เครือข่ายซาเล้งม็อบบุกกระทรวงกลางโควิด หลังโดน “กีดกัน” จากที่ประชุมตัดสินนโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติก ปฏิกิริยาจากหน่วยงานรัฐคือ “โยนกลองและเปิดเกมต่อรอง”

“ซาเล้ง” เปิดเกมกดดันหลังถูกกีดกัน
6 กันยายน 2564 ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่เมืองเริ่มต้นคลายล็อก แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่น่าคลายใจ ซาเล้งและผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่าจากทั่วประเทศนับร้อยคน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทวงถามความชัดเจนเรื่องนโยบายนำเข้าเศษพลาสติกสู่ประเทศไทย
ที่ประชุมคณะกรรมการด้านขยะฯ เคยมีมติยกเลิกนำเข้าเศษพลาสติกภายในปี 2563 แต่ปัจจุบัน ยังไม่เป็นจริงและมีแนวโน้มจะเลื่อนไปโดยไม่มีกำหนดใหม่ที่สรุปชัด
ช่วงเช้า ตัวแทนซาเล้งเดินทางไปยื่นข้อร้องเรียนต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก่อนช่วงบ่ายจะมุ่งสู่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พร้อมข้อเรียกร้อง 2 ข้อหลัก ได้แก่ ยืนยันค้านการนำเข้าเศษพลาสติกเพราะทำให้ราคาขยะในประเทศตก และต้องการคำอธิบายถึงเหตุการณ์ตัวแทนซาเล้ง “ถูกดีดออก” จากที่ประชุมออนไลน์ที่จะลงมติเรื่องขยายโควตานำเข้าขยะเมื่อสัปดาห์ก่อน
การประชุมที่ว่า คือ การประชุม “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์” สัปดาห์ก่อน ซึ่งตัวแทนซาเล้งกับเอ็นจีโอจัดแถลงข่าวด่วน ร้องเรียนว่าถูก “กีดกัน” จากที่ประชุมออนไลน์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ตรงกันข้ามกับภาคอุตสาหกรรมที่ได้ร่วมนั่งประชุมจนจบ
เมื่อมาเยือนถึงถิ่นกระทรวง ตัวแทนซาเล้งประมาณห้ารายได้รับเชิญเข้าไปนั่งพูดคุยกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมชั่วโมง ขณะที่ซาเล้งอีกจำนวนหนึ่งปักหลักอยู่หน้ากระทรวง
“จริงๆ พี่น้องซาเล้งอยากจะเดินทางมากระทรวงฯ วันที่ประชุม แต่ตัดสินใจไม่มาเพราะพวกเราฝากความหวังไว้กับทางทส.ที่เพิ่งยื่นหนังสือไปไม่นานก่อนหน้าว่าจะเป็นตัวแทนพวกเราไปประชุมกับกระทรวงอื่นๆ ว่าเราคัดค้านการขยายโควตานำเข้าเศษพลาสติก แต่วันนั้นตัวแทนซาเล้งกลับถูกกีดกันจากประชุม”
ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าว
ปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีคพ. ชี้แจงกับผู้แทนซาเล้งว่าการตัดตัวแทนซาเล้งและภาคประชาสังคมออกจากประชุมออนไลน์เป็นความผิดพลาดทางเทคนิคและไม่ได้มีจุดประสงค์จะกีดกัน หน่วยงานรัฐได้เชิญชาวซาเล้งเข้าร่วมตามวาระที่เกี่ยวข้องและเชิญออกเมื่อเข้าวาระอื่น พร้อมเสริมว่าเหตุผลที่ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมอยู่ร่วมตลอดการประชุมนั้น เป็นเพราะดำรงตำแหน่งหนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ
การเจราจาดังกล่าว นำไปสู่ข้อสรุปว่าคพ.จะเปิดพื้นที่ให้ชาวซาเล้งมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจเพิ่มขึ้นอย่าง “เป็นทางการ” โดยจะขอรมว.ทส.ให้ตั้งตัวแทนสมาคมซาเล้งเป็นคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และคพ.ยังรับปากเป็นคนกลาง เปิดพื้นที่ให้สมาคมซาเล้ง (ผู้ขายขยะพลาสติก) คุยกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรีไซเคิล (ผู้รับซื้อขยะพลาสติก) เพื่อหารือรายละเอียดโดยตรง

