ร่างกฎหมายลำดับรอง พ.ร.บ.กระทบสิทธิปชช.เขตป่าหนัก พีมูฟ ยื่นหนังสือกมธ.ทบทวน
พีมูฟ ยื่นหนังสือร้องกมธ. ทบทวนกฎหมายกระทบสิทธิที่ดินทำกินชนเผ่าพื้นเมืองในเขตป่า และ 2 ข้อเสนอหาทางออก สส.ม้ง รับเรื่องพร้อมเคลื่อนรายงานผลปชช.ผู้ได้รับกระทบพ.ร.บ. 3 ฉบับเสนอ กมธ. นักวิชาการชี้ ด้วยทิศนี้ อาจทำให้กว่า 4000 ชุมชนในเขตป่าวันนี้เป็นคนรุ่นสุดท้าย ที่จะอยู่ในเขตป่าได้

ยื่น “กรรมาธิการฯ ชาติพันธุ์”
วันนี้ 23 กันยายน 2564 เวลา 14.00 น. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปก. หรือ P-MOVE) ตัวแทนจากเครือข่ายชาติพันธุ์ภาคเหนือ ยื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมข้อเสนอ “กฎหมายลำดับรอง พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 และพ.ร.บ.ป่าสงวนฯ” ให้กับ มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอหาทางออกให้กฎหมายมีข้อบัญญัติอาจส่งผลกระทบละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ณ ห้องประชุมมูลนิธิโครงการหลวง บ้านหนองหอย อำเภอแม่ร่ม จังหวัดเชียงใหม่
หลังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลักดันร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ขอ กมธ. ตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับดังกล่าวและกฎหมายลำดับรองว่ากระทบต่อสิทธิชาติพันธุ์อย่างไร และชี้แจงมาตรการป้องกันผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์
หนังสือระบุว่า เมื่อวันที่ (26 ส.ค. 2564) ได้มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 12 ฉบับ และเมื่อวันที่ (7 กันยายน 2564) ก็ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2564 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2563 จำนวน 4 ฉบับ และเตรียมนำเสนอพิจารณารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามนั้น แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพข้อตกลงในการเจรจา ผลการประชุม และละเลยการรับฟังข้อเสนอของประชาชน
“เมื่อวันที่ (20 สิงหาคม 64) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้จัดให้มีการประชุมออนไลน์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ขปส. ต่อร่างกฎหมายลำดับรองประกอบร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯมาตรา ปี64 และ พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่ามาตรา 121 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดย ขปส.ได้นำเสนอต่อที่ประชุมให้มีการทบทวนร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับ ให้นำข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังไปปรับปรุงเพิ่มเติมและนำร่างฉบับปรับปรุงแล้วนำมาประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยขณะนี้ขอให้ชะลอการร่างลำดับรองทุกฉบับไปก่อน จนกว่าจะมีมติร่วมกัน รวมไปถึงข้อเสนอ 16 พื้นที่ รูปธรรมในการนำร่างกฎหมายลำดับรองไปปฏิบัติในพื้นที่เพื่อปฏิบัติตามข้อจำกัดการก่อนประกาศใช้การอ้างถึง ขออนุญาตไปที่ข้อเสนอ
1 ให้ตรวจสอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ รวมทั้งร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับว่าสร้างผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเด็นใดบ้าง และ
