เขื่อนกลางเขาใหญ่มรดกโลก “ไม่จริง แค่ขอบป่าหลายพันไร่” กรมชลแจง

กรมชลประทานยอมรับกำลังดัน 5 โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โต้ไม่ได้อยู่กลางป่า แต่กินพื้นที่ขอบป่าหลายพันไร่ และต้องถอดที่ออกจากเขตป่าอนุรักษ์หากอนุมัติสร้างโครงการ ขณะชาวบ้าน-อุทยานฯ ยันไม่ต้องการอ่าง ด้านนักอนุรักษ์เตือนจะกระทบหนักสัตว์ป่า-สะเทือนสถานภาพมรดกโลก

(ภาพ: อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่)

“กำลังดำเนินการ” 5 อ่าง ไม่ใช่ 7

วานนี้ (20 สิงหาคม 2564) เวลา 10.00 – 12.00 น. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเสวนาออนไลน์ “เขื่อน (อ่างฯ) คุกคาม มรดกโลก? ดงพญาเย็น – เขาใหญ่” เนื้อหาหลักของเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกรณีการสร้างอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งรอบพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งมีสถานะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของไทยตั้งแต่ปี 2548

กรกฎาคมที่ผ่านมา ข่าวเรื่องสร้างอ่างเก็บน้ำทับผืนป่าตะวันตะวันออกนี้กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 44 ได้ประชุมถึงสถานะทางการอนุรักษ์ของป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่าการตัดถนนและแผนสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้พื้นที่สูญเสียคุณค่าโดนเด่นอันเป็นสากล จนทำให้ผืนป่าต้องขึ้นบัญชี “สถานะอันตราย” ก่อนหลุดสถานะมรดกโลกหรือไม่

ที่ประชุมมีมติยังไม่ให้ใบเหลือง พร้อมย้ำให้ไทยชะลอแผนสร้างอ่างเก็บน้ำต่างๆ จนกว่าจะประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA) สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมดและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งถัดไป

ล่าสุด วันที่ 19 สิงหาคม คณะกรรมการมรดกโลกของไทย นำโดยประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ประเทศไทย “ชะลอ” โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการไม่ได้ยกเลิกอย่างสิ้นเชิง ยังคงสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย

มหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (ส่วนสิ่งแวดล้อม) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน อธิบายหลายฝ่ายเกิดความเข้าใจผิดว่า อ่างเก็บน้ำจะสร้างขึ้น “กลาง” ป่ามรดกโลก เพราะโครงการไม่ได้มีจะสร้างในใจกลางป่า แต่พื้นที่รอบข้างและมีเพียงส่วนน้อยที่กินพื้นที่มรดกโลก ตัวอย่างเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อจะใช้พื้นที่เพียง 0.003% ของป่ามรดกโลก (พื้นที่รวม 3.8 ล้านไร่)

“โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อจะใช้พื้นที่ 1,800 ไร่ กินพื้นที่ในอุทยานฯ เพียง 1,100 ไร่ ซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่อุทยานซึ่งจัดสรรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ตามมติครม.”

อีกหนึ่งความเข้าใจผิด คือ จำนวนโครงการที่พูดกันว่าจะสร้าง 7 อ่าง มหิทธิ์ชี้แจงว่านั้นเป็นเพราะกรมอุทยานได้ข้อให้กรมชลประทานส่งข้อมูลศึกษาให้ ซึ่งกรมชลฯ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรูปแบบต่างๆ ไว้นานแล้วเป็นเวลากว่า 30-40 ปี ก่อนการประกาศพื้นที่เขาใหญ่เป็นอุทยาน 

“บางโครงการเช่นอ่างเก็บน้ำหนองแก้ว มีการศึกษาไว้ แต่ไม่ได้มีแผนจะสร้าง แต่มันสื่อสารออกไปอย่างนั้น”

ตัวแทนกรมชลฯ ชี้แจงสถานะของแต่ละโครงการอ่างเก็บน้ำที่เป็นประเด็น ซึ่งมีแนวโน้มจะสร้าง 5 แห่ง จำนวนหนึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)

สถานภาพโครงการอ่างเก็บน้ำรอบมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ สิงหาคม 2564 (ข้อมูล: กรมชลประทาน)

เขาอธิบายว่ากรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำบางปะกง

“ลุ่มน้ำบางปะกงมีน้ำท่ากว่าเจ็ดพันล้านลูกบาศก์เมตร เรากักเก็บได้กว่าหนึ่งพันล้านเจ็ดแสน อีกห้าพันล้านไหลทิ้งลงทะเล เรามีน้ำ แต่เราไม่มีที่เก็บเท่านั้นเอง”

“เราไม่ได้มีอ่างเก็บน้ำแค่ 7 อ่าง มีรอบอุทยานเขาใหญ่และลำพระธารเป็นสิบ ทั้งขนาดกลาง เล็ก ใหญ่”

