คดีจ่อยิงชาวบ้านคืบ แต่คดีที่ดินบ.ปาล์มน้ำมัน “สันติพัฒนา” ยังต้องรอต่อ

ศาลสุราษฎร์ฯ พิพากษาจำคุกคนร้ายที่บุกจ่อยิง “ดำ อ่อนเมือง” แกนนำชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา “คดีแรกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ระบบยุติธรรมหาคนผิดได้” ทนายเผย ขณะที่กรณีพิพาทที่ดินชุมชนยังคงต้องรอต่อ “ยังไม่มีการจัดสรรอย่างเป็นรูปธรรม กลไกรัฐล่าช้า มีเพียงบางส่วนที่ได้ทะเบียนบ้านชั่วคราว” ชาวบ้านเผย

ดำ อ่อนเมือง ผู้เสียหายจากคดีลอบสังหาร (ภาพ: Protection Internaitonal)

คดีแรกของสกต.ที่ระบบยุติธรรมหาคนผิดได้

26 สิงหาคม 64 เวลา 09.00 น.ศาลจังหวัดเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีคำพิพากษาจำคุกและชดใช้ค่าเสียหายผู้พยายามลอบสังหารดำ อ่อนเมือง นักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนา หนึ่งในชุมชนสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่รอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารโดยหลบกระสุนปืนได้อย่างฉิวเฉียด 

คดีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เวลา 01.00 น. ขณะที่ดำ อ่อนเมือง นักปกป้องสิทธิในที่ดินและสมาชิกชุมชนสันติพัฒนาอีกจำนวน 4  คน กำลังทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนบริเวณทางเข้าชุมชน คนร้ายได้บุกเข้ามาและนำปืนจ่อยิงเข้าไปที่ศีรษะของนายดำ แต่นายดำสามารถหลบคมกระสุนทัน ทำให้รอดชีวิตจากการลอบสังหารที่อุกอาจและซึ่งหน้ามาได้อย่างหวุดหวิด หลังจากก่อเหตุคนร้ายได้ขับรถยนต์หลบหนีไป

ผู้ก่อเหตุ สมพร ฉิมเรือง อดีตคนงานของบริษัทปาล์มน้ำมันเอกชนที่มีข้อพิพาทกับชุมชน ถูกจับกุมที่บ้าน พร้อมกับอาวุธปืนที่เกิดเหตุ และถูกดำเนินการตามกฎหมาย ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืน ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร  ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน

ล่าสุด​​ศาลจังหวัดเวียงสระ มีคำพิพากษาจำคุกสมพร ฉิมเรือง (จำเลย) เป็นเวลา 13 ปี 16 เดือน และขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ดำอีก 30,000 บาท เนื่องจากนายดำได้เรียกค่าเสียหายไปเป็นจำนวน 60,000 บาท และจำเลยได้ชดใช้ไปแล้วจำนวน 30,000 บาท (เป็นการสรุปคำพิพากษาเบื้องต้น)

ดำ อ่อนเมือง ในฐานะผู้เสียหาย กล่าวถึงความรู้สึกว่า รู้สึกพอใจในคำพิพากษา รู้สึกว่าตนเองได้รับความยุติธรรมแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้ของสกต.ที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อนๆ ได้ถูกสังหารไปแล้ว 4 คน และยังถูกลอบยิงอีกสองคนรวมตนเอง เรื่องของตนเองเป็นครั้งแรกที่สามารถจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้จริง ถือว่าเป็นผลดีกับสกต. ที่ได้รับความยุติธรรมในครั้งนี้

ส่วน อัมพร สังข์ทอง ทนายความของดำ กล่าวหลังจากได้รับทราบผลของคำพิพากษาแล้วว่า รู้สึกพอใจกับความพิพากษาในวันนี้ เพราะเห็นว่าศาลมีคำพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย 

“คดีนี้เป็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นคดีแรกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่กระบวนการยุติธรรมสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยที่ผ่านมามีผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกลอบสังหารไปแล้ว 4 คน และ พยายามถูกลอบสังหารไปแล้วจำนวน 1  คน ก็ไม่สามารถที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้” อัมพรกล่าว

ดำ อ่อนเมืองและสมาชิกสกต.เข้าฟังคำพิพากษา (ภาพ: Protection International)

ผู้จ้างวานฆ่ายังลอยนวล-สกต.คนอื่นยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

การพิพากษาจำคุกคำเลยในครั้งนี้ ดูเหมือนเป็นสัญญาณที่ดี ทว่าในความเป็นจริง การต่อสู้ยังไม่จบสิ้นและผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุยังไม่ถูกลงโทษ

ถึงแม้ว่าผู้เสียหายหรือประจักษ์พยานก็ยืนว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำ และมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ก็อาจจะมีความกังวลว่าจำเลยจะดำเนินการอุทธรณ์คดีซึ่งเป็นไปตามสิทธิของจำเลย โดยการอุทธรณ์สามารถทำได้ภายใน 30 วัน ซึ่งหากจำเลยยื่นอุทธรณ์ จะดำเนินการเขียนคำคัดค้านการอุทธรณ์ ทนายอัมพร เจ้าของคดีให้ความเห็น

