1.
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผมกลับมาอยู่บ้าน ทำให้มีเวลาอ่านเยอะขึ้น และเขียนเยอะขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่สื่อสารผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว
กลางดึกคืนหนึ่งของปลายเดือนสิงหาคม “พี่เบิ้ม” คนที่ผมเคยเจอผ่านงานเมื่อนานมาแล้ว ส่งข้อความทักมาในเฟสบุ๊ค พร้อมข้อความสั้นๆ บอกว่าตอนนี้เขาเป็น บก. ที่ Green News สนใจบทความของผมที่เขียน และถามผมว่า “สนใจมาเขียนเป็นคอมลัมนิสต์ให้ Green News ไหม”
ผมอ่านข้อความนั้นซ้ำ ๆ หลายครั้ง แล้วเข้า Google พิมพ์คำว่า Green News เข้าไปเลื่อนดูขึ้นๆ ลงๆ หลายรอบ ก่อนจะตัดสินใจพิมพ์ข้อความตอบไปว่า “สนใจครับ” ด้วยความเกรงใจพี่เบิ้มที่อุตสาห์ชวน
หลังจากตอบข้อความกลับไป พี่เบิ้มก็โทรกลับมา พูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบก่อน และเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ Green News อยากทำ ก่อนที่จะบอกว่าอยากชวนผมมาเขียนเป็นคอลัมนิสต์ ด้วย Concept มุมมองคนในต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
ระหว่างคุยกับพี่เบิ้ม ผมรู้สึกสนใจมากที่เดียว แต่ปัญหาคือ ที่ผ่านมา ผมแค่เขียนบทความแสดงทัศนะตามวาระและโอกาส ในประเด็นที่ผมมีประสบการณ์หรือเคยศึกษามาเท่านั้น ยังไม่เคยเขียนแบบเป็นกิจจะลักษณะและต่อเนื่องมาก่อน ผมจึงรับปากพี่เบิ้มว่าจะไปคิดทบทวนและลองคิดรูปแบบมาคร่าว ๆ ก่อน แล้วค่อยคุยกันเพื่อตัดสินใจอีกที
หลังจากนั้น ผมก็ได้นัดคุยกับเพื่อน ๆ ทนายความที่สนิทกันผ่าน Zoom เล่าให้เพื่อนฟัง แล้วขอให้เพื่อน ๆ ช่วยออกความเห็นและเสนอไอเดีย เพื่อน ๆ ก็หวังดีช่วยเสนอไอเดียและย้ำว่าผมควรเน้นประเด็นป่าไม้และที่ดิน อีกทั้งเพื่อน ๆ ก็ยังแสดงความเป็นห่วงว่าจะไม่มีประเด็นเขียนได้อย่างต่อเนื่องหรือเปล่า แต่ก็ให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผมรับงานนี้
ผมใช้เวลาคิดทบทวนโดยละเอียด 1 สัปดาห์ และตัดสินใจว่าจะทดลองทำ ไหน ๆ ช่วงนี้ก็กลับมาอยู่บ้าน ทำสวน และ Work from home 100% อยู่แล้ว ถือเสียว่าเป็นการท้าทายตัวเองดูสักครั้ง ว่าจะทำได้แค่ไหน จึงตอบกลับพี่เบิ้มไปว่า ผมจะรับเป็นคอลัมนิสต์ให้ตามที่พี่เบิ้มเสนอ โดยใช้ชื่อคอลัมน์ว่า “Green Just” ซึ่งมีความหมายว่า “ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม”
2.
ในคอลัมนิสต์ Green Just ผมตั้งใจจะชี้ชวนให้ผู้อ่านตระหนักว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน 2 ด้าน คือ หนึ่ง การลดลงหรือเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่า มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติของคนทั่วไป สอง การจัดการป่าไม้และที่ดินของรัฐไทยไม่มีความเป็นธรรม กดทับและละเมิดสิทธิของคนชายขอบ ทำให้คนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน และกลายเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งสังคมไทยอยู่กับปัญหาสองประการนี้มานาน และรัฐก็ทำท่าเหมือนว่าไม่มีทางจะไปแก้ไขอะไรได้มาก ที่ผ่านมาก็ทำได้เพียงบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ปีต่อปี
การพูดถึงปัญหาป่าไม้และที่ดิน สามารถมองได้จากหลากหลายแง่มุม สำหรับคอลัมน์ Green Just นี้ ผมจะนำเสนอผ่านแง่มุมทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้วยทัศนะของคนใน ซึ่งผมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนที่อยู่ในเขตป่า และมีสถานะเป็นทนายความที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มีประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนในดิน น้ำ ป่า
ผมคิดว่า ปัจจุบันปัญหาป่าไม้ ถูกสื่อสารอย่างเป็นภววิสัยสู่สังคมไทยน้อยมาก ปริมาณสื่อที่ถูกเผยแพร่ก็มีน้อย ยิ่งองค์ความรู้ในการบริหารจัดการป่ายิ่งมีน้อย ที่เราเห็นอยู่ก็มักจะเป็นข้อมูลของทางราชการที่มีเนื้อหาเพียงพื้นๆ และค่อนข้างล้าหลัง หลักการหรือทฤษฎีที่ยึดถือบางอย่างเป็นความเชื่อ โดยไม่มีเหตุผลทางวิชาการรองรับเพียงพอ ที่หนักกว่านั้นก็เป็นจำพวกป้ายด่าชาวบ้านติดข้างถนน หรือคลิปวีดีโอที่มักจะตำหนิหรือกล่าวหาคน ซึ่งไม่ได้นำไปสู่อะไรเลย
3.
