สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติการจ่ายเงินรอบที่สองให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ กรณี “เขื่อนหัวนา” เป็นเงินอีก 34 ล้านบาท เพิ่มจากรอบแรกที่จ่ายไปแล้ว 62 ล้าน ฟังดูเป็น “ข่าวดี สัญญาณที่ดี” หากแต่เมื่อส่องเข้าไปในรายละเอียดและกระบวนการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว ภาพที่เห็นกลับถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า “น่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม”
(ภาพ : THAIPBS)
ล่าช้า : เพิ่งเริ่มจ่าย 100 ล้านบาทให้ 1000 ไร่ จากทั้งหมด 10,000 ไร่
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี อนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ครั้งที่ 2 /2564 โดยประชุมออนไลน์บนระบบ Avaya เคาะเป็นเงิน 34 ล้านบาท พื้นที่ 350 แปลง จำนวน 2,000 คน ทั้ง 3 พื้นที่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ และอำเภอราษีไศล นับเป็นครั้งที่สองที่อนุมัติค่าชดเชย
เขื่อนหัวนา เป็นโครงการของโขง ชี มูล ก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ.2533 เป็นเขื่อนคอนกรีต ขนาด 14 บานประตูกั้นแม่น้ำมูล ขณะที่ก่อสร้างเขื่อนส่งผลให้ชาวบ้าน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.กันทรารมย์ อ.เมืองศรีสะเกษ อ.ราษีไศล อ.อุทุมพรพิสัย และอ.ยางชุมน้อย ของจังหวัดศรีสะเกษ สูญเสียที่ดินทำกินเพราะถูกน้ำท่วมกว่า 10,000 ไร่
ที่ผ่านมาประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงสิทธิที่ดินทำกินเป็นเวลา 30 ปี ก่อนที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนเยียวยา (รอบแรก) เมื่อวันที่ (18 พฤษภาคม 2564) เป็นจำนวนเงิน 62 ล้านบาท พื้นที่ 628 ไร่ รวม 104 แปลง ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนาฯ เฉพาะพื้นที่อำเภอกันทรารมย์ จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน
“ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการ ฯ คณะอนุกรรมการ ฯ และ คณะทำงาน ฯ ได้ทำหน้าที่ จนได้ข้อสรุป ได้ข้อมูล สำหรับที่จะใช้ในการจ่ายเงินค่าชดเชย ตามลำดับความสมบูรณ์ของข้อมูลแต่ละชุดที่ไม่พร้อมกัน
อนุมัติเงินค่าชดเชยให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (รอบสอง) รอนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี จนกว่าจะมีมติอนุมัติเงินค่าชดเชย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 สัปดาห์ ขั้นตอนโดยปกติดูท่าจะได้เร็วอยู่ ท่านรองกำชับเร่งด่วน ดูท่าจะไม่เร็วกว่านี้
ที่ดินมีอยู่ประมาณ 10,000 ไร่ที่ได้รับผลกระทบรอการจ่ายค่าชดเชย ที่ผ่านมาเขาจ่ายแค่ 400-500 ไร่เอง รอบนี้ไม่กี่ร้อยไร่ ยังไม่ถึงพันไร่ นั้นหมายความว่ายังต้องจ่ายชดเชยอีก 9000 ไร่
รอบแรก 104 แปลง คือพื้นที่อ.กันทรารมย์ รอบเมื่อวาน 350 แปลง มีอ.กันทรารมย์ อ.เมืองศรีสะเกษ อ.ราษีไศล ยังมาแค่ 3 อำเภอ แค่บางส่วนที่ยังไม่ได้ทั้งหมด อ.ยางชุมน้อย และอ.ทุมพรพิสัย ข้อมูลยังไม่เสร็จ และยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังยื่นคำขอไม่ครบ ” กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษากลุ่มโนนสังข์ กรณีเขื่อนหัวนา กล่าว
