ยื่นประยุทธ์ เร่งปลดล็อกการดำเนินการ “โฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-ภาษีที่ดินก้าวหน้า”

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนจับมือเครือข่าย ยื่นประยุทธ์ – ประวิตร3 ข้อเรียกร้องให้เร่งปลดล็อกการดำเนินการ “โฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-อัตราภาษีก้าวหน้า” หลังพบ 6 ปีไม่คืบ 

ขีดเส้นตาย 30 วัน เร่งใช้กลไก “บจธ.” แก้ปัญหา หากไม่คืบหน้าพร้อมเคลื่อนไหวใน กทม. ผจว.ลำพูน รับจะรีบส่งต่อรัฐบาล

(ภาพ :มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

3 ข้อเสนอถึง ประยุทธ์ – ประวิตร

วันนี้ 28 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) จำนวนประมาณ 200 คน เข้ายื่นหนังสือ 3 ข้อเสนอ ทบทวนระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน-กลไกเข้าสิทธิ์ใช้ประโยชน์ที่ดิน-กฎหมายเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ.

สืบเนื่องมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ (22 ก.พ. 2554) ให้ บจธ. มีนวัตกรรมใหม่ในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมจัดตั้งเมื่อปี 2558 ดำเนินโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านไร่ดง ชุมชนบ้านแม่อาว ชุมชนบ้านแพะใต้ ชุมชนบ้านท่ากอม่วง จ.ลำพูน และ ชุมชนบ้านโป่ง จ.เชียงใหม่

ดิเรก กองเงิน เกษตรกรจากพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดินบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ตัวแทนยื่นหนังสือเปิดเผย ข้อเสนอ 3 ข้อ โดยสรุปดังนี้ 

1.ต้องทบทวนระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน “แบบปัจเจกบุคคล” และ “กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยรัฐ” ในรูปแบบที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันอย่างเดียว เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” 
2.รัฐต้องสร้างกลไกการปฏิรูปที่ดินที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเจตนารมณ์เพื่อรองรับการเข้าถึงที่ดินเกษตรกรรายย่อย คนจน ที่ต้องการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยจัดตั้ง ”สถาบันธนาคารที่ดิน” ตามข้อเสนอของภาคประชาชน หรือกลไกเดิมที่เรียกว่า “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(บจธ.)” 
3.เราเห็นว่า การออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า คือ มาตรการในกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพราะการเก็บภาษีที่ดินจากคนที่ถือครองที่ดินในอัตราก้าวหน้า จะทำให้ที่ดินที่กระจุกตัวอยู่ในมือนายทุน หรือชนชั้นนำถือครองถูกกระจายออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

อีกทั้งยื่นหนังสือโดยมีข้อความระบุว่า การดำเนินการของ บจธ. ในระยะแรกได้ดำเนินการเพื่อจัดซื้อที่ดินให้กับเกษตรกรภายใต้โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชนที่มีข้อพิพาท แต่เนื่องจากช่วงเดือน ม.ค. 2559 นั้นได้เกิดปัญหาเนื่องจาก บจธ. พยายามนำพื้นที่นำร่องเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อ และได้สรุปบนเวทีประชุมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน 

อ้างว่าชุมชนได้ยกเลิกแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ก.พ. 2554  ซึ่งเป็นแนวทางหลักสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรที่จะทำให้พื้นที่นำร่องสามารถเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อได้ จนเกิดการตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชนขึ้น เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ได้ข้อสรุปให้หาแนวทางในการสร้างนวัตกรรมในการจัดการที่ดินให้กับพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน

“นวัตกรรมการกระจายการถือครองที่ดินดังกล่าวเป็นรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐและองค์กรชุมชน เพื่อลดภาระการเช่าซื้อให้กับเกษตรกรและพัฒนาสร้างวัตกรรมการจัดการที่ดินที่ยั่งยืน ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าตามแนวทางที่ได้เสนอ เสมือนไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่อเกษตรกร ทั้งการยกเลิกมติ คณะรัฐมนตรี 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 และผลักดันแนวทางโครงการนำร่องในการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมหรือโฉนดชุมชน ยังไม่มีความคืบหน้า กลับเป็นการเตะถ่วงปัญหาไม่มีอนาคต ทำลายความหวังการปฏิรูปที่ดินให้แก่ชุมชนในพื้นที่โครงการนำร่อง” หนังสือระบุ 

(ภาพ :มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

ขีดเส้นตาย 30 วัน เร่งบจธ.แก้ปัญหา

ดิเรก กล่าวว่า ปี 2554 มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย หรือ คปท. เพื่อเรียกร้องแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ได้แก่ ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน และกองทุนยุติธรรม โดยหวังใช้กลไกการเก็บภาษีเพื่อให้นายทุนผู้ถือครองที่ดินมากต้องกระจายที่ดินออกมาให้ธนาคารที่ดินซื้อ แล้วนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายย่อยใช้ประโยชน์ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมแบบโฉนดชุมชน เกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ก.พ. 2554 และเกิดเป็น บจธ. เมื่อปี 2558 แต่ปัจจุบันกลับไม่ตอบสนองเจตนารมณ์เดิมของประชาชน