ผมจะขอเกริ่นให้เห็นประเด็นหรือข้อถกเถียงร่วมสมัยที่อยู่รอบตัวเรา และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราก่อนสักเล็กน้อย ซึ่งผมจะไปวิเคราะห์รายละเอียดในบทความต่อๆ ไป ดังนี้
หนึ่ง ช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมานี้ พวกเราต่างเคยทนทุกข์อยู่กับ PM 2.5 และตระหนักถึงอันตรายของมัน ทั้งต่อตัวเรา ลูกเรา พ่อแม่ที่สูงวัยของเรา คนจำนวนมากโก่นด่ารัฐบาลเฮงซวยและสาปแช่งไอ้คนเผาป่า แต่คนส่วนใหญ่กลับเมินเฉยต่อธุรกิจของบริษัทข้าวโพด ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของปัญหาป่าเสื่อมโทรม ทำให้พวกเขายังคงกดหัวของเกษตรกรต่อไป แล้วโกยกำไรจากผืนดินที่นับวันเสื่อมโทรมลงไป ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น พวกเขายังขยายพื้นที่ข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่โชคร้ายยังไม่ไปไหน ปัญหามลพิษทางอากาศมันไม่มีพรมแดน สองปีที่ผ่านมานี้ มีหลักฐานยืนยันว่าปัญหาวิกฤติฝุ่นควันในจังหวัดชายแดนภาคเหนือ เกิดจากการเผาพื้นที่ไร่ข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน
สอง การแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดิน ไม่สามารถกระทำได้ด้วยเพียงการปลูกป่าในวันสำคัญปีละครั้ง หรือระดมจิตอาสาไปดับไฟป่าช่วงหน้าไฟ พอฝนตกก็เลิกรากันไป หรือออกกฎหมายเอาผิดอย่างเข้มงวด ในทำนองเดียวกัน การคุ้มครองสิทธิของคนชายขอบที่อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในเขตป่า ก็ไม่ใช่การปล่อยให้เป็นความเมตตากรุณาของเจ้าหน้าที่ ในการอะลุ่มอล่วยให้อยู่ไปแบบไม่มีทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับ ที่สำคัญคือ สาเหตุของปัญหาป่าเสื่อมโทรม ก็ไม่เพียงเพราะชาวบ้านเห็นแก่ตัว ไม่รู้กฎหมาย ไม่มีจิตสำนึก หากแต่เป็นผลจากความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างอำนาจรัฐ
สาม การอนุรักษ์ป่า ถ้าทำไปโดยไม่เห็นหัวของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ย่อมจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นคนชายขอบ เช่น การปลูกป่าอาจจะนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินในนามการอนุรักษ์ เมื่อคนเหล่านั้นกลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ดิน ก็ย่อมนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นตามมา แต่ถ้าหากดำเนินการอย่างเป็นธรรม สังคมก็จะได้พื้นที่สีเขียวเพิ่ม ในขณะที่เกษตรกรก็ไม่สูญเสียที่ดิน แถมยังได้ประโยชน์จากกิจการสร้างป่าด้วย อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังถกเถียงประเด็นนี้น้อยมาก
4.
ในฐานะคอลัมนิสต์ GreenJust ผมขอเชิญชวนทุกท่าน ติดตามอ่าน และร่วมกันสะท้อน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิด ความรู้ เพื่อเผยแพร่สู่สังคมในวงกว้าง โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยแนวทางที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะการใช้ความรู้ร่วมสมัย ไม่ใช่ความเชื่อและผลประโยชน์ในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
หมายเหตุ : พบกับคอลัมน์ GreenJust ทุกเช้าวันเสาร์ สำหรับสัปดาห์นี้ ประเดิมชิ้นแรก พบกันช่วงยามบ่ายเป็นกรณีพิเศษ