เที่ยงวันนี้ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีได้มีมติ 3 ส.ค. 2553 เห็นชอบ “แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” มติครม.ที่ได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง ในฐานะคำตอบเชิงนโยบายสำหรับปัญหาการอยู่อาศัยของชุมชนกะเหรี่ยงในเขตป่าที่เป็นปัญหาแก้ไม่ตกในไทย
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบางกลอย หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถึงวันนี้ มติดังกล่าวยังเป็นคำตอบสำหรับวิกฤตปัญหาชาติพันธุ์ในไทยอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในวันที่หลายฝ่ายกำลังผลักดันให้แนวคิดจากมติครม.นี้ (และมติครม. 2 มิ.ย. 2553 สำหรับชาวเล) ยกระดับเป็น “ร่าง พรบ.ชนเผ่า-ชาติพันธุ์”
ชวนฟัง 6 ทรรศนะ จาก 6 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มตินี้ยังเป็นคำตอบวิกฤตชนเผ่า-ชาติพันธุ์ในไทยหรือไม่

“มติครม.มี 2 ฉบับของชาวเล-กะเหรี่ยง ในประเทศไทยมันไม่ได้มีแค่กะเหรี่ยง ชาวเล มติตรงนี้มันออกมาแล้วคุ้มครอง กลุ่มชาติพันธุ์ มันน่าจะครอบคลุ่มทั้งหมด ทั้งเผ่า คือในข้อตัวมติครม. มันมีความสำคัญกับพวกเราชนเผ่าอย่างกะเหรี่ยงพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรม มติจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์
ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้มีมติครม. ตัวนี้ ที่ให้ยุติดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใส่ใจมติครม.ชุดนี้เลย เขาก็จะอ้างแต่กฎหมายของเขา แต่ความเป็นจริงมติตัวนี้ประกาศมา 11 ปี ก็ไม่ได้คุ้มครองคนกะเหรี่ยงก็ยังถูกดำเนินคดี จับกุม อย่างกรณีของบางกลอย ในพื้นที่ดังเดิมก็ยังไม่สามารถคุ้มครองได้ อย่างนี้จะสามารถคุ้มครองหลายๆ ที่ได้หรือเปล่า คือถ้าเป็นไปได้อยากผลักดันให้เป็นกฎหมาย แค่ตัวมติครม. เจ้าหน้าที่เองไม่ได้สนใจอยู่แล้ว
มติครม.ยังไม่เป็นคำตอบ ตามความเป็นจริง เรายังคงถูกคุกคาม จับกุม ดำเนินคดี ทางมติครม. จะบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะส่งเสริมคุ้มครอง มันยังเลย ตั้งแต่มีมา มิหนำซ้ำ ชาวบ้านอย่างกะเหรี่ยงชุมชนผม ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีมติตรงนี้คุ้มครอง
ถ้ามันจะเป็นคำตอบ เป็นไปได้ต้องผลักดันให้เป็นกฎหมายไปเลย มีการรณรงค์สื่อสารให้พี่น้องประชาชน ให้เข้าใจและรับทราบไม่ว่าจะเป็น ชนเผ่า คนไทยพื้นเมือง เจ้าหน้าที่รัฐเอง ควรจะมีรณรงค์สื่อสารให้เขามีความเข้าใจตรงนี้ ที่ผ่านมาผมไม่เข้าใจว่าเขามีการรณรงค์หรือเปล่า มีการสื่อสารเรื่องนี้ให้หน่วยงานรู้หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ
เท่าที่ผมอ่านมาบางช่วงบางตอนตัวเนื้อหาข้อกำหนดต่างๆ ถ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ดีถ้ามีการปฎิบัติแท้จริงตามหนังสือ มันจะส่งผลดีต่อให้กับพวกเราชนเผ่า เป็นตัวเนื้อหาถือว่าได้ ข้อปฎิบัติยังถือว่าขัดข้องเยอะอยู่
