1 ปี “ดงมะไฟ” บทเรียนนี้เพื่อใคร

ส่อง 4 บทเรียนน่าสนใจ จากเวทีถอดบทเรียนออนไลน์วาระครบรอบ 1 ปีการยุติเหมืองหินดงมะไฟ หนองบัวลำภู หลังการต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านมาต่อเนื่อง 27 ปี 

บทเรียนว่าด้วย “สิทธิชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรชุมชน” “บทบาทรัฐ (ที่น่าผิดหวัง)” “บทบาทองค์กรท้องถิ่น (ที่น่าเป็นความหวัง)” และ “การยกระดับข้อเสนอดงมะไฟสู่นโยบายระดับชาติว่าด้วยการจัดการเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรม” 

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันไดร่วมระลึกถึงนักเคลื่อนไหวที่เสียชีวิตไป

14 สิงหาคม 2564 องค์กร Protection International (PI) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่(PPM) มูลนิธิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “Exploring the Eight Wonders of Thailand (Dongmafai) 365 วันกับสิ่งมหัศจรรย์การต่อสู้ที่ดงมะไฟ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการถอดบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ในวาระครบรอบหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณเหมืองหินและประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง คือ ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี 

เส้นทางการต่อสู้ของเครือข่ายยาวนานกว่านั้นมาก ย้อนไป 27 ปี มีการเริ่มรวมตัวกันคัดค้านเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) และโรงโม่หิน เนื่องจากผลประทบทางด้านสุขภาพ แกนนำเครือข่ายถูกลอบสังหารไปถึง 4 คน ในวันนี้ชาวบ้านสามารถปิดเหมืองหิน จนกระทั่งใบประทานบัตรทำเหมืองหินหมดอายุ จึงยึดพื้นที่กลับมาเป็นของชุมชนได้สำเร็จ และกำลังดำเนินการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรด้วยการปลูกพรรณไม้ท้องถิ่นไปแล้ว 4,000 กว่าต้น โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐแม้แต่น้อย ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที้สำคัญให้กับทุกฝ่ายที่เกียวข้อง และเป็นที่น่าจับตาว่าอนาคตของดงมะไปจะเป็นไปตามที่ชุมชนวาดฝันไว้หรือไม่ 

บรรยากาศการเสวนาออนไลน์

บทเรียน “สิทธิชุมชน”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของการเคลื่อนไหวนี้คือความเข้มแข็งของเครือข่าย ทั้งความอดทนต่อสู้เป็นเวลานาน การตั้งวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงความตระหนักรู้ในสิทธิที่พึงมีของตน โดยเฉพาะด้านการปกป้องและทวงคืนสิทธิชุมชน เพื่อให้ชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ได้มีสิทธิ์กำหนดอนาคต ใช้ประโยชน์และปกปักรักษาทรัพยากรของชุมชนด้วยตนเอง 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ร่วมสะท้อนบทเรียนว่าความมหัศจรรย์ของที่นี่คือการยืนระยะยาวของการต่อสู้ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก จากประสบการณ์หลายพื้นที่มักแยกการต่อสู้กับชีวิตประจำวันออกจากกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ปากท้อง หรือการต่อสู้กับโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน แต่ที่นี่มีความพยายามที่จะหลอมรวมหรือปรับการต่อสู้เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันให้ได้ 

“ตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญมากของการที่พี่น้องประชาชนจะลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจทุนก็คือเรื่องของความกลัว ตราบใดที่ยังไม่กล้าพูดในประเด็นของตัวเองแสดงว่านั่นยังกลัวอยู่ แต่ที่นี่เราเห็นพัฒนาการของพี่น้องไม่ใช่แค่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่มีความกล้าและพลังใจมหาศาลในการลุกขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ เพราะพื้นที่นี้ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน ดังนั้นความกลัวที่มีจึงมหาศาล แต่การลุกขึ้นสู้ด้วยความคับแค้นใจไม่ได้หายไปไหน มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่สำคัญคือพัฒนาการของผู้หญิงที่นี่ที่เป็นคนลุกขึ้นมาพูดและปราศรัยให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาในพื้นที่ นี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก” เลิศศักดิ์กล่าว

