ปรากฏการณ์ “ไล่หมอสุภัทร พ้นจะนะ” ที่เกิดตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน นับว่าไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย คำถามที่น่าสนใจคือใครเป็นคนทำแล้วทำไม
ตัวแทนที่ติดตามกรณีจะนะจากหลายภาคส่วนร่วมวิเคราะห์ การโจมตีหมอครั้งนี้จะเกี่ยวโยงกับฤดูโยกย้ายราชการ การกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไร หรือเป็นการส่งข้อความและสัญญาณจาก “สามประสาน” ถึงประยุทธ์

ไม่ใช่ครั้งแรกโจมตีหมอ โยงฤดูโยกย้ายราชการ?
“หมอสุภัทร..หมอ ‘เอ็นจีโอ’ ทำเพื่อการเมือง ค้านการพัฒนาทุกรายการ ภาครัฐผู้มีอำนาจช่วยตรวจสอบพฤติกรรมด้วย ขอให้ออกไป” ป้ายผ้าสีขาว ตัวอักษรสีแดง ห้อยอยู่บนสะพานลอยกลางเมืองอ.จะนะ จ.สงขลา พร้อมกับการปรากฏตัวทั่วเมืองของใบปลิวปริศนา หน้ากระดาษเต็มไปด้วยข้อความต่อว่า
ส่งผลให้ช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ชาวอ.จะนะและพื้นที่ข้างเคียงพากันโพสโซเชียลส่งคลิปให้กำลังใจนายแพทย์ที่ถูกโจมตีโดยบุคคลปริศนา “หมอสุภัทร” นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะและประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท
หมอสุภัทรเป็นที่รู้จักดีว่าเป็นมากกว่าหมอรักษาโรค แต่ติดตามสถานการณ์พัฒนาในพื้นที่เคียงข้างกับชาวบ้านเสมอ รวมไปถึงโครงการล่าสุด นิคมอุตสาหกรรมจะนะขนาด 16,000 ไร่ในสามอำเภอชายฝั่งที่มีคำสั่งคสช.มีมติอนุมัติปลายปี 2559
“หมอสุภัทรเป็นคนหาดใหญ่ เรียนเก่งและสนใจทำงานเพื่อสังคมมาตลอด พอเรียนจบ กลับมาทำงานในชนบทกับชาวบ้าน เป็นผู้มีความรู้ พอได้อ่าน ‘อีไอเอ’ โครงการนู้นนี้และสังเกตเห็นความผิดปกติ จึงออกมาคัดค้าน” บรรจง นะแส ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เล่าในเสวนาออนไลน์เรื่อง “นพ.สุภัทร ก้างขวางคอ…ใคร? ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ” เมื่อ 17 กันยายน 2564
บรรจงกับผู้ร่วมเสวนาคนอื่น เช่น นูรี โต๊ะกาวี ชาวบ้านจะนะและดร.ฮุสนีย์ บินหะยีคอเนาะ เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เปิดเผยว่า พวกเขามั่นใจว่าหมอสุภัทรเป็นตัวจริงที่ทำงานเพื่อชุมชน และทำกับเครือข่าย โดยไม่ได้ต้องการเด่นดังเหมือนที่ถูกกล่าวหา
บรรจงตั้งข้อสังเกตว่า การโจมตีหมอสุภัทรรอบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดแล้วหลายครั้ง ครั้งก่อนเมื่อปี 2563 ที่กระแสคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะโด่งดังทั่วประเทศ
“ครั้งนี้แม้จะเกิดขึ้นช่วงเดือนกันยายนที่เป็นฤดูโยกย้ายของราชการ แต่จุดประสงค์ของการกล่าวหาคงมากกว่านั้น เป็นสัญญาณในสิ่งที่ใหญ่กว่า ว่าโครงการนิคมจะนะที่เงียบหายไปกำลังจะกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง”

โยงกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไร นิคมอุตสาหกรรมจะนะ?
รายงานข่าวเผยว่า โครงการเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจ อ.จะนะ จะใช้เงินลงทุน 18,680 ล้านบาท มีเนื้อที่รวม 16,753 ไร่ มีทั้งอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา อุตสาหรรมหนัก ศูนย์กระจายสินค้า และโรงไฟฟ้า
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในสภา เมื่อกุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกลได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.จากสงขลา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่าได้เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติได้กำไรจากการซื้อขายที่ดินในโครงการนิคมจะนะหรือไม่
ณรรธราวุธ เมืองสุข สมาพันธ์สื่อเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ที่ทำงานสื่อมวลชนในภาคใต้หลายปี วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่ง่อนแง่น หวั่นจะยุบไม่ยุบสภาหลังเลือกตั้งท้องถิ่นพฤศจิกายนนี้ อาจเป็น “ไฟลท์บังคับ” ให้กลุ่มทุนผู้ผลักดันโครงการเสี่ยงเสีย “เดิมพันราคาแพง”
นอกจากเม็ดเงิน ณรรธราวุธยังตั้งข้อสังเกตว่าผลประโยชน์อาจอยู่ในรูปแบบ “เสียงในการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของนักการเมืองประจำจังหวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการ ซึ่งพรรคสังกัดไม่ได้คะแนนเสียงดีนักในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ลักษณะใกล้ชิดระหว่างโครงการลงทุนกับการเมืองในสภาแบบนี้ ดร.รศ.เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรียกว่าเป็น “ขบวนการ 3 ประสาน” เมื่อรัฐบาล ข้าราชการ และนายทุน ทำงานกันอย่างใกล้ชิด
เขาเปิดเผยว่า ลักษณะของโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ยังเห็นได้ทั่วไทย เช่น โครงการบริหารน้ำลุ่มน้ำโขง-เลย-ชี-มูล
“เราได้ยินมานาน ถ้าชาวบ้านคัดค้าน ก็จะบอกว่าเอ็นจีโอหนุนหลัง ถ้าเอ็นจีโอออกมาก็บอกว่าต่างชาติ เกิดเป็น ‘ทฤษฎีการหนุนหลัง’ เราจะดูว่ารัฐบาลเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ต้องดูว่าเมื่อประชาชนคัดค้าน รัฐบาลรับฟังหรือบอกว่ามีคนหนุนหลัง”
เลิศชาย เสริมว่า รัฐบาลชุดนี้ยังมีนิสัยบริหารแบบขวาจัด อย่างอำนาจ-อนุรักษ์นิยม แม้จะมีเป้าหมายอยากสร้างรายได้ให้ประเทศ แต่ยังคงติดรูปแบบการพัฒนาแบบอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะกับวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดโรคระบาด

ส่งสัญญาณจาก “สามประสาน” ถึงประยุทธ์?
“ทำไมต้องโจมตีหมอสุภัทร โครงการขนาดใหญ่แบบนี้ แก๊งสามประสานรู้อยู่แล้วว่าได้ผลประโยชน์และประชาชนต้องคัดค้าน วิธีการที่เขาทำจึงต้องหาตัวละครหนุนหลัง บอกว่าชาวบ้านเขาไม่ได้คัดค้านด้วยตัวเอง
“หมอสุภัทรเป็นตัวละครตัวนั้นที่สมจริง เพราะเป็นผอ.โรงบาล และเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาคัดค้าน การโจมตีหมอปีนี้ เราอ่านได้ว่า…จะลุยแล้วนะ บอกพลเอกประยุทธ์ว่าไม่ต้องห่วงเสียงคัดค้าน เพราะพวกนี้มีเบื้องหลังและผลประโยชน์ทั้งนั้น”
เลิศชาย วิเคราะห์
“เราสามารถอ่านได้สองอย่าง ได้แก่ หนึ่ง ‘กลุ่มสามประสาน’ อาจต้องการทิ้งท้ายก่อนเปลี่ยนรัฐบาล กดดันรัฐบาลประยุทธ์ให้ยอมเดินหน้าโครงการต่อ เช่น ผ่านขั้นตอนบางอย่าง เช่น การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA
สอง โครงการนี้ยังถูกผลักดันโดยข้าราชการท้องถิ่นในภาคใต้ที่ได้ประโยชน์ระหว่างกระบวนการ ไม่ว่าโครงการจะสำเร็จหรือไม่ ขอให้มีการขับเคลื่อนต่อ”
ปัจจุบัน โครงการจะนะกำลังอยู่ในขั้น “ชะลอ” จนกว่าจะศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เสร็จสิ้น เป็นผลจากข้อเรียกร้องที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ปักหลักชุมนุมข้างทำเนียบหลายวันช่วงปลายปี 2563
ด้าน นูรี โต๊ะกาวี ชาวบ้านตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยืนยันว่าชาวบ้านยังคง “สู้ไม่ถอย” เพราะเครือข่าย รวมถึงหมอสุภัทรทำงานร่วมกันมาตลอดกว่า 20 ปี และมีทั้งคนรุ่นใหญ่และเยาวชนร่วมต่อสู้เรื่องนี้
“ย้ายหมอสุภัทรคนเดียวจะมีประโยชน์อะไร แต่เป็นสัญญาณบอกว่าจะมีการรุกอีกครั้งหนึ่ง ต่อไปนี้เราคงต้องจับตาดู” เลิศชาย ทิ้งท้าย