GreenJust: เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

1.
เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ ผมได้รับการประสานงานให้เข้าร่วมประชุมออนไลน์กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานติดตามตรวจสอบโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพลเป็นการด่วน เนื่องจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นขอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้ว ซึ่งเพื่อนได้ถ่ายรูปรายงานหน้าที่มีรูปภาพของผม และข้อความที่แสดงว่าผู้จัดทำรายงาน EIA ได้มาพบและชี้แจงให้ผมเข้าใจโครงการแล้ว
ความจริงคือ ในวันนั้นมีกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นอาจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ติดต่อจะขอพบผมเพื่อคุยเรื่องโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล เนื่องจากตอนนั้นผมและเพื่อนจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่โครงการนี้ด้วย
ผมพยายามเลี่ยงไม่ให้พบหลายครั้ง แต่วันหนึ่งพวกเขามาหาผมที่ร้านกาแฟในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งวันนั้นพวกเขาก็ได้พยายามอธิบายถึงข้อดีของโครงการ เหมือนอย่างที่เขียนไว้ในรายงาน EIA พร้อมทั้งได้ถ่ายรูปผมโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตผม และต่อมาก็ได้นำรูปนั้นไปใช้โดยไม่ได้ขอความยินยอมจากผม
อย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขารับเงินก้อนหนึ่งมาทำงาน เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำให้เสร็จเพื่อส่ง แล้วรับเงินก้อนโตส่วนที่เหลือ เสร็จแล้วแยกย้ายกันไป ส่วนเรื่องจริยธรรมทางวิชาการนั้นถูกเงินก้อนโตนั้นกลบเสียสิ้นแล้ว

2.
โครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล มูลค่าการลงทุนกว่า 71,000 ล้านบาทนี้ ถูกโฆษณาเติมฝันให้กับชาวนาภาคกลางว่า จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งของชาวนาภาคกลางกว่า 1.6 ล้านไร่ และ และพวกเขายังพยายามย้ำว่า น้ำในลำน้ำยวมที่มีปริมาณราว 2,949 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม.) จะไหลเข้าประเทศพม่าและลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่โครงการนี้จะผันน้ำเหล่านี้มาแก้ไขปัญหาน้ำแล้งให้ชาวนาภาคกลางของไทย
ผมติดตามโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด ผมมีคำถามใหญ่ เพียงคำถามเดียวคือ โครงการนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาของชาวนาภาคกลางได้จริง หรือพวกเขาเพียงถูกนำมาใช้เป็นตัวประกัน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการผลักดันโครงการก่อสร้างนี้เท่านั้น

3.
การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประชาชนและรัฐจะต้องลงทุน แต่การลงทุนนั้นจะต้องคุมค่า และไม่แย่งชิงทรัพยากรจนทำให้คนที่เขาเป็นเจ้าของได้รับความเดือดร้อน และไม่ทำลายระบบนิเวศน์ด้วย ผมจึงอยากชวนทุกท่านมาพิจารณาข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ดังต่อไปนี้คือ
หนึ่ง ปัญหาเกี่ยวกับ “น้ำ” ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 16 จังหวัด ประสบทั้งที่เป็นปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งบางพื้นที่ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้วภายในปีเดียวกัน โดยในฤดูน้ำหลากจะมีปริมาณน้ำมหาศาลไหลจากภาคเหนือลงไป ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ในขณะที่ฤดูแล้ง ปริมาณน้ำจะเหลือน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ครอบคลุมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ประมาณ 25,280 ตารางกิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน บริเวณจังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม นครนายก พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและพื้นที่น้ำท่วมถึง รวมประมาณ 35,000 ตารางกิโลเมตร
โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเหล่านี้ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุ่มน้ำร้อยละ 80 พื้นที่ชุมชนเมือง พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ร้อยละ 20 มีประชากรที่ประสบปัญหาประมาณ 18 ล้านคน
สำหรับพื้นที่น้ำแล้ง ครอบคลุมลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ทั้งหมด 16 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 1.6 ล้านไร่ หรือประมาณ 2,600 ตารางกิโลเมตร
สอง ปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก และ
ท่าจีน พื้นที่ทั้งหมด 157,925 ตารางกิโลเมตร หรือ 98,703.75 ไร่ มีประชากรประมาณ 25 ล้านคน โดยทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 33,132 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งร้อยละ 81 ของปริมาณน้ำท่าทั้งปีเกิดในฤดูฝน
โดยสามารถจัดเก็บน้ำได้ทั้งหมดเพียง 8,761.5 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับ 33.33% ของปริมาณน้ำ แยกเป็นน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (เขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิตต์ , เขื่อนป่าสัก , เขื่อนแควน้อยบำรุงแกน) รวมกัน 5,934.34 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำในระบบชลประทานขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่ภาคกลางอีก 2,827.16 ล้านลูกบาศก์เมตร
สาม ปริมาณความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ภาคกลาง
จากข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) พบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณความต้องใช้น้ำทั้งลุ่มน้ำ ประมาณ 11,377.34 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแยกประเภทการใช้น้ำได้ดังนี้
- น้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว 236.42 ล้านลูกบาศก์เมตร
- น้ำใช้เพื่อการเกษตร 7,787.60 ล้านลูกบาศก์เมตร
- น้ำใช้เพื่อการอุตสาหกรรม 931.95 ล้านลูกบาศก์เมตร
- น้ำใช้เพื่อการปศุสัตว์ 34.96ล้านลูกบาศก์เมตร
- น้ำใช้เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ท้ายน้ำ 2,386.41 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับปริมาณน้ำที่ยังขาดแคลน นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยข้อมูลให้กับบีบีซีไทยว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางน้ำไม่พอใช้ โดยทางกรมชลประทานประมาณการว่ายังขาดอยู่ 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร
สี่ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล
“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล” เป็นชุดโครงการใหญ่ ที่จะมีซอยเป็นโครงการย่อยอีก 4 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 71,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำยวม จากอำเภอสบเมยจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเติมเขื่อนภูมิพล เฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
เขื่อนน้ำยวม เป็นเขื่อนหินถมตาดผิวคอนกรีต มีความสูง 69.50 เมตร สันเขื่อนมีความกว้าง 9 เมตร และยาว 260 เมตร รวมมูลค่าการก่อสร้าง 2,037.18 ล้านบาท
อุโมงค์ส่งน้ำ ความยาว 61.52 กิโลเมตร และมีความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางอุโมงค์เฉลี่ย 8 เมตร มูลค่าการก่อสร้าง 45,478.12 ล้านบาท
สถานีสูบน้ำสำหรับติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 6 เครื่อง อาคารดักตะกอน การสร้างถนนเข้าสถานีสูบน้ำ และปรับปรุงลำน้ำ มูลค่าการก่อสร้าง 1,097.85 ล้านบาท
สร้างระบบสายส่งไฟฟ้า ไปยังหัวงานเขื่อน สถานีสูบน้ำและตามแนวอุโมงค์ส่งน้ำ รวมงานอุปกรณ์เครื่องกลไฟฟ้าและระบบสายส่งไฟฟ้า มูลค่าการก่อสร้าง 3,735.84 ล้านบาท
ประมาณการค่าใช้จ่ายเมื่อเปิดดำเนินการปีละ 3,313 ล้านบาท คือ ค่าบำรุงรักษาและค่าดำเนินการ 328 ล้านบาทต่อปี ค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำโดยเฉลี่ยประมาณ 2,985 ล้านบาทต่อปี

