“ปล่อยสัตว์คืนป่า เพื่อสัตว์-ป่า หรือ เพื่อกรมฯ” BCST ถามกรมอุทยานฯ

สมาคมอนุรักษ์นกฯ จี้กรมอุทยานฯ เปิดรายงานปล่อยสัตว์ป่า หวั่นสร้างผลงานโดยไม่สนหลักวิชาการ ผ่านแถลงการณ์ออนไลน์เผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 ส.ค. 2564) 

GreenNews สัมภาษณ์พิเศษ เอกโชค บูรณอนันต์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมและการศึกษา สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand, BCST) ว่าด้วยข้อห่วงใยแและข้อเสนอแนะของสมาคมฯ ต่อโครงการ “ปล่อยสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อผืนป่าสมบูรณ์” ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จนเกิดเป็นแถลงการณ์ดังกล่าว

ตั้งคำถาม ด้วยความปรารถนาดี

การปล่อยสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ฟังดูเหมือนเป็น ภารกิจที่กรมอุทยานฯ เชี่ยวชาญ ทว่าจากสายตาคนในวงการอนุรักษ์ การปล่อยสัตว์ป่าโดยกรมอุทยานมีจุดผิดสังเกตหลายจุด การปล่อยสัตว์ที่ควรจะเป็นคุณ อาจเป็นโทษต่อระบบนิเวศในที่สุด

17 ส.ค. 2564 GreenNews ได้สัมภาษณ์ เอกโชค บูรณอนันต์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมและการศึกษาของ BCST เกี่ยวกับโครงการ “ปล่อยสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อผืนป่าสมบูรณ์” ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในกลุ่มคนอนุรักษ์ว่ามีขั้นตอนการปล่อยสัตว์ที่ผิดหลักวิชาการและเสี่ยงเกิดอันตรายกับพันธุกรรมสัตว์ในพื้นที่อย่างไร 

กรมอุทยานระบุว่า โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าทั้งในถิ่นกำเนิดและนอกถิ่นกำเนิดให้เกิดความสมดุลและความยั่งยืนในการอนุรักษ์ ตลอดจนมุ่งหวังที่จะรักษาระบบนิเวศในธรรมชาติให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

10 ปีที่ผ่านมา โครงการได้เพาะพันธุ์สัตว์ป่าและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วอย่างน้อย 48 ชนิด จำนวนมากกว่า 30,000 ตัว มีผู้สังเกตเห็นข้อกังขาเรื่อยมา ที่สำคัญไม่เคยมีการเผยแพร่รายงานผลการติดตามภายหลังการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติเลย

15 ส.ค.ที่ผ่านมา สมาคมฯ จึงตั้งใจเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อโครงการดังกล่าว เพื่อแนะนำหน่วยงานรัฐในเบื้องต้น หากในอนาคตเกิดปัญหาข้อผิดพลาดซ้ำ อาจมีการทำหนังสือเรียกร้องอย่างเป็นทางการต่อไป เอกโชคชี้แจง

พรรณสัตว์ไม่เหมาะสม?

จากแถลงการณ์ ประเด็นแรกที่เป็นปัญหาคือการปล่อยสัตว์นอกถิ่นอาศัย กล่าวคือเป็นการปล่อยสัตว์ที่ไม่เคยมีรายงานพบในพื้นที่มาก่อน นอกจากเป็นการปล่อยในสิ่งแวดล้อมที่อาจไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของสัตว์แล้ว สัตว์ที่ถูกปล่อยถือเป็นพันธุ์ต่างถิ่น (เอเลียนสปีชีส์) อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ท้องถิ่น หรืออาจเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมได้

เอกโชคกล่าวว่า หลายกรณีเป็นที่น่าห่วงและควรได้รับการตรวจสอบ เช่น กรณีนกชาปีไหน (Nicobar Pigeon) และนกลุมพูขาว (Pied Imperial Pigeon) ปกติมีถิ่นอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะ มักพบทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน แต่ทั้งสองชนิดกลับถูกนำมาปล่อยบนบก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง เมื่อปี 2561