“เราก็คลายความกังวลไประดับนึงเพราะว่าตอนแรกไม่คิดว่าจะมีคำพิพากษาจำคุก ถ้าเกิดมีการประกันตัวออกมาได้ ชุมชนก็อาจจะไม่ปลอดภัยอีก ซึ่งทางจำเลยก็มีบริษัทหนุนหลัง เราก็เลยยังกังวล 

นอกจากนี้การก่อเหตุในวันนั้น ยังมีบุคคลที่นั่งรถมาด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่สามารถติดตามตัวตนได้ และก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร ทางเราก็ยังต้องเฝ้าระวังกันอยู่ว่าผู้ก่อเหตุอาจจะกลับมาดักทำร้ายสมาชิกได้อีก” ธีรเนตร ไชยสุวรรณ แกนนำสกต.ในพื้นที่ กล่าว

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า “การที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดกรณีสังหารนายดำ อ่อนเมือง สมาชิก สกต. ถือเป็นชัยชนะระดับหนึ่งของชาวบ้าน อย่างไรก็ดีการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดต่อผู้จ้างวานฆ่าถือเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม และทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล”

“ดิฉันหวังว่ากรณีนี้จะกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลหามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และยุติการลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทยต่อไป” อังคณากล่าว

“รอต่อไป” การทวงคืนที่ดิน สันติพัฒนา

ชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งใน 5 ชุมชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดินในการเข้ามาตรวจสอบที่ดินของรัฐที่หมดสัมปทานหรือการอนุญาตให้บริษัทเอกชนทำประโยชน์ในที่ดิน

การต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินของชุมชนเริ่มตั้งแต่ปี 2550 เมื่อบริษัทเอกชนซึ่งทำธุรกิจปาล์มน้ำมันที่เข้ามาบุกรุกในที่ดินในเขตของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และพื้นที่ป่าไม้ถาวรของกรมป่าไม้ ทำให้คนในชุมชนถูกขับไล่ออกจากที่ดิน เกิดเหตุฆาตกรรมนักปกป้องสิทธิเช่นนายดำ และหลายคนยังถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงถึง 15,000,000 บาท

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้มีการฟ้องกรมที่ดิน ขอให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกให้บ.น้ำมันปาล์มรายหนึ่งโดยไม่ชอบ และฟ้องกรมป่าไม้ให้เร่งดำเนินคดีต่อบริษัทน้ำมันปาล์มที่บุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่ป่าไม้และให้ออกจากที่ดินดังกล่าวเพื่อให้ภาครัฐนำทรัพยากรที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนในรูปแบบของโฉนดชุมชน 

มีนาคมที่ผ่านมา ศาลได้มีคำพิพากษาให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 23 แปลงที่ออกโดยไม่ชอบให้กับบริษัทน้ำมันปาล์มภายใน 180 วัน 

ธีรเนตร กล่าวถึงความคืบหน้าในตอนนี้ว่า เมื่อประมาณสองเดือนที่แล้ว ชาวบ้านได้ผลักดันจนมีการออกบ้านเลขที่ชั่วคราว ทำให้มีความมั่นคงไปในระดับหนึ่ง แต่ก็ได้แค่เฉพาะในพื้นที่ของ ส.ป.ก. 

“ส่วนที่ดินของพี่น้องอีกสิบกว่าครอบครัวที่อยู่ในเขตป่าไม้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการชุดติดตามที่มีท่านธรรมนัสเป็นประธาน มีมติว่าจะผลักดันให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ส.ป.ก. และนำมาปฏิรูปให้กับพี่น้องเกษตรกรในชุมชนสันติพัฒนาพร้อมกันเลย แต่ตอนนีกำลังดำเนินการ ซึ่งค่อนข้างล่าช้าเพราะมีหลายขั้นตอน กว่าจะออกเป็นกฎหมายมาได้

การจัดสรรพื้นที่ๆ เป็นรูปธรรมจะเหมือนกับเป็นการตัดความหวังของบริษัทที่จะกลับเข้ามาในพื้นที่อีก เพาะเขาก็พยายามยื้อ ยื้อเพื่อจะไล่ชุมชนออก

กว่า 10 ปีที่ต่อสู้ และ 8 ปีที่รอคำพิพากษา วันนี้ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาก็ยังไปไม่ถึงความมั่นคงในที่ดินทำกินและอยู่อาศัย จาก 80 ครอบครัว มีเพียงบางส่วนที่เพิ่งได้ทะเบียนบ้านชั่วคราว” ธีรเนตรกล่าว

ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International กล่าวถึงปัญหาที่ดินและสิทธิมนุษยชนว่า 

“ในประเทศไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นจากการแสวงหาและใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องจากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการทุจริตในโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมและขบวนการต่อสู้ของพวกเขา เช่นกรณีนี้คือ นายดำ อ่อนเมืองและสกต. คือประชาชนที่ยืนหยัดอย่างเข้มแข็งในการต่อต้านระบบนี้”