ถ้ามติครม. ได้ถูกนำมาใช้ในบางกลอย ก็จะสอดคล้องกับสิ่งที่คนบางกลอยกำลังออกมาเรียกร้องอยู่ ในตัวมติ ข้อเรียกร้องต่างๆ ชาวบ้านยืนยันต้องการอยู่พื้นที่ดังเดิม ตอนนี้ทำไร่หมุนเวียน แล้วถ้าได้เอามาใช้จะเป็นโจทย์สำคัญ ที่อาจจะสื่อบอกให้คนทั้งประเทศรู้ว่าสามารถทำได้จริง
ในสถานการณ์ที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก มติครม.ตรงนี้จะมาช่วยได้หรือไหม ผมยังตอบไม่ได้ มันต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อนหลังจากนี้ มันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างก็ต้องรอประเมินกัน
ในส่วนมรดกโลก สิ่งที่ชาวบ้านเสียใจมากที่สุด รวมตัวผมเอง เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ ถ้าเรามองในหลายข่าว แม้กระทั้งรัฐมนตรีออกมาแถลง ประเทศไทยเหมือนไม่มีชนเผ่า กำลังจะสื่อพวกเราไม่มีตัวตนจริงๆ ไม่มีตัวตนในผืนป่าแก่งกระจานมรดกโลก เป็นสิ่งที่น่าเศร้าเหมือนกัน
ทั้งที่เราปกป้องรักษาธรรมชาติผืนป่า มาพอสมควรช่วยกันดูแล้วท้ายสุดพอประกาศมรดกโลกแล้วมีแต่เชิงอนุรักษ์โดยที่ไม่เห็นคุณค่าคนในพื้นที่ ดูแลผืนป่า ทั้งชีวิต มันน่าเศร้าอีกกรณีภาคีเซฟบางกลอย มรดกโลก มันสื่อได้ชัดเลยว่ามันมีการสูญเสียอะไรไปบ้างไม่ว่าเป็นเรื่องการเผายุ้งข้าว ฮ.ตก รวมถึงบิลลี่ อ.ป๊อด มันเป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน ก่อนจะเป็นมรดกโลกเราต้องสูญเสียเยอะอะไรแบบนี้
ผมเชื่อว่าถึงแม้จะมีคนทั้งประเทศเขาการที่ป่าแก่งกระจานมรดกโลก มองลึกๆ ผมคิดว่าเราจะให้เขารู้รายละเอียดข้อมูลเขาน่าจะคิดได้ มันเป็นมีที่มายังไง”

“ปัญหาที่ชาติพันธุ์ในไทยทุกวันนี้เจอคือ เขายืนยันว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม อยู่มาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ทั้งหลายและยังใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ “มติครม.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีกะเหรี่ยงและชาวเล” นั้นมีเนื้อหาสาระที่ช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งได้ เช่น ผ่อนปรนให้กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตอนุรักษ์ได้เมื่อมีวิถีชีวิตดั้งเดิม อย่างการทำไร่หมุนเวียน ใช้เครื่องมือประมงแบบดั้งเดิม ประกอบพิธีกรรมต่างๆ
มตินี้ถือว่าเป็นคุณูปการสำคัญที่ประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าคนตัวเล็กตัวน้อยมีที่ยืนในระดับนโยบาย
แต่ที่บางกลอยไม่ได้ปฏิบัติตามมติครม.นั้น หรือใช้มันเป็นกระบวนการนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่งเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพฯ อาจจะมองว่าสถานะของมติคณะรัฐมนตรีนั้นไม่เทียบเท่ากับกฎหมาย
