“ซ่อมแทนซื้อ” เทรนด์ใหม่แฟชั่นสีเขียวในไทย?

เย็นวานนี้ มีการเปิดตัวของ “Reviv” แบรนด์สตาร์ทอัพเสื้อผ้าที่ชูคอนเซ็ปต์รักษ์โลก “ซ่อมแทนซื้อ” เป็นการเปิดตัวอย่างน่าสนใจ ท่ามกลางยุคโควิด ยุคที่วิถีชีวิตผู้คนต้องพึ่งบริการออนไลน์สูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 

ปรากฎการณ์นี้ เป็นแค่การทดลองเล็กๆ ของคนกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นสัญญาณบอกทิศใหม่ๆ ของอนาคตวงการแฟชั่นไทย?

โพสต์เปิดตัวทาง Facebook (ภาพ: Reviv)

การปรากฏตัวของ Reviv

“เรียนลูกค้าและผู้ติดตามเพจทุกท่าน ทีม Reviv (รีไวฟ์) มีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่าตั้งแต่วันนี้พวกเราเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว .. ” 

ข้อความโพสต์ประกอบการเปิดตัว Reviv เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (2 ก.ย. 2564) ที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดตัวแบรนด์ที่สมถะ เรียบง่าย และสอดรับกับยุคสมัยแห่งการระบาดโควิดไม่น้อย ที่สำคัญ สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

“Reviv เป็นผู้ให้บริการซ่อมและปรับแต่งเสื้อผ้าออนไลน์ที่มีความตั้งใจอยากให้การซ่อมเสื้อผ้าเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น พันธกิจหลักของเรา คือการถักทอวัฒนธรรมการบริโภคเสื้อผ้าที่ใส่ใจโลกและผู้คน โดยมี 3 ภารกิจหลักเป็นเข็มทิศในการทำธุรกิจ คือ 1) ทำให้การใส่เสื้อผ้าซ้ำและการดูแลรักษาเสื้อผ้าเป็นเรื่องปกติและทันสมัย 2) ส่งเสริมเศรษฐกิจที่เกื้อกูลสังคม (inclusive economy) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และ 3) พัฒนาและส่งเสริมแรงงานช่างเย็บสำหรับธุรกิจ slow fashion” ประโยคแนะตัวตัวเองของ Reviv ที่ประกาศผ่านเว็บไซต์

ทีมงาน Reviv (ภาพ: Reviv)

สตาร์ทอัพ “เพื่อสิ่งแวดล้อม”: จากคอนเซ็ปต์ สู่บริการ ถึง Green Economy

“เราเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งและดำเนินงานโดยทีมงานที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไปในทิศทางเดียวกับความยั่งยืน เราเห็นคุณค่าของกลุ่มคนตัวเล็กและพลังของนักเคลื่อนไหว (activists) ที่ต้องการเปลี่ยนระบบโครงสร้างที่ล้มเหลวตอนนี้ให้ดีกว่าเดิม” ทีมงาน Reviv กล่าวในโพสต์เปิดตัว

“Reviv (รีไวฟ์) ​​ธุรกิจสตาร์ทอัพแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม แพลตฟอร์มออนไลน์ให้บริการซ่อมและปรับแต่งเสื้อผ้า ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการผ่านทาง Facebook เป็นทางเลือกหนึ่งในการบริโภคอย่างยั่งยืนด้วยการลดการผลิตเพิ่มและผลักดันวัฒนธรรมการซ่อมแซมให้กลับมาอีกครั้ง

แรงขับเคลื่อนของแบรนด์คือโครงสร้างการบริโภคเสื้อผ้าปัจจุบันที่ล้มเหลว กระแสแฟชั่นอิงตามความนิยม ทำให้เมื่อหมดความนิยม เสื้อผ้าจึงกลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว (fast fashion) ส่งผลให้ธุรกิจเสื้อผ้ากลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

อุตสาหกรรมดังกล่าวใช้ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานปริมาณมหาศาลแบบไม่บันยะบันยังเพื่อผลิตเสื้อผ้าใหม่อย่างไร้ความยั่งยืน ก่อนนำมาเทขายในตลาดเสื้อผ้าที่มีสินค้าอยู่ล้นเหลือเพียงพอให้ทุกคนบนโลกใส่ได้สบายๆ โดยมีเป้าหมายเดียวคือการแสวงหากำไรจากความต้องการซื้อเกินจำเป็นซึ่งถูกผลักดันด้วยวิถีบริโภคนิยมที่ให้ค่ากับการซื้อเสื้อผ้าใหม่อย่างไร้ที่สิ้นสุด” แถลงการณ์บนเว็บไซต์ระบุ

“ร้านค้าปลีกได้รายได้จากการขายเสื้อยืดหนึ่งตัวราว 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาขาย ขณะที่คนงานเย็บผ้าได้ค่าจ้างน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวนมากต้องทำงานในสภาพแวดล้อมย่ำแย่เป็นเวลานานเพื่อค่าจ้างต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่แทบไม่เพียงพอต่อการยังชีพ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับค่าจ้างต่ำยิ่งกว่า อีกทั้งยังขาดแคลนการคุ้มครองสิทธิแรงงานและไร้สวัสดิการ ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขแม้จะมีความพยายามเนิ่นนานนับทศวรรษ

