“เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี” รายงาน Global Witness ระบุ โคลัมเบีย เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ สามอันดับแรก ชี้แนวโน้มเพิ่มตามวิกฤตสิ่งแวดล้อม-แย่งชิงทรัพยากร
องค์กรสิทธิในไทย Protection International (PI) ให้ความเห็น สถิติไทยแค่ 2 เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเทียบกับสถานการณ์จริง

เปิดรายงาน “ยอดสังหารนักสิทธิที่ดิน-สวล.โลก 2563”
13 กันยายน 2564 Global Witness องค์กรสากลที่ติดตามการสังหารนักปกป้องสิทธิที่ดินและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เผยรายงานประจำปีว่า มีนักสิ่งแวดล้อมถูกฆาตกรรม 227 รายทั่วโลกในปี 2563 เฉลี่ยเสียชีวิตกว่า 4 คนทุกสัปดาห์
รายงานเผยว่าสถานการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นและการรุกทำลายสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องเป็นสาเหตุให้นักสิ่งแวดล้อมถูกทำร้ายเพิ่มยิ่งขึ้น จำนวนนี้ถือว่าสูงที่สุดในรอบเก้าปีที่องค์กรเก็บข้อมูลมา มากกว่า 30% ของเคสที่พบมีสาเหตุจากการคัดค้านกิจกรรมตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ตัดไม้ เขื่อนพลังงานไฟฟ้า เหมือง และธุรกิจเกษตรรายใหญ่
ผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในสามประเทศ ได้แก่ โคลัมเบีย เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ โดยโคลัมเบียมีนักเคลื่อนไหวเสียชีวิต 65 ราย เม็กซิโก 30 ราย และฟิลิปปินส์ 29 ราย
ข้อมูลพบว่านักกิจกรรมฟิลิปปินส์มากกว่าครึ่งเป็นเป้าทำร้ายเพราะออกมาคัดค้านเหมือง การตัดไม้ และโครงการเขื่อน โครงการลงุทนเหล่านี้สัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับรัฐบาล ตั้งแต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ขึ้นดำรงตำแหน่ง (2559 – 2563) พบสถิติ นักสิ่งแวดล้อมถูกสังหารกว่า 166 ราย
ชนพื้นเมืองนับเป็นเป้าหมายใหญ่ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นชนพื้นเมือง แม้จะมีประชากรเพียง 5% ในโลก นอกจากนี้ ผู้หญิงยังคิดเป็นผู้เสียชีวิต 1 ใน 10
Global Witness ย้ำว่าตัวเลขดังกล่าวนั้น “ต่ำกว่าความเป็นจริง” เพราะยังมีการทำร้ายนักสิ่งแวดล้อมอีกมากที่ไม่มีใครรับรู้ และนอกจากการฆาตกรรมแล้ว พวกเขายังต้องเจอการคุกคามในอีกหลายรูปแบบ เช่น ข่มขู่ ติดตามตรวจสอบ ละเมิดทางเพศ และตั้งข้อหาเป็นอาชญากร

PI เผย “แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง เทียบของจริงในไทย”
“227 รายถือว่าเยอะ แค่คนเดียวก็มากแล้ว เพราะเป็นชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ไม่ควรถูกสังหารเพียงเพราะว่าลุกขึ้นมาสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและที่ดิน ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่ต่อสู้ได้อย่างชอบธรรม” ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International เล่าความรู้สึก
Protection International ติดตามผู้คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมนไทยมายาวนาน เธอเผยว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มีคนถูกฆ่ากว่า 70 ราย
“ตัวเลขนี้คือ ‘เท่าที่บันทึกได้’ เราเชื่อว่ายังมีอีกมากที่เราไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชทบทที่ห่างไกลจากการติดตามของสังคม”
Global Witness บันทึกว่ามีคนไทยสองรายที่ถูกฆาตกรรมในปี 2563 ได้แก่ คาร ไชยประเสริฐ (32 ปี) หัวหน้าชุดพิทักษ์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี ซึ่งถูกพรานล่าของป่ายิงเสียชีวิตขณะลาดตระเวน และ กรรณิการ์ วงค์ศิริ (52 ปี) กำนันต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งเป็นตัวแทนช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนเจรจากับเจ้าของที่ดินทำสวนยางพาราแล้วปิดทางเข้าออกของชาวบ้าน
สำหรับกรณีหลัง ต้นปี 2564 ได้มีการจับกุมมือปืนและผู้จ้างวานฆ่ากำนันกรรณิการ์ได้สำเร็จ ทว่าปรานม ชี้ว่า เคสที่ “จับและเอาผิด” ผู้ก่อเหตุได้จริงๆ มีน้อยมาก เคสนี้เป็นเพราะผู้เสียชีวิตเป็นกำนันและได้รับความสนใจมากจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสื่อมวลชน
นักสิ่งแวดล้อมไทยที่ถูกฆ่า 70 รายที่องค์กรติดตาม แทบทั้งหมดไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้
ตัวอย่างหนี่ง คือ กรณีของดำ อ่อนเมือง สมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซี่งถูกลอบสังการเมื่อปีก่อน แต่โชคดีที่รอดชีวิต โดยดำถูกยิงแต่หลบกระสุนได้อย่างเฉียดฉิว นับเป็นการลอบสังหารสมาชิกของสกต.ครั้งที่ 6 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
ล่าสุด ปลายเดือนสิงหาคม ศาลพิพากษาจำคุกมือปืนที่หวังปลิดลมหายใจสมาชิกสกต. ทว่าปัจจุบัน ยังไม่อาจสาวถึงผู้สั่งฆ่าได้
“ชุมชนสกต.มีความขัดแย้งกับทางบริษัทปาล์มน้ำมันที่ได้โฉนดที่ดินผิดกฎหมายจากสำนักที่ดินและรุกชุมชน เพราะฉะนั้นการลอบสังหารที่เกิดขึ้น มันจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นความขัดแย้งเรื่องทรัพยากร” ปรานมว่า
“ประเทศไทยไม่ต่างกับประเทศสูงสุดสามอันดับอย่างโคลัมเบีย เม็กซิโก หรือฟิลิปปินส์เลย เพราะไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตเราอาจจะน้อย แต่บริบทอันตรายยังคงอยู่ ผู้ก่อเหตุย่ามใจว่าทำแล้วทำอีกได้ คนที่อยู่จึงเสี่ยงอันตราย”

