สังคมไทยให้ค่า “สืบ นาคะเสถียร” น้อยเกินไป

(ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

 

1.

ในอารมณ์ความรู้สึกของคนที่อยู่ในวงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงเดือนกันยายน ส่วนใหญ่ก็จะนึกถึง “สืบ นาคะเสถียร” ผู้ซึ่งใช้ชีวิตของตนเองประท้วงระบบราชการและผู้มีอำนาจในกรมป่าไม้ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 31 ปีที่แล้ว “สืบ นาคะเสถียร” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 เพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าจะพูดให้ตรงกว่านี้ สืบ ทำเพื่อประท้วงกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เขาสังกัด และมีหน้าที่อนุรักษ์และคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่า เนื่องจากเขาพบว่าผู้มีอำนาจระดับสูงของกรมและรัฐบาล ไม่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากไม่สนับสนุนแล้วยังตำหนิและหาทางกลั่นแกล้งเขาและลูกน้องอีก  

สืบ เป็นใคร สำคัญอย่างไร ทำไมผมถึงเขียนถึงเขา? 

ผมเริ่มได้ยินเรื่องราวของสืบสมัยเรียนมัธยมต้น ผ่านเสียงเพลง “สืบทอดเจตนา” ของ “แอ๊ด คาราบาว” แต่ก็ไม่เคยทำความรู้จักเขามากไปกว่าเรื่องเล่าในบทเพลง จนกระทั่งเมื่อได้ไปทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับป่าไม้และที่ดิน จึงได้รับรู้เรื่องราวของ สืบ มากขึ้น  

สืบ เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดชีวิตการทำงานของเขา สืบ พยายามทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยความสุจริตและมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อปกป้องผืนป่าและอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะการปกป้องป่าแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง รวมทั้งการทำงานวิชาการเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งเขามีงานศึกษาวิจัยและงานเขียนทางวิชาการ รวม 14 ฉบับ นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่เข้าใจปัญหาความยากจนของคนชนบท เขาเคยทำแม้กระทั่งคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนของรัฐบาล ทำให้ผู้ใหญ่ในกรมไม่พอใจและไม่สนับสนุนการทำงานของเขา สามารถอ่านประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับ สืบ เพิ่มเติมได้ใน https://www.seub.or.th/bio-seub-nakhasathien/ 

 

(ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

 

2.

สืบ ไม่ใช่คนที่มีแนวคิดอนุรักษ์ป่าแบบปลอดคนเหมือนสมัยนี้ เขาเข้าใจดีว่าคนที่อยู่กับป่าต้องอาศัยป่าและไม่ได้ทำลายป่า เขาจึงเสนอแนวคิด “ป่ากันชน” เขาเสนอว่าบริเวณป่าสงวนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้งในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน ชาวบ้านสามารถมาใช้ประโยชน์ ตัดไม้หาของป่าได้ 

เขา พยายามอย่างหนักในการผลักดันให้ผู้มีอำนาจทุกคนเห็นความสำคัญของแนวความคิดนี้ แต่ผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้กลับไม่สนับสนุนเขา

นอกจากนี้ สืบ เข้าใจดีว่าผู้ที่ทำลายป่าและล่าสัตว์จริงๆ ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา แต่เป็นคนมีสีมีอำนาจ สืบ เคยกล่าวว่า “ลำพังชาวบ้านอย่างเดียวมันไม่หนักหนาหรอก ถ้าหากไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เดี๋ยวนี้ชาวบ้านจะขนไม้เถื่อนหรือล่าสัตว์ ก็มักจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมด้วย มันก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าเราอยากจะทำหน้าที่ของเรา อยากจะรักษาป่า รักษาสัตว์ป่าเราต้องขัดแย้งกับทั้งฝ่ายภาครัฐและฝ่ายประชาชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

ผมคิดว่าสังคมไทยยังให้ค่ากับ สืบ นาคะเสถียร น้อยเกินไป แม้กระทั่งหน่วยงานด้านป่าไม้และสัตว์ป่า ก็แทบไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของ สืบ พวกเขาอาจเคารพในความซื่อสัตย์ของสืบ อาจน้ำตาซึมบ้างหากได้ยินเรื่องราวชวนสะเทือนใจที่สืบเผชิญ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาคงก็คิดว่า สืบ เป็นเพียงคนที่จริงจังกับอุดมคติมากเกินไป ซึ่งนำมาใช้ในชีวิตจริงของคนที่เป็นข้าราชกรป่าไม้ไม่ได้ จึงไม่มีใครสนใจสานต่ออุดมการณ์ของ สืบ เพื่อขยายให้เป็นแนวคิดหลักในการทำงานด้านป่าไม้และสัตว์ป่า 

 

 

3.

สืบ จากไป 31 ปีแล้ว สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยดีขึ้นไหม?

ภายหลัง สืบ เสียชีวิต 2 ปี รัฐบาลได้ประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2535 (แต่นโยบายนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการตายของสืบ) กำหนดให้ประเทศจะต้องมีพื้นที่ป่าอย่างน้อย 40% แต่เมื่อดูสถิติพื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้แล้ว ในปี พ.ศ. 2534 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเท่ากับ 26.64% ของพื้นที่ประเทศ ผ่านไปอีก 10 ปี (พ.ศ. 2544) มีพื้นที่ป่า 33.15% ของพื้นที่ประเทศ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเมื่อผ่านไป 30 ปี (พ.ศ. 2563) มีพื้นที่ป่า 31.64% ของพื้นที่ประเทศ จึงกล่าวได้ว่าพื้นที่ป่าของประเทศไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เคยมีคนโต้แย้งว่า จริงๆ แล้วพื้นที่ป่าของประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขที่กระทรวงทรัพย์ฯ รายงานว่าเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงมากขึ้นนั้น เป็นเพราะการใช้วิธีการและเครื่องมือหรือเทคโนโลยี่ในการสำรวจที่แตกต่างกัน ทำให้ตัวเลขที่ระบุออกมาแตกต่างกัน แล้วอย่างนี้รัฐบาลจะทำให้ประเทศมีพื้นที่ป่าเท่ากับ 40% ของพื้นที่ประเทศได้อย่างไร

