เครือข่ายเหมืองเลย-ดงมะไฟ ขยับเรียกร้องฟื้นฟูเหมือง “ปช.ต้องมีส่วนร่วม”

เครือข่ายชาวบ้านเหมืองทอง จ.เลย ยื่นผู้ว่าฯ เรียกร้องให้ยุติแผนจัดประชุมเรื่องฟื้นฟูพื้นที่เหมืองทองโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ขณะที่เครือข่ายชาวบ้านเหมืองหิน ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู จัดแคมเปญปลูกกล้า 1,000 ต้นฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเก่า หวังพัฒนาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยื่นหนังสือค้านการประชุมแผนฟื้นฟูพื้นที่เก่าเหมืองที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม (ภาพ: เหมืองแร่ เหมืองเลย)

ค้านประชุมฟื้นฟูเหมืองเลยที่ไม่มีตัวแทนชาวบ้านร่วม

วานนี้ (30 ก.ค. 2564) เครือข่ายชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอให้ยกเลิกการประชุมหารือหรือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำ “แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด” ที่จะจัดวันที่ 2 สิงหาคม 

“เป็นการประชุมที่เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์โควิด ซึ่งจังหวัดเลยก็ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดง และไม่มีการเชิญคณะกรรมการฟื้นฟูระดับจังหวัดที่ชาวบ้านได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดคนก่อนตั้งขึ้น เราผลักดันเรื่องนี้มาสองปีแล้ว แต่หน่วยงานราชการไม่เคยขยับเลย แต่กลับอาศัยช่วงโควิดผลักดันเรื่องนี้ ถือว่าเป็นการขัดขวางการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน” ผู้แทนชาวบ้านกล่าว

เนื้อหาจดหมายที่ยื่นมีใจความสำคัญดังนี้

1. การประชุมเรื่องการฟื้นฟูที่ผ่านมากีดกันชาวบ้านออกจากกระบวนการอย่างชัดเจน เห็นได้จากการไม่มีการเชิญเข้าร่วมประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งยังเพิกเฉยต่อการดำเนินการตามมติที่ประชุม แม้มีคณะติดตามฯ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบร่วมกันแต่งตั้ง ทว่าการประชุมวันที่ 2 สิงหาคม นี้ กลับเชิญชาวบ้านร่วมเพียงเพื่อเป็นตราประทับเพื่อให้กระบวนการผ่านไปได้

2. ตามมติที่ประชุม การทำแผนฟื้นฟูจะต้องเริ่มจากการหาคณะกรรมการมาพิจารณาเพื่อยกร่างแผน เนื่องจากชาวบ้านมีแผนฉบับประชาชนที่ต้องการนำเสนอและหารือเพื่อปรับแผนเข้าหากัน ทว่าปัจจุบัน กลับเป็นการนำแผนของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มาเป็นตัวตั้ง 

ผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ลงมารับหนังสือ ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นคำขาด จะมาชุมนุม หากไม่ยกเลิกเวที

ช่วง 16.20 น. ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้รับหนังสือผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ สรุปว่าได้เลื่อนการประชุมดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นการพิจารณาแผนฯ ของ กพร. และติดขัดเรื่องความพร้อมของตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดในสถานการณ์โควิด 19 โดยมีรองผู้ว่าฯ จ.เลย เป็นผู้ลงนาม ส่งถึง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

เครือข่าย เผยว่าได้เห็นความพยายามของทางจังหวัดที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน แม้จะยังไม่ตรงจุดมากนัก เพราะการขอให้ยกเลิกการจัดประชุมครั้งนี้ชาวบ้านไม่ได้เข้าใจผิดแต่อย่างใดว่าเป็นการพิจารณาแผนของกพร.เพราะมีการแนบเอกสารแผนนั้นมาประกอบการประชุม

“เรายังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการจัดประชุมจะถูกเลื่อนหรือถูกยกเลิกจริงหรือไม่ เราเห็นแล้วว่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการประชุมครั้งนี้ คือ ‘อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่’  หากยังมีการเดินหน้าจัดการประชุม ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ยืนยันที่จะไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดเลยในจำนวนที่มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน” 