ปัจจุบันจำนวน 1,000 ไร่ คือพื้นที่ที่มีสัญญาณจากภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ของคณะกรรมการกำกับการจ่ายเงินค่าชดเชย ซึ่งกำลังอยู่ขั้นตอนการจ่ายเงินค่าชดเชย เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประชาชนบางส่วนได้รับเงินค่าชดเชยแล้ว ทว่ายังเหลืออีกประมาณ 9,000 ไร่ โดยเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนที่ต้องสำรวจตรวจสอบข้อมูลเพื่อเสนอปัญหาในพื้นที่ ทวงคืนสิทธิที่ดินที่หายไป
กลไกซับซ้อน ไม่นิ่ง อัตราชดเชยต่ำ
กฤษกร เปิดเผย ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนานถึง 30 ปี ขณะนี้มีความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยกลไกคณะรัฐมนตรี เคาะมติ ครม. (16 พ.ย. 2553 และ 1 ต.ค. 2562) หรือ ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา’ เพื่อชดเชยค่าเสียหายกับผู้ได้รับผลกระทบ
กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการพิสูจน์สิทธิกรณีแปลงที่ดินของราษฎรที่ถูกเขตโครงการฝายหัวนา ที่มีการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน 1. ประกาศให้ราษฎรยื่นคำร้อง 2. นำคำร้องลงทำการรังวัด 3. นำเสนอคณะกรรมการฯระดับอำเภอ 4. นำเสนอคณะกรรมการฯ (ชุดใหญ่) 5. นำเสนอคณะรัฐมนตรี
แม้คณะกรรมการฯ (ระดับชาติ) อนุมัติเงินค่าชดเชยให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (รอบสอง) แล้วเป็นจำนวน 350 แปลง ยังต้องรอนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ส่วนผลการจ่ายเงินค่าชดเชย (รอบแรก) จำนวน 104 แปลง ด้านชลประทาน ฝ่ายเลขานุการ ได้รายงานผลการจ่ายเงินค่าชดเชย
โดย ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 82 แปลง สามารถจดทะเบียน และโอนเงินค่าชดเชยให้ชาวบ้านแล้ว 80 แปลง ส่วนอีก 2 แปลง เจ้าของที่ดิน ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดการมรดก และ ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ (บริเวณหัวงานเขื่อนหัวนา) จำนวน 22 แปลง ยังไม่ได้รับค่าชดเชย ตรวจสอบพบที่ดินจำนวน 10 แปลง เคยมีการรับเงินค่าชดเชยมาแล้ว ในช่วงการก่อสร้างเขื่อนหัวนา
ที่ปรึกษากลุ่มโนนสังข์ กรณีเขื่อนหัวนา อธิบายอีกว่า “เตรียมนำเสนอคณะทำงานระดับอำเภอ เพื่อติดประกาศคัดค้าน จำนวน 459 แปลง พื้นที่ 5 อำเภอ 1. อำเภอกันทรารมย์ จำนวน 146 แปลง 2. อำเภอเมืองศรีสะเกษ จำนวน 12 แปลง 3. อำเภอยางชุมน้อย จำนวน 94 แปลง 4. อำเภออุทุมพรพิสัย จำนวน 30 แปลง 5. อำเภอราษีไศล จำนวน 151 แปลง
ยังพบข้อมูลจำนวนแปลงในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อย และ อำเภออุทุมพรพิสัย มีเพิ่มจากนี้ เนื่องจาก มีการโยกย้ายข้อมูลจากอำเภอราษีไศล และกรณีพื้นที่หนองจรเข้ ตำบลโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ อยู่ในการดำเนินการของผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่”
บารมี ชัยรัตน์ (ภาพ : ประชาไท)
จงใจสร้างเงื่อนไข “แบ่งแยก-ให้ทะเลาะกันเอง” ?
ภาคประชาสังคม กรณีปัญหาเขื่อนหัวนา ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 กลุ่ม และเป็นส่วนหนึ่งของกลไก‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา’ ตามคณะรัฐมนตรีออกมติ ครม. (11 กุมภาพันธ์ 2564) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาครอบคลุม พื้นที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1.กลุ่มโนนสังข์ 2.กลุ่มราษีไศล 3.กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน 4.กลุ่มสมัชชาเกษตรกรอีสาน (สกอ.) และ 5.กลุ่มสมัชชาคนจน (สคจ.) ทว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมระดับกลไกดังกล่าว ไม่เป็นผลดีเสมอไป
บารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน (สคจ.) อธิบายว่า ยังพบว่ามีอุปสรรคด้านความต้องการแก้ไขปัญหากลุ่มในแต่ละพื้นที่ แตกต่างกัน แต่ยังต้องอาศัยความเข้าใจปัญหาของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จึงยื่นขอยกเลิกมติครม. 11 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มภาคประชาสังคมด้วยกัน เมื่อวันที่ (5 สิงหาคม 2564) ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหากลุ่มสมัชชาคนจน ครั้งที่ 1/ 2564 ที่ผ่านมา
“มติในกลุ่มเรา(สมัชชาคนจน)ไม่ควรจ่ายค่าภาษี แต่เขา (กลุ่มโนนข์สัง) มีมติว่าจะจ่ายค่าภาษี ก็จ่ายไป เขาจะยอมเสียผลประโยชน์ให้ชาวบ้าน ของผมจะไม่ยอมให้เสียผลประโยชน์ชาวบ้านแล้วจะตั้งคณะกรรมการชุดเดียวกันได้อย่างไร
ผมไม่เคยคัดค้าน เขาสามารถตั้งคณะกรรมการเอง เราก็ต้องยืนยันว่าไปด้วยกันไม่ได้ คุณจะไปตั้งกรรมการอะไรก็ได้เป็นของคุณ คุณมีศักยภาพคุณก็ตั้งเลย ผมก็ไม่ไปยุ่ง การยกเลิกมติครม. เป็นการลดความขัดแย้ง จะมีมติยกเลิก จะมีมติครม.ใหม่ ให้ตั้งกลุ่มของเขาต่างหากหรือเรียกร้องจ่ายค่าชดเชย
ไม่ว่าจะมีผลอย่างไรก็ตามแต่ บุคคลที่มีรายชื่อตามครม.อนุมัติให้จ่ายเงิน ก็จะได้รับเงินตามนั้น ผมไม่เคยไปขัดขวางกลุ่มไหนในการจ่ายเงินทั้งสิ้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมเป็นคณะกรรมการตั้งครม.จะต้อง นั่งคัดค้านค้าน อันนี้ไม่ใช่ สมัชชาคนจนแน่นอน ผมยืนยันได้ว่า มติครม. จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก คนที่มีรายชื่อก็รับเงินเช่นเดิมครับ”
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ประชุมครั้งที่ 2 /2564 มีวาระประชุมเรื่องการยกเลิกมติครม. (11 กุมภาพันธ์ 2564) ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปยกเลิกมติดังกล่าว
รัฐขยับช้า ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
การได้รับค่าชดเชยดูเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง สำหรับประชาชนผู้เรียกร้องแก้ไขปัญหาที่เกิดผลกระทบในพื้นที่บ้านตัวเอง แต่เวลาเป็นสิ่งที่ซื้อกลับคืนมาได้ ล่วงเวลามากกว่า 30 ปี กว่าที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ อำเภอ กันทรารมย์ ได้รับค่าชดเชยรอบแรก ยังต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของกลุ่ม
