แถลง 3 ข้อเท็จจริง “ปล่อยสัตว์คืนป่า” จากผลประชุม BCST-กรมอุทยานฯ

สมาคมอนุรักษ์นกฯ BCST ออกแถลงฉบับสอง หลังประชุมร่วมกรมอุทยานฯ แจง 3 ข้อเท็จ-ข้อจริงโครงการ “ปล่อยสัตว์คืนป่า” ทั้งประเด็น “ปล่อยสัตว์นอกถิ่นอาศัย” “ปล่อยสัตว์สายพันธุ์ไม่แท้-พันธุกรรมปนเปื้อน” และ “ปล่อยสัตว์สายพันธุ์ไม่แท้-พันธุกรรมปนเปื้อน” พร้อมสรุป “ความร่วมมือใหม่ BCST-กรมอุทยานฯ”

(ภาพ: สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย)

จากการท้วงติง สู่ความร่วมมือ

“สืบเนื่องจากแถลงการณ์เรื่องข้อกังวลและความห่วงใยต่อการดำเนินโครงการ “ปล่อยสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อผืนป่าสมบูรณ์” ที่ทางสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ลงในเพจเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมานั้น

ผู้แทนสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยโดยนายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมฯ และคุณทัตฑยา พิทยาภา ผู้อำนวยการสมาคมฯ ได้ประชุมหารือร่วมกับข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ดร.สมหญิง ทัฬหิกรณ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า นายไกรรัตน์ เอี่ยมอำไพ  นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ และดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดี ฯ ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ณ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.00 น. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยา และถิ่นอาศัยของสัตว์ปีกในธรรมชาติ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการให้คำปรึกษา การแลกเปลี่ยนข้อมูล การคัดเลือกสถานที่ การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ การคัดเลือกพันธุกรรมที่ถูกต้อง การตรวจสุขภาพสัตว์ การเตรียมความพร้อมของสัตว์ป่าก่อนการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และการติดตามผลหลังการปล่อย ซึ่งในอนาคตทั้งสององค์กรอาจมีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเกิดขึ้น โดยมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้” แถลงการณ์ฉบับที่สองของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand, BCST) ที่เผยแพร่วันนี้ ระบุ

ปล่อยสัตว์นอกถิ่นอาศัย : ทั้งจริงและไม่จริง

“ประเด็นที่ 1 แถลงการณ์เรื่องการปล่อยชนิดพันธุ์สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาตินอกถิ่นอาศัย พบว่า

(1) กรมอุทยานฯ ยืนยันว่า กรณีการปล่อยนกชาปีไหน และนกลุมพูขาว ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคานั้นเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการรายงานของข่าว เนื่องจากกรมอุทยาน ฯ ได้ปล่อยนกสองชนิดดังกล่าวในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะระ – เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา 

นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา มีรายงานว่าไก่ฟ้าหลังขาวเคยอาศัยอยู่ตามธรรมชาติและสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แล้ว สำหรับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์นั้นมีรายงานการพบไก่ฟ้าหลังขาวในปี พ.ศ. 2540 โดยนายมงคล สาฟูวงศ์ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์แจ้งว่าพบการปรากฎของไก่ฟ้าหลังขาวในพื้นที่อีกด้วย

(2) กรมอุทยานฯ ยอมรับว่ามีการปล่อยสัตว์ป่านอกถิ่นอาศัยเกิดขึ้นจริงตามแถลงการณ์ ฯ  เช่น การปล่อยไก่ฟ้าหลังขาวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และการปล่อยเป็ดเทาพันธุ์อินเดีย ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ก็พร้อมจะปรับปรุงการดำเนินงานให้รอบคอบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” แถลงการณ์ ระบุ

