จับตา “ผันน้ำยวม” เข้าบอร์ดสิ่งแวดล้อมอนุมัติวันนี้ เพื่อเดินหน้าภายใน ธ.ค.?

“ผลักดันเร่งด่วนเป็นพิเศษ-เริ่มสร้างภายในสิ้นปี-คาดใช้เวลา 4 ปีเสร็จ” วีระกรเผยสถานการณ์โครงการล่าสุด ด้วยเหตุผล “กรมชลฯ ได้รับบัญชาจากนายกฯ-บิ๊กป้อม และทุนจีนพร้อมหนุน”

ท่ามกลางเสียงทักท้วง “ผลกระทบมาก-อีไอเอมีปัญหา-ไม่คุ้มการลงทุน-พื้นที่ได้ประโยชน์คลุมเครือ-ไม่ชัดใครจ่ายค่าน้ำที่ผันจากโครงการ”

เข้าบอร์ดสิ่งแวดล้อมวันนี้ ดันสร้างก่อนสิ้นปี?

“อธิบดีกรมชลฯบอกว่า ถ้ากก.วล. เห็นชอบ และมีการทำ TOR ประมูลเสร็จเมื่อไหร่ จะพยายามเริ่มโครงการนี้ให้ได้ภายในปลายปีนี้” วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดของโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล 

“โครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วน ที่กรมชลประทานให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนายกและรองนายกประวิตรผลักดัน เนื่องจากเห็นใจเกษตรกร และมีบ.จีนเสนอมาว่าจะทำเสร็จใน 4 ปี”

วีระกรเปิดเผยในเวทีเสวนาออนไลน์ “โปรเจคยักษ์ ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ประเทศได้หรือเสีย” ที่จัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายพันธมิตร เมื่อ 11 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา

ตอนนี้ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณา ในวันนี้ (15 กันยายน 2564)

“ตามรายงาน EIA คาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณ 71,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาเตรียมโครงการและก่อสร้างประมาณ 9 ปี แต่มีบริษัทวิสาหกิจจีนมีความสนใจลงทุน ในขั้นต้นคุยว่าบ.จะออกค่าใช้จ่ายให้ก่อน และได้ผลประโยชน์ตอบแทนในการขายน้ำที่สูบข้ามภูเขา โดยบ.ประเมินต้นทุนเพียง 4 หมื่นล้านบาท และก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องบริษัทนี้เท่านั้น เป็นหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ว่าจะประมูลอย่างไร” วีระกรกล่าว

โครงการผันน้ำยวมจริงๆ ถูกริเริ่มขึ้นในปี 2538 เดิมอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้มีการทำ EIA เสร็จแล้วหนึ่งครั้งในปี 2549 แต่ถูกพับเก็บไปเพราะข้อจำกัดทางงบประมาณ จนกระทั่งปี 2559 ปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ถูกแก้ไข กรมชลประทานจึงได้รับงบประมาณมาศึกษาเร่งด่วนอีกครั้ง

โครงการล่าสุด ออกแบบให้มีการผันน้ำโดยให้มีอ่างเก็บน้ำจากแม่น้ำ น้ำจะถูกสูบขึ้นไปบนเขา และถูกพักไว้ในอุโมงค์ สุดท้ายจะถูกปล่อยตามแรงโน้มถ่วงลงเขื่อนภูมิพล โครงการจึงประกอบด้วยการสร้าง เขื่อนน้ำยวม อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ส่งน้ำความยาว 61 กม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร 

การก่อสร้างส่วนใหญ่คือการวางท่อซึ่งต้องผ่านพื้นที่อุทยาน 1 แห่ง และป่าสงวน 6 แห่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อชุมชนชนเผ่าในพื้นที่

จำเป็น vs ไม่จำเป็น?

“ปัญหาหลักคือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ เขื่อนภูมิพลมีความจุ 13,500 ล้านลบ.ม. แต่น้ำต้นทุนเราไม่พอเติม แม้กระทั่งกลางฤดูฝนก็มีน้ำเก็บไม่ถึง 40% เพราะฉะนั้นเราเก็บลมกันไปปีละ 7-8,000 ล้านลบ.ม.

