(บทความมีการเผยแพร่เนื้อหาภาพยนตร์)

“Entangled” แปลว่า พัวพัน ในบริบทประมง หมายถึงปลาที่ติดตาข่ายและถูกเชือกพัน และในความของคน หมายถึงการพันพัวอยู่ในสถานการณ์ซับซ้อนยากจะปลดตัวเองออกมา
“Entangled” เป็นชื่อสารคดีที่กำลังเปิดให้ชมฟรีอยู่ ณ ขณะนี้ทางออนไลน์ โดยความร่วมมือของ Documentary Club และกรีนพีซ ประเทศไทย ภาพยนตร์ความยาวราวหนึ่งชั่วโมงสร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงใหญ่โตในวงการอนุรักษ์ เมื่อวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ วาฬสายพันธุ์ท้องถิ่นในน่านน้ำอเมริกาเหนือกำลังจะสูญพันธุ์ จนเกิดความพยายามอนุรักษ์วาฬตัวนี้มากมายจากทั้งภาครัฐและนักอนุรักษ์ ทว่าแผนเซฟวาฬนี้กลับต้องแลกมาด้วยการเสียรายได้มหาศาลของชาวประมงอุตสาหกรรมล็อบสเตอร์
วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ (North Atlantic right whales) ถูกจัดเป็นสัตว์สถานะใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันมีจำนวนน้อยกว่า 400 ตัว คำถามที่ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้วาฬสายพันธุ์นี้หายไปอาจตอบได้ด้วยชื่อของมัน มีเรื่องเล่าว่า เพราะวาฬพันธุ์นี้มีพฤติกรรมชอบลอยตัวบนผิวน้ำ ทำให้เป็นเป้าล่านำไขมันไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ง่าย จึงเป็นที่มาของชื่อ “Right Whale” (วาฬที่ใช่) ในการล่า
ในช่วงศตวรรษที่ 20 สมัยที่ทุกคนยังใช้ตะเกียงน้ำมันส่องสว่างในยามมืด การล่าวาฬเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ คาดว่าก่อนหน้านั้นมีวาฬมากกว่า 20,000 ตัว แต่พวกมันก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศห้ามล่าวาฬ
แต่แม้วันนี้ จะไม่มีใครหยิบฉมวกขึ้นไปไล่แทงวาฬอีกต่อไปแล้ว ทว่า “การล่า” ทำร้ายวาฬอาจจะยังดำเนินอยู่ ในรูปแบบใหม่ เพราะการประมงกุ้งยักษ์ “ล็อบสเตอร์” ซึ่งเป็นรายได้หลักและวิถีที่สืบทอดกันมาหลายรุ่นของชาวประมงริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ถึงแคนาดา
การทำประมงกุ้งล็อบสเตอร์ ชาวประมงจะหย่อนลอบดักที่ผูกเชือกไนลอนลงไปที่ก้นมหาสมุทร เชือกที่ห้อยโยงเป็นแนวดิ่งเหมือนม่านเหล่านี้กลายเป็นอาวุธที่เฉือดเฉือนวาฬไรต์ที่ว่ายหากินอยู่ในอ่าว จนได้แผลและติดเชื้อตาย