วันนี้ Reviv เปิดให้บริการซ่อมเสื้อผ้าออนไลน์ ด้วยความตั้งใจ อยากให้การซ่อมเสื้อผ้าเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น โดยให้บริการซ่อมเสื้อผ้าที่ชำรุดและบริการปรับแต่งเสื้อผ้าให้มีลวดลายเพิ่มขึ้น โดยผู้สนใจสามารถเลือกใช้บริการด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ ที่เป็นลักษณะการหยิบใส่ตะกร้าเหมือนการช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วไป หรือผ่าน Face-to-face Ordering Service พูดคุยสั่งซื้อกับทีมงานโดยตรงผ่านวิดีโอคอล และตามพันธกิจที่ประกาศบนเว็บไซต์ ในขั้นตอนการซ่อมแซมเสื้อผ้าทุกชิ้นที่ส่งมาจะถูกซ่อมแซมโดยช่างฝีมือกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานไร้สัญชาติ 

เราทำงานร่วมกันกับชุมชนม้งที่อาศัยอยู่ในเมืองกรุงเทพฯ ชาวม้งมีความเชี่ยวชาญในการปักผ้ามานานแล้ว เพราะเป็นวิถีชีวิตและเรื่องราวทางวัฒนธรรมของหญิงชาวม้งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น แต่ความรู้นี่กำลังหดหายไปเมื่อพวกเขาต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย การใช้ชีวิตโดยไม่มีสัญชาติทำให้ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องมากกว่าการรักษาวัฒนธรรมความรู้ของบรรพบุรุษตน

เป้าหมายของเราคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับแม่ๆ ชาวม้งผ่านการให้ค่าจ้างที่เหมาะสมและการจัดสรรกองทุนเพื่อสังคมให้กับพวกเขา พร้อมๆ กับช่วยสืบสานวัฒนธรรมอันเก่าแก่ผ่านการออกแบบผ้าและลายใหม่ๆ ร่วมกัน” ทีมงาน Reviv อธิบายผ่านเว็บไซต์

ความอยู่รอดของธุรกิจ: ความท้าทายสำคัญ

“ตามจริงมีคนให้บริการเย็บซ่อมผ่านทาง Facebook อยู่แล้ว แต่เท่าที่รู้ยังไม่พบเจ้าไหนที่อยากพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มบริการจริงจังแบบเราในไทยเลย

ความคาดหวังของพวกเราก็คือ ชวนคนมาใช้บริการของเราให้มากที่สุด เพราะทุกออเดอร์ที่เราได้เพิ่ม นั่นหมายถึงการทำตามภารกิจของเราไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมให้คนซ่อมเสื้อผ้าและใช้เสื้อผ้าซ้ำเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการสร้างรายได้ของพวกเราและของแม่ๆ ในชุมชนที่เราทำงานด้วย

สถานการณ์ทำให้เราต้องยืดหยุ่นกับโมเดลธุรกิจของเรา เพื่อให้ธุรกิจเราไปต่อได้พร้อมกับทำตามพันธกิจของเราไปด้วย เบื้องต้นเราได้เตรียมแผนการตลาดอื่นๆ ไว้ ทั้งการทำงานกับ influencer และการ partner กับ sustainable brand อื่นๆไว้แล้ว” ตัวแทน Reviv เปิดเผยถึงความคาดหวังต่อความสำเร็จ ในวันเปิดตัว จากมุมเจ้าของแบรนด์

สู่ภาพฝัน “อุตสาหกรรมแฟชั่นสีเขียว” 

“พวกเราเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัยนี้มานานเกินไปแล้ว ทั้งหลักฐานเชิงประจักษ์จากนักวิทยาศาสตร์หลากแขนง อาการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วมุมโลก และเสียงต่อต้านของกลุ่มคนรุ่นใหม่และรุ่นต่อๆไปจำนวนมากที่เป็นห่วงอนาคตของพวกเขาเอง สิ่งเหล่านี้กำลังเพรียกร้องบอกเราว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่อาจเดินหน้าต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับเราการลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงก้าวแรกของแฟชั่นที่ยั่งยืน ก้าวต่อไปคือการแสวงหาโอกาสเพื่อใช้ธุรกิจเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนทางสังคม หยิบจับทรัพยากรและความคิดสร้างสรรค์ที่เรามีเพื่อผนวกเอาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตโดยชนชั้นรากหญ้าหรือกลุ่มผู้เปราะบางแล้วแปลงเป็นบริการ เปิดทางให้ชื่อเสียงและผลิตภัณฑ์ที่รังสรรค์โดยช่างเย็นผ้ากลายเป็นที่รู้จัก

ใช้ธุรกิจของเราเป็นแพลตฟอร์มกระบอกเสียงเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ทีมงาน Reviv กล่าวผ่านเว็บไซต์

สำหรับคำถามสำคัญ “ปรากฎการณ์นี้ เป็นแค่การทดลองเล็ก ๆ ของคนกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นสัญญาณบอกทิศใหม่ๆ ของอนาคตวงการแฟชั่นไทย?” ภาคภูมิ โกเมศโสภา ผู้ร่วมก่อตั้ง Reviv (รีไวฟ์) ขอตอบผ่านการสัมภาษณ์สด “GreenLive: ‘Reviv’ สตาร์ทอัพแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม กำลังบอกอะไรคนไทย?” ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในช่วงสายวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ย. นี้ ซึ่งเนื้อหาบทสนทนาจะรวมถึง เบื้องหลังการก่อตั้งสตาร์ทอัพเพื่อสิ่งแวดล้อมน้องใหม่แบรนด์นี้ด้วย