มติครม.จะเป็นจริงได้ ต้องมีบุคลากรที่เข้าใจหรือทีมงานที่หลากหลายที่ทำงานอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง อาจจะเป็นคณะกรรมการหรือกลไกการจากหลายฝ่ายและมีประสบการณ์ เพราะเรื่องวิถีชีวิตวัฒนธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน กสม.ติดตามเรื่องมติครม.และความพยายามผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์มาตลอดเพราะเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาชาติพันธุ์ในประเทศนี้ได้
ถือว่าเป็นจุดท้าทายของทุกคนในสังคมนะ ไม่ใช่แค่กะเหรี่ยงบางกลอยเท่านั้นที่มีปัญหาในเขตอนุรักษ์ เพราะมีกว่าสองพันชุมชนและหกสิบชาติพันธุ์ที่ต้องอยู่กับปัญหาทุกวันนี้”

“กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีสถานะใกล้เคียงกับปัญหาของกะเหรี่ยง เรามีมติครม. 2 มิถุนายน 53 มติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล
ความหวังตอนที่เราผลักดันมติครม. ร่วมกันกับพี่น้องกะเหรี่ยงเหมือนกัน (คือหวัง)ว่าประเทศไทยจะสามารถผ่อนปรนให้พวกเราได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ได้ใช้วิถีชีวิตดั่งเดิมได้ ไม่ถูกจับ ไม่ถูกกฎหมายที่มีอยู่ กฎหมายป่าไม้ กฎหมายอนุรักษ์ กฎหมายที่มีอุปสรรคในการดำรงชีวิต เรามีแค่ศูนย์ ไม่มีต้นทุนอะไรเลย ไม่มีกลไกของรัฐ
พอผ่านช่วงมติครม.ก็เกิดกลไกของรัฐ ทำให้เรื่องของเราถูกพูดถึงมากขึ้น สามารถหยิบขึ้นมาพูดในระดับนโยบายเพื่อที่จะให้มีการชะลอ การแก้ไขปัญหาในเรื่องนั้นๆ ทั้งของชาวเล และของกะเหรี่ยง เหมือนกับล้อคู่หน้าที่จะเดินไปได้ มันก็ยังเหลือล้อคู่หลังมันก็ลากกันไป
ไปไม่รอดเพราะมันมีแค่มติครม. มันไปติดกฎหมาย พี่น้องกะเหรี่ยงอยู่ในป่า นานกว่าชาวเลเยอะเลย ถูกมองพวกเขาเป็นคนจากที่อื่น เนื่องจากสังคมไทยขาดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างมาก เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อมูลของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่พยายามแบ่งแยกให้ชนเผ่าพื้นเมือง หรือชาติพันธุ์เป็นผู้มาจากแผ่นดินอื่นมันก็ทำให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าไปสู่สังคม ทำให้มติครม.ของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงยากที่จะดำเนินการ ไม่มีแรงกระตุ้น หนุนเสริม เพื่อที่จะให้มติครม.เป็นจริงจากคนในสังคม
แต่เมื่อเวลาผ่านไป นานๆ เราก็จะเห็นได้ว่าแม้สังคมจะเจ้าใจแล้ว แต่รัฐก็ยังหยิบยกเอากฎหมายอื่นๆ นอกเหนือมติครม.มากโดยไม่ได้คำนึงเลยมติครม. สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศไทย
มติครม.ของกะเหรี่ยง เป็นล้อหน้า แล้วล้อหลังจะมาเพิ่ม ร่างพรบ.คุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ก็จะทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เคยขาดหายไป ของมนุษย์ ของพี่น้องกะเหรี่ยง ก็จะมาเท่าเทียมมนุษย์คนอื่น ประชาชนคนอื่นๆ ในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นส่วนประกอบ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นล้อหน้า เป็นบันไดก้าว 1-3 ใช้มันไปสู่เป้าหมาย แต่ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องต่อขั้นบันไดไป ต่อล้อหลังไป เป็นสิ่งที่เป็นความหมาย มติครม. 3 สิงหาคม 2553 ของพี่กะเหรี่ยง