ทุกคนอยากเห็นพื้นที่ป่าของประเทศเพิ่มขึ้น ชนชั้นกลางส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายปลูกป่าของหน่วยงานรัฐ และเจ็บปวดเสมอเวลามีข่าวว่าคนบุกรุกป่า ที่สำคัญคือ มีความเชื่อฝังหัวว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าต้องกันไม่ให้คนเข้าไปในป่า ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับทัศนะแบบนี้ เพราะทัศนะแบบนี้ทำให้ไทยไม่เคยแก้ไขปัญหาป่าไม้ได้ ซึ่งต่างจากบางประเทศที่เขาประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการพื้นที่ป่า  

ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มพื้นที่ป่าได้อย่างน่าสนใจ คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทั้งสองประเทศนี้เคยประสบวิกฤติป่าเสื่อมโทรม แต่รัฐบาลก็ทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวิธีการสำคัญ คือ การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปลูก ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ และอุดหนุนให้คนชนบทปลูกป่าในที่ดินของตนเอง โดยไม่มีการยึดที่ดินให้ใครต้องเดือดร้อน ที่สำคัญคือรัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้จากป่าให้แก่คนชนบทอย่างกว้างขวาง   

สืบ ตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ดี เขาเคยกล่าวว่า “ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนจะต้องอยู่ได้ก่อน เพราะว่าคนที่ที่ด้อยโอกาสในสังคมเขาไม่สามารถไปเรียกร้องอะไร เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีอิทธิพลอะไร คนพวกนี้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับป่าไม้ เขาควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากป่า พวกนี้รักป่าอยู่แล้ว ผมคิดว่าป่าจะอู่หรือจะไปขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ด้วย” แต่ความคิดและความพยายามของเขาไม่ถูกผู้มีอำนาจยอมรับ ดังนั้น แนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าของไทย จึงทำอยู่ด้านเดียว คือ การอนุรักษ์ป่าแบบปลอดคน ซึ่งแนวทางการอนุรักษ์ป่าแบบนี้นำไปสู่การแย่งยึดที่ดินของเกษตรกรในชนบท แม้ส่วนใหญ่จะอะลุ่มอล่วยให้ชาวบ้านทำกินได้ แต่ก็ถูกกดทับไว้ด้วยข้อห้ามทางกฎหมายและนโยบายต่างๆ และไม่มีสิทธิเข้าถึงงบประมาณหรือการอุดหนุนของรัฐได้

สำหรับประเทศไทย นับตั้งหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ ใช้แนวทางการอนุรักษ์และสร้างป่าแบบปลอดคนอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด แต่ละปีมีการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานด้านป่าไม้จำนวนมหาศาล ดังแผนภูมิด้านล่าง แต่ก็ปรากฏว่าพื้นที่ป่าของประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรเป็น 

Trend หรือค่านิยมร่วมสมัยของรัฐในการบริหารจัดการพื้นที่ป่า คือ การใช้แนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบ Eco-Centric Approach หรือ “กระบวนทัศน์แบบมีระบบนิเวศน์เป็นศูนย์กลาง” เป็นแนวคิดที่มองว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งในโลกนี้ และมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ ทั้งยังมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเสมอ และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้นหากระบบนิเวศหรือธรรมชาติขาดสมดุลหรือถูกทำลาย มนุษย์ย่อมได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

แนวคิดนี้ นำไปสู่การออกแบบกฎหมายและนโยบายบริหารจัดการพื้นที่ป่าสมัยใหม่ เน้นให้พื้นที่ป่าทำหน้าที่ 3 ประการ คือ 1) รักษาสมดุลของระบบนิเวศน์โดยรวม 2) กิจกรรมนันทนาการ 3) พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งมีหลายประเทศที่ใช้แนวคิดและวิธีการนี้แล้วประสบความสำเร็จ ทำให้ประเทศมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชน (โดยเฉพาะคนที่อยู่กับป่า) มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ 

 

(ภาพ : News1)

 

4.

สืบ เป็นนักอนุรักษ์ที่มีหัวก้าวหน้า เขาทำหน้าที่อย่างจริงจังและเข้าใจความทุกข์ยากของประชาชน เขาเห็นปัญหาและพยายามเสนอทางออกในการจัดการป่าของไทยตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จแล้วในช่วงเวลาเดียวนั้น หากแต่ผู้มีอำนาจของไทยไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของ สืบ พวกเขาสนใจแต่กอดผลประโยชน์ของตนเองไว้ด้วยแนวทางการอนุรักษ์ป่าแบบปลอดคน การบริหารจัดการป่าของไทยจึงไม่อาจพัฒนาได้  

สังคมไทยควรให้ค่าแก่คุณูปการและเจตนารมณ์ของ สืบ โดยเฉพาะ หนึ่ง การบริหารจัดการป่าที่เข้าใจระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตของผู้คน คือ มีพื้นที่สำหรับการอนุรักษ์ และพื้นที่สำหรับให้คนในท้องถิ่นได้ใช้สอย สอง การตรวจสอบและปราบการการทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งการอยู่เบื้องหลังของการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของผู้มีอำนาจ และสาม พัฒนางานศึกษาวิจัยด้านวิชาการทั้งด้านระบบนิเวศน์ กฎหมายและนโยบาย

 

หมายเหตุ : พบกับ GreenJust ทุกเช้าวันเสาร์