“กรมควบคุมมลพิษ” โยนกลอง ยันไม่มีอำนาจตัดสินใจ
“ขยะนำเข้าไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถตัดสินใจได้คนเดียว เพราะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ จะต้องรับฟังความเห็นจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย” ตัวแทนคพ.ว่า
ตามตำแหน่ง คพ.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของ “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมีประธานคณะคือ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้มีหน้าที่จัดทำข้อมูลแนวทางเลือกกรอบเวลายกเลิกขยะนำเข้าส่งให้ “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ซึ่งมีรมว.ทส.เป็นรองประธาน ทำงานควบคู่กับรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ
คพ.ออกแถลงร่วมกับทส.ชี้แจงผลการประชุมครั้งล่าสุด ว่าได้กำหนดปีห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 3 ทางเลือก ได้แก่ ในปี 2564 ปี 2565 และปี 2569
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีคพ.ประเมินว่าน่าจะเป็นตามแนวทางที่สอง คือ ยกเลิกการนำเข้าในปี 65
เขาเผยว่าการระงับการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังพบบริษัทลักลอบนำเข้าปริมาณมาก โดยวันพุธที่ 8 ก.ย.ได้เดินทางไปท่าเรือแหลมฉบังเพื่อตรวจสอบการลักลอบนำเข้าขยะ
“ตั้งแต่รัฐบาลคสช.รัฐบาลมีเจตนารมย์จำกัดการนำเข้าเศษพลาสติก เพื่อที่จะใช้ขยะบ้านเราให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แต่จะทำอย่างไรให้เร็วสุดและเกิดผลกระทบไม่มากเกินไป ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพยายามทำงานร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์”
ด้าน กรมการค้าต่างประเทศ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ได้เผยหลังเข้าร่วมประชุมร้อนสัปดาห์ก่อนว่าตามพ.ร.บ.สินค้านำเข้าฯ แล้ว กระทรวงพาณิชย์เป็นเสมือนแค่ “คนปลายน้ำ” ที่ทำหน้าที่ประทับตรากฎหมาย ตามที่กระทรวงเจ้าของเรื่องอย่างสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมเสนอขอมาเท่านั้น

“กรมโรงงาน” เปิดเกมต่อรอง เว้นนำเข้าขยะที่กระทบซาเล้ง
ช่วงบ่าย ม็อบซาเล้งเดินทางไปยื่นหนังสือกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมข้อเรียกร้องเจาะจงถึงกรมโรงงานให้ดำเนินการ “บังคับโรงงานและผู้นำเข้าเศษพลาสติกที่แอบเก็บไว้ ประมาณ 600,000 ตันออกมารีไซเคิลให้หมดก่อนคอยมาร้องขอให้เปิดโควตาใหม่”
จากข้อมูลกรมศุลกากร ระบุว่า มกราคม – พฤษภาคม ปีนี้ ไทยนำเข้าเศษพลาสติกกว่า 58,000 ตัน แต่ส่งออกไปเพียง 28,000 ตัน เช่นเดียวกับหลายปีก่อนหน้า ที่ปริมาณส่งออกน้อยกว่าปริมาณน้ำเข้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้สมาคมซาเล้ง ตั้งคำถามว่า ยังมีเศษพลาสติกตกค้างในไทยปริมาณมาก จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าเพิ่มอีก
วีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานยืนยันกับทางซาเล้งว่า ล่าสุด ยังไม่ได้มีข้อสรุปเรื่องขยายโควตานำเข้าเศษพลาสติก และการตัดสินใจยกเลิกนำเข้าขั้นสุดท้ายนั้น จะต้องส่งเรื่องเข้าบอร์ดสิ่งแวดล้อมให้เป็นผู้พิจารณา
ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนั้นอาจจะกำหนดชะตาปากท้องของซาเล้ง สมาคมซาเล้งจึงได้ยื่นข้อต่อรองกับกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้ละเว้นการนำเข้าขยะบางประเภทที่มีมูลค่าอย่างพลาสติกประเภทขวดน้ำ (PET) และขวดขุ่น (PE)
“การนำเข้าเศษพลาสิกทุกวันนี้ของไทยเป็นแบบเหมาเข่ง คือ นำเข้าหมดเลยทุกประเภทปะปนกันมาก ซึ่งสำหรับซาเล้ง พลาสติกบางประเภทมีราคาเป็นรายได้ที่พึ่ง เราเลยอยากขอให้พิจารณายกเว้นนำเข้าขยะประเภทนี้”
นายกสมาคมซาเล้งกล่าว
ตัวแทนซาเล้งเผยว่า ราคาขวดน้ำพลาสติกตกลงมาจากเดิมกิโลละ 15-20 บาท ซึ่งซาเล้งจะได้กำไรราว 5 บาท วันนี้ราคารับซื้อเหลือเพียง 8 บาทเท่านั้น ซึ่งนอกจากซาเล้งจะไม่คุ้มทุนค่าน้ำมันไปตระเวนรับขวดจากครัวเรือนแล้ว ยังเข้าเนื้อหลายครั้ง
“กระทรวงอุตสาหกรรมขอรับเรื่องไว้และจะนำข้อเสนอเรื่องละเว้นนำเข้าประเภทพลาสติกไปพิจารณาอย่างรอบคอบ” ตัวแทนอุตสาหกรรมกล่าวย้ำกับม็อบซาเล้งที่มาเยือนกระทรวง