ที่ปรึกษากลุ่มโนนสังข์ กรณีเขื่อนหัวนา อธิบาย ยังต้องมีการวางแผนการใช้เงินกับกลุ่มชาวบ้าน ในการเริ่มหาทางซื้อที่ ซ่อมบ้าน ใช้หนี้ แม้ภายในกลุ่มยังไม่มีการสรุปข้อเท็จจริงชัดเจน ใครใช้อะไรไปบ้าง ถึงได้รับค่าชดเชยจำนวนเงิน 1.15 แสนบาท แต่ไม่พอเมื่อราคาที่ดินขึ้น 2 แสนบาท คิดว่ายังมีปัญหาอยู่ และยังมีบางส่วนที่ได้ค่าชดเชยคืนมา คาดว่าจะได้ครบทุกกลุ่มในปี 65
“ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาผมคิดว่าเป็นเวลา 30 ปี ถึงได้มีการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งยาวนานเกินพอดี ที่ชาวบ้านเสียประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ที่ดิน อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ ดังนั้นวันนี้จะมีการจ่ายค่าชดเชยไปแล้ว ก็ควรที่จะให้การแก้ไขปัญหาของเขื่อนฝายหัวนา รัฐไม่ควรที่จะชักช้าปล่อยให้ปัญหามันเรื้อรังมา เป็นแบบที่เกิดขึ้นกับเขื่อนหัวนา ที่ยืดเยื้อขนาดนี้
กระบวนการที่ล่าช้าเป็นบทเรียนของภาครัฐที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น รัฐต้องประเมินตัวเองว่ารัฐสร้างโครงการ แต่คุณไม่ยอมแก้ไขปัญหาให้มันรวดเร็ว ปล่อยปัญหามันเรื้อรัง รัฐก็ไม่ควรทำแบบนี้อีก
ปัญหาที่ทำให้เป็นปมกับชาวบ้าน ต้องยืดเยื้อ หนึ่งรัฐไม่พยายามเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านรู้ เราใช้เวลาทะเลาะกันเรื่องระดับน้ำ พื้นที่ผลกระทบอยู่ตรงไหนกันแน่ ใช้เวลา 4-5 ปี ไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่รัฐไม่รู้พื้นที่ขอบเขตตัวเอง
แต่การที่รัฐไม่บอกความจริงเรื่องนี้ทำให้ปัญหาเรื้อรัง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ คือ ความจริงใจของรัฐในการดำเนินการโครงการคุณจะต้องเปิดเผยข้อมูล ทั้งแผนมาตรการต่างๆ เรื่องการชดเชยการเยียวยาชาวบ้าน เพราะต้องเปิดออกมาให้ชัดเจนว่า การช่วยเหลือจากรัฐตรงไหนบ้าง ไม่ใช้ปัญหามันเกิดแล้วมาจัดการ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านก็คือว่าที่ดินของแต่ละคน ที่อยู่ในพื้นที่เขื่อนมันเป็น พื้นที่เสี่ยง บางทีทำได้บ้าง บางทีไม่ได้บ้าง น้ำท่วมบ้าง สภาพแบบนี้ทำให้ชาวบ้านต้องละทิ้งบ้านไปทำงานต่างถิ่น ไม่สามารถทำเกษตรได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตควรได้รับ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ รับจ้างหากินต่างๆ อันนี้คือสิ่งที่หายไป
สมมุติว่าชาวบ้านสามารถหากินได้ ในช่วง 30 ปี มันก็จะเกิดมูลค่ามหาศาล เกิดการสร้างงาน รายได้ ความมั่นคงของครอบครัว เรื่องราวเหล่านี้หายไปความไม่แน่นอน ความคลุมเครือ คือโอกาสที่มันหายไป
การจ่ายค่าชดเชยในครั้งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เขาก็อาจจะเป็นผู้ประกอบการเป็นคนมีฐานะ คนที่ได้รับการศึกษาสูงก็ได้ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบเขาได้มีโอกาสไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เหล่านี้ตั้งหลักช้ากว่าคนอื่นช้ามาก 30 ปี นี้คือโอกาสที่หายไป” กฤษกร กล่าว