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นที่บ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่ชุมชนเคยเข้าปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2545 หลังวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกปี 2540 ซึ่งมีนายทุนกว้านซื้อที่ดินภายใต้โครงการบ้านสวนอ้อมดอย แล้วไม่สามารถดำเนินการกระบวนการได้ ทำให้กลายเป็นที่ดินทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ หากเป็นไปตามระเบียบของ บจธ. ชุมชนต้องซื้อที่ดินในราคาไร่ละ 3.5 แสนบาท ในเนื้อที่ 313 ไร่ ทำให้ชาวบ้านต้องเป็นหนี้สินครัวเรือนละ 1.3 ล้านบาทโดยไม่มีงบประมาณอุดหนุน ต่างจากเกณฑ์ของกรมธนารักษ์ตามมติ ครม. 22 ก.พ. 2554 ที่แต่ละครัวเรือนจะรับภาระหนี้สินไม่เกิน 2.3 แสนบาท 

“บจธ. ซื้อที่ดินจากนายทุน แล้วกลับกลายมาให้ชาวบ้านซื้อต่อในราคาที่ไม่ยุติธรรม มีกรอบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับมากมายที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ กำหนดระยะเวลาการผ่อนคืน เป็นปัญหาภาระหนักของชาวบ้านที่จะสืบทอดที่ดินไปถึงลูกหลานที่จะไม่สามารถผ่อนเงินคืนได้แน่ๆ เพราะราคาสูงมาก ราคาที่ดินตามมติ ครม. 22 ก.พ. 2554 เดิมเป็นการประเมินจากกรมธนารักษ์ แต่ปัจจุบันเป็นการเสนอขายตามราคาตลาด เกิดเป็นปัญหาภาระหนี้สินที่สูงเกินความจำเป็น ทั้งที่เราเป็นผู้ใช้ที่ดิน รักษาที่ดินอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

นวัตกรรมที่ชาวบ้านเสนอคือ ครึ่งราคา คือขอลดหย่อนผ่อนหนี้สินที่เกินภาระ สองคือเรื่องของการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างยั่งยืน รัฐลดราคาค่าที่ให้ครึ่งหนึ่งนั้นมีอำนาจจะป้องกันไม่ให้ที่ดินถูกขายทอดตลาด เป็นการรอนสิทธิในที่ดินโดยให้เป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐกับชุมชน เป็นนวัตกรรมที่จะใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนและเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนคนจน นี่คือนวัตกรรมที่เราเสนอแต่ บจธ. ไม่ตอบสนอง” ดิเรกกล่าว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ขอทราบคำตอบที่ชัดเจน ถ้ายังไม่มีแนวทางและคำตอบอย่างชัดเจน ภายใน 30 วัน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน จะยกระดับการเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดินตามโครงการนำร่องอธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ไปยังส่วนกลางที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังคำตอบด้วยตนเอง

(ภาพ :มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

ผจว.ลำพูน รับส่งต่อระดับนโยบาย

วรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และยืนยันว่าจะนำเรียนข้อมูลประเด็นต่างๆ ไปให้ผู้บริหารในระดับนโยบายได้รับทราบและดำเนินการต่อไป สิ่งใดที่จังหวัดลำพูนสามารถร่วมทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการกับภาคประชาชนได้ ตนก็จะดำเนินการอย่างเต็มที่ 

“เรื่องนี้ก็ต้องเรียนว่าทำงานร่วมกันมาตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างก็ทำงานผ่านคณะกรรมการภาครัฐ และภาคประชาชน มีทั้งกลุ่มพีมูฟ P-MOVE ซึ่งการทำงานนั้นเราก็ทำงานร่วมกันมีรายละเอียดไม่ตรงกันบ้างก่อนหน้าเราก็ปรับปรุง เรียนรู้ข้อมูลซึ่งกันและกัน แล้วก็ปรับปรุงข้อมูลรายละเอียด ทำในรูปแบบคณะกรรมการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งประชุมในพื้นที่จังหวัดลำพูนเอง แล้วก็ที่ส่วนกลางทั้งคณะอนุกรรมการกระทรวงมหาดไทย เข้าไปทั้งพร้อมคณะสุแก้ว ฟุงฟู

แล้วก็ในคณะใหญ่ที่มีท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานนั้น ได้ประชุมมีการหารือมาตลอด ในช่วงเวลานี้ที่พี่น้องได้มองเห็นหากเป็นประเด็นที่อาจจะเกิดปัญหาในการดำเนินการ ได้มีการยื่นหนังสือในวันนี้ผมในนามของผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ก็จะรับเรื่องนะเรียนข้อมูลในประเด็นต่างๆไปให้ ผู้บริหารในระดับนโยบายได้รับทราบแล้วก็ดำเนินการต่อไป”วรยุทธ กล่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ยังอธิบายอีกว่า ในเรื่องเหล่านี้สิ่งใดที่จังหวัดลำพูนสามารถที่จะร่วมทำงานในรูปของคณะกรรมการทางภาคประชาชนเราก็จะดำเนินการอย่างเต็มที่สิ่งใดที่พ้นจากดำเนินงานรูปคณะกรรมการของจังหวัดลำพูน ซึ่งมีผม มีคณะที่เกี่ยวข้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ดินจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ป่าไม้ หรือว่าหน่วยงานทุกภาคส่วนได้ดำเนินการร่วมกันกับภาคประชาชน ซึ่งมีคณะต่างๆ ตอนนี้เราลงไปถึงอำเภอ ถึงตำบลทั้งหมดแล้ว สิ่งใดที่สรุปรายละเอียดแล้ว ต้องเสนอระดับนโยบาย ระดับประเทศ ก็จะได้ดำเนินการต่อไป