สอน คำแจ่ม

สอน คำแจ่ม ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เป็นหนึ่งในพัฒนาการนั้น “จากเดิมที่ไม่กล้าพูด แต่เมื่อมีการรวมกลุ่ม มีเครือข่าย มีนักวิชาการมาให้ความรู้ มีอาสาสมัครขึ้นมาช่วย ก็ทำให้มีความกล้าจากความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อก่อนคิดอะไรไม่ออกมีแต่กลัวกับกลัว เดี๋ยวนี้ไม่กลัวแล้วมีแต่จะบุก บุกให้ดงมะไฟเจริญให้ได้ ให้เป็นตำบลที่ดีขึ้นให้ได้ ให้ดงมะไฟเป็นที่สวยงดงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้” เธอกล่าว

มากไปกว่านั้น เลิศศักดิ์ยังวิเคราะห์ว่าชีวิตที่ชุมชนดงมะไฟ หรือชุมชนอื่นๆ จะมีความสมบูรณ์พูนสุขได้ ก็ต่อเมื่อชาวบ้านมีที่ดินครบสามส่วน ได้แก่ หนึ่ง “ที่สำหรับอยู่อาศัย” เช่นการตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้าน สอง “ที่สำหรับทำมาหากิน” เช่นการปลูกพืช ทำไรทำสวนต่างๆ และสาม—สิ่งที่หายไปตลอด 27 ปีของการต่อสู้เรื่องเหมืองดงมะไฟ คือภูผาฮวกที่เคยเป็น “ที่ส่วนรวม” หรือ common land ซึ่งถูกนำไปเป็นที่เอกชน การต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านทวงคืนพื้นที่นี้กลับคืนมาได้สำเร็จ ทำให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขขึ้นในชุมชน

“จากพื้นที่ที่เคยวุ่นวาย ต้องทนได้ยินเสียงระเบิด เสียงรถบรรทุกตลอด ในวันนี้เราสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในป่าของเราได้เหมือนเดิมทำให้เราหาเห็ด หาหน่อไม้ได้ เพื่อไปทำกินได้ บางครอบครัวยังสามารถนำไปขายหารายได้ได้ด้วย นอกจากนี้การต่อสู้ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง มีพลังในการต่อสู้” สอน คำแจ่มเล่า

บทเรียน “บทบาทรัฐ (ที่น่าผิดหวัง)”

หนึ่งในผู้เกี่ยวข้องที่ต้องเรียนรู้อย่างมากจากกรณีนี้คือภาครัฐ การที่ชุมชนต้องออกมาต่อสู้ด้วยตนเองโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น หรือ องค์กรอิสระต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของกลไกรัฐที่ไม่ตอบโจทย์ของประชาชน

“ระหว่างทางของการต่อสู้เจออุปสรรคมากมาย เราใช้กระบวนการของภาครัฐ แต่ก็ติดขัด ไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหานี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมาตั้งหมู่บ้านผาฮวกพัฒนากัน ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยใช้กลไกรัฐ เราใช้ทั้งดีเอสไอแล้ว กสม. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลไกของรัฐที่มีทั้งหมด แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านเลย” มนีนุด อุทัยเรือง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าว

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า การต่อสู้ของชาวบ้านดงมะไฟ เต็มไปด้วยเจ็บปวดทรมาน คับแค้นใจเริ่มแรกของการต่อสู้ พวกชาวบ้านต้องเผชิญกับบริษัททุนใหญ่เพียงลำพัง โดยภาครัฐไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อน ไม่รับฟัง พวกชาวบ้านไม่เคยถูกกล่าวถึงในฐานะนักปกป้องสิทธิชุมชน หากแต่ถูกกล่าวถึงในฐานะ “ผู้ต่อต้านความเจริญและการพัฒนาประเทศ”  โดยชาวบ้านได้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น   