7 ปีที่ผ่านมา พี่น้องเกษตรกรในเขตนครสวรรค์และในเขตชลประทานทั้งหมด ไม่สามารถที่จะสูบน้ำมาทำนาปรังได้ ทุกสถานีสูบน้ำที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและริมแม่น้ำปิงกลายเป็นโบราณวัตถุ กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับแม่น้ำ ไม่มีน้ำให้สูบ เพราะปริมาณน้ำสำหรับไปผลักดันน้ำเค็ม ไปทำประปาให้คนกรุงเทพฯกินมันจะไม่เพียงพอ” วีระกรชี้แจงถึงความจำเป็นโครงการฯ

ขณะที่ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความเห็นต่าง ด้วยมองว่ายังมีทางเลือกจัดการนำทางเลือกอื่น ที่ไม่ต้องใช้งบมหาศาลและไม่ต้องสร้างเขื่อน 

ข้อมูลอัตราน้ำสูญเสีย (ภาพ: ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า)

“นอกจากหาน้ำมาเติม คือจัดการด้านความต้องการน้ำ ตอนนี้ชลประทานทั่วประเทศมีประสิทธิภาพไม่เกิน 60% เท่ากับว่าน้ำในเขื่อน 100 ไปถึงเกษตรเพียง 60 น้ำหายไป 40 หากเราเพิ่มประสิทธิภาพชลประทาน เพียง 10-20 % เราก็สามารถเพิ่มพื้นที่ทำนา ซึ่งสามารถทำได้เลย 

เขื่อนภูมิพลออกแบบมาแล้ว แต่มีความจำเป็นอะไรที่จะให้มีน้ำเต็มอ่าง เมื่อมีฝนตกทางเหนือ ทุกจังหวัดทางภาคกลางและกรุงเทพล้วนกลัวน้ำท่วม ฝนไม่ได้ตกเหนือเขื่อน แปลว่าเราไม่ขาดแคลนน้ำ 

เรามีน้ำให้เก็บแต่เก็บหรือยัง เราไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณในการสูบน้ำยวม เราอยากทำโครงการนี้เพราะอะไร เพราะกรมชลประทานอยากก่อสร้างใช่หรือไม่” ผศ.ดร.สิตางศุ์กล่าว

ได้ไม่คุ้มเสีย ที่สำคัญ “ใครจะจ่ายค่าน้ำ”

ผศ.ดร.สิตางศุ์กล่าวว่าการผันน้ำข้ามลุ่มสามารถทำได้ เพียงแค่มีมีเงินมีเวลา ตามหลักวิศวกรรมสามารถทำได้ทั้งหมด แต่คำถามคือจำเป็นไหม คุ้มไหม กับผลกระทบที่ต้องแลก เช่น เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการผันน้ำข้ามลุ่มเป็นการแพร่พันธุ์สัตว์ต่างถิ่น (alien species) 

ส่วนหลักการจัดการน้ำ อาจารย์ยืนยันว่า การแก้ปัญหาของลุ่มน้ำควรจบในลุ่มนั้นๆ ควรแก้ไขปัญหาในลุ่มให้เบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ยังมีคำถามจากผู้ชมว่า “ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาละวินก็เสี่ยงแล้งเหมือนกัน แต่ละลุ่มน้ำก็มีปัญหาเหมือนกัน ทำไมจึงต้องดึงน้ำจากลุ่มอื่นมาแก้ปัญหา” 

วีระกรตอบว่า “พูดเหมือนกับว่าผมะเอาน้ำจากลุ่มน้ำของเขามา เราจะเอาน้ำยวมที่จะไหลลงเมย สูบมาช่วยเจ้าพระยา ซึ่งเป็นน้ำที่ถ้าไม่สูบมาก็ไหลลงเมยลงสาละวินไหลลงทะเล ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำที่ทำการเกษตรเลย”

อีกสิ่งสำคัญที่ต้องแลกใช้จ่ายในการสูบน้ำ ซึ่งใน EIA ยังไม่มีการกำหนดทิศทางให้ชัดเจน ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยตามกฎหมายแล้วไม่สามารถเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรได้ จึงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ว่าใครจะเป็นคนจ่าย