แม้จะช่วยปลดวาฬที่ถูกอุปกรณ์ประมงเหล่านี้มัดไว้ได้ แต่ช่วงเวลาที่ถูกเชือกรัดจะสร้างภาวะตึงเครียด ที่เป็นสาเหตุหลักที่วาฬตัวเมียออกลูกน้อยลง จนจำนวนวาฬไรต์ที่เกิดใหม่แตกต่างกับจำนวนที่เสียชีวิตอย่างลิบลับ
ด้วยวิกฤตนี้ นักอนุรักษ์และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐฯ (NOAA) ที่มีภารกิจบริหารจัดการทะเล จับมือหาทางปกป้องวาฬ เริ่มต้นด้วยการประกาศปิดอ่าวไม่ให้ทำประมงเป็นเวลาสามเดือนต่อปี แต่นั้นเหมือนจะไม่พอ จึงเริ่มเดินหน้าดันมาตรการที่เข้มข้นขึ้น อย่างการปิดอ่าวนานยิ่งขึ้น สร้างความไม่พอใจกับชาวประมงล็อบสเตอร์
“วาฬไรต์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่ชาวล็อบสเตอร์ก็ใกล้สูญพันธุ์เหมือนกัน!”
เรื่องกลายเป็นเรื่องใหญ่ กลายเป็นการงัดข้อระหว่างนักอนุรักษ์กับชาวประมง พร้อมแรงสนับสนุนจากนักการเมืองหลากขั้ว จนกระทั่งถึงขั้นขึ้นศาล แต่ท่ามกลางความเห็นต่าง ทุกคนต่างมีคำถามเดียวร่วมกัน “เราจะอนุรักษ์วาฬยังไงให้คนไม่สูญพันธุ์ไปด้วย”
มองกลับมาบ้านเรา คำถามนี้ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่ แต่คงเป็นสิ่งที่ก้องอยู่ในใจของใครหลายคนมาตลอด เห็นได้จากตัวอย่างข่าวสิ่งแวดล้อมร้อนแรงประจำปีนี้ อย่างกรณีผืนป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเพื่อรักษาป่าต้นน้ำและถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์นานาชนิด แต่รางวัลนี้ไม่ใช่ความดีใจของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกไล่รื้อจากพื้นที่บรรพบุรุษ และมีความเป็นอยู่แร้นแค้นด้วยกฎหมายอนุรักษ์ต่างๆ นานาที่ไม่เปิดให้ใช้ชีวิตตามวัฒนธรรมพึ่งพิงธรรมชาติ
“#saveบางกลอย” ทีมอยากคุ้มครองชาวกะเหรี่ยง และ “#saveแก่งกระจาน” ทีมอยากปกป้องจระเข้น้ำจืดและความหลากหลายทางชีวภาพ กลายเป็นเหมือนนักมวยที่ยืนอยู่คนละฟากของสังเวียน …แต่หากคิดดูดีๆ แล้ว มันจำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าทั้งสองฝ่ายเลิกมองว่าอีกฝ่ายเป็นฝั่งตรงข้าม แต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องเดียวกันที่จะต้องมาหารือหาทางออกร่วม
ไคลแม็กซ์ของสารคดีวาฬนี้อาจเป็นฉากห้องประชุม เมื่อองค์การบริหารสมุทรฯ จัดเวทีเชิญชาวประมงและนักอนุรักษ์มาหาทางออกร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างเล่าว่าธุรกิจล็อบสเตอร์และการอนุรักษ์วาฬสำคัญอย่างไร ท้ายที่สุด จึงได้มาตรกาที่ทั้งสองฝ่าย “รับได้” ออกมา คือ การลดการตายของวาฬให้ได้ 60% ลดการใช้เชือกผูกลอบราวครึ่งหนึ่งและใช้เชือกที่มีลักษณะอ่อนลงที่วาฬสามารถหลุดออกมาได้โดยไม่รัดจนบาดเจ็บ
ความขัดแย้งแก่งกระจานเป็นมหากาพย์หลายสิบปี และยิ่งเวลาผ่านไป ปัญหาและความไม่พอใจกันก็ยิ่งสะสม เราแทบไม่เห็นเวทีที่มีคนความคิดเห็นต่างมาคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อหาทางออก เมื่อธันวาคมปี 2563 เครือข่ายกะเหรี่ยงธรรมชาติและวัฒนธรรม ภาคตะวันตก ได้จัดเวที “สุนทรียเสวนา โค้งสุดท้ายแก่งกระจานขึ้นมรดกโลก” โดยได้เชิญหน่วยงานรัฐด้านป่าไม้มาร่วมเวที แต่กลับไม่มีตัวแทนมาเข้าร่วมแม้แต่เพียงคนเดียว
หรือตอนช่วงเมษายนระหว่าง “ปฏิบัติการต้นน้ำเพชร” เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานพาชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่เดินเท้ากลับขึ้นไปใจแผ่นดินลงมายังพื้นที่จัดสรรข้างล่างและดำเนินคดี การเจรจาที่เกิดขึ้น ณ ศาลาพอละจี กลับไม่ได้เป็นการเจรจาที่เปิดประตูสู่ความเข้าใจกันด้วยกำแพงภาษาและทัศนคติ ตัวแทนชาวบ้านตัดสินใจ “วอล์กเอาท์”เดินออกจากการคุย

มันคงจะดี ถ้าในประเด็นสีเทาแบบบางกลอยหรือวาฬไรต์ องค์การของภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นคนตรงกลาง แทนการทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
“เรื่องของเรื่องคือ การประมงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้วาฬไรต์สูญพันธุ์ มันกลายเป็นว่าหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กลับขัดแย้งในภารกิจของตัวเองอย่างยิ่ง”
เพราะความเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณกำลังเจอโจทย์หินในการหาสมดุลในสมการอนุรักษ์ คุณจะให้น้ำหนักอย่างไรระหว่างคนกับธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุด คือ คุณจะทำอะไร
หรือในความเป็นจริงแล้ว หากเปลี่ยนมุมมอง คนกับธรรมชาติอาจไม่ได้อยู่คนละฟากของสมการ คนที่เป็นภัยคุกคามธรรมชาติ อาจเป็นฮีโร่ให้ธรรมชาติได้ด้วยเช่นกัน เพราะพวกเขาคือคนในพื้นที่ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติตรงนั้น เช่น ชาวประมงที่ช่วยนักวิทยาศาสตร์ติดตามพฤติกรรมวาฬ ชาวประมงที่ตั้งใจใช้ลอบดักกุ้งสีแสบตาด้วยหวังว่าวาฬจะเห็นและเลี่ยงการถูกอุปกรณ์ประมงทำร้าย หรือตัวอุตสาหกรรมล็อบสเตอร์เอง ที่ตัดสินใจลงชื่อเห็นด้วยกับมาตรการอนุรักษ์ฉบับใหม่ที่จะช่วยรักษาชีวิตสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์นี้
หนังจบ ความเป็นจริงยังไม่จบ ปัจจุบัน ข้อถกเถียงเรื่องการอนุรักษ์วาฬไรต์ยังไม่จบ เพราะมาตรการที่ชาวประมงยอมถอยให้ก้าวหนึ่งยังถูกตั้งคำถามว่าอาจจะไม่ได้ช่วยรักษาวาฬให้ไม่สูญพันธุ์ได้ทันเวลาและเทคโนโลยีประมงใหม่ๆ อย่างการวางลอบกุ้งแบบไร้สายผ่านสัญญาณคลื่น ก็น่าสงสัยว่าจะใช้งานได้จริงและเข้าถึงได้สำหรับชาวประมงมากเพียงไหน
เรื่องราวของการอนุรักษ์คนและธรรมชาติคงเป็นหนังปลายเปิด ที่เราคงต้องชั่งน้ำหนักและหาสมดุลของสมการอยู่เรื่อยๆ เพื่อรับมือกับโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
Entangled (2563) ความยาว : 1 ชั่วโมง 15 นาที ประเภท : สารคดี ประเด็น : สมดุลการอนุรักษ์วาฬและประมง ตัวอย่าง |