 “ผ่านมา 26 ปี คดีการสังหารชาวบ้าน 4 คนหมดอายุความโดยที่รัฐไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ บนความขมขื่นของครอบครัวและชุมชน แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับปล่อยให้คนผิดลอยนวลและชาวบ้านยังต้องจมอยู่กับความหวาดกลัว” อังคณาระบุ

สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงอีกบทเรียนของรัฐในด้านการคุ้มครองสิทธิชุมชนว่า “รัฐตัดสินใจให้พื้นที่เป็นของกลุ่มทุนที่ทำลายทรัพยากรและนิเวศ รัฐไม่สามารถปกป้องทรัพยากรและชีวิตของคนที่นี่ได้ เมื่อกระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในการเข้ามาปกป้องสิ่งแวดล้อมและชีวิตประชาชน รูปธรรมที่ชัดเจนคือชาวบ้านออกมาทวงสิทธิชุมชนของตนคืน เพราะนี่คือสิ่งที่ควรเป็น คือ สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนก็จัดการแบบยั่งยืนมาตลอด ซึ่งจากนี้จะมีการใช้สิทธิในการจัดการทรัพยากรและนิเวศ​ และจะฟื้นฟู ใช้ประโยชน์จากมันอย่างยั่งยืน รัฐควรมาถอดบทเรียนและนำไปใช้ ไม่ควรต้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาสูญเสียหรือต่อสู้ขนาดนี้”

“ในขณะที่รัฐมีหน้าที่ให้เราเข้าถึงสิทธิเสรีภาพ เจ้าของสิทธ์เสียเองที่ต้องดิ้นรน หลายครอบครัวเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ต้องอยู่กับความกลัว การถูกจำกัดสิทธิ์ การเข้าถึงทรัพยากร นอกจากความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมแล้ว ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้เริ่มตั้งแต่การใช้กฎหมาย แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มีการบัญญัติเรื่อง สิทธิชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมไว้ แต่ต่อมาในฉบับปี 2560 ถูกตัดออกไปเหลือแค่คำว่าสิทธิชุมชน 

ชุมชนท้องถิ่น กับ ชุมชนนั้นไม่เหมือนกัน ชุมชนท้องถิ่นคือผู้ที่อยู่มาแต่เดิม แต่ชุมชนคือใครก็ได้ คล้ายกับที่ท่านรมว. กระทรวงทรัพย์ฯ ขาดความรู้ในการแยกแยะระหว่างการอพยพ (migration) เข้ามาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่า หรือเพื่อความอยู่รอด กับชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งอยู่ในพื้นที่มาช้านาน มีที่ดินของบรรพชนที่ตกทอดมา ซึ่งเขามีสิทธิ์ในการเข้าถึง ใช้และรักษาทรัพยากร ในการแก้รัฐธรรมนูญเราต้องยืนยันที่จะเอาสิทธิชุมชนท้องถิ่นแบบเดิมกลับมาใหม่ เรื่องนี้สำคัญมาก” อังคณา กล่าว

อังคณา นีละไพจิตร และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

บทเรียน “บทบาทองค์กรท้องถิ่น (ที่น่าเป็นความหวัง)”