“ตัวเงินเราได้คืนจากการที่น้ำไหลลงเขื่อน เขื่อนภูมิพลก็ปั่นไฟมาขายเราต่อ อยู่ที่รัฐบาลว่าอาจจะช่วยส่วนหนึ่ง หรือให้เกษตรกรจ่ายก็ดี เกษตรกรจะได้คำนึงถึงการใช่น้ำอย่างประหยัด ถ้าเราเก็บค่าน้ำชาวนา สมมติเก็บสักบาท รัฐช่วยอีกบาท ก็ไม่เท่าไหร่หรอก ปีนึงเราช่วยเหลือ มีการประกันรายได้กันหลายหมื่นล้านบาท 

แต่ถ้าเรามีน้ำเพียงพอ เช่นนครสวรรค์ตอนที่มีน้ำเพียงพอช่วงก่อนเจ็ดปีที่ผ่านมา เขาเคยได้กันไร่ละหนึ่งตัน ต่างจากนาน้ำฝนประมาณเท่าตัว เราจะไม่ต้องเอาเงินมาใช้ประกันรายได้ ให้เกษตรกรช่วยตนเอง หรือรัฐบาลช่วยบาทนึง มันจะทำให้เกษตรกรร่ำรวยขึ้นได้ถ้าเรามีน้ำอย่างเพียงพอ

ถ้ารัฐจะเก็บค่าน้ำก็ต้องแก้ พรบ. รัฐจ่ายแทนประชาชนไปเลย แต่เราจะไม่มีการประกันรายได้ อันนี้ก็แล้วแต่จะต้องมาคิดกัน แต่ว่าถ้าคิดว่าเราช่วยตรงนี้ดีกว่า แทนที่จะไปประกันรายได้ตอนท้าย ซึ่งในที่สุด CPTPP EU ก็กีดกันไม่ให้เราประกันรายได้อยู่แล้ว” วีระกรชี้แจง

ด้านอ.สิตางศุ์ย้ำว่า เรื่องการเก็บค่าน้ำที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วม คนในลุ่มเจ้าพระยาไม่เคยรู้เรื่องนี้ จึงสมควรต้องไปพิจารณาใหม่

หลากคำถาม: อีไอเอ-การมีส่วนร่วม-ผู้ได้ประโยชน์

วีระกรพูดถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นว่า ต้องมีการรับฟังในระดับนึ่งแล้ว EIA ถึงผ่านมาได้ นี่เป็นหน้าที่กรมชลฯ และยังพูดถึงประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า 

“โครงการอื่นเนี่ยทำน้ำท่วมป่าเยอะ แต่โครงการนี้แทนที่เราจะปล่อยน้ำ ไหลออก เรากักน้ำไว้ใช้ในประเทศเราไม่ดีกว่าเหรอ มันไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย 27 ไร่เป็นพื้นที่สร้างโรงสูบ ไม่มีที่ไหนถูกน้ำท่วมเลย มีแต่พื้นที่น้ำแค่สี่เมตร หน้าฝนยังสูงกว่าอีก”

ระดับน้ำที่คาดว่าจะสูงขึ้น (ภาพ: วีระกร คำประกอบ)

อย่างไรก็ตาม EIA ยังเต็มไปด้วยคำถาม และข้อมูลนี้ก็ไม่สามารถทำให้คนในพื้นที่มั่นใจได้ 

“ชาวบ้านกังวลเพราะหน้าฝนระดับน้ำสูงกว่านั้นมาก เป็นไปไม่ได้ ว่าน้ำจะไม่สูงกว่านั้น แม่น้ำสายนี้คือชีวิต ดังนั้นข้อมูลนี้เอาอะไรมาวัด ว่าน้ำจะไม่สูงเกินสี่เมตร แล้วเราคนในพื้นที่ดูแลป่า ดูแลต้นน้ำ ต้องเสียสละเหรอ คุณมีตัวอย่างโครงการแบบนี้ของที่อื่นไหมคะ เอามาให้ชาวบ้านดูได้ไหม