มติครม. 2 มิถุนายน 2553 (ของชาวเล) และมติ 3 สิงหาคม 2553 เจตนารมณ์ทั้ง 2 มติเหมือนกันเพียงแต่บางอย่างที่มันเป็นบริบท อัตลักษณ์ไม่เหมือนกัน การผลักดันมติครม.ชาวเล กับกะเหรี่ยงไปคู่กันเพราะว่ามีกองเลขากระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์มนุษย์เหมือนกัน ความสอดคล้องก็มีมาตั้งแต่พ.ศ. 2553 ไม่ว่าจะตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ความมั่นคง ที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกิน ที่อยู่ชาวเล ตลอดก็สอดคล้องกันเพียงแต่ว่า เมื่อก่อนอาจจะแย่ เป็นสองชุดใช้ประธานคนเดียวกัน ปัจจุบันยุบรวมมาเป็นชุดเดียว ใช้ประธานคนเดียวกัน วราวุธ ศิลปอาชา อันนี้เราจะเห็นว่าโยงทั้งภารกิจ แผนงาน ยุทธศาสตร์ ของกลุ่มชาวเล – กะเหรี่ยง และขยายไปกลุ่มอื่นๆ ที่มาตลอดครับ”

“มติครม. 3 สิงหา ถามว่าเป็นคำตอบให้บางกลอยได้ไหม…มันไม่ได้เป็นคำตอบได้ให้กับแค่บางกลอยเท่านั้น มันจะเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับคนกะเหรี่ยงและพี่น้องชาวเลในผืนป่าที่อยู่ในทะเลทั้งหมด แต่อยู่ที่ว่าภาครัฐจะนำไปใช้หรือไปปฏิบัติหรือเปล่า อันนี้คือประเด็นสำคัญ
หลายๆ ชุมชนกำลังสูญเสียความเป็นวิถีวัฒนธรรมของตนเอง ผมมองว่ามันมีอยู่สามระดับ พื้นที่ซึ่งสูญเสียไปแล้ว พื้นที่ที่ยังมีอยู่ครึ่งต่อครึ่ง และพื้นที่กำลังสูญเสียความเป็นวิถีไป หมู่บ้านผมเป็นอย่างหลัง จนกระทั่งมีการตั้งเป็น ‘พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ’ โดยชุมชนกับเครือข่ายพี่เลี้ยงต่างๆ ตามมติครม.เพื่อฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม
พอเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษแล้ว ทำให้เกิดเป็นกฎระเบียนชุมชนว่าห้ามปลูกข้าวโพดเด็ดขาด เพราะมองว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหา เห็นพื้นอื่นๆ ของญาติๆ กลายเป็นเขาหัวโล้น เมื่อก่อนมีการใช้สารเคมี โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้าในนา ทุกวันนี้ก็ลดลง วิถีวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น การแต่งกายที่เคยหายไปก็เริ่มกลับมา
อีกประเด็นคือการถูกคุกคามเรื่องพื้นที่ทำกิน หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ พอประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษแล้ว ผู้ใหญ่หลายๆ ส่วนลงมา เข้ามาเห็นบริบทในพื้นที่ เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนของการใช้วิถีภูมิปัญญาทำให้เกิดการรักษาทรัพยากรและปกป้องผืนป่าได้ โดยเฉพาะเรื่องไฟป่าและป่าต้นน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในไร่หมุนเวียน ท่านเลยนำไปเป็นแบบแผนแก้ปัญหา ให้ชุมชนทำแผนชุมชนสำรวจพื้นที่และทรัพยากรที่ใช้ควบคู่กับการดูแลรักษา จะอยู่ร่วมกันได้ยังไงให้สอดคล้องกับกฎหมาย คนในชุมชนก็ถูกตั้งเป็นคณะกรรมการทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาคือมติครม.ออกมาปุ๊ป ก็แขวนไว้ตรงนั้น 11 ปีผ่านไปแล้ว องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือบางหน่วยงานยังไม่เข้าใจ พอมีการกระตุ้นก็หันมาสนใจนิดนึง แต่พอไม่มีก็ลืมไป สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคืออยากให้ทางภาครัฐหันมาสนใจฟื้นฟูวิถีชาติพันธุ์จริงๆ
อยากให้ผลักดันมติครม.นี้พัฒนาเป็นพ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาเหมือนชุมชนไหนเข้มแข็งหรือมีกลุ่มชาติพันธุ์เป้าหมายเยอะหน่อย ก็นำมติครม.มาอ้างใช้ แต่ทางภาครัฐก็สนใจบ้างไม่สนใจบ้าง เมื่อเป็นกฎหมาย มันจะไม่ใช่แค่คุ้มครองแค่วิถีกะเหรี่ยงหรือชาวเลตามที่เขียนไว้ตั้งต้นแล้ว แต่รวมถึงพี่น้องชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เขามีสิทธิพื้นฐานและภูมิปัญญาวัฒนธรรมเกื้อกูลต่อทรัพยากร”

“ถ้าเรามีกฏหมายฯ นี้ก็จะมีศักดิ์และศรีเท่ากันกับกฏหมายที่เขาบังคับใช้จับกุมคุมขังพวกเรา
เราอยากพัฒนาชาติร่วมกับพี่น้องสังคมทั่วไปเช่นเดียวกัน เราไม่ได้อยากขอสิทธิพิเศษ แต่เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนกับคนทั่วไป
สนับสนุนอย่างยิ่ง ควรจะมีอย่างยิ่ง พรบ.ฉบับนี้ อยากจะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจอนุมัติหรือเห็นชอบกับกฎหมายฉบับนี้ ให้ความใส่ใจ ดูแลเป็นพิเศษด้วย
เพราะเราทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทยเหมือนกัน อยากให้คนที่มีอำนาจในบ้านเมือง เห็นเราเป็นลูกเป็นหลาน เป็นมนุษย์ด้วยกัน เราพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกับสังคมส่วนใหญ่ และพัฒนาชาติบ้านเมืองไปพร้อมๆ กัน เราไม่ได้ขออะไรเป็นพิเศษ แต่อยากจะขอสิทธิที่เรามีให้กับเราเถอะนะคะ เราไม่ได้อยากเป็นบุคคลพิเศษ ต้องดูแลพิเศษ อยากจะให้พวกเราเป็นคนปกติ เหมือนกับคนทั่วไปค่ะ”

“มติครม.3 สิงหาฯ เป็นคำตอบของบางกลอยได้ไหม ที่ผ่านมามันพิสูจน์ว่าไม่ได้ มันยึดโยงกับการเมืองแบบไทยๆ ที่มีทางออก แต่ไม่ใช้แก้ไขปัญหาตามที่วางไว้ เช่นบอกว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อตรวจสอบดูหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงว่าอยู่มาก่อนหรือหลังการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ถ้าหากอยู่ก่อนจะได้ให้มีการเพิกถอนเขตป่าออก แต่เจ้าภาพหลักที่ต้องทำตามมติคือกระทรวงทรัพฯ เขาไม่ยอม เขาไม่ทำตาม เราผลักดันอย่างไรก็ไม่ได้
ทางกระทรวงทรัพฯ กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ฯ เหล่านี้ เขาไม่อยากแก้ไขปัญหาตามที่มติครม.นี้วางไว้ บอกว่าเขามีกฎหมายที่ใหญ่กว่า เขายึดกฎหมายเดิมของเขา พ.ร.บ.ที่ดูแต่พันธุ์พืช สัตว์ และต้นไม้ ไม่ได้ดูถึงสิทธิของคน มันเป็นกฎหมายกระด้างแค่ด้านเดียว ไม่มีชีวิตคนอยู่ในนั้น แล้วเขาก็ถือโอกาสใช้มุมนี้จับกุมชาวบ้านบางกลอยอย่างหนัก ทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงสิทธิความเป็นคนที่เท่าเทียมกับคนอื่น มันพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการสามารถปัดทิ้งและไม่ยอมรับมติครม.ได้