“ทุนไทยละเมิดสิทธิที่ดินชาวเขมร” ระบุในรายงาน
รายงานปี 2563 ของ Global Witness ไม่ได้ระบุว่ามีนักปกป้องสิทธิชาวกัมพูชาถูกสังหารในปีดังกล่าว ทว่ารายงานได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับประเทศกัมพูชาเป็นตัวอย่างการคุกคามสิทธิที่ดินของชุมชนโดยธุรกิจ กรณีธุรกิจน้ำตาลสัญชาติไทยไล่รื้อที่ดินชาวบ้านในเกาะกง ชื่อหัวข้อ “กัมพูชา : ผืนดินของเราถูกขโมยโดยบริษัทต่างชาติ เราไม่ยอมหยุดต่อสู้”
รายงานถ่ายทอดบทสัมภาษณ์ Teng Kao ตัวแทนหมู่บ้าน Chhouk เล่าถึงประสบการณ์ว่าเขาและชาวบ้านอีก 200 คนไม่ทราบล่วงหน้าว่าที่ดินอยู่อาศัยและที่ทำกินตนจะกลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อทำเป็นน้ำตาล โดยบริษัทที่ลงทุนคือ บริษัทน้ำตาลขอนแก่น (KSL) และส่งออกให้แบรนด์น้ำตาล Tate & Lyle Sugars ในยุโรป ทำให้ลำบากและต้องต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินกว่า 15 ปี
“บริษัทไทยและยุโรปปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย (กสม.) ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียน ได้มีมติว่าการดำเนินการของบริษัทน้ำตาลขอนแก่นได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนกัมพูชา แม้บริษัทจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือละเมิดสิทธิมนุษยชนเอง แต่การได้รับกำไรจากธุรกิจนี้นับเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของบริษัท”
Global Witness กล่าวว่าทางออกสำหรับปัญหาคุกคามนักสิทธิที่ดินเหล่านั้น ธุรกิจต้องรับผิดชอบ ทำเต็มกำลังเพื่อมั่นใจว่าบริษัทไม่ได้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาหรือได้รับผลประโยชน์กับปัญหา ที่สำคัญ ต้องมีระบบตรวจสอบตลอดเส้นทางการผลิตว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ถึงเวลา หาระบบ “คุ้มครอง-ป้องกัน” ทุกระดับ
Global Witness เสนอว่าทางออกของโศกนาฎกรรมเหล่านี้ คือ รัฐบาลและธุรกิจจะต้องรับผิดชอบ ดูแลสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองผู้คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร
องค์กรสหประชาชาติ (UN) จะต้องรับรองสิทธิเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและยั่งยืนให้เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ ติดตามให้รัฐบาลประเทศต่างๆ มีกฎหมายที่คุ้มครองและไม่เอาผิดนักสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องนำเรื่องสิทธิมนุษชนให้เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงเรื่องโลกร้อนในการประชุม COP26 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากวิกฤตโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่นักปกป้องสิทธิหลายคนออกมาต่อสู้
เช่นเดียวกับทางผู้ติดตามนักปกป้องสิทธิในไทย ปรานมเรียกร้องว่า หน่วยงานรัฐต้องตรวจสอบกฎหมายและระบบราชการที่มีอยู่ให้ไม่เป็นช่องทางเอื้อให้เกิดการตักตวงทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมร่วมกับทุน และหากชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนที่จะมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร รัฐไทยจะต้องดูแลและคุ้มครองให้ไม่ถูกทำร้าย
ส่วนภาคธุรกิจควรนำ “แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ซึ่งไทยประกาศใช้ประเทศแรกในเอเชียตอนปี 2563 มาปฏิบัติจริง ไม่ใช่เป็นแค่ “แผน” เหมือนที่เป็นอยู่วันนี้
“ในทางนึง สถานการณ์มันอาจจะดู ‘ดี’ ขึ้น เพราะสังคมตระหนักมากขึ้นว่าไม่อาจปล่อยให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำร้ายไปมากกว่านี้ได้ จึงมีนักปกป้องสิทธิสิ่งแวดล้อมมากมาย และหลายองค์กรคอยสนับสนุนพวกเขา” ปรานม วิเคราะห์
“แต่ความตระหนักนี้ก็ยังไม่พอ เราเห็นรายงานของ GW ก็รู้สึกแย่ทุกครั้ง ตัวเลขที่ควรลดลงมันกลับมากขึ้นทุกปี”