2 ให้ชี้แจงมาตรการหรือแนวปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานและชุมชนเพื่อป้องกันผลกระทบจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมทั้งร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับ รวมทั้งขอข้อมูลการสำรวจพื้นที่ทำกินและพื้นที่การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาตรวจสอบร่วมกันจนมีข้อยุติ โดย มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการฯ รับเรื่องร้องเรียน” สุพอ ศรีประเทืองชัย ชาวปกาเกอะญอบ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวแถลงการณ์

“พร้อมรายงาน กมธ.” สส.ม้งเปิดเผย
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ประธานคณะอนุ กมธ. เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในคณะ กมธ. กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ อธิบายว่า ตนเป็นชาติพันธุ์ เข้าใจในความรู้สึกถึงปัญหา ได้จักทำรายงานผลกระทบจากการประกาศใช้พ.ร.บ. 3 ฉบับ และนโยบายทวงคืนผืนป่า เพื่อเสนอให้กรรมธิการฯ
“ปัญหาการประกาศกฎหมาย 3 ฉบับ ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 2562 เราเล็งเห็นว่ามีผลกระทบวิถีชีวิตที่เป็นปกติ วิสัย และเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม ของทุกท่านโดยเฉพาะพี่น้องกะเหรี่ยงปกาเกอะญอใช้ชีวิตอยู่ในป่า เราได้จัดทำรายงานเรียบร้อยนะครับ
รายงานผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. 3 ฉบับนี้กับนโยบายทวงคืนผืนป่า ตอนนี้รายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในกรรมาธิการฯ เดี๋ยวเราจะขับเคลื่อนสะท้อนให้เห็นภาพชัดว่ามันจะกระทบต่อสิทธิความเป็นพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร รวมถึงกฎหมายลูกที่กำลังเตรียมประกาศออกมาในอนาคต เราจะทำรายงานให้เป็นภาพสะท้อนให้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณารับรองความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของพี่น้องมากกว่านี้ เราเล็งเห็นแล้วว่าจะต้องมีปัญหาแน่นอน และแก้ปัญหาให้พี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม”
ด้านมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า
“พี่น้องชาติพันธุ์ วันนี้เรามีท่านสส.เป็นตัวแทน กลุ่มชาติพันธุ์ยืนอยู่ตรงนี้ ท่านทำทุกอย่างเพื่อพวกเรา กฎหมาย 3 ฉบับนั้น คณะเลยได้มอบหมายประธานอนุศึกษาเรื่องนี้ ปัญหาของท่านปัญหาความเดือดร้อนของท่านเรามีตัวแทนจะดูแลและเข้าใจวิถีชีวิตของพวกท่านอยู่แล้วเราก็ยินดี เราทำในระดับหนึ่งแล้ว ในขณะเดียวกันพวกเราอาจจะไม่เห็นวิธีการทำงานของเรา แต่เรามีคณะทำงาน เป็นประธาน ที่ดูแลเรื่องนี้ขอบคุณที่ยังมีตัวแทนชาติพันธุ์เข้าไปในสภา มีคนนี้เข้าใจปัญหาของท่านเป็นอย่างดี
ก็จะรับไปอันไหนที่ท่านพอจะเป็นช่องทางอันไหนที่จะได้รู้ว่าอันไหนเปลี่ยนแปลง อันไหนกระทบคนรู้ดีจะไม่หนีปัญหาก็คือท่าน สส.ณัฐพล นี้แหละค่ะ เป็นตัวแทนของชาติพันธุ์โดยตรงท่านมาถูกที่แล้วละค่ะ กลุ่มชาติพันธุ์ของเรา ชาวเขาอยู่ตามเขาต่างๆเยอะ ที่นี้เยอะปัญหาที่มีไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จะมีของอุทยานแล้วก็พื้นที่คนทำกิน”

กว่า 4,000 ชุมชน จะเป็น “คนในเขตป่ารุ่นสุดท้าย” และหายไปใน 20 ปี ?