ปล่อยสัตว์สายพันธุ์ไม่แท้-พันธุกรรมปนเปื้อน : ไม่จริง จะสืบหาใครปล่อย

“ประเด็นที่ 2 แถลงการณ์เรื่องการปล่อยสัตว์ที่ไม่ใช่สายพันธุ์แท้และสัตว์ที่มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรม เช่น กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ายืนยันอย่างชัดเจนว่าหากกรมอุทยาน ฯ เป็นผู้ทำการปล่อยนกยูงเอง จะต้องเป็นนกยูงไทยที่มีพ่อแม่พันธุ์จากพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย และมีกระบวนการตรวจสอบลักษณะภายนอกของลูกนกที่ได้จากการเพาะเลี้ยง โดยถ้าไม่ใช่สายพันธุ์แท้จะถูกคัดออกทั้งชุดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสายพันธุ์ 

หากพบมีว่ามีนกยูงที่มีการปนเปื้อนของสายพันธุ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ทางอุทยาน ฯ จะดำเนินการสืบสวนเนื่องจากมิได้เป็นการดำเนินการของอุทยาน ฯ แน่นอน ทั้งนี้จากการหารือร่วมกันคาดว่านกยูงอินเดียที่เข้ามาในพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนหนึ่งมาจากนกยูงอินเดียที่มีการเลี้ยงในบริเวณวัด หรือ พื้นที่ส่วนบุคคลที่อยู่รอบพื้นที่อนุรักษ์” แถลงการณ์ระบุ

“3 ความร่วมมือใหม่” BCST-กรมอุทยานฯ 

“ประเด็นที่ 3 ความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

(1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะเชิญสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ในการให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำหนดชนิดพันธุ์ และพื้นที่ที่เหมาะสมในการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความถูกต้องทางวิชาการ

(2) หากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน ฯ ร้องขอ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ยินดีจะช่วยวางแผนและแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของ IUCN ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เช่น อาจทำเป็นโครงการอาสาสมัครร่วมกับเจ้าหน้าที่เพื่อการติดตามผลหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

(3) สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ยินดีสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวกับสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและวัดที่เลี้ยงนกยูงอินเดียหรือสัตว์ต่างถิ่นชนิดอื่นอยู่รอบแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ให้กระจายออกนอกพื้นที่ไปผสมพันธุ์กับประชากรสัตว์ดั้งเดิมในธรรมชาติ หากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชร้องขอ รวมถึงช่วยหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการกับนกยูงลูกผสม หรือ สัตว์ต่างถิ่นชนิดอื่น ที่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่อไป

สุดท้ายนี้สมาคมฯ ขอขอบคุณสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ที่รับฟังข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาชน ที่มีความห่วงใยในทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน ในการพัฒนางานอนุรักษ์สัตว์ป่าต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

หลากหลายความเห็นหลังแถลงการณ์

“เรื่องนกยูงอินเดียนั้น ชัดเจนว่า ในหลายกรณี มีการปนเปื้อนจากนกที่ปล่อยโดย กรมอุทยานแน่นอนครับ

ในพื้นที่อนุรักษ์บางแห่งยังมีการเลี้ยง นกยูงอินเดีย ด้วยครับ

แต่ต่อไปนี้ หากจะมีมาตราการระมัดระวังอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ก็จะเป็นเรื่องดี อยากเห็นแผนเรื่องนี้ ชัดๆด้วยครับว่า เราจะมีมาตราการอย่างไรบ้างกับ ประชากรที่ปนเปื้อน อยากให้หาทางออกที่ไม่ทารุณ แต่มีประสิทธิภาพ รักษานกยูงไทยพันธุ์แท้ไว้ให้ได้มากที่สุด” นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว โพสต์แสดงความเห็น

“ทำก็อย่าให้รู้ รู้ก็อย่าให้เห็น เห็นก็อย่าให้จับได้ จับได้ ก็อย่าไปรับ รับก็ให้รับครึ่งเดียว” 

“ออกโหนกระแส ไหมครับ​”

“ลบเหอะ”

ส่วนหนึ่งของความเห็นจากสาธารณะที่แสดงผ่านความเห็นท้ายโพสต์แถลงการณ์ของสมาคมอนุรักษ์นกฯ ที่เผยแพร่วันนี้