ราชการไทยมีอคติ ไม่เข้าใจคนที่อยู่ในภูมิศาสตร์บนที่สูง คนที่อยู่ในภูมิศาสตร์ทะเลตามเกาะต่างๆ เพราะคนที่ออกกฎเป็นคนภาคกลางไม่ได้รู้เรื่องวิถีชีวิตทั้งหมด คนที่เป็นผู้แทนในสภา คนที่ยกมือโหวต หรือครูบาอาจารย์ทั้งหลายในระบบประเทศไทยยังขาดความเข้าใจ เลยปฏิเสธความจริงของชนพื้นเมืองนำมาซึ่งปัญหามากมาย
บางทีผมคิดว่าแม้จะมีกฎหมายดี ระเบียบดี แต่หากมีทัศนคติแบบใช้อารมณ์และไม่ใช้หลักวิชาการหรือหลักเหตุผล อันนี้เป็นปัญหาที่ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้น 11 ปีนี้มติครม.นี้คือคำตอบไหม ก็เป็นคำตอบ แต่มันเป็นคำตอบที่ไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะปัจจัยอย่างที่กล่าวมา
ตอนนี้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เจ้าภาพตามมติครม. 3 ส.ค. 53 กำลังผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มีทางฝ่ายสส.ชาติพันธุ์ กรรมาธิการป่าไม้ที่ดิน สภาชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกันร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา ในวันนี้ก็จะเห็นกำลังล่ารายชื่อออนไลน์กันอยู่
ถ้าได้ พ.ร.บ.นี้มาคุ้มครอง ก็จะเป็นโอกาสอยู่ แต่ผมไม่รู้ว่ามันจะไปแย้งกับกฎมรดกโลกได้ไหม ซึ่งการประกาศมรดกโลกมันก็ยังไม่ได้เคลียร์ เท่าทีผมถามมา ตอนนี้ชาวบ้านที่นั่นถูกดำเนินคดี หน่วยงานช่วยเหลือก็เงียบหายไป กลายเป็นการละเมิดสิทธิโดยหน่วยงานรัฐด้วยกฎหมายด้านเดียวที่ไม่มองถึงชีวิตและสิทธิของคน
วันที่ 9 นี้จะเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก อยากให้ชนเผ่า รวมถึงทุกๆ คนตระหนักว่าทุกคนที่อยู่บนโลกจริงๆ ก็คือชนเผ่า ชนเผ่าเองก็เหมือนกับคนอื่นๆ เพียงแต่พอเราอยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่แตกต่าง มีวิธีการผลิตที่แตกต่าง เราอยู่บนต้นน้ำลำธารอยู่กับป่ากับเขา ทีนี้คนเมืองที่มีการพัฒนาไปมากกว่า อยู่กับรถรา ความเจริญ แล้วก็ห้องสี่เหลี่ยมแบบอุตสาหกรรม กลับมามองว่าวิถีแบบกลุ่มเรามันผิด มันอันตรายกับโลก นี่เป็นความเหลื่อมล้ำหรือการมองที่ไม่ครอบคลุม ทำให้เรากลายเป็นคนอันตรายของธรรมชาติ แต่คนเมืองมองไม่ออกว่าวิถีแบบใหม่ก็อันตรายกับธรรมชาติเหมือนกัน
พอเขียนกฎหมายออกมา ก็กีดกันเฉพาะชีวิตพวกผมที่ยังอยู่กับวิถีธรรมชาติอยู่ เพราะพวกผมไม่มีตัวแทน ไม่มีอำนาจ เข้าไปร่วมร่างกฎหมายด้วย เราอยากให้ชนเผ่าต่างๆ ร่วมกันรับรู้เรื่องนี้และช่วยกันผลักดันให้ หนึ่ง- คนในเมืองและสาธารณชนเข้าใจ สอง- นำไปสู่ข้อกฎหมายและกติกาที่ยอมรับเราและให้ความเป็นธรรมกับเรา เพื่อที่เราจะได้มีสิทธิเท่าเทียมกัน และเข้าถึงทรัพยากรของรัฐได้เหมือนกับบุคคลทั่วไป”