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือจัดเวทีเสวนาออนไลน์ “กฎหมายลำดับรองออกตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เปิดเผย หากกฎหมายลำดับรองดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ชาวบ้านไม่ได้มีกระบวนการในการให้ความเห็น ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ว่าจะใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรอย่างไร และชาวบ้านจะต่อรองได้ตามเงื่อนไขของกรมอุทยานฯ ที่ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตเท่านั้น ได้แก่ อนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์คราวละ 20 ปี ซึ่งอาจหมายถึงการล่มสลายของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
“นี่คือโครงการที่จะลดและสลายชุมชนให้หายไปภายใน 20 ปี คนรุ่นปัจจุบันอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะเพิ่งเริ่มต้น แต่เมื่อเริ่มไปมากขึ้นและมีระยะเวลา 20 ปี ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนรุ่นใหม่แล้วปักหลักในพื้นที่ จะมีลูกหลานของเราจำนวนไม่น้อยขอสละสิทธิ์ในการที่จะอยู่อย่างยากลำบากในชุมชนเหล่านี้ นั้นหมายความว่าชุมชนเหล่านี้ก็จะถูกลบออกจากแผนที่ไป
นอกจากนั้น ใครบ้างที่จะมีสิทธิในที่ดินเหล่านี้ หนึ่งคือ ต้องเป็นคนที่มีที่ดินทำกินในอุทยานฯ ภายใต้กรอบระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ใครที่ตกสำรวจไปจะมีปัญหา สองคือ ต้องมีสัญชาติไทยหรืออยู่ระหว่างการยื่นขอสัญชาติไทย แน่นอนต้องมีชนเผ่าบางคนที่ไม่เคยยื่นขอสัญชาติ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ไป สามคือ ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ดังกล่าวเท่านั้น
ต้องครอบครองและใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง และไม่มีที่ทำกินอื่น ซึ่งในข้อเท็จจริง บางส่วนประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบคาบลูกคาบดอก เช่น บางส่วนอยู่ในป่าอนุรักษ์ บางส่วนอยู่นอกป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะเป็นปัญหา จะกลายเป็นคนมีที่ดินสองที่ ทำให้หมดสิทธิ์ในการมีที่ดินในป่าอนุรักษ์ไปด้วย รวมถึงต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ออกจากพื้นที่เหล่านั้นมาก่อน” กฤษฎากล่าว
นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อพี่น้องในป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิจำนวนไม่น้อยเลย พวกเขามีโอกาสในการถูกกีดกันสิทธิ หลายชุมชนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวหรือออกมาป้องกันสิทธิ หลายคนอาจจะยอมภายใต้การกำกับของอุทยานฯ ที่ผ่านมา นี่คือวิธีการแบ่งแยก ปกครอง และลิดรอนสิทธิของประชาชน
กฤษฎายังวิเคราะห์ว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการกำกับดูแลให้ชาวบ้านทำกินในกรอบการอนุรักษ์ จะปลูกป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ครอบครอง ทำกิน ใช้ประโยชน์ตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะรายงานถึงอธิบดี ถ้าใครผิดก็จะให้อธิบดีเพิกถอนสิทธิไป ระงับการใช้ทรัพยากร เจ้าหน้าที่เห็น หัวหน้าอุทยานฯ เห็น หรือตีความเอาเอง เขาก็รายงานไปที่อธิบดี เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่าความสัมพันธ์ของหัวหน้าอุทยานฯ กับชาวบ้านต้องดีมาก เพราะถ้าไม่ดีเมื่อไรเกิดปัญหาแน่นอน ชาวบ้านจะถูกรายงานไปอย่างไรก็ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่สิทธิชุมชน แต่เป็นคุก
“มันเป็นคุกชนิดหนึ่งที่ไม่มีลูกกรง แต่เพราะไม่มีลูกกรง เราก็เลยไม่คิดว่าถูกควบคุม แต่เราจะถูกตรวจสอบ เราจะถูกสอดส่องว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อุทยานฯ อนุญาตหรือไม่ แต่มันเป็นคุกในบ้านเราไง คุกเน้นเรื่องการขังในคุก แต่เมื่อคุณทำผิดเมื่อไหร่คุณถูกเด้งออกไปข้างนอก เราอยากจะเรียกสิทธิภายใต้กฎหมายแบบนี้ว่าสิทธิชุมชนจริงๆ หรือ” กฤษฎา ทิ้งท้าย