4.
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ ในทางตรงกันข้าม มีน้ำมากกว่าปริมาณความต้องการใช้มาก หากแต่มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน สร้างความเสียหายจำนวนมาก แล้วก็ไหลออกสู่ทะเลหมด โดยสามารถกักเก็บไว้ได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น ทำให้ไม่เหลือน้ำพอใช้ในฤดูแล้ง กล่าวคือ
ปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณมากถึง 26,288.42 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประมาณความต้องการใช้น้ำของทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยามีเพียง 11,377.34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียงร้อยละ 43.28 ของปริมาณน้ำท่าที่มีอยู่ในพื้นที่เท่านั้น แต่มีปัญหาว่าระบบการจัดเก็บน้ำ สามารถจัดเก็บได้เพียง 8,761.5 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือเพียงร้อยละ 33.33 ทำให้ยังขาดแคลนน้ำอีกประมาณ 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร
แล้วชาวนาภาคกลางที่ถูกอ้างเสมอว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการผันน้ำนี้ จะมีโอกาสได้ใช้น้ำจากโครงการนี้จริงหรือ
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 รายงานว่า นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะเวลา 10 ปี (ปี 2564-74) โดยโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ก็เป็นหนึ่งในในการพัฒนาโครงข่ายน้ำที่จะนำไปช่วยพื้นที่อีอีซี
นอกจากนี้ นายวีระกร คำประกอบ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ยังได้กล่าวว่า “หากว่าเกษตรกรต้องจ่าย ก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรต้องคำนึงถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ว่าแอะอะก็ใช้น้ำเยอะแยะจนน้ำไม่พอ ถ้าเราเก็บค่าน้ำชาวนาเพิ่มซักบาทนึง รัฐบาลช่วยซักบาทนึง ปีหนึ่งก็ไม่เท่าไหร่หรอกครับ”
แม้กรมชลประทานจะใช้สำนวนว่า “สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต” แต่กลับมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ขาดซึ่งยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และไม่มีการนำเทคโนโลยีหรือวิทยาการที่ทันสมัยมาใช้อย่างเท่าที่ควร โครงการผันน้ำนี้เป็นการผันน้ำจากที่อื่นไปเติมให้เขื่อนภูมิพล โดยใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ที่ละเลยต่อการจัดการน้ำในพื้นที่ ที่มีปริมาณมหาศาลที่ยังไม่สามารถจัดเก็บได้ แต่ถูกปล่อยไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์มากถึง 17,526.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 66.67 ของปริมาณน้ำท่าในพื้นภาคกลาง
ผมคิดว่า โครงการผันน้ำนี้ เป็นแนวความคิดจัดการน้ำที่คับแคบ เพราะไม่ได้เกิดจากคนที่มีความรู้จริง และไม่ได้เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางอย่างแท้จริง หากแต่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่ผูกขาดอำนาจตัดสินใจ ด้วยความรู้แบบพื้นๆ และล้าสมัย ซึ่งปัญหาน้ำในประเทศไทย เป็นปัญหาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นจะต้องมีผู้ที่มีความรู้อย่างรอบด้านมาจัดทำ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
หมายเหตุ : พบกับ GreenJust ทุกเช้าวันเสาร์