หรือกรณีเป็ดเทาพันธุ์อินเดีย (Indian Spot-billed Duck) ซึ่งโดยพื้นฐาน เป็ด ควรอยู่ในถิ่นอาศัยแบบที่ชุ่มน้ำ (wetland) หรือภูมิประเทศที่มีหนองหรือบึง มีรายงานการทำรังอยู่ตามพื้นที่หนองน้ำ บึงน้ำที่ติดกับแม่น้ำโขง จึงเป็นเรื่องไม่สมควรที่เป็ดเหล่านี้จะถูกปล่อยใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี มีลักษณะเป็นป่าดิบบนเขา ไม่ใช่ที่ราบจึงไม่เหมาะอย่างมาก  เอกโชคระบุ

ตัวอย่างการปล่อยสัตว์นอกถิ่นอาศัย

วันที่ สัตว์ที่ปล่อย พื้นที่
15 ต.ค. 2558 ไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant)
เป็ดก่า (White-winged duck)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี
12 ก.ค. 2559 ไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์
6 ก.ย. 2561  นกชาปีไหน (Nicobar Pigeon)
นกลุมพูขาว (Pied Imperial Pigeon)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง 
30 พ.ค. 2562 ไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant)
เป็ดก่า (White-winged duck)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี
20 ก.ค. 2561 ไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จ.ศรีสะเกษ
10 ก.ย. 2563 เป็ดเทาพันธุ์อินเดีย (Indian Spot-billed Duck) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จ.ชลบุรี
21 ส.ค. 2563 เป็ดเทาพันธุ์อินเดีย (Indian Spot-billed Duck) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี 
13 ส.ค. 2564  ปล่อยไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร 
(ข้อมูล: สมาคมอนุรักษ์นกฯ)
นกยูงลูกผสม ลักษณะมีอกสีน้ำตาล ที่ห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ (ภาพ: Ayuwat Jearwattanakanok)

ประเด็นถัดมาคือการปล่อยสัตว์ลักษณะคล้ายลูกผสมระหว่างพันธุ์ท้องถิ่นและพันธุ์ต่างถิ่น อย่างกรณีนกยูง ในธรรมชาตินกยูงไทย (Green Peafowl) และนกยูงอินเดีย (Indian Peafowl) เป็นคนละสปีชีส์ มีวิวัฒนาการแยกจากกันโดยมีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นตัวขวางกั้น การนำนกยูงที่มีลักษณะผสมปล่อยสู่ระบบนิเวศจึงเป็นที่น่ากังวลอย่างมากว่าจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่ไม่จำเป็นในแหล่งธรรมชาติ 

“กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการละเลย และไม่คำนึงถึงความสำคัญของการตรวจ DNA ก่อนปล่อยสัตว์คืนสู่ป่า”

ตัวอย่างการปล่อยนกยูงพันธุ์ผสม รวบรวมโดยสมาคมอนุรักษ์นกฯ

วันที่ พื้นที่
ไม่ระบุ ห้วยฮ่องไคร้ และ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย*
ไม่ระบุ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี
29 ส.ค. 2563 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ*
*สันนิษฐานจากหลักฐานภาพถ่าย (ข้อมูล: สมาคมอนุรักษ์นกฯ)

นอกจากนี้มีการปล่อยสัตว์ในพื้นที่ที่ยังมีประชากรดั้งเดิมสมบูรณ์อยู่ อาจกระทบความถี่ทางพันธุกรรมของประชากรในธรรมชาติ เพิ่มภาวะการแข่งขันระหว่างประชากรปล่อยกับประชากรในธรรมชาติ ถือเป็นการตัดสินใจที่ขาดความตระหนัก เอกโชคให้ความเห็นว่า เป็นการใช้งบประมาณโดยสิ้นเปลืองและอาจเป็นการรบกวนสมดุลของระบบนิเวศ 

ตัวอย่างการปล่อยสัตว์ที่ประชากรในธรรมชาติสมบูรณ์ รวบรวมโดยสมาคมอนุรักษ์นกฯ

วันที่ สัตว์ที่ปล่อย จำนวน พื้นที่
30 มิ.ย. 2560 ไก่ฟ้าหลังเทาแข้งเทา (Kalij Pheasant) 100 อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ. นครสวรรค์-กำแพงเพชร
  นกยูงไทย (Green Peafowl) 5  
24 พ.ค. 2561 ไก่ฟ้าพญาลอ (Siamese Fireback) 200 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ จ.เพชรบูรณ์
  ไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) 150  
26 ก.ค. 2564 ไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) 100 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่
(ข้อมูล: สมาคมอนุรักษ์นกฯ)

ปล่อยไม่ถูกวิธี?

