ ที่เราทุกคนสามารถร่วมสร้างระบบอาหารที่ยืดหยุ่นและเข้มแข็ง
อุบล อยู่หว้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชี้ว่า ปัจจุบันการรับมือกับวิกฤตอาหารส่วนใหญ่ยังคงเป็นการแจกอาหารโดยการรวมตัวโดยประชาชนและเอกชน ประเทศไทยยังขาดระบบสวัสดิการที่โอบรับกับวิกฤต โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง เพราะคนที่เข้าไม่ถึงอาหารทันทีคือคนจนเมือง และเกิดคนจนเฉียบพลัน คือคนที่เดิมมีรายได้ส่งงวดรถ แต่พอไม่มีรายได้ก็จนลงมาทันที ดังนั้นแต่ละเมืองและจังหวัดควรมีระบบข้อมูลแหล่งอาหารที่ชัดเจน มีระบบสำรองอาหารและระบบกระจายอาหารเพื่อรับมือกับวิกฤต เป็นระบบข้อมูลระดับตำบลหรือหมู่บ้าน และเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต เราจะทราบว่าเราจะได้อาหารจากตรงไหน ต้องรวบรวมที่จุดไหนและกระจายต่ออย่างไร
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างเรื่องพื้นที่ป่าในฐานะพื้นที่กันชน แม้ว่าทรัพยากรป่าไม้และน้ำก็ถูกใช้อย่างเข้มข้นขึ้นในช่วงที่คนกลับไปชนบท ในพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าเอกชนหลายแห่ง เคยถูกใช้แบบสาธารณะโดยคนในพื้นที่ไปเก็บเห็ด แต่ในช่วงช่วงสถานการณ์โควิด มีคนมาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้เจ้าของแสดงสิทธิของเขามากขึ้น ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น ผลผลิตจากป่าก็แพง ลักษณะการใช้ก็เป็นคนมาจากทางไกลและแตกต่างจากวิธีปฏิบัติของท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มองว่าการมีแหล่งอาหารที่หลากแหล่ง เช่น การสร้างระบบทรัพย์สินส่วนรวม (common property) พื้นที่รกร้าง (neglected property) หรือที่ดินส่วนรวม ล้วนมีศักยภาพเป็นพื้นที่กันชน (buffer) ให้คนสามารถหาเงิน หารายได้ในช่วงวิกฤตได้ และเสริมความมั่นคงทางอาหารของผู้คนได้เช่นกัน
ในขณะที่ ราเซลลา มาลินดา ยืนยันว่าการจะรักษาแหล่งอาหารที่หลากหลายได้นั้น สังคมต้องตระหนักถึงบทบาทผู้หญิงในการดูแลอาหารและป่า รัฐต้องเคารพและรับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ยอมรับอาหารท้องถิ่น และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในที่ดิน และลงนามปฏิญญาณว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อปกป้องสิทธิและจารีต เพราะการละเลยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองล้วนแต่จะทำร้ายอนาคตของป่าและแหล่งชีวิตอื่น ๆ
นูร์ ฟัตรี อามีร์ มูฮัมหมัด มองว่า NGO ทำงานเร็วกว่าภาครัฐ มีการส่งมอบผลไม้ผักที่ขายไม่ออก ส่งไปที่ต้องการมาก ๆ แล้วรัฐค่อยประกาศควบคุมตลาดสดทั่วประเทศเพื่อควบคุมการแพร่เชื้อไวรัสโควิด ซึ่งหมายความว่าตลาดสดหลายแห่งถูกปิดลง มาตรการนี้สามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ช่วยมาก เพราะก่อนจะมีสถานการณ์โควิด ยังขายได้ภายในวันเดียวกัน หมู่บ้านมีศักยภาพในการปรับตัวและฟื้นตัว (resilience) มากกว่า การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารควรทำในหลากระดับ (multilevel food security) ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ประเทศและโลก และเสนอว่าระบบอาหารที่ยืดหยุ่นจำต้องมีห่วงโซ่ที่สั้นลง (shorter supply chain) ที่พึ่งพาระบบขนส่งระยะไกล ผู้บริโภคต่างควรรู้จักวิธีการปลูก และลองเปลี่ยนวิธีการกิน โดยกินอาหารท้องถิ่นมากขึ้นได้ และสร้างชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนอาหาร เมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะเป็นการมีอยู่ของอาหารที่เพียงพอสำหรับทุกคน (availability for all) ยกตัวอย่างเช่นการทำสวนผักชุมชนบนพื้นที่รกร้างเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนรวม
ในพื้นที่การผลิต โสเจียต เฮง มองว่ารัฐกัมพูชาทำงานร่วมกับบรรษัทเอกชนและเสนอโมเดลระบบที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่มันเป็นโมเดลที่ถอนความเป็นอธิปไตยทางอาหารจากผู้คนไป ดังนั้นวิธีหนึ่งที่จะช่วยผู้ผลิตเกษตรกรได้ คือการทำฟาร์มระบบนิเวศเกษตร (agroecology) และการรวมตัวเป็นขบวนการเพื่อปกป้องอธิปไตยทางอาหารของท้องถิ่นและอำนาจของเกษตรกรในการรักษาพันธุ์พื้นบ้าน ตลาดท้องถิ่นและกระบวนการตลอดสายธารการเดินทางของอาหาร

หากย้อนกลับมาดูในประเทศไทย กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้มีตลาดเขียวเพิ่มขึ้น มีลูกค้าเยอะขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่ต้องการหาอาหารดีต่อสุขภาพมากขึ้น การส่งเสริมระบบอาหารท้องถิ่นที่เป็นระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอหรือจังหวัด เพื่อเสริมศักยภาพให้ระบบอาหารท้องถิ่นสามารถรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม จึงกลายเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคที่จะเรียนรู้และตระหนักถึงระบบอาหารที่กำลังถูกผูกขาด ไม่ว่าจะเพื่อหนุนเสริมให้เกิดระบบอาหารแบบกระจายหรือเพื่ออาหารที่ดีต่อสุขภาพคนและธรรมชาติ การเชื่อมโยงให้ใกล้กับผู้ผลิตมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านการปลูกเองและตระหนักถึงระบบอาหารและความสำคัญของผู้ผลิต คือแนวทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะสามารถสนับสนุนผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นได้ โดยเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุดและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
จินตนาการอีกแบบอีกคือการส่งเสริมให้มีระบบอาหารที่ถือชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งไม่ได้หมายถึงชุมชนในลักษณะที่เป็นชนบหรือหมู่บ้าน แต่เป็นชุมชนที่เราสามารถสร้างขึ้นที่ไหนก็ได้ บนฐานแนวคิดการแบ่งปัน (sharing) การรักษาสมดุลย์อำนาจในการรับมือกับวิกฤตและวางแผนการผลิตร่วมกัน สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้ผู้คนเห็นชัดว่าระบบอาหารที่บรรษัท (corporate) พยายามผูกมัดคือต้นตอที่สร้างปัญหาในระบบอาหารและความไร้ประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น และสิ่งที่เราควรร่วมกันพัฒนาคือระบบอาหารท้องถิ่นของพวกเราเอง