กระบวนการ EIA คนในพื้นที่เป็นชาติพันธุ์ ไม่มีล่ามอะไรเลย พูดได้อย่างไรว่าเราได้รับข้อมูลข่าวสารเต็มที่ ชาวบ้านในพื้นที่ต้องมีสวนร่วมตามรัฐธรรมนูญ ท่านเคยได้รับฟังเสียงชาวบ้านหรือเปล่า ที่ผ่านมาคนในพื้นที่พยายามพูดถึงปัญหา ข้อกังวล พี่น้องกะเบอะดินไม่รุ้จักอุโมงค์ที่กำลังจะเจาะใต้พื้นบ้านของเขาเลย ปลายอุงโมงค์พี่น้องก็กำลังหนีผลกระทบจากเขื่อนภูมิพล จะไล่เขาอีกครั้งเหรอ กระบวนการมีส่วนร่วมไม่มีใครฟังเลย ถ้ารับฟังจริง EIA จะไม่ผ่านค่ะ” ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่กล่าว

ด้านหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่แม่น้ำยวม ได้แสดงความกังวลว่า วันนี้ที่กรมชลประทานไม่มาถือว่าไม่มีส่วนร่วมเช่นกัน EIA ผ่านแล้วก็ต้องทำตามที่ระบุไว้ใน EIA จะทำนอกเหนือจากนั้นไม่ได้ 

“การผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินมาลงลุ่มน้ำปิง ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในทั้งสองลุ่ม เรื่องนี้ต้องเข้ากรรมการลุ่มน้ำ แต่ในรายงาน EIA ไม่มีเลย อ่านหลายรอบแล้วก็ยังไม่เห็นเลย จึงเสนอให้ชะลอการนำเรื่องเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไว้ก่อน เพราะ EIA ไม่มีความชัดเจนหลายประเด็น” หาญณรงค์กล่าว

“ทำโครงการนี้ได้แต่ไม่คุ้มเสีย ไม่จำเป็นต้องทำโครงการเจ็ดหมื่นล้านแล้วต้องใช้เวลาในการเห็นผล กระบวนการมีส่วนร่วมล้มเหลว เกษตรกรไม่รู้เรื่อง ลุ่มเจ้าพระยาไม่รู้เรื่อง EIA บิดเบือน กระบวนการมีส่วนร่วมลากคนไม่เกี่ยวข้องมาอยู่ในเล่ม ไปนั่งกินข้าวที่ร้านลาบ แล้วอ้างว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม คนในรูปคงไปฟ้องบริษัทเอง

ดิฉันเห็นใจที่เกษตรกรมีความยากลำบาก และเกษตรกรไม่ควรต้องรออีก 10 ปีถึงจะได้น้ำ เราเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ได้เลย โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากขนาดนั้นนั้น ยังมีอีก 7-8 วิธีที่วันนี้เรายังไม่ได้พูดคุยกัน ทุกวันนี้เรามีงบขนาดนั้นเหรอ กี่โครงการที่ต้องให้จีนมาช่วย คำนึงถึงอธิปไตยบ้างหรือเปล่า เราควรแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำตัวเองให้จบในตอนนี้” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว

ตลอด 3 ชั่วโมงงของวงเสวนา ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้นระหว่างวิทยากรในหลายประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นความจำเป็นของโครงการ ความโปร่งใสกระบวนการรับฟังความเห็น หรือความเกี่ยวข้องของนักการเมืองและทุนจีน 

หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมผู้แทนกรมชลประธานถึงไม่สามารถเข้าร่วมเวทีได้ตามกำหนดการ ซึ่งทางผู้จัดงานชี้แจงว่า ได้มีการตกลงนัดหมายกับ สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าจะมาร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะวิทยากรของงาน แต่ที่สุดก็ได้รับแจ้งว่าติดภารกิจด่วนต้องเดินทาง จึงน่าเสียดายที่กรมชลประทานไม่สามารถมาร่วมชี้แจงแลกเปลี่ยนได้