ก้าวต่อไปของเครือข่ายดงมะไฟ คือการใช้สิทธิพลเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการลงสนามการเมืองท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องข้อที่ 3 เลิศศักดิ์ให้ความเห็นว่า “การต่อสู้ที่เริ่มต้นด้วย 3 ข้อของชาวดงมะไฟนั้นไม่ธรรมดา มีการวางวิสัยทัศน์ไว้แต่เริ่มต้นต่อสู้ เอาแค่ข้อแรกก็ถือว่ายากแล้ว จริงๆ ข้อ 2 และ 3 จะปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐแทนก็ได้ แต่เมื่อเครือข่ายยืนยันจะขับเคลื่อนต่อด้วยตัวเอง หากไม่มีกลไกของการเมืองท้องถิ่นเข้ามาร่วมให้มีพลังเพิ่มเติมมันจะไปไม่ถึง เราเห็นอยู่ว่าทั้งสภาใหญ่ สภาเล็กทำหน้าที่และบทบาทอะไร การที่เข้าไปยึดสภาเล็ก เช่น อบต. และเทศบาลได้จะช่วยอย่างมากในการเปลี่ยนวิสัยทัศน์และงบประมาณของท้องถิ่นใหม่”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวไปในทางเดียวกันว่า “ตนยืนยันเสมอว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว การใช้สิทธิต่างๆ ของประชาชนจะช่วยในเรื่องพัฒนาประชาธิปไตย การเมืองคือพื้นที่ที่ต้องรณรงค์กันอย่างแข่งขัน เราหยุดเหมืองหินได้แล้วแต่อย่างไรก็ต้องทำต่อ ซึ่งข้อเสนอตนคือ ยึด อบต.ให้ได้ เพื่อให้เราได้เป็นคนกำหนดเกณฑ์เอง เพื่อมีอำนาจอย่างเป็นทางการ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ การเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน 

งบประมาณ อบต.ดงมะไฟ 54 ล้าน มีงบลงทุน 5-6 ล้าน ถ้าเราได้นายก อบต.ที่มีความรู้ความสามารถเชื่อว่าจะสามารถฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวนี้ได้ เราต้องใช้ช่องทางอำนาจและงบประมาณตรงนี้ผลักดันให้ชุมชนเราเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าไม่พร้อมลงแข่ง ผมเสนอให้จัดเวทีแล้วเอาคนที่จะลงนายก อบต.มาคุยกันว่า เรื่องนี้จะเอาอย่างไรในฐานะผู้สมัครนายก อบต. นี่คือการใช้สิทธิพลเมือง ถ้าให้คำมั่นสัญญา ก็เอาคะแนนเสียงเราไป”

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ 

บทเรียน “ยกระดับสู่นโยบายชาติ”

บทเรียนสุดท้ายจากกรณีนี้คือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างเหมืองแร่หินให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน 

ธนาธรให้ความเห็นว่า ทิศทางการพัฒนาโดยรวมต้องถูกเปลี่ยนแปลง “เรื่องเหมืองหินในระดับชาติ ยืนยันว่าเราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา เพียงแต่การพัฒนานั้นคนที่ได้รับผลกระทบต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ชุมชนต้องร่วมตัดสินใจด้วย ข้อมูลต้องเปิดออกมาให้ประชาชนเลือกเอง อย่าให้พวกเขาต้องเสียสละในนามของการพัฒนา มีประชาชนกี่ชุมชนแล้วที่เสียสละชีวิตความเป็นอยู่ เสียสละทรัพยากรธรรมชาติในนามการพัฒนา โดยที่ดอกผลตกอยู่กับนายทุนบางกลุ่ม ตกอยู่กับส่วนกลางในกทม. ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเป็นผู้รับกรรม พอแล้วกับการพัฒนาแบบนี้”

เลิศศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “การฟื้นฟูไม่ใช่มีแค่เรื่องพัฒนาให้ดงมะไฟเป็นแค่แหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ดงมะไฟทั้งหมด เพราะมีกลุ่มภูเขาหินที่นี่เต็มไปหมดเชื่อมโยงทั้ง อ.สุวรรณคูหาที่ถูกประกาศให้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมเอาไว้แล้ว ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อ 3 เป็นความต้องการที่จะต่อสู้กับการประกาศกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมว่าจะสามารถล้มเลิกประกาศนี้ได้อย่างไร 