“อ่างเก็บน้ำไม่ได้สามารถทำที่ไหนก็ได้ ต้องทำในพื้นที่เหมาะสม บริเวณป่ามรดกโลกมีลักษณะเป็นหลังคา การพัฒนาพื้นที่เชิงเขาจึงดำเนินการขึ้นมา”

สถานภาพโครงการอ่างเก็บน้ำรอบมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ สิงหาคม 2564 มีทั้งก่อสร้างแล้ว กำลังศึกษาและอยู่ในแผนศึกษา (ภาพ: กรมชลประทาน)

ในเรื่องความจำเป็นที่ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ มหิทธิ์ อธิบายว่าเหตุผลสำคัญหนึ่งคือสร้างเพื่อแก้ปัญหาแล้ง ตัวอย่างเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำโตนสะตอที่คณะกรรมการอุทยานเคยมีมติให้เพิกถอนไปแล้ว แต่ชาวบ้านเรียกร้องให้สร้างเพราะบริเวณตาพระยาแห้งแล้งมาก ทำนาไม่ได้ จึงนำโครงการมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

นอกจากนั้น ยังมีความจำเป็นต้องเก็บน้ำเพื่อช่วยส่งน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศให้ใช้ทำการเกษตรได้ อ่างเก็บน้ำยังช่วยกักเก็บน้ำและเกิดหญ้าขึ้นบริเวณรอบข้าง กลายเป็นที่หากินของสัตว์ป่า เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นฤบดินทรจินดา) ที่กรมอุทยานเก็บข้อมูลพบสัตว์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เขื่อนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ เช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก  เที่ยวล่องแก่งได้ตลอดทั้งปีและมีคนมาเที่ยวเขื่อนกว่า 7-8 แสนคนในช่วงสงกรานต์

“เราไม่ได้ต้องการอ่าง” ผู้ใหญ่บ้าน-หัวหน้าอุทยานเผย

“ฟังแล้วใจหาย เพราะคลองมะเดื่อเป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น A และเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้าน”

ไพบูลย์ จิตร์เสงี่ยม ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านดง ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก คนในพื้นที่เป้าหมายสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ กล่าว

เขาอธิบายว่าชุมชนไม่ได้ต้องการให้มีอ่างเก็บน้ำ เหมือนที่มีการกล่าวอ้างเป็นเหตุผลในการสร้าง เพราะชุมชนไม่ได้ประสบภัยแล้งขนาดที่ขาดแคลนน้ำถึงขั้นไม่มีใช้ในการเกษตร และไม่ได้เกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายบ่อย ยังไม่นับว่าชุมชนอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการเพราะไม่มีการวางท่อส่งน้ำเข้ามาในหมู่บ้านในแผนแต่แรก

เรื่องการท่องเที่ยว เขายืนยันว่าคลองมะเดื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวมามากไม่แพ้เขื่อนขุนด่านฯ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเขื่อน 

“พอทราบข่าวอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ มีการจัดประชุมรับฟังความเห็นครั้งแรก ตอนนั้นชาวบ้านยังไม่รู้ มีแค่ผู้ประกอบการรีสอร์ตสิบเอ็ดรายที่บริษัททำหนังสือแจ้งมา เลยมีแค่นั้นที่ได้เข้าร่วมประชุม” 

ไพบูลย์ อธิบายว่า จะมี 49 ครัวเรือนที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพราะเป็นพื้นที่เป้าหมายสร้างอ่าง แต่แผนรองรับว่าย้ายไปไหนกลับไม่แน่ชัด อีกทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่สวนผลไม้อย่างทุเรียนและส้มโอ ที่นโยบายเยียวยาของรัฐกำหนดเงินชดเชยไว้ต่ำกว่ารายได้ที่แท้จริง

เสียงของคนในพื้นที่สอดคล้องกับตัวแทนเจ้าหน้าที่อุทยาน ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่อธิบายว่าเจ้าหน้าที่อุทยานได้ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อรักษาผืนป่ามรดกโลกมาตลอด หากเกิดเขื่อนขึ้นจะทำลายความพยายามของคนที่ร่วมรักษาผืนป่า เพราะระบบนิเวศป่านั้นมากกว่าเขตอุทยานบนแผนที่ แต่รวมถึงพื้นที่ “สวนป่า” ที่อุทยานฯ ได้ปลูกป่าชั้นล่างเพื่อฟื้นฟูป่าไว้

“ผมไม่โกรธ ไม่เคยว่ากรมชลฯ เลยว่าทำไมต้องทำ ผมรู้ว่าราชการเป็นอย่างไร แต่ผมว่าแผนก่อสร้างมันปรับได้หากทำผลกระทบกับมรดกโลก เรามีทางเลือกปรับให้อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กลงและชุมชนได้ประโยชน์ไหม”

ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ เข้าร่วมเสวนาโดยไม่สวมชุดเจ้าหน้าที่เพื่อแสดงฐานะ “ข้าราชการผู้น้อย” คนหนึ่ง (ภาพ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