นอกจากปัญหาเรื่องพรรณสัตว์และสถานที่ปล่อยแล้ว วิธีการปล่อยสัตว์ก็น่ากังวล ตามหลักวิชาการควรปล่อยสัตว์แบบละมุนละม่อม (soft release) คือมีการทำกรงในสถานที่จริงก่อนปล่อย เป็นการสร้างความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ โดยค่อยๆ ขยายพื้นที่กรง และให้สัตว์เรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดในป่า เพื่อเปลี่ยนผ่านจากที่กักขังสู่ธรรมชาติอย่างราบรื่น

นกกระเรียนไทยและเจ้าหน้าที่ ในกรงสำหรับ soft release
(ภาพ: Sarus Crane Reintroduction Project Thailand)

โครงการของภาครัฐมักอ้างว่าทำ soft release ทว่าหลายครั้งขนาดกรงไม่เหมาะสม จำนวนสัตว์ต่อกรงมากเกินไป ทำให้สัตว์แทบไม่ได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมเลย คล้ายการปล่อยแบบทันที (hard release) เสียมากกว่า การปล่อยแบบนี้อาจทำให้สัตว์ที่ถูกเลี้ยงในกรงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับถิ่นอาศัยใหม่ได้ เอกโชคกล่าว

การปล่อยไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ภาพ: กรมอุทยานฯ)

มากไปกว่าวิธีการปล่อย คือ พิธีการปล่อย เอกโชคสังเกตว่าหน่วยงานราชการมักมีการเชิญเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาเปิดพิธี มีสื่อ ช่างภาพ และผู้เข้าร่วมจำนวนมาก กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีผู้เข้าร่วมเยอะ อาจส่งเสียงรบกวน หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ปกติ ทำให้สัตว์เกิดความเครียด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่เปราะบาง”

การปล่อยแมวดาว (Leopard cat) ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ภาพ: เรารัก"นครสวรรค์")

ควรโปร่งใส เปิดให้สาธารณะตรวจสอบ

การปล่อยสัตว์ป่าแบบขาดความตระหนักเหล่านี้ เป็นประเด็นการอนุรักษ์ที่ถกเถียงกันมาโดยตลอด ในโลกออนไลน์มีกระแส #ปล่อยหาพ่อง ที่นำข้อผิดปกติของโครงการมาตีแผ่เป็นระยะๆ แต่ยังไม่ได้มีการออกมาเรียกร้องเป็นเรื่องเป็นราว แถลงการณ์ของ BCST จึงอาจเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการครั้งแรก 

ข้อเรียกร้องหลักคือขอให้มีการ เปิดเผยรายงานผลการติดตามภายหลังการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติให้ภาคประชาชนได้รับรู้ เพื่อยืนยันว่าเป็นการดำเนินการที่โปร่งใสและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะโครงการดำเนินมาแล้วถึง 10 ปี 

“ที่ยกตัวอย่างมาสิบกว่ากรณีนี้ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก ตอนนี้ไม่สามารถทราบได้เลยว่าในความเป็นจริงมีเคสที่น่ากังวลอีกเท่าไหร่” เอกโชคชี้แจง

นอกจากนี้ สมาคมฯ กล่าวในแถลงการณ์อีกว่า การเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติควรเน้นเฉพาะชนิดสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์มากกว่าชนิดพันธุ์ที่ไม่มีความเสี่ยง และควรเลือกปล่อยในพื้นที่ที่มีการศึกษาบ่งชี้ว่าประชากรสัตว์ป่าชนิดนั้นได้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ หรือมีจำนวนน้อยมากเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ รวมทั้งคำนึงถึงองค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ประชากร เน้นการปล่อยสัตว์ป่าแบบละมุนละม่อม (soft release) คำนึงถึงลักษณะกรงเลี้ยงก่อนปล่อย และจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อลดความตื่นตระหนกของสัตว์ป่า

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวน่าจับตาเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือวงคลับเฮาส์ “เพาะสัตว์ปล่อยป่า ฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแค่ทำบุญเอายอด?” ที่จะจัดขึ้นวันเสาร์ที่ 21 ส.ค.นี้ โดยมีผู้ร่วมสนทนาที่น่าสนใจหลายท่าน เช่น ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ชลธร ชำนาญคิด ผอ.ส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติฯ จุฬาฯ