คนในพื้นที่เป็นตัวแทนปลูกกล้าให้ผู้สนับสนุนที่ร่วมกิจกรรมออนไลน์ (ภาพ: กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่- ผาจันได)

ฟื้นป่ารอบเหมืองที่ “ดงมะไฟ”

ด้านทางดงมะไฟ อีกพื้นที่เก่าเหมืองซึ่งกำลังเดินหน้าฟื้นฟู วันนี้ (31 ก.ค.2564) กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่- ผาจันได จ.หนองบัวลำภู ได้จัดกิจกรรมปลูกป่าฟื้นฟูเหมือง “Planting a protest หยิบต้นกล้ามาต่อต้าน Mob lll Tree”  นำโดยกลุ่มผู้หญิง โดยเปิดให้ผู้สนับสนุนนอกพื้นที่ร่วมออนไลน์ เพราะสถานการณ์โควิด

“พวกเราต่อสู้กันมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลา 27 ปี เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ถูกข่มขู่คุกคามและถูกลอบสังหารไปแล้วสี่คน แต่นั้นก็ไม่สามารถทำให้พลังการต่อสู้ของพวกเราลดลง เราได้รับชัยชนะ ปิดเหมืองหินและโรงโม่แล้ว จึงมาสู่ขั้นฟื้นฟูภูผาป่าไม้และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว”

มนีนุด อุทัยเรือง กล่าว

ทางกลุ่มได้เปิดระดมทุนและปลูกป่าไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งปลูก 1,000 ต้น ประกอบด้วย ต้นยางนา ต้นตะแบก ต้นราชพฤกษ์ ต้นสะเดา ต้นทองอุไร  ต้นจามจุรีและต้นขี้เหล็ก 

กิจกรรมดังกล่าวมี 3 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมเครือข่ายสนับสนุนเข้าร่วมทางออนไลน์

อินทิรา เจริญปุระ ดารานักแสดงที่เคยเข้าไปในพื้นที่เมื่อต้นปี กล่าวว่า

“ซุมแม่ ๆ พ่อ ๆ เอื้อย อ้ายละกะทุกคนที่ดงมะไฟ ส่งหัวใจละกะกำลังใจมาให้ทุกคนเด้อค่ะ 27 ปีคือจังเป็นเวลาโดนเติบ จนทรายเองยังคึดบ่เถิงว่าทุกคนสิต่อสู้ด้วยหัวใจเพื่อบ้านเกิดและลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปได้มาโดนปานนี้ นับถือหัวใจนักสู้ของทุกคน”

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกสม. เผยถึงความสำคัญของกิจกรรม

“การปลูกป่าในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ชาวบ้านช่วงชิงผืนแผ่นดินที่เป็นทุนชีวิตและเป็นทุนทางสังคมของพวกเขากลับคืนมา อยากให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนได้เข้าใจว่า ชาวบ้านไม่ได้ตกอยู่ในวังวนของความโง่ จน เจ็บ แต่เป็นเพราะเขาถูกทำลายโอกาส ทำให้เข้าไม่ถึงการจัดการทรัพยากร เขาต้องการรัฐที่จะเข้ามาปกป้องสิทธิในการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นสิทธิชุมชน”

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต กสม. มองว่า

“เราไม่ได้ปฏิเสธหรือหวงห้ามไม่ให้เอกชนเข้ามาพัฒนา แต่เอกชนในปัจจุบันต้องยึดหลักของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ต้องศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ และรับผิดชอบฟื้นฟูหากมีการเสียหายเกิดขึ้น ดังนั้นรัฐหรือเอกชนต้องมีเจตจำนงช่วยเรื่องฟื้นฟูร่วมกัน”

กรณีเหมืองดงมะไฟนั้นดำเนินมากว่า 27 ปี เครือข่ายชุมชนได้ร่วมตัวคัดค้านเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) และโรงโม่หิน เนื่องจากผลกระทบทางด้านสุขภาพ โดยเริ่มปักหลักปิดทางเข้า-ออกเหมืองตั้งแต่ 13 สิงหาคม 2563 จนกระทั่งใบประทานบัตรทำเหมืองหินหมดอายุ จึงประกาศชัยชนะและเดินหน้าฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเก่า ปัจจุบัน เครือข่ายยืนยันปักหลักอย่างต่อเนื่อง