นักอนุรักษ์เตือนกระทบหนักสัตว์ป่า สะเทือนสถานะมรดกโลก

ฝั่งนักอนุรักษ์เสือโคร่ง กฤษณา แก้วปลั่ง ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย องค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ กล่าวว่าป่ามีสัตว์กว่า 53 ชนิด บางชนิดมีสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ 

หนึ่งในนั้นคือเสือโคร่ง สัตว์สถานะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายสร้างอ่างเก็บน้ำจะทับกับอาณาเขตหากิน

เสือโคร่งกระจายตัวอยู่ในผืนป่ามรดกโลก (พื้นที่สีเขียว) ซึ่งมีแนวโน้มขยายกว้างมากขึ้น สัญลักษณ์ดาวสีแดงแสดงถึงพื้นที่สร้างเขื่อน (ภาพ:  กฤษณา แก้วปลั่ง)

“เราพบว่ามีเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติทับลาน ปางสีดา และตาพระยาอย่างน้อย 20 ตัว ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นบ้านความหวังหลังที่สองของเสือโคร่ง รองมาจากห้วยขาแข้ง”

ปัจจุบัน เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์  คาดการณ์ว่าสมัยก่อนพบทั่วโลกกว่าแสนตัว ปัจจุบันประเมินไม่เหลือ 3,000 ตัว เป็นเพราะถูกล่าและถิ่นอาศัยเปลี่ยนไป นอกจากนั้นเหยื่อของเสือ เช่น เก้ง กวาง หมูป่า ยังจำนวนลดน้อยลง

อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่น่ากังวลและกำลังเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นในไทย คือ ช้างป่า พิเชฐ นุ่นโต ผู้ประสานงานเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง สมาชิกผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย ฉายภาพโมเดลจำลองสถานการณ์มีเขื่อนในป่าผืนนี้ การสูญเสียพื้นที่ในอุทยานจะกระทบกับพื้นที่อยู่อาศัยของช้างป่าและทำให้ช้างออกมารบกวนชุมชนรอบข้างมากยิ่งขึ้น

“แถบคลองมะเดื่อ มีช้าง 40 ตัว จากแบบจำลองถ้ามีเขื่อน มีความน่าจะเป็นที่ช้างจะเคลื่อนออกมาใช้พื้นที่ในและนอกอุทยานมากขึ้น ซ้ำเติมปัญหาคนกับช้างที่ทุกวันนี้ช้างก็มีแนวโน้มว่าขยายอาณาเขตออกนอกอุทยานเรื่อยๆ อยู่แล้ว” พิเชฐ กล่าว

ช้างในป่าตะวันออกมีแนวโน้มหากินนอกพื้นที่อุทยานมากขึ้น จุดสีเหลืองแสดงบริเวณหากินในปี 2561 และจุดสีแดงแสดงปี 2563 (ภาพ:  พิเชฐ นุ่นโต)

การท้วงถามถึงแนวคิดสร้างอ่างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งอาจจะต้องแลกมาด้วยผืนป่าไม่ใช่ภารกิจใหม่สำหรับมูลนิธิอย่างสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นองค์กรผู้ร่วมจัดเสวนาครั้งนี้ สุรพล ดวงแข กรรมการมูลนิธิ สะท้อนว่าไทยมีบทเรียนมากมายถึงผลกระทบจากเขื่อน เช่น กรณีสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งสืบ นาคะเสถียร ได้ไปช่วยเหลือสัตว์จมน้ำเมื่อหลายปีก่อน

ในฐานะผู้ที่ทำงานในวงการอนุรักษ์มาหลายปี เขามองว่าการสร้างเขื่อนจะกระทบสถานะมรดกโลกของป่าตะวันออกนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ และตั้งคำถามถึงมุมมองของรัฐไทยในการบริหารจัดการน้ำ

“น้ำไม่ได้อยู่ในเขื่อนอย่างเดียว น้ำที่ไหลมาในธรรมชาติก็มีประโยชน์ แต่ความคิดนี้ยังเป็นสิ่งที่ขัดแย้งอยู่ในไทย การสร้างเขื่อนมักอ้างเหตุผลว่าน้ำไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ แต่หารู้ไม่ว่าการที่มันไหลลงทำให้เกิดแร่ธาตุอาหารและประโยชน์มากมาย” 

“ไทยต้องเปลี่ยนแนวคิดบริหารจัดการน้ำ มากกว่าตัดสินใจว่าจะกักเก็บให้ได้ปริมาณเยอะสุดเท่าไหร่เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมทรัพยากรทั้งประเทศ เช่น สนับสนุนการปลูกพืชเกษตรที่ใช้น้ำน้อยและได้ราคา ประเทศไทยมีแต่การกระจายภารกิจให้แต่ละหน่วยงานสร้างสาธารณูปโภค โดยขาดแผนว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร นี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิด” สุรพล กล่าว