ถึงแม้การประทานบัตรมันจะถูกยกเลิกไปแล้วและอำนาจทุนไม่สามารถต่อสู้กับชาวบ้าน และไม่สามารถทำเหมืองได้แล้ว แต่ว่าพื้นที่ภูผาฮวกที่ถูกระเบิดไปยังไม่ถูกปลดออกจากการเป็นประกาศกำหนดแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรม ถ้าเราทำตรงนี้ได้มันจะไม่สะเทือนไปแค่ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา แต่จะสะเทือนทั้งประเทศตรงที่ว่าหน่วยงานราชการใช้อำนาจตัวบทกฎหมายใดจึงสามารถประกาศกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้

อุตสาหกรรมแร่หินเพื่อปูนซีเมนต์นั้นเป็นเหมือนแร่เทวดาที่อยู่ดีๆ ก็มีประกาศแหล่งหินเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านปริมาณสำรองแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้มีหลักประกันชัดเจนไปอีก 50 ปี โดยไม่ได้สนใจเลยว่าไปประกาศทับตาน้ำแหล่งน้ำซับซึมแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้านอย่างไร สิ่งเหล่านี้มันเชื่อมโยงกัน เราได้พูดคุยกันว่าเป็นโอกาสเหมาะสมที่เราจะเป็นพื้นที่หนึ่งในการร่วมกันฟ้องเพื่อยกเลิกประกาศแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมออกไปให้หมด เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการปกติของการขอประทานบัตรหรือการอนุญาตต่างๆ”

ธนาธรเสริมจากเลิศศักดิ์ว่า ควรมีการผลักดันให้ถึงทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) “เวลาเราพูดถึงเหมืองหิน โรงโม่หิน ปลายทางก็คือเพื่อนำไปส่งเป็นวัตถุดิบให้โรงปูน เราตองมองว่าใครได้ไปโยชน์เป็นคนสุดท้าย แล้วไปผลักดันตรงนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว มีรายงานว่าบริษัท Nike ใช้แรงงานเด็ก ทั่วโลกจึงกดดันไนกี้ ในฐานะผู้รับซื้อว่าให้หยุดซื้อวัสดุจากแหล่งที่มีการใช้แรงงานเด็ก ผมคิดว่าในกรณีของปูน เราก็ต้องไปคุยกับผู้ผลิตปูน ไปซื้อหุ้นแล้วก็เข้าไปคุยกับผู้ถือหุ้น หรือไปคุยผ่านสภาอุตสาหกรรมก็ได้ แล้วเรียกร้องให้ผู้ผลิตปูนสัญญากับประชาคมไทยว่าจะไม่ซื้อวัตถุดิบที่มาจากพื้นที่ที่มีข้อพิพาท นี่เป็นอีกหนึ่งมิติที่สามารถรณรงค์ได้”

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันไดร่วมกันอ่านคำประกาศครบรอบ 1 ปียึดเหมืองหิน

สุดท้าย ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้อ่านคำประกาศครบรอบ 1 ปี ยึดเหมืองหินดงมะไฟ โดยบางช่วงบางตอนของประกาศระบุว่า “ในวันครบรอบหนึ่งปีของการยึดเหมืองความฝันของเรายังแจ่มชัด เรียบง่ายแต่หนักแน่น วันนี้เราปลูกต้นไม้ไปแล้ว 4,000 กว่าต้น  เรายังจะปลูกต้นไม้ต่อไปเรื่อยๆในปีต่อๆ ไป  ร่วมกับภารกิจด้านอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนดงมะไฟของเราให้ร่มรื่นงดงามแก่ลูกหลาน อาทิเช่น เราจะทำการฟ้องคดีต่อรัฐและบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดทำลายภูผาฮวกของเราเพื่อเรียกร้องความเสียหายต่อระบบนิเวศ  เราจะเข้าไปทำงานการเมืองใน อบต. ดงมะไฟ ด้วยการส่งตัวแทนของเราจากหลายหมู่บ้านลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อผลักดันวิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเรา”